ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: ประยุทธ์ 8 ปี ต้องชี้ขาดให้ไว! ส.ส.โหวตนายกฯใหม่ แล้วไปเลือกตั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ระหว่างการรับเรื่องไว้วินิจฉัยปมปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะถือว่าครบแปดปีแล้วหรือไม่ ทำให้ผู้นำการรัฐประหารต้องหลุดพ้นจากอำนาจเป็นครั้งแรก 

แม้ว่าคำสั่งครั้งนี้จะเป็นเรื่อง “เหนือความคาดหมาย” แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงผลของคำสั่งดังกล่าวจะพบว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ก็ยังเป็น รัฐบาลคสช.

กล่าวคือ การที่ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมของขั้วอำนาจทางการเมืองอยู่ไม่น้อย แต่ทว่า อำนาจก็ยังคงอยู่ในมือของคสชที่นำโดยกลุ่ม “สาม .” ที่ประกอบไปด้วย พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและอดีตรองหัวหน้าคสช.ที่จะขึ้นมารักษาการแทน และ พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตสมาชิกคสช

คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงกลไก “ยื้ออำนาจคสช.” ผ่านการลดบทบาทของ พล..ประยุทธ์ เพื่อลดกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดอำนาจยังอยู่ที่กลุ่มการเมืองเดิม

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล..ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ พล..ประวิตร ทำหน้าที่รักษาการณ์นายกฯ จึงยังไม่ใช่การเดินหน้าไปในทิศทางประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมา หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่ ปี 2563 คือ ให้ พล..ประยุทธ์ และองคาพยพ ลาออกหรือพ้นจากอำนาจ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะในเวลาข้างหน้าศาลรัฐธรรมนูญยังอาจสั่งให้พล..ประยุทธ์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อได้ รวมถึงยังเหลือเวลาในตำแหน่งได้อีกนานก็เป็นไปได้ ดังนั้น ข้อเรียกร้องนี้จึงยังไม่บรรลุผล

สถานการณ์ทางการเมืองหลังคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยความอึมครึมเมื่ออยู่ๆ พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ ที่ไม่เคยลงสนามเลือกตั้งก็เดินกระปลกกระเปลี้ย มานั่งหัวโต๊ะนำการประชุมคณะรัฐมนตรี และกลายเป็นผู้นำประเทศ พร้อมกับคำถามที่ตามมามากมายว่า ตำแหน่งรักษาการนายกฯ มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง?? แต่งตั้งโยกย้ายผู้คนได้หรือไม่? อนุมัติงบประมาณได้หรือไม่? และคำถามสำคัญ คือ สั่งยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่? ซึ่งเป็นข้อสงสัยที่ไม่มีกฎหมายเขียคำตอบไว้อย่างชัดเจน กลายเป็นกลุ่มอำนาจเดิมก็กำลังใช้อำนาจต่อแบบที่เริ่มอธิบายความชอบธรรมไม่ได้อีกครั้ง

ดังนั้น เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่จะพาบ้านเมืองกลับสู่สถานการณ์ปกติ” ไอลอว์จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อสถานการณ์ ดังนี้

หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญต้องออกคำวินิจฉัยมาให้เร็วที่สุด

แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561จะไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จเอาไว้ ทำให้เราเข้าสู่ภาวะสุญญากาศที่ประชาชนไม่อาจรู้ได้ว่าจะต้องรอคำวินิจฉัยถึงเมื่อไรทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับตัวผู้นำประเทศโดยตรง และไม่อาจคาดการณ์ได้แม้กระทั่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะออกคำวินิจฉัยได้ก่อนสภาแห่งนี้หมดอายุไปเองหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากคำร้องของ ส.. พรรคฝ่ายค้าน จะพบว่า คดีดังกล่าวมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ ดังนี้

  • ข้อเท็จจริงพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาจนถึงหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 ที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ
  • ข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่เกินแปดปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม และกำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560
  • พยานหลักฐานเพิ่มเติมผู้ร่างรัฐธรรมนูญเคยบันทึกความเห็นไว้ว่า ให้นำบทบัญญัติวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกินแปดปี มาบังคับใช้กับนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยให้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลบังคับใช้กับรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้

