นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ: การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ การใช้ยาแรงผิดขนาน

26 มีนาคม 2565 เป็นวันครบรอบสองปีของการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้รัฐบาลจะมีท่าทีที่จะผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น โดยมีการเตรียมการปรับให้โรคโควิด-19 ให้กลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่น แต่ทว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีประกาศขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือน จนถึงเดือนพฤษภาคม 2565

คำถามสำคัญคือ การยืนยันใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รับมือโรคระบาดต่อไปหลังประกาศใช้มาเป็นเวลากว่าสองปี เป็นทางเลือกที่ถูกต้องหรือไม่ และเพื่อจะตอบคำถามนี้ได้ เราจึงเลือกไปคุยกับ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่สอง และอดีตคณบดีวิทยาลัยการแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อฟังมุมมองทั้งในฐานะหมอและในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

โควิดระบาด เพราะรัฐบาลล้มเหลว

สถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บและเรื่องของโรคติดต่ออุบัติใหม่ เราไม่เคยเห็นมาก่อน และสถานการณ์มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การมองเรื่องนี้ควรเป็นการมองในเรื่องของ ‘ระบาดวิทยา’ ที่เราต้องเน้นในเรื่องของการป้องกัน ส่งเสริม และสนับสนุน ซึ่งในต่างประเทศ เค้าสามารถควบคุมในระดับพื้นที่ได้ มีจุดคัดกรอง อย่างเช่น อเมริกา ถ้าบ้านมี 3 คน ก็ตรวจที่คัดกรอง 3 อัน ด้วยชุดตรวจแบบ ATK

การระบาดในระลอกแรก เท่าที่จำได้ เราได้รับคำชมเชยว่ามีระบบสาธารณสุขที่ดี แต่อันนั้นเป็นเพราะเรากินบุญเก่าจากการสร้างรากฐานทางสาธารณสุขเมื่อ 40-50 ปี ที่แล้ว ประกอบกับสถานการณ์ไม่รุนแรงจึงสามารถหยุดได้ แต่พอระลอกที่สอง การระบาดมาจากบริเวณพื้นที่ชายแดน แต่คุณไม่ใช้ความเด็ดขาดเข้าไปจัดการคนที่หลบหนีเข้ามาทางชายแดน เพราะมีผลประโยชน์ มีเงินสินบนใช่ไหม คุณถึงไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าไปจัดการ

รวมไปถึงเรื่องวัคซีนที่ ‘แทงม้าตัวเดียว’ ซึ่งไม่ถูกต้องเลย เนื่องจากการสั่งวัคซีนของคุณมีผลประโยชน์เข้ามาเอี่ยว แม้ในขณะนี้วัคซีนที่เป็นที่ยอมรับว่าได้มาตรฐานอย่างเช่น Pfizer (ไฟเซอร์) หรือ Moderna (โมเดอร์นา) แต่มันก็มีข้อจำกัดในเรื่องการส่ง จะเห็นได้ว่า ระบบมันล้มเหลวตั้งแต่นโยบายการควบคุม การป้องกันการแพร่ระบาด รวมไปถึงความน่าเชื่อถือ

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ ยาแรงผิดขนาน

จริงๆ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันไม่จำเป็นตั้งแต่แรก แต่รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่อยู่ในระบอบอำนาจนิยม เพราะตอนแรกก็ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 2558 จัดการได้ เพราะโดยโครงสร้างส่วนกลาง นายกฯ เป็นประธาน ส่วนระดับพื้นที่ก็มีคณะกรรมการจังหวัดที่ผู้ว่าฯ เป็นประธาน แล้วก็มีนายอำเภอ กรมควบคุมโรคติดต่อ สาธรณสุขจังหวัด มันแทบจะเป็นทีมลงไปถึงโรงพยาบาลในระดับอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพราะฉะนั้นโดยโครงสร้างของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มันสามารถให้การดูแลได้ 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันต่างจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่รัฐบาลมีอำนาจเข้ามาควบคุมในเรื่องของชุมนุม การแสดงความคิดเห็น การใช้อำนาจรัฐติดตามตรวจสอบ ยึดเอกสาร ยึดคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงมีอำนาจในการออกหมายเรียกและจับกุม ตามหมายศาลซึ่งในบางครั้งจำกุมโดยไม่ได้ใช้หมายศาล มันจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะเอามาจัดการกับโควิดแต่จะเอามาจัดการกับกลุ่มทางการเมือง โดยอ้างสถานการณ์ไม่ปกติ ทั้งที่ จริงๆ แล้ว พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สามารถทำได้ แต่รัฐบาลชุดนี้ทำไม่เป็นในเรื่องการมีส่วนร่วม และต้องการควบคุม ตรงนี้ถึงบอกว่า รัฐบาลชุดนี้อยู่ในระบอบอำนาจนิยม หรือถ้าเรียกง่ายๆ ในภาษาชาวบ้านว่า เป็นเผด็จการ ก็ต้องใช้กฎหมายเผด็จการ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ตั้งแต่มีการชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สก็ไม่เคยมีข่าวคนติดโควิดออกมา และถ้ามีรัฐบาลคงประโคมข่าวใหญ่ แต่ถ้าย้อนไปตอนมีการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มราษฎร หรือการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา สิ่งนี้เป็นการชุมนุมโดยสันติ แม้แต่การชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูป (สถาบันกษัตริย์) ซึ่งไม่ใช่การล้มล้าง แต่รัฐก็มองว่า รุนแรง และต้องใช้ยาแรงไปจับกุม ตั้งข้อหา แต่ทว่าก็ไม่ได้ทำให้พวกเขายอมจำนน ดังนั้น การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันไม่ได้ทำให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นและไม่ได้มีผลดีต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง 

สังคมไทยต้องตระหนักได้แล้วว่า เรามาถึงจุดที่สังคมไทยแตกแยกในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมจารีตสุดโต่งหรือเราเรียกว่าฝ่ายขวาสุดโต่ง กับกลุ่มหนึ่งที่ต้องการประชาธิปไตย ซึ่งตอนนี้สังคมประเทศไทยถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจหรือชนชั้นนำที่ย้อนหลังไปเกือบ 100 ปี จนแทบจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ต้องการใช้อำนาจเด็ดขาด ซึ่งย้อนแย้งกับสิ่งที่คนอีกกลุ่มต้องการ ดังนั้น การต่อสู้ในช่วง 20 ปีนี้ จึงไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างเอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดง แต่เป็นการต่อสู้ของระบอบจารีตที่มันสุดโต่งกับระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการสิทธิมนุษยชน และการปกครองที่เป็นธรรม 

แนวคิดในเรื่องอำนาจนิยมเป็นต้นตอของความล้มเหลวของทั้งวิกฤตการณ์โควิดหรือการแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเป็นคนป่วยของภูมิภาคแห่งนี้ แล้วจะเอาอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า ผมทำตามกฎหมายก็ไม่ได้  เพราะกฎหมายที่คุณใช้เป็นการใช้ปกครองโดยใช้อำนาจ เค้าถึงเรียกว่า rule by law แต่ไม่ใช่ rule of law นี่คือความล้มเหลวในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอำนาจที่ใช้อยู่เป็นการใช้ยาที่ผิดขนาน เป็นยาพิษ มันถึงไม่ได้ผลเลย ทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาโควิด หรือ การแก้ปัญหาการชุมนุมทางการเมือง 

แก้ปัญหาโควิดโดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ผมทำงานร่วมกับสมัชชาสุขภาพจังหวัดใน 5 จังหวัดเขตอีสานใต้ มี 5 จังหวัด จะมี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อุดรธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร เราทำงานดูแลในพื้นที่ให้กับชาวบ้าน ผ่าน “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดว่า รัฐจะต้องฟังเสียประชาชน ต้องสร้างการมีส่วนร่วม การให้ข้อมูล การรับฟังความเห็น ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมตัดสินใจเพื่อวางระเบียบ ข้อตกลงว่า ประชาชนเค้าเห็นด้วยอย่างไร วัคซีนต้องทำยังไง จะฉีดยังไงให้ครบ คนแก่ทำอย่างไรถึงจะไม่ตาย ทำยังไงหน้ากากถึงจะมีใส่ ตัวคัดกรองนี้ถึงจะเกิดขึ้นได้ มันก็คือออกมาเป็นข้อตกลง วิธีปฏิบัติภายในระดับชุมชน หมู่บ้าน โดยที่มีหน่วยงานของรัฐ คือ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) แล้วก็องค์กรปกครองท้องถิ่น คอยดูแลและทำงานตรงนี้ร่วมกับชาวบ้าน ตรงนี้มันเลยเรียกว่าเป็นธรรมนูญ 

ขณะนี้เราสามารถผลักดันเป็นธรรมนูญในระดับจังหวัด อำเภอ แล้วก็ตำบลได้ คือเป็นข้อตกลงของประชาชนและองค์กรท้องถิ่น กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วในกรณีของโควิดนี้ มันก็มีคณะกรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัด เราก็ทำงานกับคณะกรรมการโรคติดต่อในแต่ละอำเภอ ก็คือ นายอำเภอ แล้วก็ออกมาเป็นข้อตกลงที่เรียกว่าธรรมนูญสุขภาพ แล้วตรงนี้มันก็เป็นที่มาของสิ่งที่เราเจอที่สลัมคลองเตย เช่น ระบบการกักตัวในชุมชน ที่เรียกว่า “CI” (Community Isolation) ทำเป็นศูนย์ดูแลชุมชนนั้นๆ เพราะเรารู้ว่าคนไข้บางส่วนที่เป็นโควิด เป็นไม่มากขนาดที่ไม่มีอาการ หรือเป็นเพียงไข้หวัด ก็ไม่จำเป็นต้องไปนอนโรงพยาบาล ก็มันดูแลตรงนี้ได้ 

หรือว่าในเรื่องของการให้ยาก็คือ ถ้าคนไข้ไม่มีอาการก็คือให้กลับบ้าน ให้เอายาไปกิน ที่เรียกว่าการ home isolation ทั้งหมดเหล่านี้ มันสามารถดูแลได้โดยตัวชุมชน หรือตัวประชาชนเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปแอดมิดอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ หรือแม้กระทั่งเรื่องวัคซีนทำยังไงถึงจะฉีดได้ ตรงนี้เลยเป็นจุดที่ทำให้การรักษาโควิดไม่ได้อยู่ที่ระบบการดูแลการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ว่า ชุมชนกับท้องถิ่นก็สามารถเข้ามาดำเนินการได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถเข้ามาดำเนินการได้ วัดก็ทำได้ ตรงนี้เลยเป็นที่มาของการนำเอาธรรมนูญสุขภาพมาดูแล ตรงนี้ก็เลยเป็นส่วนที่ผมเชื่อว่า การทำงานของภาคประชาชน ของสมัชชาจังหวัด ข้อตกลงของธรรมนูญฉบับนี้ มันสามารถดำเนินการได้ให้มันเป็นจริง และสรุปได้ว่ามันไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