ประยุทธ์ไปต่อ!! ศาลรัฐธรรมนูญชี้วาระนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี เริ่มนับ 60

30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดี #8ปีประยุทธ์ เรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ โดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เคาะประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ คือ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง พล.อ.ประยุทธ์ จึงสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้

ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศใช้ หากจะให้มีผลย้อนหลังต้องมีการระบุให้ชัดเจน จากหลักการดังกล่าว บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 ย่อมมีผลใช้บังคับเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 

ดังนั้น การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตรา 158 วรรคสี่ จึงต้องเริ่มนับทันที เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ย่อมหมายถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งแม้ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ มาก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ให้ถือว่า เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จึงยังไม่ครบ 8 ปี  

สำหรับข้อกล่าวอ้างที่ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางอาญาจึงสามารถทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เป็นเรื่องพรรคการเมืองทำผิดกฎหมาย ทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง และเป็นกรณีลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. ทำให้ความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลง 

ทั้งสองกรณีนี้มีบทบัญญัติของกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าให้มีผลย้อนหลังได้ เพราะเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย หรือขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติกรณีการดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผลย้อนหลังได้ คำวินิจฉัยจึงเป็นคนละข้อเท็จจริงกับกรณีนี้ ที่เป็นกรณีเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงซึ่งมีหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ต่างกัน จึงไม่สามารถเอามาเทียบเคียงกันได้

สำหรับประเด็นเอกสารการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 ที่ระบุว่า มาตรา 158 วรรคสี่ ให้รวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ เห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่การอภิปรายของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไประบุในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อย่างใด

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ จากนั้น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ ผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย

เสียงข้างมาก 6 เสียง

  1. วรวิทย์ กังศศิเทียม  
  2. อุดม สิทธิวิรัชธรรม
  3. บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
  4. ปัญญา อุดชาชน
  5. จิรนิติ หะวานนท์ 
  6. วิรุฬห์ แสงเทียน

เสียงข้างน้อย 3 เสียง

  1. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  2. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์
  3. นภดล เทพพิทักษ์

ทั้งนี้ คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคําวินิจฉัย