เปิดร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ฟื้นฟู จับตา อุดช่องโหว่ปัญหาคดีอุกฉกรรจ์

อาชญากรรมเกี่ยวกับเพศ เป็นหนึ่งในปัญหาสังคมไทยที่ปรากฏตามหน้าสื่อบ่อยครั้ง และสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง เนื่องจากรูปแบบของการกระทำความผิดดังกล่าวกระทบต่อเนื้อตัวร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำ บ้างกระทบต่อทรัพย์สิน หรือบางกรณีอาจร้ายแรงถึงชีวิตของผู้ถูกกระทำ ช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2565 มีข่าวพนักงานรักษาความปลอดภัยของอาคารชุดแห่งหนึ่งก่อเหตุข่มขืนลูกบ้าน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบประวัติพนักงานรักษาความปลอดภัยเคยต้องโทษจำคุกด้วยข้อหาข่มขืนกระทำชำเรามาก่อนและเพิ่งพ้นโทษออกมาได้ไม่ถึงสี่ปีดี เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างแรงสะเทือน เตือนให้ผู้คนในสังคมไทยหันกลับมาให้ความสนใจเกี่ยวกับมาตรการและการคุมประพฤติผู้กระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะในความผิดที่เกี่ยวกับเพศหรือความผิดที่มีลักษณะการกระทำรุนแรง
หากพิจารณาจากข้อมูลเชิงสถิติ จากการแถลงข่าวโดยรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมซึ่งพบว่า กว่า 50% ของผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงซึ่งพ้นโทษแล้ว จะกระทำความผิดซ้ำในระยะเวลาสามปี อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขการกระทำความผิดซ้ำบังคับใช้อย่างเฉพาะเจาะจง แม้จะมีมาตรการบางส่วนปรากฏในกฎหมายหลายฉบับ แต่ก็ยังไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ) ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง 19 มกราคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีระเบียบวาระการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ยังไม่ได้พิจารณาเนื่องจากตอนจะลงมติร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่อยู่ลำดับก่อนร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ แล้วเกิดเหตุสภาล่ม (องค์ประชุมไม่ครบ)  จึงต้องไปพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไป (26 มกราคม 2565)
ก่อนจับตากระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร ชวนย้อนดูมาตรการรับมือปัญหาการกระทำความผิดซ้ำที่ใช้ในประเทศไทย และสำรวจเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซ้ำ เพื่ออุดช่องโหว่ปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย

ย้อนดูมาตรการรับมือปัญหาการทำผิดซ้ำในไทย

มาตรการป้องกันและแก้ไขการกระทำความผิดซ้ำโดยอ้อมที่มีอยู่แต่เดิมหรือพอจะใกล้เคียงกันกันได้ในประเทศไทยนั้น ปรากฏรายละเอียดอยู่ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติสามฉบับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.2559 และกฎหมายระดับพระราชกฤษฎีกา คือ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ และยังมีเครื่องมือระยะสั้นในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว คือ ‘ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (JSOC)’ ซึ่งเป็นโครงการที่ผลักดันโดยกระทรวงยุติธรรม
ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยและการคุมประพฤติ  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมาตรการป้องกันและแก้ไขการกระทำความผิด ไว้ในมาตรา 39-50 มีด้วยกันหกวิธี ประกอบด้วย 1. การกักกัน (การควบคุมผู้กระทำความผิดไว้ในเขตที่กำหนด แต่ห้ามไม่ให้ขังที่เดียวกันและได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าการจำคุก) 2. การห้ามเข้าเขตกำหนด 3. การเรียกประกันทำทัณฑ์บน 4. คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล 5. สั่งห้ามดื่มสุราหรือเสพยาเสพติด และ 6. ห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 ยังกำหนดไว้เฉพาะอีกว่า ให้ศาลสามารถพิจารณากักกันผู้ต้องหาในฐานความผิดแปดฐานที่กำหนดไว้ (1. ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน 2.ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน 3. ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา 4. ความผิดเกี่ยวกับเพศ 5.ความผิดต่อชีวิต 6. ความผิดต่อร่างกาย 7. ความผิดต่อเสรีภาพ 8. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์) เป็นระยะเวลายาวนานกว่ากรณีปกติได้ หากผู้ต้องหานั้นเคยถูกกักกันหรือถูกตัดสินจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือน ตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป จุดนี้เองกลายเป็นข้อสังเกตและข้อจำกัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย เพื่อแก้ไขและป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยพิจารณาว่าหากใช้ตามเงื่อนไขข้างต้น ศาลจะต้องรอให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความเสียหายในสังคม จากการกระทำความผิดซ้ำเป็นครั้งที่สองและสามก่อน จึงจะเข้าเงื่อนไขที่อนุญาตให้ศาลสามารถบังคับใช้มาตรการดังกล่าวแก่ต้องผู้ต้องหาได้
นอกจากนี้ กรณีที่ศาลพิจารณาคดีที่มีโทษจำคุกและศาลพิพากษาลงโทษไม่เกินห้าปี ผู้ต้องหาไม่เคยต้องโทษมาก่อน หรืออาจต้องโทษมาแล้วแต่เป็นโทษประมาทหรือลหุโทษ หรือต้องโทษมาแล้วแต่พ้นระยะเวลาห้าปีและมากระทำความผิดซ้ำ โดยคดีหลังเป็นคดีประมาทหรือลหุโทษ ศาลสามารถเลือกรอกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้ โดยอาจกำหนดวิธีการคุมประพฤติเป็นตัวเลือกเสริมติดตัวผู้ต้องหาด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว
แม้ว่าการคุมประพฤติจะเปิดช่องให้ศาลสามารถกำหนดมาตรการและเครื่องมือที่หลากหลายในการแก้ไขและป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องหาได้ แต่กรณีของผู้ต้องหาที่จะเข้าข่ายใช้มาตรการและเครื่องมือดังกล่าวได้นั้นมีข้อจำกัดอยู่เพียงแค่ผู้ต้องหาที่ศาลให้พักการลงโทษ ผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขชั่วคราว หรือผู้ที่ได้รับคำสั่งพักการลงโทษตามกฎหมายราชทัณฑ์ ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงผู้ต้องหาที่มีความเสี่ยงจะกระทำความผิดซ้ำแต่ไม่เข้าเกณฑ์การพิจารณาคุมประพฤติ เช่น ผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษจากเรือนจำไปแล้ว ผู้กระทำความผิดที่ต้องโทษเกินกว่าห้าปี ผู้ต้องหาที่กระทำความผิดซ้ำที่ไม่ใช่ความผิดประมาทหรือความผิดลหุโทษ เป็นต้น
นอกจากการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมไปถึงการคุมประพฤติแล้ว ในกฎหมายไทยยังกำหนดมาตรการบำบัดผู้ต้องหาและการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ปรากฏอยู่ในพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ โดยการบำบัดจะมุ่งไปในเรื่องของปฏิบัติการทางการแพทย์ที่เกี่ยวการรักษาโรคทางจิตเวชเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำปฏิบัติการทางการแพทย์ที่มุ่งเฉพาะเจาะจงเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำมาใช้ได้
ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการอภัยโทษต้องผ่านหรือเคยผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวที่กระทรวงกลาโหมหรือกรมราชทัณฑ์กำหนด และกระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องติดตามดูแลและช่วยเหลือผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษไม่ให้กลับไปทำความผิดซ้ำอีก ในจุดนี้การติดตามดูแลและช่วยเหลือตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นไปในลักษณะของการสงเคราะห์ดูแลผู้พ้นโทษ แต่ไม่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนในการเฝ้าระวังผู้ที่มีความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ
นอกจากมาตรการที่ปรากฏในกฎหมาย  ยังมีอีกหนึ่งเครื่องมือระยะสั้นที่ใช้รับมือกับปัญหาการกระทำความผิดซ้ำ ระหว่างรอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ คือ ‘ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (JSOC)’ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและเฝ้าระวังผู้พ้นโทษที่กระทำความผิดร้ายแรง ติดตามเฝ้าระวังผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เป็นภัยอันตรายต่อสังคมหลังได้รับการปล่อยตัว เพื่อไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ รวมทั้งแก้ไขฟื้นฟู ติดตามดูแล ช่วยเหลือสงเคราะห์ พร้อมส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้พ้นโทษได้มีโอกาสกลับตัวและคืนสู่สังคม แต่โครงการดังกล่าวไม่มีบทบังคับตามกฎหมายและอาศัยความสมัครใจของผู้เข้าร่วมโครงการ ดังนั้นหากมีผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเฝ้าระวังของโครงการ ก็ไม่มีสภาพบังคับใดกับผู้พ้นโทษ
เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมของการใช้มาตรการในกฎหมาย เพื่อแก้ไขและป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ รวมไปถึงเครื่องมือการแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างโครงการ JSOC จะเห็นข้อจำกัดของมาตรการที่มีอยู่ ซึ่งไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การกระทำความผิดซ้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ถือกำเนิดขึ้นเพื่ออุดช่องว่างเหล่านั้น และสร้างกฎหมายที่บังคับใช้โดยตรงและมีความชัดเจน

เปิดร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ อุดช่องโหว่ปัญหาอาชญากรรมในสังคม

