พริษฐ์ วัชรสินธุ: เราอาจจะมีทางเลือกที่ดีกว่าการควบคุมโรคด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในวันที่ 31 มีนาคม 2565 จะเป็นวันครบกำหนดการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากมีการประกาศใช้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี และรัฐบาลยังไม่มีท่าทีว่าจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ หลังเปลี่ยนแนวนโยบายจากการลดผู้ติดเชื้อโควิดให้เป็นศูนย์  (Zero COVID Policy) มาเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อโควิด-19 ในรูปแบบความปกติใหม่ (New Normal) รวมถึงเตรียมปรับให้โรคโควิด-19 เป็นเพียงโรคประจำถิ่น

ความลักลั่นของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค แต่ไม่ยอมผ่อนปรนกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขว้าง ทำให้เกิดคำถามต่อรัฐบาลว่า เหตุที่ยังคงอำนาจตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้นั้น เป็นไปเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ เพราะตลอดสองปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมสาธารณะอย่างเข้มงวด

หนึ่งในคนที่มีคำถามต่อการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล คือ ‘ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ’ ประธานบริหารบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันด้านการศีกษา ซึ่งเขาเองก็สวมหมวกอีกใบเป็นสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญในชื่อ “รัฐธรรมนูญก้าวหน้า” และด้วยหมวกใบที่สองนี้เองที่ทำให้เขาเป็นผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรมตั้งวงคุยเรื่องรัฐธรรมนูญที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปรากฏการณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดการคนเห็นต่างโดยอ้างเรื่องการควบคุมโรค

จากนักเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญสู่ผู้ต้องหา คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวว่า เขาถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งแรกจากการเข้าร่วมกิจกรรมวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ซึ่งจัดโดยกลุ่ม People GO Network ในชื่องาน “ราษฎร์ธรรมนูญ” โดยกิจกรรมเป็นการรณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเขามีหน้าที่เป็นผู้นำคุยในวงเสวนาวงหนึ่งภายในงานเท่านั้น

“ผมเข้าใจว่า วันนั้น ผู้จัดคงเห็นว่าเป็นวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวา ซึ่งทุกๆ ปี หลายๆ กลุ่มก็มีความพยายามจัดกิจกรรมเพื่อให้มีการสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐธรรมนูญมันสำคัญกับคุณภาพชีวิตประชาชนยังไง รัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาอย่างไร และทำอย่างไรให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนนั้นมีส่วนร่วม วันนั้นก็เป็นความพยายามจะเน้นให้เห็นว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 60 มันมีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อที่ประชาชนจะได้เห็นภาพชัดว่า ถ้าจะมีการแก้ไขควรจะมีการแก้ไขอย่างไร” ไอติมกล่าว

“ผมไปเข้าร่วมกิจกรรมช่วงเย็น ซึ่งเป็นการจัดวงเสวนาทั้งหมด 4 กลุ่ม ผมก็เป็นหนึ่งในผู้นำพูดคุย โดยวงที่ผมรับผิดชอบชื่อว่า “สิทธิเสรีภาพ” เป็นกิจกรรมที่มีการพูดคุยกันสักประมาณชั่วโมงสองชั่วโมง ความจริงผู้เข้าร่วม ณ เวลานั้น มีประมาณไม่เกิน 30 คน หลักๆ ก็เป็นการร่วมกันพูดคุยว่า ปัจจุบันเราเห็นสิทธิเสรีภาพด้านใดบ้างที่มันอาจจะไม่ถูกคุ้มครองเพียงพอและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างเช่น เราเห็นในรัฐธรรมนูญเขียนว่า เรามีสิทธิรับการศึกษาที่ฟรี แต่เราก็เห็นว่ายังมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่เข้ามา หรือว่าอาจจะมีสิทธิของชุมชนที่ควรจะมีการปรึกษาหารือก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการต่างๆ แต่หลายครั้งก็มีการดำเนินโครงการโดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือชุมชน ก็เป็นการเชิญชวนผู้เข้าร่วมให้แต่ละคนมาแลกเปลี่ยนว่า แต่ละคนเคยเจอประเด็นอะไรบ้างที่คิดว่าสิทธิเสรีภาพของตัวเองยังไม่ได้ครอบคลุมเพียงพอ”

แม้ว่างานในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการออกหมายเรียกกับบรรดาผู้ที่เข้าร่วมงานในวันดังกล่าว เพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมี ไอติม-พริษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาด้วย

“ตอนแรกยอมรับว่า พอเห็นหมายเรียกก็แอบสงสัยว่า จากเหตุการณ์อะไร เพราะเราเห็นข้อกล่าวแล้วว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้ระบุวันที่ ตอนแรกเราก็เลยสงสัยกับตัวเองว่า เราไปทำอะไรที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เพราะมั่นใจจริงๆ ว่า ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมอะไรที่เป็นปัญหา แล้วก็มาทราบที่หลังว่า เป็นเหตุการณ์วันที่ 10 ธันวาฯ”

“ถามถึงความรู้สึกก่อน ก็มีทั้งที่แปลกใจ และมีทั้งที่ไม่แปลกใจ ที่แปลกใจเพราะ เราก็ไปดูข้อกฎหมายในส่วนของการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผมคิดว่าน่าจะมีสองประเด็นสำคัญ อย่างแรกคือ ทำอะไรที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ อย่างที่สองคือ มีการทำอะไรที่เป็นการยุยงปลุกปั่นหรือเปล่า ซึ่งไม่ว่าจะกิจกรรมอะไรที่ผ่านมาก็ไม่ได้เข้าสองฐานเหตุการณ์นั้น”

“แต่ที่บอกว่า ไม่ได้ประหลาดใจ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เราก็เห็นว่าที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาสองปีที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายคนที่ถูกดำเนินคดี ก็มักจะเป็นคนที่เข้าร่วมกิจกรรมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากทางรัฐ เพราะฉะนั้นในฐานะคนคนหนึ่งที่พยายามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งก็อาจจะเป็นมุมมองที่ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีอำนาจต้องการจะเห็น ก็ไม่แปลกใจที่เราจะเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหมือนกัน”

เราอาจจะมีทางเลือกที่ดีกว่าการควบคุมโรคด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

“ประเด็นเรื่องความไม่เหมาะสมของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นประเด็นที่ผมต้องการที่จะออกมาแสดงความเห็นอยู่แล้ว ทีนี้พอตัวเองโดนด้วยตัวเอง ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะไม่อยากให้มันมีภาพว่า เราสื่อสารว่าไม่เห็นด้วย เพียงเพราะเราโดนคดี เพราะความจริงก่อนที่เราจะรู้ว่าเราโดน เราก็เห็นว่ามันมีปัญหาอยู่ แต่ตอนนี้ก็อาจจะอยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนิดหนึ่ง ก็อาจจะแสดงความเห็นด้วยความเป็นกลางได้น้อยลง แต่ก็หวังว่า การสัมภาษณ์ในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่ไม่ได้เกี่ยวกับสถานะของผมที่เป็นคนที่โดนดำเนินคดีแต่เพียงอย่างเดียว”

“ความจริงต้องบอกว่า การไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ไม่เหมือนกับการบอกว่า เราไม่ให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพียงแต่ว่า อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันว่า เครื่องมือทางกฎหมายเครื่องมือไหนที่มีความเหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทางสาธารณสุขของประชาชน โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และคำนึงถึงกลไกความรับผิดรับชอบของผู้มีอำนาจรัฐ”

“ผมคิดว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เหมาะสมที่สุด เราเห็นว่ามันมีเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถหยิบยกมาใช้ได้ แน่นอน เครื่องมือทางกฎหมายเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้ได้เลย คือ พ.ร.บ.ควบคุมโรค (พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558) แน่นอนเราเห็นว่า มันอาจจะมีบางส่วนที่อาจจะยังเป็นอุปสรรคอยู่ในการนำมาควบคุมการแพร่ระบาดโควิด เข้าใจว่า พ.ร.บ.ควบคุมโรค จะให้อำนาจรัฐในการให้คนที่ติดโรคแล้วกักตัวได้ แต่คนทั่วไปในสถานการณ์โควิด คนทั่วไปที่ยังไม่ได้ติดเชื้อก็ควรจะกักตัวเพื่อระมัดระวัง (กฎหมาย) อาจจะยังไม่ได้ให้อำนาจรัฐในการสั่งการตรงนั้น เราก็เห็นข้อจำกัดตรงนี้อยู่ แต่คิดว่ามันสามารถใช้เป็นฐานได้”

“แต่สิ่งที่ผมติดใจอยู่นิดหนึ่งก็คือ มันผ่านระยะเวลามาสองปีแล้ว ถ้าเราเห็นว่ามันมีข้อจำกัดของ พ.ร.บ.ควบคุมโรค จริงๆ มันน่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมโรค ฉบับ 58 เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เราระบุมา ให้สำเร็จไปแล้ว ไม่ใช่เราปล่อยปละละเลย แล้วก็ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาสองปี เพราะว่า ถ้าเราดูถึงเจตนาของการมีอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าใจว่ามีตั้งแต่ปี 48 มันมีเจตนาที่จะใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แค่สถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการจำกัดไว้เลยว่า ประกาศแต่ละครั้งใช้ได้ไม่เกินสามเดือน เพราะฉะนั้นโดยเจตนามันเป็นกฎหมายที่ควรใช้แค่สถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ และก็ใช้แค่ชั่วคราว แต่เราปล่อยปละละเลยมาสองปีแล้ว แล้วก็ยังไม่มีความสำเร็จในการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมโรคให้ มารัดกุมมากขึ้นเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์โควิด”

“นอกจาก พ.ร.บ.ควบคุมโรค แล้ว เราก็เห็นว่าทางฝ่ายค้านก็มีการเสนอ ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นความพยายามจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ว่าจะเป็นการลดอำนาจบางอย่างที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้กับฝ่ายบริหาร ที่อาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลของสื่อมวลชน หรือว่าระยะเวลาที่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย หรือการเรียกบุคคลให้เข้ามาสอบสวนได้ หรือ มีความพยายามจะแก้ไขทำให้การขยายระยะเวลาของสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จำเป็นจะต้องมีการหารือรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ในที่สุด รัฐบาลก็ตัดสินใจถ่วงเวลาไปอีก 60 วัน ไม่รับหลักการในวาระหนึ่งเพื่อจะศึกษาก่อน”

“ผมเลยรู้สึกว่า ความจริงมันมีเครื่องมืออื่นที่สามารถหยิบยกมาใช้ได้ อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ ในระยะเวลาสองปี มันควรจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องตรงนี้ได้ แต่ว่าก็ไม่มีความพยายามที่จะแก้ไข”

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สร้างสภาวะยกเว้นทางกฎหมายและใช้จัดการคนเห็นต่าง

“ประเด็นที่สอง ผมคิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีความอันตราย ตรงที่มันมีการสร้างสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย มันทำให้กลไกการรับผิดรับชอบของผู้ใช้อำนาจรัฐมันอาจจะไม่รัดกุมเพียงพอ”

“ผมเข้าใจว่าหลักๆ มันจะมีสองมาตราที่เป็นประเด็น คือ มาตรา 16 ที่ไปตัดช่องทางที่ประชาชนจะใช้ช่องทางตรวจสอบอำนาจของรัฐผ่านศาลปกครอง เช่น ถ้ารัฐไปออกข้อกำหนดอะไรที่ไม่เหมาะสมก็ให้ไปที่ศาลแพ่ง ซึ่งก็เป็นอะไรที่ผิดวิสัยมาก เพราะมันเป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ ก็ควรจะเป็นศาลปกครองที่เข้ามาดูแล และก็มีความเชี่ยวชาญมากกว่า แต่ก็กลายเป็นว่า ตัดช่องทางนั้นออกไป ทำให้ประชาชนต้องไปศาลแพ่ง”

“อีกมาตราหนึ่ง ก็คือ มาตรา 17 ที่เป็นการยกเว้นความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยให้กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เลยทำให้การใช้อำนาจในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขาดการตรวจสอบที่ควรจะเป็นในวิถีประชาธิปไตย อันนี้ก็เป็นปัญหาที่สองที่ตามมา”

“ส่วนปัญหาที่สาม ซึ่งความจริงอาจจะเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือว่า ประชาชนเริ่มตั้งคำถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เพื่อควบคุมโรค หรือว่าเพื่อพยายามควบคุมคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองหรือมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งหรือแตกต่างจากรัฐ เพราะว่า พอเรามาคุยกันว่าอะไรเหมาะสมที่สุดสำหรับการควบคุมโรค เราก็จะเห็นว่ามันมีข้อจำกัดบางอย่างของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่รัฐก็ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะหามาตรการอื่นมาใช้ มันก็ทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า ที่รัฐจงใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพราะว่า มันสามารถนำมาใช้ควบคุมความเห็นต่างทางการเมืองได้”

“ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เพื่อควบคุมโรคอย่างเดียว ไม่ได้มีวาระแอบแฝงในการควบคุมความเห็นต่าง ผมคิดว่าเราจะเห็นสองอย่าง แต่ปัจจุบันเราไม่เห็น อย่างที่หนึ่ง เราจะเห็นว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันจะถูกยกระดับและลดระดับลงไปในทิศทางเดียวกัน ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของรัฐ แต่ที่ผ่านมา เราเห็นว่า ตลอดระยะเวลาสองปีตั้งแต่มีการประกาศใช้ เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการของรัฐหลายอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยว ผ่อนคลายให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ แม้แต่ล่าสุดก็มีการพูดถึงความพยายามให้โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่นไปแล้ว เราจะเห็นว่าหลายๆ อย่างมีการผ่อนคลายมากขึ้น แต่ในเชิงกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ผ่อนคลายเลย กลับขยายระยะเวลามาตลอดสองปี”

“ถ้ารัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคอย่างเดียว รัฐจะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกๆ กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมือง หรือกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เราเห็นว่า ที่ผ่านมา ถ้าเราไปดูข้อกำหนดหรือว่าประกาศคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะเห็นว่า มันมีการใช้มาตรการที่แตกต่างกัน ระหว่างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง”

“ถ้าเรามาดูในส่วนของการบังคับใช้เราก็จะเห็นว่า ในจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 1,445 คน จาก 623 คดี จะเป็นคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือ เป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ผมกังวลก็คือว่า ปัจจุบัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันมีวาระแอบแฝงที่พยายามจะควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง”

หยุดต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับมาใช้กฎหมายปกติ

“ผมขอสรุปสั้นๆ สามเหตุผลที่ผมคิดว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เหมาะสม อย่างแรกผมคิดว่า มีกฎหมายอื่นที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ และระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาควรจะมีการแก้ไขให้มันรัดกุมมากขึ้นเพื่อจะนำมาใช้ได้อย่างถาวร อย่างที่สอง ผมคิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความอันตรายในเชิงสภาวะยกเว้นที่ทำให้กลไกความรับผิดรับชอบของเจ้าหน้าที่มันอาจจะไม่รัดกุมเพียงพอ และอย่างที่สาม การบังคับใช้ที่มุ่งเน้นไปที่การดำเนินคดีกับผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกับรัฐ ก็ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยได้ว่า มันอาจจะมีปัจจัยแอบแฝงหรือวาระแอบแฝงในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมความเห็นต่างทางการเมืองมากกว่าการแพร่โรคระบาด”

“ถ้าผู้บริหารมีความกังวลในการแพร่ระบาดของโรคระบาด ก็อยากจะให้ทบทวนว่า มาตรการใดจะเป็นมาตรการที่มีความเหมาะสมที่สุดในการควบคุมโรคระบาด มันมีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ว่าจะเป็นการนำ พ.ร.บ.ควบคุมโรค มาแก้ไขเล็กน้อย เพื่อให้มีความรัดกุมขึ้น หรือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ของฝ่ายค้าน ก็อยากจะให้นายกรัฐมนตรีและผู้บริหารทุกคน คำนึงถึงการใช้มาตรการที่เหมาะสม ทั้งในเชิงความปลอดภัยของประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน และกลไกความรับผิดรับชอบของผู้ใช้อำนาจรัฐ”

“ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าได้ฟังสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะทบทวน และตัดสินใจไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”