ส.ว. แต่งตั้ง: ผู้นำเหล่าทัพ รับเงินจากสภาและกองทัพ แต่มาลงมติในสภาไม่ถึง 7%

โดยปกติรัฐธรรมนูญไทยจะกำหนดว่า ห้ามให้ “ข้าราชการประจำ” ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อป้องกันการครอบงำหรือแทรกแซงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยฝ่ายข้าราชการ และเพื่อป้องกันเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ที่บรรดาข้าราชการซึ่งใช้อำนาจฝ่ายบริหารจะทำหน้าที่นิติบัญญัติไปพร้อมกัน เข้าทำนอง ‘ใช้กฎหมายเอง เขียนกฎหมายเอง’

แต่ทว่า ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แม้จะมีการห้ามข้าราชการประจำมาเป็นคณะรัฐมนตรี หรือ สมาชิกสภาผู้นแทนราษฎร (ส.ส.) แต่กลับเปิดช่องให้บรรดาผู้นำทางการทหาร หรือ ผู้นำเหล่าทัพ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ มีตำแหน่งแห่งที่ในวุฒิสภาโดยอัตโนมัติ ถึง 5 ปี 

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบการทำงานของ ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ ในสมัยการประชุมสามัญครั้งที่ 2 ปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า บรรดาผู้นำเหล่าทัพไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อลงมติจำนวนมาก กล่าวคือ มีการเข้าร่วมการประชุมเพื่อลงมติไม่ถึง 7% ทั้งที่บรรดา ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ ต่างได้รับค่าตอบแทนทั้งจากสภาและกองทัพ รวมแล้วไม่น้อยกว่าสองแสนบาทต่อเดือน

รัฐธรรมนูญ 60 เปิดทาง “ข้าราชการประจำ” เป็น ส.ว. – รับเงินเดือนหลายทาง

แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะกำหนดให้ “ข้าราชการประจำ” ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ ส.ว. โดยระบุข้อห้ามไว้ในมาตรา 108 ข. (2) เรื่องลักษณะต้องต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และในมาตรา 184 (1) ยังกำหนดด้วยว่า ส.ว. ต้อง ไม่ดํารงตําแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตําแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

แต่ทว่า ในหมวดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) (ค) กลับกำหนดให้ ส.ว. ในวาระเริ่มแรก มีข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่ง ส.ว. ด้วยหกคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ  และให้งดเว้นการบังคับใช้บทบัญญัติเรื่องลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ที่ห้าม ส.ว. เป็นข้าราชการ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้บรรดาผู้นำเหล่าทัพที่เป็นข้าราชการประจำจะได้รับเงินจากทั้งสองทาง คือ เงินจากตำแหน่งข้าราชการการเมือง อย่างน้อย 113,650 บาท และ เงินจากตำแหน่งข้าราชการประจำ อย่างน้อย 120,030 บาท นอกจากนี้ ผู้นำเหล่าทัพต้องดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามมาตรา  12 (5) ของพ.ร.บ.การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะได้รับเงินเป็นค่าเบี้ยประชุม จำนวน 6,000 บาท/ครั้ง

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวประชาชาติ รายงานว่า เมื่อปี 2563 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ชี้แจงเรื่องการรับค่าตอบแทนตำแหน่ง ส.ว. ว่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะตำแหน่ง ส.ว. กำหนดมาในแต่ละบุคคล เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนในการพิจารณา แต่ในส่วนของตนไม่รับเงินเดือนในส่วนนี้

หลังจากนั้น มีรายงานข่าวเพิ่มเติมระบุด้วยว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพ จะไม่ขอรับเงินเดือนตำแหน่ง ส.ว. โดยให้แต่ละคนทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในขณะที่ พล.อ. เฉลิมพล บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ส่วนของตัวเองจะให้เจ้าหน้าที่ส่งเรื่องไปที่สำนักงานวุฒิสภา ไม่รับเงินเดือน ส.ว. ต่อไป

ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ เข้าประชุมสุดสุด 5 ครั้ง-ร่วมลงมติสูงสุดไม่ถึง 7% ส่อพ้นตำแหน่ง ส.ว.

ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้การเข้าประชุมและการลงมติในที่ประชุมถือเป็นหน้าที่หลักของ ส.ว. โดยรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขการพ้นตำแหน่งของ ส.ว.  ซึ่งอยู่ในมาตรา 115 (5) ที่ระบุว่า ให้สมาชิกภาพของ ส.ว  สิ้นสุดลง เมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจํานวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกําหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา หรือ หมายความว่าภายใน 120 วันนั้น ส.ว. ต้องเข้าประชุมมากถึง 75% เว้นแต่ประธานวุฒิสภาอนุญาตให้ขาดประชุม

โดยในมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 111 (5) และให้ประธานแห่งสภา ที่ได้รับคําร้องส่งคําร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบบันทึกการออกเสียงลงคะแนนการประชุมวุฒิสภา ปีที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีการประชุมทั้งสิ้น 27 ครั้ง พบการทำงานของส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ ดังนี้

  1. พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ตร. และเป็น ส.ว. หมายเลข 019 มาประชุมอย่างน้อย 0 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 0 ครั้ง จาก 161 ครั้ง หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 0%
  2. พลอากาศเอก นภาเดช ธูปะเตมีย์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทอ. และเป็น ส.ว. หมายเลข 40 มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 10 ครั้ง จาก 155 ครั้ง* หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.5%
  3. พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็น ปลัดกลาโหมฯ และเป็น ส.ว. หมายเลข 055 มาประชุมอย่างน้อย 5 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 10 ครั้ง จาก 161 ครั้ง หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.2%
  4. พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.สส. และเป็น ส.ว. หมายเลข 118 มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 11 ครั้ง จาก 161 ครั้ง** หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.8%
  5. พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทร. และเป็น ส.ว. หมายเลข 149 มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 8 ครั้ง จาก 155 ครั้ง* หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 5.1%
  6. พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. และเป็น ส.ว. หมายเลข 236 มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 0 ครั้ง จาก 161 ครั้ง หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 0%

หมายเหตุ: *พล.อ.อ.นภาเดช และ พล.ร.อ.สมประสงค์ เข้ารับตำแหน่งวันที่ 2 พ.ย. 64 จึงมียอดรวมการลงมติน้อยกว่าผู้นำเหล่าทัพคนอื่น และ **ในการประชุมหนึ่งครั้งอาจมีการลงมติมากกว่าหนึ่งครั้ง

นอกจากนี้ เมื่อดูจากจำนวนครั้งการเข้าร่วมการประชุมของ ส.ว. ที่มาจากผู้นำเหล่าทัพ จะพบว่า ทั้ง 6 คน มีข้อมูลการเข้าประชุมไม่ถึง 3 ใน 4 ของสมัยประชุมของเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2565 โดยผู้ที่เข้าประชุมมากที่สุด คือ พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ซึ่งเข้าประชุมอย่างน้อย 5 ครั้ง จาก 27 ครั้ง  แต่จำนวนนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ส.ว.ขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของสมัยประชุม ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ว. ทั้ง 6 คนจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ ไม่เคยเข้าประชุมสภาตั้งแต่ต้นจนจบ-อยู่ลงมตินานที่สุด 38 นาที

จากการตรวจสอบบันทึกการออกเสียงลงคะแนนการประชุมวุฒิสภา ปีที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 พบข้อสังเกตอย่างน้อย 2 ข้อ เกี่ยวกับการการเข้าประชุมสภาของ ส.ว. ได้แก่

1) ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพไม่ได้ร่วมประชุมตั้งแต่ต้นจนจบและอยู่เพียงชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น

  • การประชุมครั้งที่ 11 ของการประชุมวุฒิสภา ปีที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ มาร่วมลงมติลำดับที่ 15 ซึ่งเป็นการลงมติร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ในหมวดที่ 2 และหลังจากลงมติไปเพียง 3 ครั้ง ก็ไม่ได้ลงมติต่อจนจบการประชุมในครั้งดังกล่าว (ระยะเวลาเข้าประชุมเพื่อลงมติอยู่ที่ 3 นาที)
  • การประชุมครั้งที่ 12 ของการประชุมวุฒิสภา ปีที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ มาร่วมลงมติลำดับที่ 1 และ 2 เรื่องให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ไดรับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และหลังจากลงมติไปแล้วก็ไม่ได้ลงมติต่อจนจบการประชุมในครั้งดังกล่าว (ระยะเวลาเข้าประชุมเพื่อลงมติอยู่ที่ 38 นาที)
  • การประชุมครั้งที่ 20 ของการประชุมวุฒิสภา ปีที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ มาร่วมลงมติลำดับที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นการลงมติร่างพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. …. และหลังจากลงมติไปแล้วก็ไม่ได้ลงมติต่อจนจบการประชุมในครั้งดังกล่าว (ระยะเวลาเข้าประชุมเพื่อลงมติอยู่ที่ 2 นาที)

2) ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพเข้าประชุมพร้อมกันมากที่สุดตอนพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า โดยมี พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์, พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เข้าร่วมการประชุมครั้งดังกล่าว