ผู้หญิงอยู่ตรงไหน ในการเมืองไทยปี 2565

ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ผู้คนในสังคมถกเถียงกันต่อเนื่องยาวนาน ในบางประเทศนั้น แต่แรกเริ่มสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างการเลือกตั้งก็ไม่ได้รับรองสำหรับทุกเพศ บางประเทศใช้เพศ ฐานะ วุฒิการศึกษา มากำหนดว่าบุคคลใดควรมีสิทธิเลือกตั้ง ขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศจึงต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งสำหรับผู้หญิง ขณะที่บางประเทศ ผู้มีอำนาจรัฐไม่ได้จำกัดสิทธิในการเลือกตั้งสำหรับผู้ชายเท่านั้น แต่บุคคลไม่ว่าเพศใดก็สามารถใช้สิทธิในฐานะพลเมืองของรัฐได้
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศก็ยังเป็นที่ถกเถียงของผู้คนในสังคมตามพลวัตรของสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง เช่น ประเด็นการทำแท้ง การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัย ขณะที่ในบางประเทศ บางพื้นที่ ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศก็ถูกนำไปจับโครงสร้างอำนาจรัฐ โดยสร้างระบบโควตาระหว่างเพศ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมทางเพศในสังคม จากข้อมูลประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ของสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU) ค่าเฉลี่ยของผู้หญิงในสภาทั้งสองสภาทั่วโลกอยู่ที่ 26.1% ซึ่งประเทศที่มีผู้หญิงในสภาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ รวันดา คิวบา นิการากัว เม็กซีโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิวซีแลนด์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 138 โดยอันดับรั้งท้ายสุดคืออันดับที่ 187 ปาปัวนิวกินี 
เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ชวนมาสำรวจตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ว่ามีผู้หญิงที่ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรเหล่านี้เป็นสัดส่วนเท่าใดบ้าง และประเทศไทยเฉียดใกล้ค่าเฉลี่ยของโลกหรือไม่
สภาผู้แทนราษฎร
สภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นด่านแรกก่อนส่งไม้ต่อให้วุฒิสภา และมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญ เช่น การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ 
สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 25) ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคการเมืองถึง 25 พรรค นับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากข้อมูลอัพเดทล่าสุด 7 มีนาคม 2565 มี ส.ส.ในสภา 474 คน (ไม่นับรวม ส.ส. ที่ถูกศาลสั่งให้งดปฏิบัติหน้าที่) โดย ส.ส. ส่วนใหญ่จำนวน 398 คน เป็นผู้ชาย คิดเป็น 83.97% ขณะที่ส.ส.ผู้หญิงในสภาผู้แทนราษฎรมี 73 คน คิดเป็น 15.40% และมี ส.ส. สามคนที่เปิดเผยต่อสาธารณะในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ และธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกล กับ กวินนาถ ตาคีย์ จากพรรคพลังท้องถิ่นไท (เดิมเคยสังกัดพรรคอนาคตใหม่) คิดเป็น 0.63%
หากพิจารณาสัดส่วนทางเพศแยกตามพรรค จะได้ดังนี้
  • พรรคเพื่อไทย มีส.ส. 131 คน ผู้ชาย 111 คน (84.73%) ผู้หญิง 20 คน (15.27%)
  • พรรคพลังประชารัฐ มีส.ส. 95 คน ผู้ชาย 78 คน (82.11%) ผู้หญิง 17 คน (17.89%)
  • พรรคภูมิใจไทย มีส.ส. 62 คน ผู้ชาย 57 คน (91.94%) ผู้หญิงห้าคน (8.06%)
  • พรรคก้าวไกล มีส.ส. 51 คน ผู้ชาย 42 คน (82.35%) ผู้หญิงเจ็ดคน (13.73%) ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สองคน (3.92%)
  • พรรคประชาธิปัตย์ มีส.ส. 50 คน ผู้ชาย 39 คน (78.00%) ผู้หญิง 11 คน (22.00%)
  • พรรคเศรษฐกิจไทย มีส.ส. 17 คน (94.12%) ผู้ชาย 16 คน ผู้หญิงหนึ่งคน (5.88%)
  • พรรคชาติไทยพัฒนา มีส.ส. 12 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด (100%)
  • พรรคเสรีรวมไทย มีส.ส. 10 คน เป็นผู้ชายแปดคน (80%) ผู้หญิงสองคน (20%)
  • พรรคประชาชาติ มีส.ส.เจ็ดคน เป็นผู้ชายทั้งหมด (100%)
  • พรรคเพื่อชาติ มีส.ส.หกคน เป็นผู้ชายสี่คน (75.00%) ผู้หญิงสองคน (25.00%)
  • พรรคเศรษฐกิจใหม่ มีส.ส.หกคน เป็นผู้ชายสี่คน (75.00%) ผู้หญิงสองคน (25.00%)
  • พรรครวมพลังประชาชาติไทย มีส.ส.ห้าคน เป็นผู้ชายสองคน (40%) ผู้หญิงสามคน (60%)
  • พรรคพลังท้องถิ่นไท มีส.ส.ห้าคน เป็นผู้ชายสี่คน (80%) ผู้มีความหลากหลายทางเพศหนึ่งคน (20%)
  • พรรคชาติพัฒนา มีส.ส. สี่คน เป็นผู้ชายทั้งหมด (100%)
  • พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย มีส.ส. สองคน เป็นผู้ชายทั้งหมด (100%)
  • พรรคที่มีส.ส.พรรคละหนึ่งคน มีส.ส. ชายเจ็ดคน จากพรรคพลังปวงชนไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคเพื่อชาติไทย และอีกสามคนเป็นส.ส. หญิง จากพรรคพลเมืองไทย พรรคประชาภิวัฒน์ และพรรคพลังชาติไทย
ทั้งนี้ ตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญของสภาผู้แทนราษฎร คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเคยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง แต่ในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่เคยมีผู้หญิงที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย 
วุฒิสภา
วุฒิสภา หนึ่งในฝ่ายนิติบัญญัติผู้รับบทบาทเป็นมือ “กลั่นกรองร่างกฎหมาย” รับไม้ต่อจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ในบางกรณี วุฒิสภาก็ไม่ได้เป็นฝ่ายกลั่นกรองกฎหมายเสมอไป แต่จะพิจารณาร่างกฎหมายพร้อมๆ กับสภาผู้แทนราษฎร ในรูปแบบการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้แก่ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ
บทบาทอีกด้านหนึ่งของวุฒิสภานอกจากการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว วุฒิสภายังมีอำนาจในการประทับตราอนุมัติว่าบุคคลใดที่จะมีโอกาสเข้าไปดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้มีวุฒิสภา “ชุดพิเศษ” 250 คน  ซึ่งมีที่มาแบบ “พิเศษ” กว่าปกติอีก โดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษ มีที่มาสามช่องทาง 
1) คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน 
2) ผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 
3) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. โดย “แบ่งกลุ่มอาชีพ” เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน
ภายหลังจากการแต่งตั้งส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน เมื่อ 11 พฤษภาคม 2562 มีส.ว. บางส่วนที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง และส.ว.โดยตำแหน่งบางส่วนเกษียณอายุข้าราชการ ส่งผลให้มีส.ว. หน้าใหม่หมุนเวียนเข้ามาแทนที่คนเก่าอยู่บ้าง จากข้อมูลอัพเดทล่าสุดเมื่อ 7 มีนาคม 2565 ปัจจุบันมีส.ว. ชุดพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งครบจำนวน 250 คน โดยส.ว. ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย 224 คน คิดเป็น 89.60% ขณะที่ส.ว. ผู้หญิงมีเพียง 26 คน คิดเป็น 10.40%
นอกจากนี้ ตำแหน่งสำคัญในวุฒิสภาอย่าง ประธานวุฒิสภา ตั้งแต่ประเทศไทยใช้ระบบสองสภาเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2489 จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยปรากฏว่ามีประธานวุฒิสภาเป็นผู้หญิงมาก่อน ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย
ศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคน โดยสามคนมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ สองคนมาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ สองคนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์และสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาละหนึ่งคน ส่วนอีกสองคน มาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
ศาลรัฐธรรมนูญ มีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน เป็นผู้ชายทั้งเก้าคน โดยมี
วรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน หากย้อนดูประวัติศาสตร์ศาลรัฐธรรมนูญไทย จากข้อมูลคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น 53 คน (นับนุรักษ์ มาประณีต ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และได้รับการแต่งตั้งอีกครั้งให้เป็นตุลาการตามรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นหนึ่งคน) เป็นผู้ชาย 52 คนและเป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งคน คือ ศาสตราจารย์เสาวนีย์ อัศวโรจน์ ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540 และมีที่มาจากการเป็นศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์ เท่ากับว่า หากนับรวมทั้งหมดในประวัติศาสตร์ของศาลรัฐธรรมนูญไทย มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นผู้หญิงคิดเป็นเพียง 1.92% เท่านั้น และไม่เคยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้หญิงเลย
หากเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นต้นแบบที่สำคัญกับศาลรัฐธรรมนูญไทย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีทั้งหมด 16 คน แบ่งเป็นสององค์คณะ แต่ละองค์คณะรับผิดชอบคดีแตกต่างกัน องค์คณะที่หนึ่งมีตุลาการที่เป็นผู้หญิงสี่คน ผู้ชายสี่คน องค์คณะที่สอง มีตุลาการผู้หญิงห้าคน ผู้ชายสามคน หากนับรวมกันทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีชุดปัจจุบันมีตุลาการเป็นผู้หญิงเก้าคน ผู้ชายเจ็ดคน หรือกล่าวได้ว่าตุลาการผู้หญิงในศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีคิดเป็น 56.25% จากจำนวนตุลาการทั้งหมด
คณะกรรมการการเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งเดิมก่อนมีกกต. กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กกต. ประกอบไปด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา โดยพิจารณาจากบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระสรรหามา โดยกกต. ห้าคนมาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้ง อีกสองคนมาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี 
จากข้อมูลในเว็บไซต์กกต. กกต. ชุดปัจจุบันจำนวนเจ็ดคนล้วนเป็นผู้ชายทั้งหมด ไม่มีผู้หญิงที่เป็นกกต. เลย และหากนับตั้งแต่ประเทศไทยมีกกต. ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งกกต. ทั้งสิ้น 28 คน เป็นผู้ชาย 27 เป็นผู้หญิงหนึ่งคน คือ สดศรี สัตยธรรม คิดเป็น 3.57% นอกจากนี้ ประธานกกต. ที่ผ่านมาล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งสิ้น ไม่เคยมีผู้หญิงที่เป็นประธานกกต.
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 กำหนดชื่อองค์กรดังกล่าวสั้นๆ ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ตัดคำว่า “ของรัฐสภา” ออกไป) รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนสามคน วุฒิสภาแต่งตั้งจากผู้ที่ได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ โดยสองคนต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและดำรงตำแหน่งในหน่วยงานราชการไม่น้อยกว่าห้าปี และอีกหนึ่งคนต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปี
ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่สำคัญคือการรับเรื่องร้องเรียนกรณีมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น และกรณีที่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย เนื่องจากถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ สามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยต้องยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน เป็น “ชายล้วน” ทั้งสามคน คือ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต (ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน) อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ และทรงศัก สายเชื้อ จากการสืบค้นประกาศ แต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ในราชกิจจานุเบกษา พบว่ามีประกาศทั้งสิ้น 14 ฉบับ โดยสรุปมีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินตั้งแต่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน รวม 13 คน เป็นผู้ชาย 12 คน เป็นผู้หญิงหนึ่งคน คือ ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ หนึ่งในส.ว. ชุดปัจจุบัน นอกจากนี้ ผาณิตยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
ส.ว.ชุดปัจจุบันนอกจากผาณิตแล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ก็เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยเช่นกัน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 หน้าที่หลักๆ ของป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลรับฟังก็อาจให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา หากศาลพิพากษาว่าถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่
ป.ป.ช. ประกอบด้วยคณะกรรมการเก้าคน ได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา โดยพิจารณาจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ โดยป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน มีผู้หญิงสองคน คือ สุภา ปิยะจิตติและ สุวณา สุวรรณจูฑะ (คิดเป็น 22.22%) และมีผู้ชายเจ็ดคน (คิดเป็น 77.78%)
จากการสืบค้นประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พบว่านับแต่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน มีประกาศฯ ทั้งสิ้น 10 ฉบับ และในครั้งรัฐประหารมี 2549 มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 หากนับผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นป.ป.ช. (รวมชุดปัจจุบัน) มีทั้งสิ้น 38 คน เป็นผู้ชาย 33 คน ผู้หญิงห้าคน ได้แก่ เภสัชกรหญิง คุณหญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา, ฤดี จิวาลักษณ์, สมลักษณ์ จัดกระบวนพล, สุภา ปิยะจิตติและ สุวณา สุวรรณจูฑะ 
จำนวนป.ป.ช. ที่เป็นผู้หญิง เทียบกับจำนวนผู้ที่ดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ทั้งหมด คิดเป็น 13.16% ทั้งนี้ ป.ป.ช. ไม่เคยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานเลยแม้แต่คนเดียว
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้คตง. มีเจ็ดคน ได้รับการแต่งตั้งโดยวุฒิสภา จากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ คตง. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
คตง. ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้ชายสี่คนและผู้หญิงสามคน ได้แก่ ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ จินดา มหัทธนวัฒน์ และอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป (คิดเป็น 42.86%)
จากการค้นพระราชโองการ ประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พบว่ามีประกาศที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นห้าฉบับ โดยสรุปแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 มีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคตง. ทั้งสิ้น 33 คน เป็นผู้ชาย 23 คน เป็นผู้หญิง 10 คน ได้แก่ 
  1. จารุวรรณ เมณฑกา
  2. จิระพรรณ นิรัติศัย
  3. คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี
  4. รวีพร คูหิรัญ 
  5. ศศิพัฒน์ เศวตวัฒนา
  6. อุไร ร่มโพธิหยก
  7. จิรพร มีหลีสวัสดิ์ 
  8. ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ 
  9. จินดา มหัทธนวัฒน์ 
  10. อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป
จำนวนคตง. ที่เป็นผู้หญิง เทียบกับจำนวนผู้ที่ดำรงตำแหน่งคตง. ทั้งหมด คิดเป็น 30.30 % ทั้งนี้ คตง. ไม่เคยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานเลยแม้แต่คนเดียว
นอกจากคตง. แล้ว รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยวุฒิสภา โดยได้รับการเสนอชื่อจากคตง. โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คตง.กำหนด และตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และตรวจผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรกของประเทศไทยเป็นผู้หญิง คือ จารุวรรณ เมณฑกา ขณะที่คนต่อมาเป็นผู้ชายทั้งสองคน คือ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส และประจักษ์ บุญยัง (ยังดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปัจจุบัน) 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกโดยรัฐธรรมนูญ 2540 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กสม. ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา โดยพิจารณาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เป็นคณะกรรมการสรรหาคนละชุดกับองค์กรอิสระอื่นๆ) ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 
กสม. มีอำนาจหน้าที่หลักๆ คือ ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกสม. ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วยกรรมการทั้งสิ้นหกคน โดยเป็นผู้หญิงสี่คน (คิดเป็น 66.67%) และเป็นผู้ชายสองคน (33.33%) ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรอิสระที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งในอัตราที่สูงกว่าองค์กรอิสระอื่นๆ
ทั้งนี้ สำหรับกรรมการอีกหนึ่งรายที่ยังไม่ครบ คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ออกประกาศรับสมัครบุคคลหรือเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกสม. ซึ่งปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อ 13 มกราคม 2565 เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เดลินิวส์รายงานข่าวว่า คณะกรรมการสรรหาฯ มีมติเลือกสุภัทรา นาคะผิว ผอ.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เพื่อเสนอรายงานสรรหาให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
หากย้อนดูกสม. ชุดก่อนๆ จะพบว่า กสม. เป็นองค์กรอิสระที่มีผู้หญิงมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการโดยมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับองค์กรอิสระอื่นๆ ในไทย กสม. ชุดแรก (ตามรัฐธรรมนูญ 2540)  มี 11 คน เป็นผู้หญิงห้าคน ผู้ชายหกคน ชุดที่สอง (ตามรัฐธรรมนูญ 2550) มีเจ็ดคน ผู้หญิงสองคน ผู้ชายห้าคน ชุดที่สาม เจ็ดคน มีผู้หญิงสี่คน ผู้ชายสามคน แต่ภายหลังกรรมการสี่คนลาออกส่งผลให้เหลือกรรมการเพียงสามคน เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมของศาลจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560แต่งตั้งกรรมการสี่ราย เป็นผู้หญิงสองคนและเป็นผู้ชายสองคน
หากนับรวมตั้งแต่ก่อตั้งกสม. จนถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนรวมทั้งสิ้น 35 คน เป็นผู้ชาย 18 คน ผู้หญิง 17 คน คิดจำนวนกรรมการที่เป็นผู้หญิงได้เป็น 48.57% เมื่อเทียบกับกรรมการทั้งหมด นับว่าจำนวนกรรมการที่เป็นผู้หญิงไม่ทิ้งห่างจากจำนวนกรรมการที่เป็นผู้ชายมากนัก
นอกจากนี้ กสม. ยังเป็นองค์กรอิสระที่มีประธานกรรมการเป็นผู้หญิงมาแล้วถึงสองชุด คือ ชุดที่สอง ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ และชุดปัจจุบัน พรประไพ กาญจนรินทร์