เทียบ “พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 4 ฉบับ” พระราชอำนาจกษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง?

ในสนามการเมืองวัฒนธรรม ยุทธิวิธีเพื่อมุ่งสู่ชัยชนะอาจหมายถึง “การสร้างความหมาย” ให้คำนิยาม ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสร้างวาทกรรมต่างๆ เพื่อให้ถูกจดจำต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม ในสนามของการเมืองเรื่องข้อกฎหมาย ยุทธวิธีดังกล่าวจะปรากฏผ่าน “การตราบทบัญญัติ” ระบุให้การจัดการสิ่งใดๆ เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่แตกต่างกัน

ปลายปี 2563 ประเด็นเรื่อง “ปฏิรูปสถาบัน” ได้กลายเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลักอย่างเป็นทางการ ภายหลังวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศ “สิบข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน” ในการชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยหนึ่งในสิบข้อ ระบุให้ “ยกเลิกพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561” พร้อมแบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังและทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

ทำไมต้องแบ่งทรัพย์สินให้ชัดเจน? และ ทำไมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ควรอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง?

นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์” ซึ่งมีความยาวไม่เกินสี่หน้า และมีเพียงสิบกว่ามาตรานี้ ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงมาแล้วอย่างน้อยสี่ครั้งในประเด็นต่างๆ เช่น การแบ่งประเภททรัพย์สิน การกำหนดผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สิน ที่มาของคณะกรรมการผู้ดูแล ไปจนถึงข้อกำหนดเรื่องการเสียภาษี เป็นต้น ในวาระครบรอบ 90 ปีการอภิวัตน์สยาม ไอลอว์ชวนย้อนดูสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง ภายใต้ช่วงเวลาและเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาดังนี้

(1) ฉบับ 2479: “กระทรวงการคลัง” ดูแลทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ฯ – ทรัพย์สินส่วนพระองค์ต้อง “เสียภาษี”

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรมีความพยายามที่จะจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยหลักฐานชิ้นแรกปรากฏในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ผ่านการออก “พ.ร.บ.อากรมรดกและการรับมรดก พ.ศ.2476” ระบุให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินของผู้ตาย เช่น บรรดาอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ พันธบัตร ใบหุ้น หรือหลักทรัพย์อื่นๆ อันมีราคาเกินกว่า 10,000 บาท จะต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตามภายหลังบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี กฎหมายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกเมื่อปี 2487 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

(อ้างอิง: ปราการ กลิ่นฟุ้ง, พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ บทที่ 2 การจัดการทรัพย์สินในสมัยคณะราษฎรยุคต้น สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2480 ได้มีการออก พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 โดยมีสาระสำคัญคือ การแบ่งแยกประเภททรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พร้อมกำหนดให้กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทในการดูแลทรัพย์สินดังกล่าวด้วย ดังต่อไปนี้ 

o การแบ่งประเภททรัพย์สิน

มาตรา 4 แบ่งประเภทของทรัพย์สินออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ หมายถึง ทรัพย์สินหรือสิทธิอันติดอยู่กับทรัพย์สิน ที่เป็นของพระมหากษัตริย์ทั้งก่อนและหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ (ไม่ว่าจะได้รับมาจากใครก็ตาม) และทรัพย์สินที่ซื้อจากเงินส่วนพระองค์

2) ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หมายถึง ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น พระราชวัง

3) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายถึง ทรัพย์สินอื่นๆ นอกเหนือจากทั้ง 2 ประเภทข้างต้น

o ผู้ดูแลทรัพย์สิน

มาตรา 5 ระบุให้การจัดการและดูแลทรัพย์สินแต่ละประเภทเป็นดังต่อไปนี้

  • ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ให้อยู่ในการดูแลรักษาของ “สำนักพระราชวัง”
  • ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ชนิดอื่นๆ ให้อยู่ในความดูแลของ “กระทรวงการคลัง” โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามพระบรมราชานุมัติ ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการอีกสี่นาย ขณะที่มาตรา 7 ระบุว่า การโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินส่วนนี้เป็นไปตามพระบรมราชานุมติ ทั้งเพื่อสาธารณประโยชน์และประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เอง

ทั้งนี้ ในปี 2484 พ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ ฉบับปี 2479 นี้ ได้มีการแก้ไขหนึ่งครั้ง โดยเปลี่ยนจำนวนของคณะกรรมการผู้ให้คำปรึกษา จากจำนวน “4 นาย” เป็น “อย่างน้อย 4 นาย”

o รายได้และการเสียภาษี

มาตรา 6 กำหนดให้นำรายได้ของ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง” มาทูลเกล้าถวายเพื่อให้กษัตริย์ใช้จ่าย หลังจากได้หักค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้ออกแล้ว

  • รายจ่ายตามข้อผูกพันอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
  • รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือน (รวมทั้งบำเหน็จบำนาญ ถ้ามี)
  • เงินค่าใช้สอย เงินการจร และเงินลงทุน อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
  • รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินพระราชกุศล

มาตรา 8 กำหนดให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ต้องเสียภาษี

ทั้งนี้ ข้อกำหนดการเสียภาษีดังกล่าวสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 ตราไว้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2478 โดยมีเนื้อหาสั้นๆ ระบุให้ “ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์”  นอกเหนือจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ ได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร

(2) ฉบับ 2491: ตั้ง “สำนักทรัพย์สินฯ” ทำหน้าที่แทนกระทรวงการคลัง – “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” จัดการตามพระราชอัธยาศัย

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะทหารแห่งชาติได้มอบหมายให้ ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 รัฐบาลก็ได้ทำการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์อีกครั้ง โดย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฉบับปี 2491 นี้สาระสำคัญคือการตั้ง “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เพื่อดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทนที่กระทรวงการคลัง และแก้ไขให้การจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้นไปเป็นตามพระราชอัธยาศัย ดังต่อไปนี้ 

o การแบ่งประเภททรัพย์สิน

มาตรา 4 แบ่งประเภทของทรัพย์สินออกเป็น 3 ประเภทเช่นเดิม แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามของทรัพย์สินส่วนพระองค์ ดังนี้

1) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ยังคงหมายถึงทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ หรือทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดนอกจากเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ มีการเจาะจงเพิ่มว่าให้รวมทั้ง “ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าฯ ถวาย” และ “ดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินนั้น” ด้วย

2) ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ระบุคงความหมายเช่นเดิมกับฉบับ 2479 ได้แก่ ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น พระราชวัง

3) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระบุคงความหมายเช่นเดิมกับฉบับ 2479 ได้แก่ ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

o ผู้ดูแลทรัพย์สิน

มาตรา 4 ระบุให้ตั้ง “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นมาเพื่อดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

มาตรา 4 ทวิและมาตรา 4 ตรี กำหนดให้มี “คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ทำหน้าที่ดูแลกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คนแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และในจำนวนนี้ พระมหากษัตริย์จะเลือกหนึ่งในสี่คน ให้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้บทบาทการดูแลทรัพย์สินตามแต่ละประเภทตามมาตรา 5 มีการแก้ไขดังต่อไปนี้

  • ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ให้การดูแลรักษาและการจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตาม “พระราชอัธยาศัย”
  • ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บรรดาที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ให้อยู่ในความดูแลรักษาของ “สำนักพระราชวัง”
  • ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นอกจากที่กล่าวในวรรคก่อน ให้อยู่ในความดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ของ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”  

o รายได้และการเสียภาษี

พ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ ฉบับแก้ไขปี 2491 ยังคงกำหนดเรื่องการเก็บภาษีไว้ดังเดิม แต่มีการแก้ไขเรื่องการจัดการรายได้ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยแก้ไขรายละเอียดของรายจ่ายและให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอำนาจในการจำหน่ายใช้สอยทรัพย์สินด้วย ดังนี้

มาตรา 6 ระบุว่า รายได้จาก “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” สามารถนำไปจำหน่ายใช้สอยได้ในสองกรณีคือ 1) จำหน่ายใช้สอยโดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัยไม่ว่าในกรณีใด ๆ หรือ 2) โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการพระราชกุศลอันเป็นการสาธารณะ หรือในทางศาสนาหรือราชประเพณีที่เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อหักค่าจ่ายดังต่อไปนี้

  • รายจ่ายที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพัน
  • รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ เงินรางวัล เงินค่าใช้สอย เงินการจร เงินลงทุน
  • รายจ่ายในการพระราชกุศล

ทั้งนี้ มีการระบุต่อท้ายประเภทของรายจ่ายด้วยว่า “เฉพาะที่ได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วเท่านั้น”

นอกจากนี้ มาตรา 7 ที่ระบุการโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไว้ว่า ทำได้ใน 2 กรณีตามเดิม คือ 1) กรณีเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต) หรือ 2) กรณีเพื่อสาธารณประโยชน์ และมีการเพิ่มประโยคต่อท้ายกรณีเพื่อสาธารณประโยชน์ว่า “อันได้มีบทกฎหมายให้โอนหรือจำหน่ายได้เท่านั้น”

ภายหลังปี 2500 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เติบโตขึ้นจากการเป็น “ผู้ร่วมลงทุน” ผ่านบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ ปูนซีเมนต์ไทย และเทเวศประกันภัย โดยในช่วงทศวรรษ 2500-2530 รายได้หลักของสำนักงานสามารถแบ่งเป็นสาม ประเภทหลัก คือ การให้เช่าที่ดิน เงินปันผลจากหุ้น และดอกเบี้ยจากธนาคารที่มีหุ้นส่วน ขณะที่เมื่อหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สำนักงานได้เปลี่ยนจากการลงทุนระยะยาวเป็นการลงทุนระยะสั้น พร้อมตั้งบริษัท “ทุนลดาวัลย์” เพื่อดูแลทรัพย์สินและการลงทุนทั้งหมด และบริษัท “วังสินทรัพย์” เพื่อดูแลอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ

(อ้างอิง: พอพันธ์ อุยยานนท์, ใน พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ บทที่ 5 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับการลงทุนทางธุรกิจ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)

(3) ฉบับ 2560: ยุบทรัพย์สินหมวด “สาธารณสมบัติฯ” – เพิ่มอำนาจสำนักทรัพย์สินฯ ดูแลกิจการ

เป็นเวลากว่าเกือบ 70 ปี ที่พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ ไม่ถูกแก้ไขปรับปรุงอีกเลย กระทั่ง 16 กรกฎาคม 2560 ได้มีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560” โดยไม่ปรากฏข้อมูลว่าหน่วยงานใดเป็นผู้จัดทำร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อใด 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในฉบับปี 2560 นี้ได้แก่ การยุบทรัพย์สินหมวดสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงที่มาของประธานคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้มาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ จากเดิมที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั่งเป็นประธานโดยตำแหน่ง

นอกจากนี้ ในหน้าสุดท้ายยังได้มีการเขียน “หมายเหตุ” แจ้งเหตุผลในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุว่า เนื่องจาก ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินที่ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ จึงสมควรให้การจัดการเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์

o การแบ่งประเภททรัพย์สิน

มาตรา 4 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการยุบ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ไปรวมกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (มาตรา 10 วรรคสอง) ส่งผลให้ประเภทของทรัพย์สินแบ่งออกเป็นสองประเภท ดังนี้  

1) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ระบุคงความหมายเช่นเดิมกับฉบับแก้ไขปี 2491 ได้แก่ ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินด้วย

2) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายถึง ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์

o ผู้ดูแลทรัพย์สิน

  • มาตรา 6 ระบุว่า การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งสองประเภท ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยมอบหมายให้ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใด” เป็นผู้จัดการภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้

