8 ปี ประยุทธ์: สำรวจสายธารอำนาจของระบอบคสช.

ถ้านับตั้งแต่ครั้งแรกที่ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 จะเป็นวันที่ พล..ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลาครบ 8 ปี ซึ่งนับว่าเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานเป็นอันดับที่สี่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รองลงมาจาก จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร และ พล..เปรม ติณสูลานนท์

แม้ว่าในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ พล..ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังถูกร้องว่า ครบวาระ 8 ปี ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนด แต่ทว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล..ประยุทธ์ ยังไม่ได้สิ้นสุด และผู้ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทนก็เป็น พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ชายคนสนิดของ พล..ประยุทธ์ และเป็นอดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ต้องพูดถึงเกี่ยวกับการดำรงอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของ พล..ประยุทธ์ ก็คือ การออกแบบกลไกทางอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 มาจนถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จนทำให้คสช. ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจสามารถดำรงอยู่ได้ อีกทั้ง ยังเข้าไปยึดกุมอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการได้อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ผ่านสายธารอำนาจที่เรียกกันว่าแม่น้ำห้าสาย” 

ไอลอว์ ชวนทุกคนสำรวจดูว่า แม่น้ำห้าสายที่เปรียบเสมือนสายธารทางอำนาจของระบอบคสช. มันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และมันมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนี้ 

หนึ่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

คสช. ถือว่าเป็นบ่อเกิดทางอำนาจของแม่น้ำทั้งห้าสาย โดยหลังจากทำการรัฐประหาร คสช. ซึ่งประกอบไปด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ได้ออกประกาศเรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และตั้งตนเป็นฝ่ายบริหาร อีกทั้งยังประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และแต่งตั้งคนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการชั่วคราว หรือที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ปี 2557” เพื่อวางกลไกทางอำนาจก่อนจะปูทางให้ตัวเองผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในวาระเริ่มแรก คสช. ประกอบไปด้วยผู้นำเหล่าทัพ จำนวน 5 คน ได้แก่

  • พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็น หัวหน้าคสช.
  • พล..ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็น รองหัวหน้าคสช.
  • พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็น รองหัวหน้าคสช
  • พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น รองหัวหน้าคสช
  • พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจ เป็น รองหัวหน้าคสช.

ต่อมามีการปรับเปลี่ยนสมาชิก คสช. อีกอย่างน้อยหกครั้ง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นบรรดาผู้นำเหล่าทัพ หรืออดีตผู้นำเหล่าทัพ เมื่อมีการเกษียณอายุราชการและปรับตำแหน่งจึงต้องมีการปรับเพิ่มและลดสมาชิกคสช. อยู่ทุกปี และผู้ดำรงตำแหน่งในคสช. ชุดสุดท้ายก่อนจะต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้แก่

  • พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.
  • พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช.
  • พล..ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคสช.
  • พล...ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคสช.
  • พล...ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคสช.
  • พล...อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช.
  • พล..อุดมเดช สีตบุตร สมาชิกคสช.
  • พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา สมาชิกคสช.
  • พล..ณัฐ อินทรเจริญ สมาชิกคสช.
  • พล..พรพิพัฒน์ เบญญศรี สมาชิกคสช.
  • พล...ลือชัย รุดดิษฐ์ สมาชิกคสช.
  • พล...ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน สมาชิกคสช.
  • พล...จักรทิพย์ ชัยจินดา สมาชิกคสช.
  • มีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคสช.
  • พล..อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เลขาธิการคสช.

ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 คสช. มีอำนาจและบทบาททางการเมืองอย่างกว้างขวาง อย่างเช่น เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกที่ทำหน้าที่เสมือนฝ่ายนิติบัญญัติในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร หรือ วุฒิสภา 

อีกทั้ง ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ยังให้อำนาจพิเศษกับหัวหน้าคสช. ที่เรียกกันว่า มาตรา 44” ซึ่งเป็นอำนาจที่ทำให้หัวหน้าคสช. หรือ พล..ประยุทธ์ สามารถออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ และให้มีผลทั้งในทางบริหาร (เทียบเท่า ระเบียบ คำสั่ง กฎกระทรวง) ทางนิติบัญญัติ (เทียบเท่า พระราชบัญญัติ) หรือ ทางตุลาการ (เทียบเท่า คำวินิจฉัย คำพิพากษา) ซึ่งตลอดการดำรงตำแหน่งของ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการออกประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 210 ฉบับ ซึ่งการใช้อำนาจเหล่านี้ยังถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 และ รัฐธรรมนูญ ปี 2560

โดยตัวอย่างการใช้อำนาจออกประกาศและคำสั่งคสช. หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช. เพื่อเอื้อผลประโยชน์ทางการเมืองของคสชมีมากมาย เช่น การควบคุมเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการจับกุมและควบคุมตัวอย่างค่อนข้างอิสระ ผ่านคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 หรือ การควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) มีอำนาจลงโทษสื่อได้ เป็นต้น

สอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณากฎหมายในยุค คสช. รวมทั้งเป็นยังทำหน้าที่ในการพิจารณาเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอีกด้วย บทบาท สนช. มีความสำคัญในการวางรากฐานทางอำนาจให้กับ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านกฎหมายและองค์กรอิสระ

ดังจะเห็นได้ว่า การทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายตลอดเกือบ 5 ปี ของ สนช. ผ่านพระราชบัญญัติไปถึง 444 ฉบับ เฉลี่ยปีละเกือบ 100 ฉบับ โดยกฎหมายส่วนใหญ่ผ่านความเห็นชอบโดยไม่มีเสียงค้าน หรือ 90% ยกมือสนับสนุน โดยไม่มีร่างกฎหมายฉบับไหนเลยที่เคยถูกโหวตให้ไม่ผ่านเลยแม้แต่ฉบับเดียว ขณะเดียวกันได้เห็นชอบบุคคลให้ไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระจำนวน 34 คน ไม่ว่าจะเป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการ ป..., กรรมการ กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรรมการ กสม. เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาชิก สนช. จำนวน 250 คน มาจากการแต่งตั้งโดย พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นว่าสัดส่วนของ สนช. ประกอบด้วย ทหารทุกเหล่าทัพรวมกันมีจำนวน 145 คน (58%) เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน สนช. ทั้งหมด และจากจำนวนทหารทั้งหมด 145 คน สามารถแบ่งเป็นทหารประจำการ 90 คน และทหารที่ เกษียณอายุราชการแล้ว 55 คน หากแบ่งตามเหล่าทัพจะเป็นทหารบก 93 คน ทหารเรือ 28 คน และ ทหารอากาศ 24 คน และหากรวมสมาชิก สนช. ที่เป็นตำรวจ ข้าราชการพลเรือน เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน (89%) ของสมาชิกทั้งหมด ด้วยเหตุนี้อาจกล่าว ได้อย่างว่า สนช. คือสภาข้าราชการหรือสภาทหาร” 

โดยที่มาของ สนช. พบว่า สนช.สายทหาร มาจากกลุ่มอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ และกลุ่มเพื่อนเตรียมทหารและผู้ใต้บังคับบัญชาของพลเอกประยุทธ์ รวมทั้งกลุ่มเครือญาติและเครือข่ายของผู้นำ คสช. ไม่ว่าจะเป็นพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ วิษณุ เครืองาม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักการเมืองแต่งตั้งอย่างน้อย 36 คน ที่ช่วงเวลานับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐาน สนช. และ ส..แต่งตั้ง เช่น ตวง อันทะไชย, สมชาย แสวงการ, วัลลภ ตังคณานุรักษ์, คำนูญ สิทธิสมาน, วันชัย สอนศิริ และเสรี สุวรรณภานนท์ ซึ่งบุคคลข้างต้นก็ยังคงทำหน้าที่ ส..แต่งตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน

สาม สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.

สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นสภาที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) .. 2557 เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปในด้านต่างๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.)  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อาจกล่าวได้ว่า สปช. ถูกตั้งขึ้นเพื่อสนองตอบภารกิจของการยึดอำนาจที่ประกาศจะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จก่อนจัดการเลือกตั้ง 

รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.. 2557 กำหนดให้ สปช.มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน วันที่ 2 ตุลาคม 2557 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สปช.จำนวน 250 คน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกจากบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละ 1 คน จำนวน 77 คน และคัดเลือกจากที่คณะกรรมการสรรหาด้านต่าง ๆ จำนวน 11 ด้าน เสนอ จำนวนไม่เกิน 173 คน

สปช. เริ่มการประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557  โดยตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา สปช. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการทั้งสิ้น 18 คณะ เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปรวม 37 วาระ และวาระการพัฒนา 7 วาระ และมีผลลัพธ์เป็นรายงานการสังเคราะห์ภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของ ที่มีข้อเสนอการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องรวม 505 ข้อเสนอ และมีการเสนอให้จัดทำร่างพระราชบัญญัติอย่างน้อย 43 ฉบับ ซึ่งจากการสำรวจชุดข้อเสนอดังกล่าว พบว่า มีลักษณะครอบจักรวาลไม่มีการเรียงลำดับความสำคัญ จนไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จเสร็จสิ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง ข้อเสนอที่เป็นร่างพระราชบัญญัติก็มีการนำไปดำเนินการใช้จริงเพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี นอกจากจัดทำข้อเสนอในการปฏิรูปแล้ว หนึ่งในหน้าที่สำคัญของสปช. คือ ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กมธ. ร่างขึ้นมา โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557 ระบุให้ สปช. สิ้นสุดลง กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ และให้ คสช. ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. มาทำหน้าที่แทน ซึ่งผลการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ออกมาว่า สปช. เสียงข้างมากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า คสช. อยากอยู่ยาวจึงต้องตีตกเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็เป็นผลให้ สปช. สิ้นสุดลง และ คสช. ต้องทำการตั้งสภาปฏิรูปชุดใหม่ในชื่อ สปท

เมื่อ สปช. กลายเป็น สปท. หน้าที่ของทั้งสองสภายังมีลักษณะเหมือนกัน คือ มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะโดยผลงานของสภาชุดนี้ คือ รายงานการปฏิรูปจำนวน 190 เล่ม ซึ่งจากการศึกษารายงานดังกล่าว พบว่า มีข้อเสนอและวิธีการปฏิรูปอย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่กลับมีรูปธรรมที่สามารถดำเนินการต่อได้ทันทีเพียง 329 ข้อ และในข้อเสนอดังกล่าว บางอย่างยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด รวมไปถึงไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการดำเนินการตามข้อเสนอจะได้ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้หรือไม่ อีกทั้ง บางข้อเสนอยังเป็นข้อเสนอที่ลอกเลียนแบบมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือเรียกได้ว่านำรายงานของสปช.มาแล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น หรือข้อเสนอที่มีกฎหมายหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่แล้ว

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สปท. ยังมีข้อเสนอที่ล้าหลังจนทำให้สังคมต้องออกมาคัดค้าน เช่น การเสนอ ร่าง พ...การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.. … หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในชื่อ ร่าง พ...ตีทะเบียนสื่อ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรออกมาคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้จะเปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อ และมีเจตนาในการปิดปากไม่ให้ค้นหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐที่ไม่ชอบมาพากล ผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่รัฐจัดตั้ง เช่น สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยองค์กรที่รัฐจัดตั้งนั้น มีอำนาจในการพิจารณาออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าวได้

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กำหนดให้ สปท. ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต่อมา สนช. ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมายในปี 2560 ทำให้ สปท. ต้องสิ้นสุดลง แต่ทว่า สมาชิกหลายคน ก็ได้ย้ายไปอยู่ในโครงสร้างอำนาจใหม่ ที่เรียกว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

โดยจากรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ปรากฎว่า มีบุคคลที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่จำนวนมิใช่น้อย เป็น อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรููปประเทศ(สปท.) อยู่ถึง 46 คน คิดเป็นร้อยละ 38 ของกรรมการทั้งหมด ทุกคนล้วนนั่งควบตำแหน่งในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย และก็ยังได้ไปต่ออีกเป็นคำรบที่สาม 

นอกจากจะตั้งคนหน้าเก่ามาวางแผนปฏิรูปครั้งใหม่แล้ว กลุ่มคนที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่สอง ก็คือ กลุ่มข้าราชการและอดีตข้าราชการโดยคนกลุ่มนี้มีถึง 40 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ถัดมาเป็นตัวแทนจากนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน คิดเป็นร้อยละ 18 และที่เหลือเป็นตัวแทนจากเอกชน 7 คน นักการเมือง 3 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6 3 และ 2 ตามลำดับ

แต่ไฮไลท์ของการแต่งตั้ง กลับอยู่ที่เก้าอี้ของประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน เนื่องจากผู้ที่ได้รับตำแหน่งประธานจะมีลักษณะร่วมกันอยู่สองแบบ แบบแรกคือ เป็นบุคคลซึ่งเคยรับตำแหน่งจากรัฐบาลนี้มาก่อน อย่างเช่น พรชัย รุจิประภา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีในรัฐบาล พล..ประยุทธ์ และ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) มาก่อน และแบบที่สอง คือ เป็นข้าราชการประจำที่ยังต้องรับคำสั่งโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี อย่างเช่น กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย 

เห็นได้ว่า สายสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละคณะกับ คสช. ค่อนข้างไม่ธรรมดา อาจจะกล่าวได้ว่า มิใช่คนอื่นคนไกล หากแต่เป็นคนที่ คสช. ‘ไว้ใจและเคยทำงานร่วมกันมาก่อน

สี่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กมธ.

ในยุครัฐบาล คสช. มีการร่างรัฐธรรมนูญถาวรถึงสองครั้งสองครา และใช้ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญถึงสองชุด ชุดแรกชื่อว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และชุดที่สองชื่อว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เหตุที่ต้องมีคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 คณะ เนื่องในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

การร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก คสช. ได้แต่งตั้ง กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญเป็น เวลาเกือบ 10 เดือน และขนานนามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับพลเมืองเป็นใหญ่หรือฉบับปฏิรูปประเทศก็ถูกสมาชิก สปช. ลงมติด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบเป็นผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอันตกไป และ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญต้องถูกยุบไป หลังร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ถูกคว่ำไป คสช. แต่งตั้ง กรธ. จำนวน 21 คน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

มีชัย ประธาน กรธ. และยังมีอีกฐานะหนึ่งคือสมาชิก คสช. ใช้เวลาเกือบ 6 เดือนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ฉายาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงอย่างไรก็ดีร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าดูเหมือนจะปราบโกงแต่เพียงนักการเมืองจากการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกนำไปออกเสียงประชามติก็มีหลายประเด็นซึ่งสั่นคลอน คสช. เช่น ประเด็นการศึกษาที่ กรธ.เขียนร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งลดจาก รัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดไว้ 15 ปี เสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากส่งผลให้ หน้า คสช.ใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 ออกคำสั่งกำหนดให้กลับไปเรียนฟรี 15 ปี เช่นเดิม และหลังการออกเสียง ประชามติ หัวหน้า คสช. ก็ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาประเด็นศาสนาของ ร่างรัฐธรรมนูญ ที่เดิมร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมีหน้าที่สนับสนุนพุทธศาสนา นิกายเถรวาท เปลี่ยนเป็นให้ทุกหน่วยงานรัฐมีหน้าที่คุ้มครองทุกศาสนา

รัฐธรรมนูญ 2560 คือ ผลงานการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ชุดมีชัย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฐานอำนาจที่สำคัญของพล..ประยุทธ์ ที่ทำให้สามารถรักษาอำนาจได้ยาวนานมาถึง 8 ปี ได้ ตั้งแต่การกำหนดให้ พล..ประยุทธ์ สามารถแต่งตั้ง ส.. 250 คน โดยมีหน้าที่ในการเลือกนายกฯ ได้ด้วย รวมทั้งยังสามารถแต่งตั้งองค์กรอิสระเพื่อช่วยในการรักษาอำนาจ นอกจากนี้ยังออกแบบระบบเลือกตั้งเพื่อให้พรรคการเมืองและรัฐสภาอ่อนแอ เพื่อทำให้ตัวเองได้เปรียบและรักษาอำนาจต่อไปได้

ห้า คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.

ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 มาตรา 19 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของ สนช. จากนั้นให้นายกฯ เสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 30 คน เพื่อประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีและทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน โดยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สนช. ได้ลงมติเห็นชอบให้ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยคะแนนเสียง 191 ต่อ 0 และ พล..ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557

ต่อมา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่ง ครม. ชุดแรกของรัฐบาล พล..ประยุทธ์ ประกอบไปด้วยบรรดารองหัวหน้าคสช. หรือ บรรดาผู้นำเหล่าทัพที่ทำการรัฐประหาร หรือบุคคลใกล้ชิดกับ พล..ประยุทธ์ อาทิ พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. และ พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งบรรดาข้าราชการชั้นสูง อาทิ บรรดาปลัดกระทรวงต่างๆ หรือ อดีตข้าราชการ หรือ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยทำงานร่วมกับคณะรัฐประหารมาเป็นรัฐมนตรีด้วย อาทิ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายและที่ปรึกษาคสช. หรือ สมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาล พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ 

ต่อมา เมื่อใกล้ช่วงที่คสช. จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง บรรดา ครม. ในรัฐบาล พล..ประยุทธ์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสืบทอดอำนาจให้คสช. ผ่านการตั้งพรรคการเมืองที่เรียกว่าพลังประชารัฐซึ่งเป็นชื่อเดียวกับนโยบายหลักของรัฐบาล พล..ประยุทธ์ ในขณะนั้น โดยผู้ที่เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ คือกลุ่มสาม ส.” หรือสามมิตรได้แก่สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจและสมศักดิ์ เทพสุทิน’  อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มารับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาล พล..ประยุทธ์

อีกทั้ง บรรดาสี่รัฐมนตรีในรัฐบาล พล..ประยุทธ์ ได้แก่ อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ต่างย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค พร้อมกับบางคนได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งสี่คนมีความเชื่อมโยงกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ว่าเป็นลูกศิษย์เอก

อย่างไรก็ดี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มสามมิตรและสี่รัฐมนตรีในรัฐบาล พล..ประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐสามารถดึงดูดนักการเมืองจากพรรคต่างๆ มาได้ อย่างน้อย 82 คน แบ่งเป็น อดีต รมต. 19 คน อดีต ส.. 62 คน และอดีต ส.. 1 คน เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้ง พร้อมประกาศว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเราโดยเสนอชื่อ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. มาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ 

แม้พรรคพลังประชารัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือกระแสการจัดโต๊ะจีนรับบริจาคเงินซึ่งปรากฎชื่อของหน่วยงานรัฐเป็นผู้ให้เงินบริจาค รวมถึงการที่รัฐบาล พล..ประยุทธ์ลดแลกแจกแถมเงินและนโยบายช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งในปี 2562 ก็ปรากฎว่า พรรคพลังประชารัฐคว้าที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปได้ถึง 115 ที่นั่ง เป็นพรรคใหญ่ลำดับที่สองในสภา และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในดัน พล..ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัยใหม่