เลือกตั้ง 66: ย้อนประวัติศาสตร์ เปิดสามกลโกง ส่ง ”พรรคอันดับสอง” ขึ้นเป็นรัฐบาล

ตามธรรมเนียมของระบอบประชาธิปไตยที่ใช้ระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากเป็นอันดับหนึ่งของสภา เนื่องจากเป็นตัวแทนเสียงข้างมากของประชาชน แต่ทว่า ถ้าย้อนดูการเมืองไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลายยุคหลายสมัยที่พรรคการเมืองซึ่งมีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับสอง สามารถจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง ได้ เนื่องจากมีกลไกในการสืบทอดอำนาจอยู่ 

จากการย้อนศึกษาบทเรียนจากอดีตพบว่า มีอย่างน้อยสามกลไกที่จะช่วยให้พรรคอันดับสองสามารถขึ้นเป็นรัฐบาลแทนพรรคอันดับหนึ่งได้ ดังนี้

1.ให้ ส.ว. แต่งตั้งมีอำนาจเลือกนายกฯ

ตามหลักประชาธิปไตยแบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกของ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเจ้าของประเทศเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับกลับกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯ ด้วย โดยรัฐธรรมนูญที่กำหนดกติกาเช่นนี้มักเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร เช่น รัฐธรรมนูญ 2521 และรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน

การที่ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ อาจทำให้ ส.ส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ หันไปโหวตบุคคลที่ ส.ว. สนับสนุน ให้เป็นนายกฯ เพื่อเพิ่มโอกาสให้พรรคของตัวเองเป็นฝ่ายรัฐบาล และอาจส่งผลให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง แม้จะมีจำนวน ส.ส. มากที่สุด แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และต้องกลายเป็นฝ่ายค้านในที่สุด ซึ่งตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่

รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมัยที่ 2 (2522-2523)

หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้นำ ‘คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน’ ได้ทำการรัฐประหารพร้อมกับแต่งตั้งให้ ‘ธานินท์ กรัยวิเชียร’ ขึ้นเป็นนายกฯ แต่การบริหารงานของรัฐบาลธานินท์มีลักษณะอำนาจนิยมสุดโต่ง จนท้ายที่สุด พ.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ต้องทำการรัฐประหารอีกครั้ง และแต่งตั้งให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นนายกฯ คนต่อไปแทน

หลังการรัฐประหารครั้งที่สอง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก 35 คน โดยมี จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นประธาน และ มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นเลขานุการ จนออกมาเป็น “รัฐธรรมนูญ ปี 2521” ซึ่งมีกลไกหลายอย่างที่เปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจได้ หนึ่งในนั้น คือ “การให้นายกฯ เป็นคนเลือก ส.ว. และให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ” กล่าวคือ ให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกฯ ในขณะนั้นเป็นคนเลือก ส.ว.

ต่อมา คณะรัฐประหารได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 22 เมษายน 2522 โดยผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า ไม่มีกลุ่มการเมืองใดได้ที่นั่ง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาที่มีทั้งหมด 301 คน แต่กลุ่มการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในสภา คือ กลุ่มกิจสังคมที่นำโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มี ส.ส. 88 คน (สาเหตุที่เรียกเป็นกลุ่มเพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังไม่ให้มีพรรคการเมือง) ดังนั้น ตามธรรมเนียมระบอบประชาธิปไตย พรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. เป็นอันดับหนึ่งของสภา จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

แต่เมื่อมีการลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้ากลุ่มกิจสังคมที่สามารถรวมเสียง ส.ส. ในสภา ได้ 190 เสียง กลับไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งรวมเสียง ส.ส. ในสภา ได้แค่ 111 เสียง กลับได้รับเลือกเป็นนายกฯ เพราะมีมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ที่ตัวเองเป็นคนแต่งตั้งเมื่อครั้งเป็นนายกฯ อีกจำนวน 200 เสียง รวมเป็น 311 เสียง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเอา ส.ว. มาช่วยหนุนให้พรรคที่ไม่ได้มี ส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่งขึ้นเป็นรัฐบาล

อย่างไรก็ดี การกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ไม่ได้ราบรื่น และได้รับความไว้วางใจจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. น้อยลง จนสุดท้ายต้องลาออก ก่อนจะนำไปสู่ยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ว.แต่งตั้ง ทุกคนอย่างพร้อมเพรียงและมีพรรคการเมืองอย่าง กิจสังคม ประชาธิปัตย์ และชาติไทย ให้การสนับสนุน จนสามารถรักษาเก้าอี้นายกฯ ได้ยาวนานถึง 8 ปี

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 (2562-ปัจจุบัน)

หลังการรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นหัวหน้า ได้สั่งให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานจนนำไปสู่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 รัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยกลไกการสืบทอดอำนาจ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การมี ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคสช. และให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ คล้ายกับรัฐธรรมนูญ ปี 2521

โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ ส.ว. มีจำนวน 250 คน และมาจากการคัดเลือกด่านสุดท้ายโดยคสช. อีกทั้ง ให้ ส.ว.ชุดแรกนี้มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ พร้อมกับ ส.ส. ซึ่งผลที่ตามมาคือ ผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาถึง 376 เสียง หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 75 ของจำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียงสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีจำนวน ส.ส. ในอัตราส่วนดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ ระบบ MMA (Mixed Member Apportionment) ที่ส่งผลให้พรรคใหญ่ที่มี ส.ส.เขต จำนวนมาก ถูกลดที่นั่งแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลง จนทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาได้ และทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ไม่มีพรรคการเมืองใดได้จำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภา โดยพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส. จำนวน 136 คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคซึ่งประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ให้เป็นนายกฯ อีกสมัย กลับได้ที่นั่งเป็นอันดับสอง จำนวน 116 คน

ต่อมา ในช่วงการจะลงมติให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มี ส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่ง ได้จับมือร่วมกับ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย เพื่อเสนอ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกฯ ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่มีจำนวน ส.ส. เป็นอันดับสอง ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พร้อมเชิญชวน พรรคการเมืองต่างๆ ให้มาเข้าร่วม เพราะพลังประชารัฐมี ส.ว.แต่งตั้ง อีก 250 คน ให้การสนับสนุนอยู่ จนทำให้พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยอมไปเข้าร่วมกับรัฐบาล

เมื่อมาถึงการลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. อย่างถล่มทลาย ถึง 500 เสียง โดยแบ่งเป็นเสียงของ ส.ส. 251 เสียง และเสียงจาก ส.ว. อีก 249 เสียง จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกสมัย และอยู่ในอำนาจรวมกันตั้งแต่หลังรัฐประหารมาจนถึงหลังการเลือกตั้งแล้ว ไม่น้อยกว่า 8 ปี

 2. ดึงตัว ส.ส. งูเห่า

ก่อนประเทศไทยจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และเปลี่ยนมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสมเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อระบบเลือกตั้งผสมแบบคู่ขนาด (Parallel system) ประเทศไทยใช้ระบบเลือกแบบที่เรียกว่า “เสียงข้างมากธรรมดา” เพียงอย่างเดียวที่แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนได้หลายคน ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนที่มาจากหลายพรรค  

ผลลัพธ์ของการใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ คือ มีพรรคการเมือง กระจัดกระจายเป็นจำนวนมากในรัฐสภาและไม่เคยมีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการเลือกตั้งเลย ซึ่งผลที่ตามมาคือ รัฐบาลอ่อนแอ-การเมืองขาดเสถียรภาพ เพราะพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างมีเสียงในสภาแบบ ‘ปริ่มน้ำ’ หรือ เกินกว่าครึ่งหนึ่งมาเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดการพลิกขั้วทางการเมืองได้ตลอดเวลา โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการพลิกขั้วทางการเมืองได้ หรือ ทำให้พรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดันสองสามารถจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคอันดับหนึ่งแทนได้ คือ “งูเห่าทางการเมือง”

คำว่า “งูเห่า” ถูกนำมาใช้เรียกขานบรรดา ส.ส.ที่ฝืนมติพรรคไปยกมือสนับสนุนบุคคลที่อยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่นำคำว่า “งูเห่า” มาใช้เรียกขานปรากฎการณ์ทางการเมืองครั้งแรกคือ สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 และอดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย ที่เปรียบเปรียบว่า ตนเองเป็นชาวนาที่รับ ส.ส. มาเลี้ยงไว้ แต่ต้องมาเจอ ส.ส. งูเห่าแว้งกัดจนรัฐบาลล่ม

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 พรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ชนะการเลือกตั้ง ได้จำนวน ส.ส. กว่า 125 เสียง เฉือนชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยชวน หลีกภัย ไปได้ 2 เสียง พรรคความหวังใหม่จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่น ๆ เช่น พรรคชาติพัฒนา พรรคประชากรไทย และพรรคมวลชน โดยมี พล.อ.ชวลิต เป็นนายกฯ

หลังจากเป็นนายกฯ ได้ไม่ถึงหนึ่งปี ในเดือนพฤศจิกายน 2540 พล.อ.ชวลิต ประกาศลาออกหลังมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทจนส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นต่างพยายามรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และเสนอชื่อนายกฯ ที่ฝ่ายตัวเองสนับสนุน โดยฝ่ายพรรครัฐบาลประกาศสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเป็นนายกฯ คนต่อไป ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์  พรรคชาติไทย พรรคเอกภาพ  พรรคพลังธรรม พรรคไท และอดีตพรรคร่วมรัฐบาลสมัย พล.อ.ชวลิต อีกสองพรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม และ พรรคเสรีธรรม สนับสนุนให้ ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ

การแข่งขันจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างสูสี พรรครัฐบาลรวมเสียงได้ 197 เสียง ส่วนพรรคฝ่ายค้ายรวมเสียงได้ 196 เสียง ต่างกันเพียงเสียงเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ดี ได้เกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า” ตามคำเปรียบเปรยของสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยในขณะนั้น เมื่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ไปชักชวน ส.ส. พรรคประชากรไทยกลุ่มของ วัฒนา อัศวเหม จำนวน 13 คน ให้ลงมติสนับสนุน ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ทั้ง ๆ ที่มติของพรรคประชากรไทยซึ่งเป็นพรรคต้นสังกัดของ ส.ส. 13 คนนี้ มีมติสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย การย้ายข้างของ ส.ส. “งูเห่า” ทำให้พรรคอันดับสองอย่างพรรคประชาธิปัตย์สามารถรวบรวมเสียงได้ 209 เสียง จัดตั้งรัฐบาลที่มี ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ได้สำเร็จ

จากเหตุการณ์ “งูเห่า” ข้างต้น ส.ส.กลุ่มของวัฒนาได้ถูกขับออกจากพรรคประชากรไทย แต่ส.ส.ในกลุ่มสี่คนก็ได้รับ “ค่าตอบแทน” โดยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย ได้แก่ วัฒนา อัศวเหม ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบ สังข์โต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3. ยุบพรรคการเมือง

อีกหนึ่งวิธีการที่จะส่ง “พรรคอันดับสอง” หรือพรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับที่สอง ขึ้นเป็นพรรคตั้งรัฐบาลตัดหน้าพรรคอันดับหนึ่งได้ คือ การยุบพรรคการเมือง ซึ่งกลวิธีนี้จะช่วยให้ลดความเข้มแข็งของพรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งลง ทั้งจากการลดจำนวน ส.ส. ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค รวมถึง เป็นช่องให้ดูดดึงตัว ส.ส. ที่ต้องหาสังกัดพรรคการเมืองใหม่

การยุบพรรคทางการเมือง เริ่มปรากฏเด่นชัด หลังการรัฐประหาร ปี 2549 โดยมีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าที่ถูกยุบไป ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้คือ การยุบพรรคไทยรักไทย รวมถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านเลขที่ 111” นอกจากนี้ หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมา ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชาชน พรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นมาแทนพรรคไทยรักไทย และนำโดย สมัคร สุนทรเวช สามารถคว้าที่นั่ง ส.ส. ไปได้ทั้งสิ้น 233 ที่ และขึ้นเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่มีอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคมีจำนวน ส.ส. เป็นอันดับที่สอง จำนวน 164 เสียง ด้วยเหตุนี้ พรรคพลังประชาชนจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พร้อมกับ สมัคร ได้รับเลือกให้เป็นนายฯ โดยมีพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ทว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ สมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากรับไปเป็นพิธีกรรายการ “ชิมไป บ่นไป” ซึ่งเข้าข่ายกระทำผิดฐานมีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้ แม้สภาได้เลือกให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะน้องเขยของทักษิณ ชินวัตร และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ แทน แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยอื่นอีกว่า ให้ยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้ง และนั่นทำให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ และสภาต้องเลือกนายกฯ คนใหม่

ในการเลือกนายกฯ คนใหม่ บรรดา ส.ส. อดีตพรรคพลังประชาชนบางส่วน ได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ในขณะที่บางส่วนยังไม่สังกัดพรรคจนเกิดกระแสข่าวลือว่า จะมีการสลับขั้วทางการเมือง โดยมีกลุ่มเพื่อนเนวิน หรือ เพื่อนของเนวิน ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ หลายสมัย และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เช่น บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และ ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ เตรียมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นนายกฯ ในนามพรรคภูมิใจไทย

ต่อมา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดลงมติเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ผลปรากฏว่า มี ส.ส. “งูเห่า” จากกลุ่มเพื่อนเนวิน ย้ายขั้วไปสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ แทนการสนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถรวบรวมเสียงได้ 235 เสียง ในขณะที่ พรรคเพื่อไทยและพรรคที่สนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รวบรวมเสียงได้ 198 เสียง อภิสิทธิ์จึงได้เป็นนายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

สุดท้ายนี้ ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าในปี 2566 ยังเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งมีกลไกในการช่วยสืบทอดอำนาจของรัฐบาลอยู่ อาทิ ส.ว.ชุดพิเศษของคสช. และบรรดาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลคสช. ดังนั้น การที่พรรคที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งก็ยังมีโอกาสเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน เพราะสิ่งที่ต่างออกไปจากเดิม คือ ระบบการเลือกตั้งในปี 2566 จะเป็นระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดพรรคที่สามารถครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาได้ และหากมีเสียงของประชาชนสนับสนุนมากพอ ก็มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะสามารถเอาชนะกลไกอย่าง ส.ว.แต่งตั้ง หรือ ทำให้การยุบพรรคไม่มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง