จับตา! กฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส.-พรรคการเมือง หลังรัฐสภาเคาะสูตรหาร 500

26-27 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. + ส.ว.) มีนัดพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ที่ต้องพิจารณาในวาระสอง ลงมติรายมาตรา และพิจารณาลงมติวาระสาม โดยกฎหมายสำคัญที่รัฐสภาต้องพิจารณาต่อเนื่องมาจากการประชุมคราวก่อน คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) ซึ่งเมื่อการประชุมรัฐสภาวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตพลิกล็อก เคาะสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากหาร 100 เป็นหาร 500

การประชุมร่วมรัฐสภาในวันอังคารและพุธนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งนัดการประชุมครั้งสำคัญที่น่าจับตาว่า กฎหมายลูกที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งแก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ จะสามารถผ่านการพิจารณาจนสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ หลังจากรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. แล้ว จะต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาให้ความเห็น ซึ่งความเห็นของกกต. ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเด็นเรื่องสูตรคำนวณที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้อีกเช่นกัน หากกกต. เห็นว่าเนื้อหาในร่างพ.ร.ป. นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญได้ รัฐสภาก็สามารถดำเนินแก้ไขร่างพ.ร.ป.ตามข้อเสนอของกกต.ได้ตามที่เห็นสมควร

นอกจากร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. รัฐสภายังมีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ 2560 ในบางประเด็น เช่น อัตราค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรค และยังมีร่างกฎหมายใหม่อีกสามฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศที่รัฐสภาต้องพิจารณารายมาตราในวาระสองและลงมติวาระสาม ได้แก่

1. ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. เป็นกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐสามารถใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติราชการ เช่น การอกอใบอนุญาต อนุมัติ จดทะเบียน ขึ้นทะเบียน รับจดแจ้ง รับบรอง ผู้ขออนุญาตสามารถเลือกยื่นคำขออนุญาตด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และเจ้าหน้าที่รัฐจะปฏิเสธไม่รับการขออนุญาตด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้

2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. เป็นกฎหมายกำหนดมาตรการที่สร้างขึ้นใหม่ เรียกว่า “ปรับเป็นพินัย” เพื่อใช้แทนโทษทางอาญา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าปรับที่ต้องชำระ ให้เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำประกอบกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด กรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอทำงานบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์แทนชำระค่าปรับได้ แม้ปลายทางแล้วผู้กระทำความผิดยังคงต้องจ่ายเงินชำระค่าปรับ แต่เมื่อไม่ใช่โทษทางอาญา การจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับก็จะไม่ถูกนำมาใช้ อีกทั้งไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรมที่จะทำให้ประชาชนเสื่อมเสียประวัติโดยใช่เหตุ ทั้งนี้ การปรับเป็นพินัยจะใช้กับความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว ตามบรรดากฎหมายที่อยู่ในบัญชีท้ายร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยเท่านั้น

3. ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. เป็นร่างกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ของกรอบเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยหลักแล้วใช้กับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กกต. ป.ป.ช. ศาล องค์กรอัยการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งจะออกภายหลังจากร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว