แถลงข้อเท็จจริงสรรพากรเข้าตรวจสอบองค์กรเอ็นจีโอ

สรุปข้อเท็จจริงการปฏิบัติงานของสรรพากรต่อองค์กรเอ็นจีโอ

1.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  (สนส.) เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักกฎหมาย ทนายความ และคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยทำงานมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการส่งเสริมสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งดำเนินงานผ่านกิจกรรม 3 ส่วนหลัก คือ งานอบรมและเสริมสร้างศักยภาพนักกฎหมาย งานวิชาการและรณรงค์ และการดำเนินคดียุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน

สนส. ได้รับจดหมายขอเชิญพบจากเจ้าหน้าที่สรรพากร ฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 โดยให้เข้าพบในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และให้นำเอกสารสำหรับรอบระยะบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 มายื่นด้วย ซึ่งได้แก่ งบแสดงฐานะการเงิน บัญชีรายได้และรายจ่าย, ใบสำคัญการรับ/จ่าย ประกอบการลงบัญชี, รายการเงินฝากถอนในบัญชีเงินฝาก (Bank Statement) แต่เนื่องจากจดหมายที่ส่งถึง สนส. ล่าช้ากว่าวันที่ที่ระบุเป็นวันนัดพบ จึงมีจดหมายฉบับที่ 2 ส่งมาอีกครั้ง ขอเชิญให้ไปพบอีกครั้ง ในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 พร้อมด้วยเอกสารดังที่ระบุไว้ เจ้าหน้าที่การเงินได้รับมอบอำนาจจากนายกสมาคมฯ ให้เข้าพบเจ้าหน้าที่สรรพากร พร้อมด้วยเอกสารตามที่ร้องขอ ทางเจ้าหน้าที่สรรพากรได้สอบถามถึงรายละเอียดการทำงานของสนส. แหล่งทุนและรายได้ที่ได้รับในการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดกิจกรรมที่ได้รับจากแหล่งทุน NED โดยทางเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ขอเอกสารเกี่ยวกับแหล่งทุน NED เพิ่มเติมโดยเฉพาะ คือ เอกสารสัญญาของแหล่งทุนที่ได้รับในรอบปี 2563 (ซึ่งในปีนั้น สนส. ได้รับทุนจาก NED, NHRF และ BELL) ในวันถัดมา สนส. ได้ส่งเอกสารสัญญาของแหล่งทุนที่ได้รับในรอบปี 2563 ต่อมา 23 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ติดต่อขอเอกสารเพิ่มเติม คือ รายงานกิจกรรมของแหล่งทุน NED ในรอบปี 2563-2564 สนส.ได้ส่งเอกสารดังกล่าวให้ในวันที่ 4 มกราคม 2565 อย่างไรก็ตามวันที่ 26 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ขอเอกสารเพิ่มเติมอีกครั้ง คือ รายงานกิจกรรมและสัญญาของแหล่งทุน NED ในรอบปี 2562-2563 สนส.ส่งเอกสารดังกล่าวให้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม  2565 และยังไม่มีคำสั่งใดๆ เพิ่มเติม

2. ไอลอว์ (iLaw)

iLaw เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึง หลักการประชาธิปไตย, เสรีภาพในการแสดงออก การทำงานของ iLaw เน้นไปที่การสร้างฐานข้อมูลเพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับการทำงานรณรงค์ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้พื้นที่ออนไลน์ในการสื่อสารเป็นหลัก ทั้งเว็บไซต์และโซเชี่ยลมีเดีย iLaw ยังมีบทบาทในการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช.  และเสนอยกเลิกมาตรา 112 ด้วย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ส่งจดหมายมาแจ้งว่าจะเข้ามาที่สำนักงานเพื่อตรวจแนะนำด้านภาษีอากร และได้ตกลงนัดหมายการตรวจในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 โดยทาง iLaw ได้เตรียมเอกสารไว้พร้อมให้ตรวจ และเตรียมกล้องไว้บันทึกวิดีโอตลอดการตรวจและการสนทนา เจ้าหน้าที่สรรพากรที่มาถึงแจ้งว่าไม่อนุญาตให้ถ่ายวิดีโอ แต่ทาง iLaw ยืนยันว่าการบันทึกภาพการปฏิบัติงานตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งที่ทำได้ เจ้าหน้าที่สรรพากรจึงเดินทางกลับไปทันที

3. มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน

ประชาไท เป็นสำนักข่าวออนไลน์ ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นสังคม การเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 

ประชาไทได้รับจดหมายจากกรมสรรพากร ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 มีเนื้อหาระบุว่าขอเชิญพบและให้นำส่งเอกสารหลักฐานในวันที่ 27 ธันวาคม 2564 โดยเอกสารที่กรมสรรพากรขอตรวจสอบ ได้แก่ งบการเงินของปี 2563, รายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากธนาคาร (Bank statement) ประจำปี 2563, ข้อบังคับและรายงานประชุมสามัญประจำปี 2563, เอกสารค่าใช้จ่ายการเงินในรอบปี 2563 และสัญญาเช่า สัญญาบริการ ที่เกี่ยวข้องทั้งรายรับและรายจ่าย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีของประชาไทได้ติดต่อเพื่อขอเลื่อนวันนำส่งเอกสารไปอีก 1 เดือน เมื่อถึงกำหนดที่ขอเลื่อน เอกสารก็ยังไม่เรียบร้อยจึงได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเลื่อนอีกครั้ง แต่ทางเจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าให้เข้ามาพบก่อน ในวันที่ 27 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่การเงินของประชาไทจึงได้เดินทางเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร เจ้าหน้าที่สรรพากรได้สอบถามถึงเรื่องการรับเงินจาก NED อย่างเดียวเท่านั้น โดยสอบถามรายละเอียดว่าการได้รับเงินจาก NED นั้นต้องทำอย่างไร และได้เงินมากี่บาท เจ้าหน้าที่การเงินของประชาไทจึงตอบว่าต้องมีการเขียนโครงการเพื่อขออนุมัติเงินเป็นรายปี และต้องทำรายงานส่งทุกสามเดือน โดยได้รับปีละ 70,000 USDT หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่การเงินของประชาไทได้สอบถามกับทางเจ้าหน้าที่สรรพากรว่า ประชาไทได้รับเงินจาก NED มาหลายปีแล้ว ทำไมถึงเพิ่งมาตรวจสอบตอนนี้ มีการร้องเรียนหรือไม่ ทางเจ้าหน้าที่สรรพากรตอบว่า มีหน่วยงานอื่นร้องเรียนมาให้ตรวจสอบ ในการไปพบครั้งนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรยังได้ทำการบันทึกเรื่องการรับเงินจาก NED และขอให้ส่งสัญญารับเงินจาก NED และรายงานการเงินปี 2563 ให้ในภายหลัง

4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทำงานสนับสนุนการใช้สิทธิของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตัดสินใจ และการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของชุมชน และส่งเสริมการรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย 

EnLAW ได้รับจดหมายจากกรมสรรพากรในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 แจ้งว่าจะเข้ามาที่สำนักงานวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 โดยระบุไว้ในจดหมายว่าจะเข้ามาเพื่อแนะนำเรื่องภาษีอากร ซึ่งในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่สรรพากรเดินทางมาถึงได้มีการแสดงบัตรเจ้าหน้าที่และแสดงหนังสือว่าเข้ามาเพื่อตรวจสอบเอกสารการเงินขององค์กร โดยได้มีการสอบถามว่าองค์กรจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใดและดำเนินกิจกรรมอะไรบ้าง และสอบถามถึงเรื่องการสนับสนุนเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ขอให้ส่งมอบเอกสารการเงินของปี 2563 ทั้งหมดในวันดังกล่าว แต่ทาง EnLAW แจ้งกับเจ้าหน้าที่สรรพากรไปว่า ขอจัดเตรียมเอกสารเพื่อจัดส่งให้ต่อไปเนื่องจากเป็นเอกสารเก่าและมีเอกสารจำนวนมาก เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ขอดูสัญญาของแหล่งทุน ซึ่ง EnLAW ก็ได้จัดเตรียมให้ตรวจสอบ แต่ในส่วนการขอดูรายละเอียดเนื้อหาของโครงการต่างๆ ทาง EnLAW ได้ปฏิเสธไปเนื่องจากเห็นว่า ไม่เกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจึงไม่มีอำนาจขอตรวจสอบเอกสารในส่วนนี้ อีกทั้งได้สอบถามกับทางเจ้าหน้าที่สรรพากรว่า เหตุใดจึงมาตรวจสอบที่ EnLAW เจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า EnLAW ส่งงบภาษีล่าช้า ทำให้ต้องเข้ามาตรวจสอบ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ติดต่อกลับมาอีกครั้งเพื่อขอให้ชี้แจงเพิ่มเติม โดยระบุว่าต้องการรายละเอียดว่าเจ้าหน้าที่ในองค์กรแต่ละคนได้รับเงินจากแหล่งทุนใด ซึ่งก็ได้ปฏิเสธไปเนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรไม่มีอำนาจตรวจสอบ เป็นการบริหารจัดการภายใน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ส่งจดหมายมาอีกหนึ่งฉบับเพื่อขอให้ไปพบและสอบสวนเพิ่มเติมในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานงานไป แต่ได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบเอกสารที่ได้รับไปไม่เสร็จสิ้น จึงยังไม่ต้องเข้าไปพบ ทำให้ขณะนี้ขั้นตอนยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเอกสารของสรรพากร และ EnLAW ยังไม่ได้รับเอกสารการเงินคืนกลับมา

5.มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาต่อยอดศักยภาพแกนนำเยาวชนไปสู่วุฒิภาวะของการเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยมุ่งสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีสำนึก ความรู้ และทักษะในการขับเคลื่อนสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียม สันติ ผ่านงานอาสาสมัครโครงการต่างๆ เช่น โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน โครงการพลเมืองอาสา โครงการอาสาสมัครเพื่อร่วมสร้างชุมชนยั่งยืน (อาสาคืนถิ่น) โครงการอาสาสมัคนักสื่อสารสิทธิมนุษยชน โดยทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้เยาวชนทำงานให้สังคมผ่านการเข้าร่วมโครงการจิตอาสาและมีการนำเสนอรายงาน เมื่อครบ 1 ปี โดยสนับสนุนค่าเบี้ยเลี้ยงยังชีพให้

เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ส่งจดหมายถึงมอส. โดยระบุว่าวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 จะเข้ามาที่สำนักงานเพื่อแนะนำเรื่องภาษีอากร ซึ่งทาง มอส. ก็ได้เตรียมสมุดบัญชีชี้แจงรายละเอียดการเงินไว้ล่วงหน้า โดยยังไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรจะเข้ามาตรวจสอบเรื่องอะไร เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรมาถึงก็ทำการตรวจสอบเอกสารการเงินขององค์กรไปตามปกติ แต่ได้สอบถามถึงรายรับที่มาจาก NED พร้อมกับขอดูใบโอนเงิน หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรได้สอบถามว่า มอส. ดำเนินโครงการอะไรบ้าง และมีวัตถุประสงค์อะไร เจ้าหน้าที่การเงินของ มอส. ก็ได้ชี้แจงไป ซึ่งในระหว่างการสอบถามและตรวจสอบเอกสาร เจ้าหน้าที่สรรพากรได้บันทึกข้อความลงในหนังสือเพื่อให้ลงลายมือชื่อ เมื่อทาง มอส. ขอถ่ายสำเนาเอกสารดังกล่าว เจ้าหน้าที่สรรพากรกลับปฏิเสธไม่ให้ถ่ายสำเนาแต่ยินยอมให้คัดลอกด้วยลายมือ เมื่อสอบถามรายละเอียดเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่าจะขอเอกสารการเงินเพิ่มเติมเพื่อนำไปตรวจสอบ เจ้าหน้าที่การเงินของ มอส. ได้แจ้งไปว่า การให้เอกสารลักษณะนี้จำเป็นต้องเสนอเรื่องต่อกรรมการมูลนิธิเสียก่อน หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ส่งหนังสือที่ระบุว่า ได้ตรวจสอบเอกสารการเงินของมอส.เรียบร้อยแล้ว 

6. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินการในนามมูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มทนายความ นักกฎหมาย และนักกิจกรรมทางสังคม  2 วันหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พื่อตอบรับกับสถานการณ์ที่ คสช. เรียกบุคคลไปรายงานตัว จับกุม คุมขังบุคคลเป็นจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์คือ บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายหลังการรัฐประหาร ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเผยแพร่ความรู้ ทั้งในเรื่องกฎหมายและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรกรุงเทพมหานคร เขต 7 เข้ามาที่สำนักงานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่สรรพากรได้นำหนังสือนำตัวเจ้าหน้าที่ 4 คน ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 มายื่นเพื่อแสดงว่าการมาสำนักงานครั้งนี้ คือ การตรวจปฏิบัติการ ตามกฎหมายประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการตรวจเฉพาะประเด็น เพราะมีข้อมูลร้องเรียนด้านภาษีของ “มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม” ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลประเภทมูลนิธิของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเจ้าหน้าที่สรรพากรได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานโดยสอบถามถึงโครงสร้างของมูลนิธิ, ลักษณะการดำเนินการ, ที่มาของรายได้และค่าใช้จ่าย, จำนวนเจ้าหน้าที่, และการเช่าสำนักงาน จากนั้นเจ้าหน้าที่สรรพากรจึงกลับไป โดยมีการจดบันทึกข้อมูลที่สอบถามได้เอาไว้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สรรพากรได้แจ้งให้มูลนิธิส่งเอกสารทางการเงิน ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2564, เอกสารนำส่งภาษี และรายการเงินฝากถอนในบัญชีเงินฝาก (Bank Statement) จนถึงปี 2564 ให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เมื่อส่งเอกสารไปแล้วกรมสรรพากรจะตรวจสอบก่อน แล้วจะเรียกผู้ตรวจบัญชีของมูลนิธิฯไปสอบถามอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่บัญชีผู้รับมอบอำนาจประธานมูลนิธิฯ จึงนำเอกสารเหล่านั้นให้กรมสรรพากรตรวจสอบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร