RECAP : เสวนาผู้หญิงกับความยุติธรรม การต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด

วันที่ 27 มีนาคม 2565 เวลา 17.00 น. เครือข่ายภาคประชาสังคมนำโดย Protection international และกลุ่มดินสอสี จัดกิจกรรม Women : Unfinished Justice ผู้หญิงกับความยุติธรรมที่ไม่สิ้นสุด ตอนหนึ่งมีการร่วมแลกจากผู้หญิงสี่คนที่ยังคงเรียกร้องความยุติธรรมคือ  อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกอุ้มหายบนถนนกลางกรุงเทพมหานคร, ยุพิน ซาจ๊ะ กลุ่มด้วยใจรัก ตัวแทนครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส, มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ผู้สูญหายไปหลังจากถูกหัวหน้าและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวที่ด่านมะเร็ว จนภายหลัง ดีเอสไอพบซากกระดูกในถังน้ำมันใต้แม่น้ำเพชรฯ ในเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน และพะเยาว์ อัคฮาด แม่ผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาว กมนเกด อัคฮาด

อังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า นับตั้งแต่ทนายสมชายถูกอุ้มหายไปจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี ผ่านมายาวนานมาก หากเป็นเด็กคนหนึ่งวันนี้ก็บรรลุนิติภาวะแล้ว ถ้าเป็นเรื่องของการฆาตกรรมก็จะเหลืออีกเพียงสองปีจะหมดอายุความ การต่อสู้ไม่ว่าจะสู้แค่ไหนถึงเวลามันจะถูกทำให้ยุติ และในฐานะของเหยื่อ ที่จริงแล้วเหยื่อไม่ใช่แค่คนที่ถูกอุ้มหาย แต่เหยื่อคือคนที่อยู่ข้างหลังและเหยื่อก็มีความเปราะบางมากขึ้นไปอีก เมื่อเป็นผู้หญิง อาจจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นคนที่ไม่ได้มีสถานะทางสังคม ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยหรือการศึกษาสูง ทำให้คนเหล่านั้นมีความเปราะบางมาก

ลองสังเกตดูผู้หญิงสี่คนที่นั่งอยู่บนเวทีทั้งหมดเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มันทำให้เกิดความซับซ้อนในการเข้าถึงความยุติธรรมมากขึ้นไปอีก มีหลายกรณีที่รัฐพยายามให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแต่เป็นลักษณะการที่โยนเงินให้แล้วขอจบ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ระหว่างสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ส.ส.คนหนึ่งตั้งคำถามว่า กรณีคนหายจะต้องสืบกี่ปี ทำไมจึงไม่ลืม วันที่ 24 มีนาคม 2565 เป็นวันสิทธิที่จะทราบความจริงสากล ทั่วโลกรำลึกถึงการสังหารบาทหลวงคนหนึ่งและไม่มีการเปิดเผยความจริงในกรณีนั้น เชื่อว่า เป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ในฐานะของเหยื่อทุกคนมีสิทธิที่จะทราบความจริง ถามว่า ความจริงมันสำคัญอย่างไร ผู้หญิงหลายคนที่คนในครอบครัวถูกอุ้มหาย ชีวิตของผู้หญิงและเด็กๆ อยู่ในความคลุมเครือ ไม่ใช่เพียงใครสักคนหายไป แต่แม่ไม่สามารถบอกลูกๆ ได้ว่า มันเกิดอะไรขึ้น คนที่หายไปยังมีชีวิตอยู่ไหม อยู่ที่นี่หรืออยู่ที่ไหน หรือไม่อยู่ที่ใดเลย ความคลุมเครือมันตามหลอกหลอนชีวิตของคนในครอบครัวทุกคน คนที่ไม่เคยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจจะถามว่า ทำไมไม่ลืม รับเงินไปแล้วใช้ชีวิตให้เงียบๆ แต่จริงๆ แล้วชีวิตมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น

คำพูดบ่อยๆ ที่เหยื่อพูดคือ อยากให้เรื่องของตัวเองเป็นกรณีสุดท้าย แต่มันไม่มีวันจะเป็นกรณีสุดท้ายได้ ถ้าผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลและคนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิก็ไม่เคยหลาบจำ วันนี้ถามว่า คนที่อุ้มทนายสมชาย เกี่ยวกับการเสียชีวิตของกมนเกด ชัยภูมิหรือบิลลี่ ทุกคนยังมีหน้ามีตาในสังคม หลายคนยังรับราชการในตำแหน่งที่สูงขึ้นโดยไม่ได้ใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่งและชุมชนหนึ่ง ผู้หญิงสี่คนที่นั่งบนเวทีนี้สิ่งหนึ่งที่ต้องเจอต้องเจอเหมือนกัน คือ การคุกคาม หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า เราผ่านอะไรมาบ้าง การคุกคามมีหลายรูปแบบมีการแจ้งความ การดำเนินคดี การตั้งข้อหาร้ายแรง สิ่งเหล่านี้ยังไม่หมดไปถ้าเจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจและสังคมยังคงนิ่งเฉย ความเจ็บปวดที่หลายครอบครัวเผชิญไม่เท่ากับการที่สังคมเงียบ ไม่ตั้งคำถามและปล่อยให้ผ่านเลยไป

ยุพิน ซาจ๊ะ ตัวแทนของครอบครัวชัยภูมิ ป่าแสกล่าวว่า  เวลาผ่านไปห้าปีแต่ยังไม่สามารถทวงคืนความเป็นธรรมให้ชัยภูมิได้ ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาว่า ทหารไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นการป้องกันตัว แต่หลักฐานสำคัญอย่างกล้องวงรปิดและวัตถุพยานลายนิ้วมือไม่ได้นำมาพิจารณาในชั้นศาล ครอบครัวถูกปฏิเสธการเยียวยา ชัยภูมิเป็นเสาหลักของครอบครัวและระหว่างการเรียกร้องความเป็นธรรมพ่อของชัยภูมิก็เสียชีวิต “คนที่ทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ คนที่ยิงน้องทำไมยังอยู่ได้ คุณไม่ละอายใจบ้างหรอ คำขอโทษคำเดียวเขาก็ไม่มีให้แม่ และก็กระบวนการต่างๆ ในการเรียกร้องความยุติธรรมทำให้เขาต้องเจ็บซ้ำแล้วซ้ำอีก  มันสมควรแล้วหรือที่แม่คนหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจะต้องได้รับ”  

นอกจากนี้ทางกลุ่มยังต่อสู้เพื่อนาหวะ จะอื่อ เขาถูกกล่าวหาว่า สมคบคิดเรื่องยาเสพติดร่วมกับชัยภูมิ ป่าแสและถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีเกือบหนึ่งปี ท้ายสุดศาลยกฟ้องและถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ต่อมานาหวะจึงไปเรียกร้องขอการเยียวยาแต่กรรมการค่าชดเชยคดีอาญาไม่ให้ อ้างว่า ที่ศาลยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่พอ ในเส้นทางแห่งการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้ทั้งสองครอบครัว คือ ครอบครัวของชัยภูมิและครอบครัวของนาหวะ ชีวิตครอบครัวถูกข่มขู่คุกคามทั้งร่างกาย จิตใจและกฎหมาย เราต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ไม่คุ้นชิน  

“เราต้องมาช่วยคนที่มีชีวิตอยู่ (นาหวะ) ให้ออกมาจากคุก สิ่งเหล่านี้คือ ค่าใช้จ่ายของการตามหาความยุติธรรม เราจ่ายไปมากมาย คนอื่นบอกว่า ทำไมต้องมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก การที่เรามานั่งตรงนี้เราก็เจ็บในใจ พูดครั้งหนึ่งเราก็เจ็บ เจ็บจากการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐ และเรายังถูกตราหน้า เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นคน”

“เราก็ยังมีความหวังว่า เราจะได้ความยุติธรรม ความยุติธรรมจะต้องเกิดกับครอบครัวของชัยภูมิ เราจะไม่ยอมแพ้แม้ว่า การต่อสู้จะเจออุปสรรคมากมายและเราจะไม่เหลืออะไรก็ตาม เราจะสู้จนกว่าจะไม่มีช่องทางให้เราเดิน เราจะไม่หมดหวัง หากหมดหวังจะทำให้เราพ่ายแพ้ไป”

มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ กล่าวว่า เวลาเห็นรูปพี่บิลลี่แล้วใจจะละลาย ต้องทำใจให้เข้มแข็ง ตอนนั้นที่ผ่านมาได้เพราะตั้งแต่เด็ก ด้วยอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของเธอก็ทำให้รู้สึกว่า ถูกกระทำมาตั้งแต่ตอนเด็ก เมื่อบิลลี่หายไปญาติพี่น้องก็มาถามมึนอว่า เราจะต้องทำยังไง เธอก็บอกว่า ทุกปัญหามีทางออก แต่เมื่อไปทำการเรียกร้องตามที่ต่างๆ ก็พบว่า มันยากมาก มึนอบอกว่า ที่อยู่ได้จนถึงทุกวันนึ้เพราะเธอมีความหวังและมีหลายคนที่เป็นกำลังใจให้

ส่วนเรื่องคดีล่าสุดวันที่ 18 มกราคม 2565 ได้มาติดตามเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ความคืบหน้าคือดีเอสไอส่งสำนวนไปที่อัยการสูงสุด ผ่านมาเกือบสามเดือนแล้วยังไม่ทราบความคืบหน้า  มึนอกล่าวว่า จากการพบกระดูกของบิลลี่ ทำให้ดีเอสไอยืนยันว่า บิลลี่เสียชีวิตแล้ว แต่ทางอัยการสูงสุดเหมือนไม่เชื่อข้อเท็จจริงที่ดีเอสไอยืนยันและสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม เธอตั้งคำถามว่า ถ้าเราไม่เชื่อในนิติวิทยาศาสตร์และเราจะเชื่ออะไรอีกได้บนโลกนี้

อังคณากล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ส่งกรณีบิลลี่เข้าไปที่คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ โดยวิธีการตรวจสอบคือจะติดต่อกับรัฐบาลไทย สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลประยุทธ์มุ่งมั่นมากคือ เรื่องของความพยายามที่จะลดจำนวนคนหาย ลดไม่ได้หมายถึงการคลี่คลายคดี ไทยเป็นอันดับสามของอาเซียนที่มีจำนวนของผู้สูญหายมากที่สุด ถ้าถามว่า ประเทศไทยมีจำนวนคนหายกี่คน รัฐบาลไม่รู้เพราะรัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญและติดตามคนหาย แต่รายชื่อคนหายที่ไทยปรากฏที่สหประชาชาติ ในกรณีของสหประชาชาติเมื่อไหร่ก็ตามที่ญาติเชื่อว่า ได้ทราบที่อยู่และชะตากรรมจะถือว่า การบังคับสูญหายสิ้นสุดแล้วไม่ใช่ผู้สูญหายแล้ว ในไทยเมื่อดีเอสไอเจอกระดูกของบิลลี่ ความดีใจคือรีบส่งเรื่องไปที่สหประชาชาติขอลบชื่อบิลลี่ออกจากบัญชีบุคคลบังคับสูญหาย

ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถลบชื่อคนหายออกจากสหประชาชาติได้ 12 กรณี คือถอนชื่อโดยไม่ได้บอกว่า ถอนเพราะอะไร หลายครอบครัวร้องเรียนว่า มีเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้าน ไปโน้มน้าวให้ถอนชื่อออกจากสหประชาชาติ ทำให้ญาติหลายคนต้องจำยอม

พะเยาว์ อัคฮาด แม่ผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาว กมนเกด อัคฮาด กล่าวว่า กรณีของกมนเกดผ่านมาแล้ว 12 ปีแต่ความยุติธรรมไม่ได้เคลื่อนไปไหน มันหยุดอยู่ในกระบวนการของเจ้าหน้าที่รัฐในยุคประยุทธ์ สามป.ที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้นั่งอยู่ในโต๊ะที่สั่งฆ่าประชาชนในปี 2553 เหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีผู้เสียชีวิตประมาณหนึ่งร้อยคนและบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน  การต่อสู้จะต้องไปถึงขั้นไปถึงไต่สวนและชี้มูลการตาย แต่ทำได้เพียงประมาณ 20 ศพ ส่วนที่เหลือดีเอสไอไม่ได้ยกขึ้นมาสอบสวนทั้งที่พยานหลักฐานก็มีครบ ในกรณีของการไต่สวนการตายของกมนเกดไปถึงขั้นที่ศาลชี้กว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสยิงลงมาในวัดปทุมวนาราม

“ยิงลูกสาวดิฉันในวัดปทุมฯ ที่อยู่ในเตนท์พยาบาล…ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ปากคำที่ศาล ซึ่งดิฉันก็เจอหมดทุกคน พอเวลาเดินจะเข้าประตูห้องพิจารณาแต่ละคนนั่งเรียงกันหน้ากระดานทั้งแปดคน พอเห็นดิฉันเดินเข้าไปเท่านั้น ทุกคนพร้อมกันก้มหน้าเล่นโทรศัพท์โดยไม่ได้นัดหมาย”

ต่อมามีการรัฐประหาร 2557 ได้ข่าวว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ทำคดีเดิมถูกเปลี่ยนตัวทั้งหมดและมีข่าวทำนองว่า จะขอให้อัยการทำคดีเป็นมุมดำคือ หาคนกระทำผิดไม่ได้ เมื่อพะเยาว์ทราบข่าว ทำให้เธอกับพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พร้อมพวกรวมสี่คนไปทำกิจกรรมละครใบ้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประท้วงในการก้าวล่วงการสอบสวนคดีของอัยการ ปรากฏว่า ตำรวจจับกุมเธอและพวก อ้างว่า ไม่แจ้งชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ย้อนฟังการเสวนาได้ที่ :

https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/686192742418086