จับตา #ประชุมสภา สมัยประชุมสุดท้ายก่อนเลือกตั้งสภาชุดใหม่ในปี 66

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นวันเปิดสมัยประชุมสภาวันแรก ซึ่งเป็นสมัยประชุมสภาสุดท้าย ของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชุดนี้ จะทำงานนิติบัญญัติจนถึงวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภา คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ขณะที่อีกปีกหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น แม้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีอายุลากยาวถึงห้าปี แต่ไม่ได้หมายความว่าช่วงที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุด วุฒิสภาจะทำงานทุกอย่างได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 ห้ามไม่ให้ประชุมวุฒิสภาระหว่างนั้น แต่มีข้อยกเว้นให้ทำได้บางกรณี เช่น การประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง

ช่วง “โค้งสุดท้าย” ของสภา จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการจัดทำและแก้ไขกฎหมายต่างๆ หากพิจารณากฎหมายที่สำคัญได้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมสภา ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและนโยบายบางอย่างจะผลักดันไปข้างหน้าได้ แต่หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การประชุมสภาไม่ราบรื่น เช่น สภาล่มจนพิจารณาร่างกฎหมายไม่ทัน ร่างกฎหมายก็จะตกไปและต้องริเริ่มกันใหม่ในสมัยประชุมหน้า

ใกล้หมดอายุสภา แต่ยังมีร่างกฎหมายจ่อรอพิจารณาอีกเพียบ!

ในสมัยประชุมสภาสุดท้ายนี้ สภาผู้แทนราษฎรเริ่มทำงานนิติบัญญัติในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 จากระเบียบวาระการปะชุมสภาของวันดังกล่าว มีร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสองและลงมติวาระสามอย่างน้อยห้าฉบับ ได้แก่

  1. ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
  2. ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันว่าร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า นั่นเอง
  3. ร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง
  5. ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่จะควบคุมและกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง ร่างกฎหมายฉบับนี้ เคยจ่อเข้าสู่การพิจารณาวาระสองแล้วเมื่อ 14 กันยายน 2565 แต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากระเบียบวาระการประชุม เพื่อให้กรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ นำกลับไปทบทวนก่อน ร่างกฎหมายกัญชา กัญชง จึงกลับเข้าสู่สภาอีกครั้งในสมัยประชุมนี้

นอกจากร่างกฎหมายห้าฉบับข้างต้นที่บรรจุไว้ในวาระการประชุม รอพิจารณาวาระสอง-สามแล้ว ยังมีร่างกฎหมายอื่นๆ ที่จ่อคิวต่อรอเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง-สาม เช่น ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ #สมรสเท่าเทียม ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร  

นอกจากร่างกฎหมายที่พิจารณาในวาระสอง-สาม ยังมีร่างกฎหมายรอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระหนึ่ง ว่าจะรับหลักการหรือไม่ โดยมีร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุวาระเป็น “เรื่องด่วน” อยู่อย่างน้อยห้าฉบับ และถูกบรรจุอยู่ใน “เรื่องค้างพิจารณา” อย่างน้อย 46 ฉบับ และถูกบรรจุในเรื่องที่เสนอใหม่อยู่สี่ฉบับ รวมมีร่างกฎหมายที่จ่อคิวรอสภารับหลักการอย่างน้อย 55 ฉบับ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายบางฉบับที่มีหลักการเหมือนกัน แต่ผู้เสนอต่างกัน ก็อาจจะพิจารณา “ประกบ” กันไปได้ ไม่ต้องพิจารณาไล่ทีละฉบับ

ตัวอย่างร่างกฎหมายที่น่าสนใจ แต่คาอยู่ใน “เรื่องที่ค้างพิจารณา” เช่น

  • ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แก้ไชความผิดเกี่ยวกับเพศ เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอแก้ไขบทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” เพื่อให้ครอบคลุมกับการกระทำตามพฤติการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจมีความหลากหลาย แก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเกี่ยวกับความผิดทางเพศ และเพิ่มเติมความผิดฐาน “คุกคามทางเพศ” ขึ้น
  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีบรรจุวาระการประชุมสภาถึงสองฉบับ เสนอโดยประชาชนทั้งสองฉบับ โดยฉบับแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในหลายประเด็น เช่น การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่อนคลายเรื่องสถานที่ เวลา วิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  (อ่านสรุปได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5904) ส่วนฉบับที่สอง ซึ่งผลักดันโดยภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอแก้ไขหลายประเด็น เช่น เพิ่มบทบัญญัติเรื่องห้ามนำชื่อหรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ผลิตเครื่องดื่ม ไปแสดงบนผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยประชาชน เพื่อให้สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ได้รับการส่งเสริม คุ้มครอง และปกป้อง ตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่ไทยเคยให้สัตยาบันไว้ (อ่านสรุปได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5822)

นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังมีวาระให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศไปแล้ว และต้องส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ คือ พระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565

จับตาส.ว. จะเห็นชอบให้ อุดม รัฐอมฤต กรธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 60 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่??

ฟากวุฒิสภา สถานการณ์การพิจารณาร่างกฎหมายไม่ค่อยน่าเป็นห่วงนัก มีร่างกฎหมายอย่างน้อยสองฉบับที่รอคิววุฒิสภาพิจารณาวาระหนึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 คือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560 ในหลายประเด็น เช่น ไม่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา,ไม่คิดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม, ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แก้ไขพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 เพื่อให้ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สามารถช่วยรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้

อย่างไรก็ดี ภาระงานของวุฒิสภาในการพิจารณาร่างกฎหมาย จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณร่างกฎหมายที่ผ่านวาระสามของสภาผู้แทนราษฎรมา ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีร่างกฎหมายฉบับใดที่มาถึงมือสภากลั่นกรอง หรือจะมีร่างกฎหมายใดที่ถูกส.ส.คว่ำไปในวาระสอง-สาม ไปไม่ถึงส.ว.

แม้สถานการณ์ของวุฒิสภา จะดูไม่หวือหวามาก แต่ต้องไม่ลืมว่า อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของส.ว. คือการให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่างลงไปหนึ่งตำแหน่ง เนื่องจากทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อ 21 ตุลาคม 2565 จึงต้องสรรหาตุลาการคนใหม่แทนที่ทวีเกียรติ ภายใต้โควตาศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ ที่ผ่านมามีผู้สมัครมาเพียงคนเดียว และผ่านการคัดเลือกจากกรรมการสรรหาด้วยคะแนนถึงสองในสาม เตรียมส่งชื่อให้ส.ว.ตั้งกมธ.สอบประวัติฯ และให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งบุคคลนั้นก็คือ อุดม รัฐอมฤต กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นี้ วุฒิสภาจะตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า หลังผ่านกระบวนการสอบประวัติไปแล้ว ส.ว.จะให้ความเห็นชอบให้คนร่างรัฐธรรมนูญ มานั่งบัลลังก์เป็นตุลาการ ตีความรัฐธรรมนูญหรือไม่