นอกจากนี้ ในมาตรา 7 ยังระบุให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็น “นิติบุคคล” ดังเดิม แต่มีการเพิ่มข้อความว่า “เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์” ต่อท้าย พร้อมระบุว่า “ให้มีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใด อันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย”

สำหรับที่มาของคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระบุไว้ในมาตรา 8 ว่าให้ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่น แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย พร้อมให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกบุคคลในกรรมการจำนวนหนึ่งคน มาเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ การพ้นจากตำแหน่งของทั้งกรรมการฯ และผู้อำนวยการฯ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยด้วยเช่นกัน

นอกจากอำนาจในการดูแลรักษาทรัพย์สินแล้ว พ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ ฉบับปี 2560 มาตรา 8 วรรคสาม ยังระบุบทบาทที่เพิ่มขึ้นของคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้แก่ อำนาจดูแลกิจการของสำนักงานทรัพย์สินฯ อำนาจในการออกระเบียบบริหารกิจการ-บริหารงานบุคคลของสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยระบุตามท้ายว่า “เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์”

ในด้านของผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาตรา 8 วรรคสี่ ระบุว่า มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการสำนักทรัพย์สินฯ ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นผู้แทนของสำนักทรัพย์สินฯ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกอีกด้วย

o รายได้และการเสียภาษี

มาตรา 8 วรรคห้า ระบุให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำรายได้จาก “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ไปจ่ายหรือลงทุนได้ ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ขณะที่การจำหน่ายหรือใช้สอยในส่วนที่เหลือโดยพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ในประเด็นเรื่องการเสียภาษี มาตรา 9 ระบุเพียงว่า ทรัพย์สินทั้งสองประเภทจะต้องเสียหรือได้รับยกเว้นภาษีอากร “ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น” ซึ่งแปลว่า หลักการตามเดิมที่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ต้องเสียภาษีเป็นหลักนั้นถูกยกเลิกไป และการพิจารณาว่าต้องเสียภาษีหรือไม่ให้ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในฉบับปี 2560 นี้ไม่ได้มีการระบุถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าได้แก่กฎหมายใดบ้าง 

ต่อมา ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ 2560 ได้เกือบปี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 เว็บไซต์ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ได้เผยแพร่ประกาศเรื่อง “เปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้น” จาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จำนวนสองบริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 360,000,000 หุ้น 2. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 615,867,085 หุ้นก่อนที่จะออกประกาศชี้แจงเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อในหนึ่งวันถัดมา 

(4) ฉบับ 2561: รวบทรัพย์สิน “เหลือหมวดเดียว” ให้สำนักทรัพย์สินฯ ที่กษัตริย์แต่งตั้งดูแลทั้งหมด

ภายหลัง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ได้เพียงปีกว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ก็ถูกบรรจุระเบียบวาระการประชุมที่ 71/2561 และผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมลับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ 25 ตุลาคม 2561 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 194 เสียง งดออกเสียง 3

โดยความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในฉบับล่าสุดนี้ คือการให้รวมทรัพย์สินทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดของ “ชื่อ” ดังนี้

1) ชื่อ พ.ร.บ. – จาก “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์” เป็น “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

2) ชื่อประเภทของทรัพย์สิน – แก้ไขจาก “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” เป็น “ทรัพย์สินในพระองค์” และ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เป็น “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์”

3) ชื่อ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” แก้ไขเป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

สำหรับ พ.ร.บ. ฉบับปี 2561 นี้ ก็ได้มีการใส่ “หมายเหตุ” ระบุถึงเหตุผลในการประกาศใช้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า มีการปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมแก่การบริหารจัดการยิ่งขึ้น โดยถวายเป็นพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตามโบราณราชประเพณี

o การแบ่งประเภททรัพย์สิน

ในการแบ่งประเภททรัพย์สิน พ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ ฉบับปี 2561 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือการยุบรวมทรัพย์สินทุกประเภทเข้าด้วยกันให้เหลือหมวดเดียว ภายใต้ชื่อ “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” และแก้ไขคำนิยามของทรัพย์สิน ในมาตรา 4 ดังนี้  

1) ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หมายความว่า ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์

1.1 ทรัพย์สินในพระองค์ หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินด้วย

โดยมาตรา 10 ระบุให้ทรัพย์สินที่อยู่ในประเภท “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ตามพ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ 2560 เป็น “ทรัพย์สินในพระองค์” ตามพ.ร.บ.นี้

1.2 ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ หมายความว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินในพระองค์

โดยมาตรา 10 ระบุให้ทรัพย์สินที่อยู่ในประเภท “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ตามพ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ 2560 เป็น “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” ตามพ.ร.บ.นี้

นอกจากนี้ มาตรา 5 วรรคสอง ยังระบุว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีให้เป็นไปตาม “พระบรมราชวินิจฉัย”

o ผู้ดูแลทรัพย์สิน

  • ตามมาตรา 6 ยังระบุให้การจัดการทรัพย์สินทั้งสองประเภทเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยมอบหมายให้ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใดหรือหน่วยงานใด ภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ฉบับก่อนหน้า รวมทั้งมาตรา 8 ยังคงที่มาและอำนาจคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไว้ตามเดิม

ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มวรรคต่อจากมาตรา 7 ว่า “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงมอบหมายให้บุคคลใดหรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ดำเนินการ เว้นแต่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น”

นอกจากนี้ มาตรา 10 วรรคสาม ยังระบุให้บุคคล หน่วยงาน หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เคยได้รับมอบหมายตามพ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ 2560 ยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินต่อไป จนกว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น 

o รายได้และภาษี

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากฉบับปี 2560 คือ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นำรายได้จาก “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ไปจ่ายหรือลงทุนได้ ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ขณะที่การจำหน่ายหรือใช้สอยในส่วนที่เหลือโดยพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ในประเด็นเรื่องการเสียภาษี ยังคงระบุเพียงว่า ทรัพย์สินทั้งสองประเภทจะต้องเสียหรือได้รับยกเว้นภาษีอากร “ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”  

เปิดรายชื่อ “คณะกรรมการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ชุดปัจจุบัน

รายนามของคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกประกาศออกมาครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมในภายหลังในช่วงปี 2560-2563 ทั้งนี้ หากพิจารณาจากรายชื่อข้างต้นจะพบว่า บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการนั้นเป็น “ข้าราชการสายวัง” แทบจะทั้งหมด ดังนี้ 

1)     พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล (ราชเลขานุการในพระองค์) เป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานฯ

2)     นายแพทย์เกษม วัฒนชัย (องคมนตรี) เป็นกรรมการ

3)     ดร.กฤษณ์ กาญจนกุญชร (อธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์) เป็นกรรมการ

4)     พันโท สมชาย กาญจนมณี (รองเลขาธิการพระราชวัง) เป็นกรรมการ

5)     พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม (รองเลขาธิการพระราชวัง) เป็นกรรมการ

6)     พลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย (รองผบ.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์) เป็นกรรมการ

7)     พลเอก จักรภพ ภูริเดช (รองผบ.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์) เป็นกรรมการ

8)     พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต (ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์) เป็นกรรมการ

9)     พลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ (รองสมุหราชองครักษ์) เป็นกรรมการ

10)  อำพน กิตติอำพน (องคมนตรี) เป็นกรรมการ

11)  พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (รองเลขาธิการพระราชวัง) เป็นกรรมการและรองผู้อำนวยการ

นอกจากดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แล้ว บุคคลในรายชื่อดังกล่าว ยังปรากฏว่าดำรงตำแหน่งอื่นๆ ในองค์กรธุรกิจซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นอยู่อีกด้วย ตัวอย่างเช่น

  • พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นประธานกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นอยู่ 33.64% / กรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นอยู่ 23.38% / ประธานกรรมการบริษัทเทเวศประกันภัย ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นอยู่ 96.68%
  • นายแพทย์เกษม วัฒนชัย, พันโท สมชาย กาญจนมณี และพันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม เป็นกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
ไฟล์แนบ