สรุปเสวนา “ปราบม็อบ 101: วิชาสลายการชุมนุม (ด้วยความรุนแรง?)”

21 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 – 22.00 น. กลุ่มนักกฎหมายจากหลายสถาบันเพื่อส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน หรือ Nitihub จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ปราบม็อบ 101: วิชาสลายการชุมนุม (ด้วยความรุนแรง?)” ผ่านช่องทาง Clubhouse Nitihub รวมทั้งถ่ายทอดเสียงผ่าน FB Live Nitihub และประชาไท
วงเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วยวิทยากรหลักสี่คน ได้แก่ พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล สารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5, ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณวศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว WorkpointTODAY
การใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่และข้อเรียกร้องที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ได้ส่งผลให้การเมืองบนถนนของผู้ชุมนุมขับเคลื่อนด้วยความตึงเครียดมากขึ้นในทุกวัน เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ปะทะกันที่บริเวณแยกดินแดงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำมาซึ่งการย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงหลักการต่อสู้ด้วย ‘สันติวิธี’ ที่ในปัจจุบันเริ่มพร่าเลือนออกไป เพื่อเป็นการถอดบทเรียน ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมตลอดขวบปีกว่าที่ผ่านมาในสังคมไทย

เส้นแบ่งระหว่าง ‘สันติวิธี’ กับ ‘ความรุนแรงม

o ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อธิบายว่า ประการแรก การศึกษาเรื่องความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในเรื่องสันติวิธีนั้นไม่สามารถแบ่งได้โดยใช้ฐานของกฎหมาย กล่าวคือ มีปฏิบัติการสันติวิธีจำนวนมากที่เป็นการละเมิดกฎหมาย โดยแนวคิดดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานคิดว่า “ไม่ใช่กฎหมายทุกข้อที่มีความชอบธรรม” ซึ่งปฏิบัติการไร้ความรุนแรงหรือกิจกรรมสันติวิธีจำนวนหนึ่งนั้นก็เป็นความตั้งใจจะละเมิดกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ขอบเขตที่ชัดเจนของการไม่ใช้ความรุนแรงยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในหมู่ของผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ เส้นแบ่งที่หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าไม่สามารถเป็นสันติวิธีได้ นั่นคือ การทำร้ายร่างกายหรือทำให้ถึงแก่ชีวิตต่อผู้อื่น ในด้านรายละเอียด อาจารย์ชญานิษฐ์มองว่า สันติวิธีไม่จำเป็นต้องสงบเสงี่ยม สามารถใช้คำด่าได้ แต่ต้องไม่เป็น hate speech หรือมุ่งยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้ อาจารย์มองว่าเราไม่ควรหยุดมองเพียงแค่ว่าวิธีการใด ‘เป็นหรือไม่เป็นสันติวิธี’ หากแต่ควรต้องพิจารณามากไปกว่านั้นว่า แต่ละวิธีการ (ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง) จะส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการเมืองอย่างไร จะช่วยเพิ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองหรือส่งผลต่อชัยชนะได้มากน้อยเพียงใด
o พัชร์ นิยมศิลป ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุม ‘โดยสงบและปราศจากอาวุธ’ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ได้เจาะจงใช้คำว่า ‘สันติวิธี’ กระทั่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) เองก็เลือกใช้คำว่า ‘peaceful assembly’ ซึ่งแปลว่า ‘การชุมนุมโดยสงบ’ เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ หากอ้างอิงจากแนวคำพิพากษาไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือ กฎหมายระหว่างประเทศ (International law) เช่น ศาลยุโรป ศาลอเมริกา ก็เลือกที่จะใช้สิ่งเดียวกันในการพิจารณา คือ ‘เจตนาในการชุมนุม’ เช่น พิจารณาการดีไซน์รูปแบบการชุมนุม สถานที่ การแต่งกาย อุปกรณ์ประกอบการชุมนุม การพกอาวุธ เนื้อหาปราศรัยที่เป็นการปลุกระดม หรือพิจารณาจากพฤติกรรมโดยรวมของคนหมู่มาก ว่าเป็นไปด้วยความสงบหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้ความรุนแรง ผู้ชุมนุมจะเสียความคุ้มครองตามกฎหมายไป และเจ้าหน้าที่รัฐสามารถแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพได้ทันที

เงื่อนไขและหลักการสลายการชุมนุม

o พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล เริ่มต้นการเสวนาด้วยการชี้แจงว่าวันนี้เขามาพูดในฐานะปัจเจก มิได้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่การงานหรือเป็นตัวแทนของตำรวจรวมถึงเนื้อหาทั้งหมดนั้นได้อ้างอิงจากตำราเรียนของตำรวจที่ออกโดยกองบัญชาการศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พ.ต.ท.ธีรวัตร์ อธิบายว่า การใช้กำลังของตำรวจประกอบไปด้วยสี่องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ความจำเป็นตามกฎหมาย 2) วิธีการมีความเหมาะสม 3) มีความสมควรแก่เหตุ และ 4) เป็นที่ยอมรับได้ของสังคม โดยการใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุมนั้นจะอยู่ในรูปแบบ ‘ขั้นบันได’ ที่ค่อยๆ ไต่ลำดับขึ้นไปตามความรุนแรง
ในแต่ละขั้นตอนจะมีการเจรจาต่อรองควบคู่กันไปด้วย อันได้แก่ 1) การวางกำลัง 2) การจัดรูปขบวน 3) การวางกำลังพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน 4) การเคลื่อนไหวกดดัน 5) การประกาศแจ้งเตือนผ่านเครื่องเสียง 6) การใช้แก๊สน้ำตา 7) การปะทะ การบังคับร่างกาย การจับกุม 8) การฉีดน้ำ 9) กระสุนยาง โดยจะไม่ยิงโดยไม่มีเป้าหมาย การยิงจะอยู่ในลักษณะต่ำกว่าท้องลงไป และไม่ยิงจากที่สูง 10) ในกรณีที่การชุมนุมกลายสภาพเป็นการก่อจลาจล จะเป็นหน้าที่ของทหารที่ออกมาควบคุมฝูงชน ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องคำนึงถึงการใช้กำลังเท่าที่จำเป็น ห้ามเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และต้องสามารถตรวจสอบได้
o วศินี พบูประภาพ เล่าถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมว่า หากอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการชุมนุมที่ผ่านมา มองว่ามาตรฐานมีความลักลั่น ไม่อาจคาดการณ์ได้ ส่งผลให้สื่อมวลชนจำเป็นต้องจัดเต็มอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยทุกครั้งในการลงพื้นที่ชุมนุม โดยคุณวศินีได้หยิบยกเหตุการณ์การสลายการชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 – เช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม อันจะเห็นได้ว่าไม่ได้ปรากฏขั้นตอนอื่นๆ ตามลำดับเบาก่อนไปถึงขั้นตอนการจับกุม และเหตุการณ์การสลายครั้งที่สองในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ก็ไม่ปรากฏการเจรจาจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีการแจ้งเตือนก่อนการฉีดน้ำเพียงสามนาที
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจะพบว่าทั้งสองเหตุการณ์เป็นการชุมนุมโดยสันติวิธีทั้งสิ้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่มีความคงเส้นคงวาในการสลายการชุมนุม ดังนั้น คุณวศินีจึงตั้งข้อสงสัยว่า นิยามของคำว่า ‘สงบ/ไม่สงบ’ ระหว่างผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าว อาจมีความหมายที่ไม่เหมือนกัน
o ขณะที่ พัชร์ อธิบายว่า ภายใต้ระบบกฎหมายระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ที่เรียกว่า ‘positive obligation’ หรือการเข้ามาอำนวยความสะดวกและป้องกันภยันอันตรายต่างๆ ให้กับผู้ชุมนุมและบุคคลโดยรอบ อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ความยากในการพิจารณาว่าผู้ชุมนุมออกนอกกรอบของกฎหมายคุ้มครองหรือไม่ ทั้งนี้ อาจารย์มองว่าปัญหาของการประทะที่ดินแดง คือ ชนวนเหตุ (trigger) ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมนั้นอาจพอมี แต่เงื่อนไขที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ ‘หยุดการใช้กำลัง’ นั้นดูเหมือนจะไม่มีอยู่

พลวัตของเส้นสันติวิธีและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

o พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ได้ตอบคำถามในห้องเสวนาเรื่องกรณีการใช้กระสุนจริงที่ สน.ดินแดง ว่าสามารถอ้างเป็นการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่? โดยหากอ้างอิงจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด” พ.ต.ท.ธีรวัตร์มองว่า กรณีที่ สน.ดินแดง ยังไม่เห็นภยันอันตรายใดที่จะเข้ามา
o ชญานิษฐ์ มองว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนอาจรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จหรือมีชัยชนะเหนือเจ้าหน้าที่จากการใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับไป ซึ่งอาจารย์เปรียบการใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมเสมือนการเดินเข้าไปสู่พื้นที่ที่ซึ่งรัฐเชี่ยวชาญ เพราะเดิมทีนั้นรัฐมีความได้เปรียบในเชิงอาวุธมากกว่า และยังได้เปรียบในเรื่องความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงอีกด้วย ดังนั้น ในทัศนะของอาจารย์ การไม่ใช้ความรุนแรงจึงเป็นเครื่องมือการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ในแง่ของการเชิญชวนให้รัฐต้องเข้ามาต่อสู้ในพื้นที่ที่รัฐเองมีความชำนาญน้อยกว่า นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยยังพบว่าการใช้สันติวิธี สามารถเชิญชวนกลุ่มตรงกลาง (Third party) ให้เห็นอกเห็นใจและสนับสนุนขบวนการหรือข้อเรียกร้องได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ชญานิษฐ์ได้ชี้แจงว่า การเลือกใช้วิธีการสันติวิธีนั้นไม่อาจคาดหวังการไม่ใช้ความรุนแรงกลับมาได้เสมอไป และการใช้ความรุนแรงโต้กลับคือสิ่งที่รัฐเฝ้ารอเพื่อนำมาเป็นข้ออ้างในการเข้าปราบปรามเพื่อสลายการชุมนุม โดยอาจกระทำผ่านการยั่วยุ หรือใช้วิธีแฝงตัวเข้าไปสร้างสถานการณ์
o วศินี มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีจุดเดือดที่ต่ำลงเรื่อยๆ มีการแสดงกิริยาสนุกสนาน สะใจ หรือตะโกนท้าทายโต้ตอบกับผู้ชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสลายการชุมนุมในครั้งหลังๆ มีการใช้กำลังตั้งแต่การชุมนุมยังไม่ทันเกิดขึ้น หรือตั้งแต่ยังมิได้มีการเคลื่อนขบวน จึงดูเหมือนเป็นการจัดเตรียมกำลังมาก่อนมากกว่าการพิจารณาหน้างานว่าเป็นการชุมนุมอย่างสันติหรือไม่ นอกจากนี้ ขั้นตอนในการสลายที่ไม่ใช่การใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก ได้ส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ตั้งใจมาเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบไม่สามารถประเมินสถานการณ์การป้องกันตัวได้ และยังเป็นการลดทอนพื้นที่ของ ‘การชุมนุมอย่างสันติ’ ให้ลดน้อยลงไปด้วย
รับชม Live ย้อนหลัง ที่นี่