คดีนี้ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะต้องแสวงหาเพิ่มเติม และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีอยู่สั้นๆ เพียงบรรทัดเดียวเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีอย่างยาวนาน แม้ว่าจะต้องให้สิทธิกับ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการชี้แจงหรือแถลงข้อเท็จจริงหรือส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาให้ศาลด้วย แต่จากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่ปรากฎในคำร้องที่ยื่นต่อศาลมีความชัดเจนเพียงพอที่ศาลจะวินิจฉัยได้

อีกทั้ง การที่ศาลได้มีคำสั่งให้ พล..ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ยังสะท้อนว่าศาลรัฐธรรมนูญเล็งเห็นถึงความสำคัญในคดีนี้ เพราะตามพ...ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 71 กำหนดให้ศาลออกมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยได้ ในกรณีเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึงและคำร้องของผู้ร้องมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้อง

เพื่อลดบรรยากาศที่อึมครึมและหลีกเลี่ยงภาวะสุญญากาศที่ผู้ถืออำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องมีคำวินิจฉัยกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล..ประยุทธ์ โดยเร็วที่สุด ซึ่งตามพ...ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 71 กำหนดให้มาตรการชั่วคราวมีผลบังคับใช้ไม่เกิน 60 วัน ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรมีคำวินิจฉัยล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สถานะของ พล..ประยุทธ์ รวมถึงอนาคตทางการเมืองเกิดความชัดเจนขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาข้อถกเถียงต่ออำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน 

รวมถึงมิให้เป็นที่ครหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญมาช่วยประวิงเวลาเพื่อยื้ออำนาจให้กับคสช

สอง รัฐสภาต้องยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. แทรกแซงกระบวนการเลือกนายกฯ 

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นโดยองคาพยพของคสช. กำหนดให้ มี..ชุดพิเศษ มาจากการสรรหาและคัดเลือกจากคสช. และภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดให้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา” หรือต้องอาศัยความเห็นชอบจากทั้ง ส.. และ ส.. ร่วมกัน จึงเท่ากับการให้อำนาจ ส.. ซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลของพล..ประยุทธ์เอง เข้าไปแทรกแซงเสียงที่มาจากการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกนายกฯ ในปี 2562 ผิดเพี้ยน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภากลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในขณะที่พรรคที่สนับสนุนคสช. อย่างพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีจำนวน ส.. เป็นลำดับที่สอง กลับกลายเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล 

อำนาจพิเศษในมือของ..ชุดพิเศษเป็นจุดบอดที่ไร้ความชอบธรรมมากที่สุดที่คอยค้ำยันอำนาจให้ระบอบคสช. ยังคงอยู่ได้ และจะยิ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่มากขึ้นไปอีกมาก หากในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ส.. ชุดนี้จะยังคงมีอำนาจออกเสียงเลือกใครคนใดคนหนึ่งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย ส.. และ ส..แต่งตั้ง ควรดำเนินการลงมติด้วยเสียงข้างมากยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้โดยเฉพาะที่บรรจุอยู่ในวาระรอการพิจารณาอยู่แล้ว เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ที่มาจากการเข้าชื่อเสนอของประชาชนที่ นำโดยกลุ่ม “No 272” ซึ่งเป็นข้อเสนอขั้นต่ำมากๆ ที่เสนอเพียงให้ตัดวรรคแรกของมาตรา 272 ตัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของ ส.. แต่งตั้งในการเลือกนายกฯ ออกเท่านั้น ร่างฉบับนี้ คาดว่าจะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในเดือนกันยายน 2565 และวาระนี้แทบจะเป็นโอกาสสุดท้ายก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ที่ ส.. และ ส.. จะจับมือกันปลดชนวนความขัดแย้งทางการเมือง

การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากจะต้องใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาแล้ว ยังต้องอาศัยเสียงของ ส.. เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 84 คน และเสียงจากส.. ของพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลอย่างน้อยร้อยละ 20 เงื่อนไขหลังนี้น่าจะไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เหลือเพียง ส.. ที่เป็นปัจจัยสำคัญว่า จะลงมติเพื่อหวงอำนาจไว้ในมือตัวเอง หรือลงมติเพื่อหาทางออกและคืนอำนาจให้กับประชาชน 

ซึ่งหากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเห็นความสำคัญ และความจำเป็นเร่งด่วนในประเด็นนี้ ก็สามารถพิจารณาและลงมติเพื่อยกเลิกมาตรา 272 แบบสามวาระรวดในวันเดียวได้เลย เนื่องจากเป็นร่างที่เสนอให้ยกเลิกย่อหน้าหนึ่งย่อหน้าเท่านั้น ไม่ได้มีเนื้อความใดเพิ่มเติมมาในรัฐธรรมนูญ เมื่อยกเลิกแล้วไม่กระทบกับมาตราอื่นๆ จึงไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการชุดเล็กเพื่อไปศึกษารายละเอียดใดๆ ในวาระที่สองและวาระที่สามเพื่อให้เป็นการเสียเวลาอีก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ จึงสามารถทำให้เสร็จอย่างรวดเร็วและรีบประกาศใช้ได้จริง

สาม ต้องรีบเลือกนายกฯ ใหม่ตามรัฐธรรมนูญ และมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง

หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเร่งพิจารณายกเลิกมาตรา 272 ในเดือนกันยายน และทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ภายในเดือนตุลาคม ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเร่งการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยออกมาว่า พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งจนครบแปดปีและขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อในช่วงเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน ก็จะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งชุด รวมทั้งพล..ประวิตร, พล..อนุพงษ์ พ้นจากตำแหน่งตามพล..ประยุทธ์ไปด้วย และก็จะชัดเจนมากขึ้นว่าจะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ไม่ใช่คนรักษาการ โดยสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเป็นผู้ลงมติ วุฒิสภาไม่ได้ร่วมลงมติด้วย

ตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2560 ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองที่ได้ ส.. มากกว่า 25 คน เสนอไว้ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งหลังผ่านการเลือกตั้งมากว่า 3 ปี หากไม่นับพล..ประยุทธ์ ที่เป็นต้นตอของประเด็นปัญหาทั้งหมด ก็เหลือบุคคลที่ยังอยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ที่ยังมีสิทธิได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี 5 คน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์, สุดารัตน์ เกยุราพันธ์, ชัชชาติ สิทธิพันธ์ และชัยเกษม นิติศิริ จากพรรคเพื่อไทย ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรก็จะต้องลงมติเลือกคนใดคนหนึ่งในห้าคนนี้ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามธรรมเนียมทางการเมืองก็ควรจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่มี ส.. มากที่สุด และนายกฯ คนใหม่ก็จะมีวาระการดำรงตำแหน่งอีกไม่เกิน 5 เดือน 

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ย่อมจะต้องตระหนักดีว่า การเข้าสู่ตำแหน่งนั้นมีที่มาจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงไม่ได้มีหน้าที่มาดำเนินนโยบายใหม่ๆ แต่ควรมีหน้าที่หลักที่จะนำประเทศกลับสู่ภาวะปกติ โดยการรีบประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ และเร่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็ให้ยุบสภา เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง และให้ประชาชนตัดสินใจกำหนดอนาคตตัวเองใหม่ ภายใต้กติกาที่โปร่งใส เป็นปกติและเป็นธรรม และปราศจากการครอบงำของพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชาและองคพยพที่เข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร

ข้อเสนอทั้งสามข้อเป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที เรามีความหวังว่า ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองและนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสันติวิธี และเราหวังว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งศาลรัฐธรรมนูญ  พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี และประชาชน จะรับฟังเพื่อเพื่อสร้างอนาคตที่มีความหวังให้กับคนไทยทุกคน

[ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