พ.ร.บ. ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์: ประชาชนติดต่อหน่วยงานรัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว

แต่เดิมเราอาจจะเคยชินกับระบบราชการไทยที่ล่าช้า และต้องใช้เวลาเกือบครึ่งค่อนวันเพื่อที่จะเข้ารับบริการจากภาครัฐ แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ภาครัฐเองก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากับยุคสมัยในโลกสมัยใหม่ การเกิดขึ้นของระบบอิเล็กทรอนิกส์ในภาครัฐ (E-Government) จึงเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลเพื่อกำหนดทิศทางในประเทศให้ก้าวทันโลก โดยเฉพาะในด้านการอำนวยความสะดวกประชาชนในการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงนี้ด้รับการตราเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการแล้ว โดยในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 หนึ่งในกฎหมายปฏิรูปที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ประชาชนสามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการ รวมถึงการทำงานระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเองด้วย ก่อนที่จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม 2565

ความพยายามปฏิรูปสู่รัฐบาลดิจิทัล

คำว่า “รัฐบาลดิจิทัล” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นสิ่งที่สังคมไทยได้ยินจากรัฐบาลมาเป็นเวลานานประมาณหนึ่งแล้ว ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมในปี 2559 ซึ่งมีประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมในขณะนั้น ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อปฏิรูปประเทศสู่ Digital Thailand เพื่อมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยรัฐบาลดิจิทัลก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่รัฐบาลเองต้องการปฏิรูปกระบวนการทำงานและการให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการของภาครัฐได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางการปรับเปลี่ยนการทำงานของภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลจำเป็นต้องดำเนินการหลายส่วน เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน (Connected Government) การให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ (Open data) และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของรัฐ (Open Government) การพัฒนาแพลตฟอร์มบริการพื้นฐานภาครัฐ (Government Service Platform) และการจัดให้มีบริการอัจฉริยะ (Smart Service)  ให้ตรงตามความต้องการในการรับบริการจากภาครัฐของประชาชน

ปัจจุบันความเป็นดิจิทัลของภาครัฐได้มีการพัฒนาขึ้นบ้าง ผ่านการนำข้อมูลต่างๆ iขึ้นสู่โลกออนไลน์ไว้ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้ง่ายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบกลางกฎหมาย ที่เป็นเว็บไซต์กลางสำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ จัดทำโดยคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะรวบรวมร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกเสนอเข้ามาให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและติดตามผลวิเคราะห์ หรือเว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (E-government Portal) เป็นเว็บกลางที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารของบริการทางภาครัฐมารวมไว้ในที่เดียวซึ่งอยู่ในช่วงพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบจะมีลักษณะคล้ายกับแหล่งข้อมูลกลางของรัฐบาลอังกฤษ ที่มีจุดมุ่งหมายคือเพื่อเป็น แหล่งรวมบริการและข้อมูลของรัฐบาลกลาง (One stop service) ให้แก่ประชาชน หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่มีการนำข้อมูลการประชุมบางส่วนขึ้นในช่องทางออนไลน์ให้สามารถเข้าถึงได้

แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นการขอเอกสารหรือการอนุมัติต่าง ๆ ความเป็นดิจิทัลที่จะส่งผลต่อชีวิตการทำงานของประชาชนก็ยังคงไม่มาถึงเสียที ภาพจำของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อระบบราชการที่ผ่านมาคือมีความยุ่งยาก ล่าช้า เต็มไปด้วยเงื่อนไข ต้องเตรียมเอกสารหลายมากมาย ซึ่งล้วนทำให้ต้นทุนของการติดต่อระบบราชการนั้นสูงมากสำหรับประชาชนที่อาจจะต้องเสียเวลาทั้งวันเพื่อรอยื่นเอกสาร ส่วนการติดต่อภายในระบบราชการเองก็พบปัญหาความเชื่องช้าไม่ต่างกัน เช่น การต้องรอเอกสารจากหน่วยงานอื่น ซึ่งต้องอยู่ในรูปแบบกระดาษเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การริเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการบริการโดยรัฐจึงก้าวสำคัญที่จะทำให้ระบบราชการไทยไม่ต้องสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้ประชาชนอย่างไม่จำเป็นอีกต่อไป

เป็นเวลากว่า 6 ปีนับตั้งแต่ประยุทธ์เห็นชอบแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2560 ประเทศไทยก็กำลังจะมีกฎหมายเพื่อมารองรับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐด้วยช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยร่างพ.ร.บ. ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานกฤษฎีกา ผ่านมติของคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบในหลักการวาระแรกจากรัฐสภาในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ก่อนจะได้รับความเห็นชอบในวาระสองและสามในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565

เปลี่ยนวิธีการทำงานของภาครัฐ-ประชาชน ภาครัฐ-ภาครัฐ

ตรงกับข้ามกับการทำงานของหน่วยงานราชการที่ประชาชนเคยคุ้นเคยว่าล่าช้าและซ้ำซ้อน ร่าง พ.ร.บ. ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกฎหมายกลางที่จะเข้ามาเปลี่ยนการทำงานบริการของภาครัฐตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นระบบดิจิทัล และรองรับให้สามารถใช้วิธีการทางออนไลน์เป็นหลักได้ ซึ่งผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการรับรองให้การปฏิบัติราชการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลทางกฎหมายที่ชัดเจน อำนวยความสะดวกและลดภาระในการติดต่อราชการให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามบทบัญญัติและข้อกำหนด

ส่วนในด้านของภาครัฐ จากเดิมที่หน่วยงานรัฐจำนวนมากมักจะอ้างระเบียบต่าง ๆ ว่าเป็นอุปสรรคไม่ให้การติดต่อหรือทำงานสามารถทำได้สะดวก และเกรงกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นการผิดระเบียบ พ.ร.บ. ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามารับรองให้การปฏิบัติราชการโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลทางกฎหมายอย่างชัดเจน จะช่วยให้หน่วยงานสามารถพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน และสอดคล้องกับความทันสมัยในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการพัฒนาระบบการทำงานที่ทำให้การจัดเก็บข้อมูลสามารถจัดการได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

ประชาชนติดต่อผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ หน่วยงานรัฐห้ามปฏิเสธ

สำหรับประชาชน พ.ร.บ. ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้การติดต่อหน่วยงานรัฐสามารถทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ดังนี้

การยื่นคำขอ จ่ายเงิน หรือติดต่อกับหน่วยงานราชการ

ประชาชนสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ในการขออนุมัติ อนุญาต ขึ้นทะเบียน จดทะเบียน การแจ้งเพื่อประกอบกิจการของประชาชน การรับเงินหรือสวัสดิการ และการออกใบเสร็จรับเงินของหน่วยงาน หรือการส่งเอกสารใด ๆ ให้กับหน่วยงานราชการ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่มีสามารถปฏิเสธที่จะไม่รับคำขอนั้นเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

กรณียกเว้นที่ไม่สามารถใช้วิธียื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์เว้นแต่กฎหมายเฉพาะอนุญาติ

  • การจดทะเบียนที่ผู้ขอต้องดำเนินการเองเฉพาะตัว ได้แก่ การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม
  • การขอทำบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง เอกสารอื่นใดที่ผู้ขอต้องดำเนินการด้วยเองเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
  • การอื่นใดที่กฎกระทรวงกำหนด

ในการรับแจ้งผลการดำเนินการหรือการออกเอกสารหลักฐานใด ๆ ถ้าประชาชนได้ยื่นคำขอมาทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วก็จะได้รับแจ้งกลับในทางเดียวกัน แต่จะขอแจ้งรับเป็นเอกสารด้วยก็ได้ เช่นเดียวกับกรณีที่ยื่นคำขอเป็นเอกสารก็สามารถขอรับแจ้งผลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เหมือนกัน โดยเอกสารที่ได้รับมาจากหน่วยงานรัฐผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นใบอนุญาตก็จะมีผลทางกฎหมายเฉกเช่นเดียวกับเอกสารปกติด้วย

แสดงใบอนุญาตผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ห้ามคิดค่าใช้จ่ายทำสำเนา

หากมีความจำเป็นที่ประชาชนต้องแสดงใบอนุญาตเพื่อยืนยันความถูกต้องกับหน่วยงานราชการ เช่น ใบอนุญาตของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ใบอนุญาตโรงงานผลิตอาหาร พ.ร.บ. ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ระบุให้สามารถทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยเช่นกัน โดยหากหน่วยงานราชการต้องการทำสำเนาเอกสารของประชาชนนั้นก็ต้องทำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สำหรับกรณีใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานที่ต้องติดตัว สามารถแสดงเป็นภาพอิเล็กทรอนิกส์ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ เช่น การแสดงภาพใบขับขี่ที่ถ่ายรูปเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ แต่กรณีดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับบัตร ใบอนุญาตหรือเอกสารสำคัญที่มีกฎกระทรวงกำหนดให้ต้องแสดงเป็นเอกสารตัวจริงเท่านั้น

ทั้งนี้ การติดต่อกับหน่วยงานรัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อคำขอหรือการติดต่อเข้าสู่ระบบของหน่วยงานรัฐแล้ว ก็จะถือว่าวันเวลานั้นเป็นจุดที่ยื่นคำขอเหมือนการยื่นคำขอที่หน่วยงานโดยตรง แต่หากประชาชนยื่นคำขอนั้นนอกเวลาราชการหรือเวลาทำงานของหน่วยงานรัฐ ก็จะถือว่าหน่วยงานรัฐได้รับคำขอนั้นในเวลาทำงานถัดไป ดังนั้น แม้ว่าประชาชนจะสามารถยื่นคำขอหรือติดต่อหน่วยงานรัฐได้ตลอดเวลา แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงเวลาทำการของหน่วยงานราชการด้วย เพื่อไม่ให้การติดต่อนั้นผิดพลาดหรือเลยกำหนดเวลาไป

หน่วยงานรัฐติดต่อกันเองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

นอกจากหน่วยงานรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การสร้างแบบฟอร์มคำขออิเล็กทรอนิกส์ ในการดำเนินงานติดต่อหรือประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองก็สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน พ.ร.บ. ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้เข้ามารับรองให้เอกสารที่หน่วยงานรัฐใช้ติดต่อกันนั้นถูกต้องตามกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานได้ เช่น ใช้ในกรณีเบิกจ่ายเงินแผ่นดิน ในกรณีที่มีกฎระเบียบใดไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว

นอกจากนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหน้าที่เพิ่มเติมให้หน่วยงานรัฐที่ได้กำหนดไว้ ได้แก่

  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องจัดให้มีและปรับปรุงฐานข้อมูลทางกฎหมายและระบบการสืบค้นกฎหมายโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนสืบค้นกฎหมาย
  • สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ต้องร่วมมือกันจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างมาตรฐานข้อมูลขั้นพื้นฐานเท่าที่จำเป็นสำหรับให้บริการประชาชนแล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ยกเว้นหน่วยงานนิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระ หากอยากทำตามให้ตราเป็น พ.ร.ก.

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกหน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและให้การติดต่อระหว่างหน่วยงานด้วยกันเองราบรื่น มาตรา 4 ของกฎหมายได้ระบุหน่วยงานที่รับการยกเว้นไว้ดังนี้

  1. หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ
  2. หน่วยงานของรัฐในฝ่ายตุลาการ
  3. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
  4. องค์กรอัยการ
  5. หน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ต้องการให้บังคับใช้พ.ร.บ.ปฏิบัติทางราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ กับหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นดังกล่าว จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาก่อนถึงจะมีผลบังคับใช้ได้