ในหลายประเทศ ต่างมีกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ที่ผลักดันโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จึงถูกเสนอขึ้นโดยกำหนดกลไกและกระบวนการเพื่ออุดช่องโหว่ปัญหาการกระทำความผิดซ้ำ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ใช้บังคับกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ-ชีวิตและร่างกาย-เสรีภาพ

ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ใช้บังคับกับการกระทำความผิดอาญาทั้งหมดสามประเภท ได้แก่
ประเภทที่หนึ่ง ความผิดเกี่ยวกับเพศ ประกอบด้วย 1) ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา 2) ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 3) ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย 4) ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี  5) ความผิดฐานพาเด็กอายุเกิน 15 แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อทำอนาจาร และ 6) ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหรือใช้กำลังประทุษร้าย
ประเภทที่สอง ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ประกอบด้วย 1) ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น 2) ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย และ 3) ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นอันตรายสาหัส
ประเภทที่ 3 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ คือ ความผิดฐานลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่

กำหนดสี่มาตรการ มุ่งฟื้นฟู จับตา ยับยั้งปัญหาการกระทำความผิดซ้ำ

ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำสี่มาตรการ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อพนักงานอัยการร้องขอและศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอ โดยสี่มาตรการดังกล่าว เรียงตามความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการกระทำความผิดซ้ำจากน้อยไปหามาก ได้แก่
1. มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
2. มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ
3. มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
4. มาตรการคุมขังฉุกเฉิน

หนึ่ง มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด เป็นมาตรการขั้นแรกสุดในการดำเนินการกับผู้ที่มีความเสี่ยงกระทำความผิดซ้ำ หากพนักงานอัยการตรวจสอบสำนวนและเห็นควรให้ผู้กระทำความผิดเข้าสู่มาตรการดังกล่าว สามารถร้องขอต่อศาลในระหว่างการฟ้องคดีจนถึงก่อนมีคำพิพากษาได้โดยตรง กระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดรูปแบบนี้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ และต้องจัดทำรายงานผลความคืบหน้าให้แก่พนักงานอัยการอย่างน้อยปีละครั้ง เมื่อพิจารณารายงานแล้วพนักงานอัยการอาจร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกมาตรการแก้ไขฟื้นฟูฯ ได้
มาตรการแก้ไขฟื้นฟูฯ  สามารถแบ่งย่อยได้เป็นสองมาตรการด้วยกัน คือ
1. มาตรการทางการแพทย์ กำหนดให้ต้องใช้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์ที่มีใบอนุญาต) สองคนขึ้นไป และต้องเห็นตรงกันในเรื่องขั้นตอนและวิธีการรักษา จึงจะสามารถดำเนินกระบวนการรักษาได้ และหากมีความจำเป็นต้องใช้ยา ต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดที่เข้ารับการรักษายินยอมด้วย กรมราชทัณฑ์สามารถนำผลของการรักษาตามมาตรการทางการแพทย์ มาใช้พิจารณาลดโทษ พักโทษ หรือการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้
2. มาตรการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีตามข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันการทำความผิดซ้ำกำหนด ซึ่งยังคงไม่มีรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไรหรือเป็นไปในทิศทางใด เพราะมาตรการส่วนนี้เป็นเสมือนช่องและพื้นที่ว่างที่เปิดให้รัฐมนตรีและคณะกรรมการป้องกันการทำความผิดซ้ำสามารถกำหนดเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขฟื้นฟูได้หลังร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ผ่านการพิจารณาโดยฝ่ายนิติบัญญัติและมีผลใช้บังคับแล้ว

สอง มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ

มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ เป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้หลังจากนักโทษพ้นการรับโทษออกไปแล้ว โดยก่อนการพ้นโทษ กรมราชทัณฑ์จะจัดทำรายงานจำแนกลักษณะของนักโทษว่านักโทษคนใดมีแนวโน้มจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวัง ส่งไปยังคณะกรรมการกำหนดมาตรการการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อพิจารณาและกำหนดระยะเวลาการใช้มาตรการเฝ้าระวัง เมื่อได้ผลการพิจารณาแล้ว จะส่งให้กับพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาและร้องขอต่อศาลต่อไป
มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มีด้วยกันทั้งหมด 13 วิธี ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการเดียวหรือหลายมาตรการก็ได้ ประกอบด้วย
1. ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด
2. ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
3. ห้ามเข้าเขตกำหนด
4. ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
5. ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนอาศัย
6. ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด
7. ให้พักอาศัยในสถานบำบัดหรือไปอยู่ภายใต้การดูแลของสถานบำบัดที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข
8. ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแลสถานบำบัดหรือสถานที่พักอาศัย
9. ให้มารายงานหรือรับการเยี่ยมกับพนักงานคุมประพฤติ อาสาคุมประพฤติ หรือเจ้าหน้าที่อื่นตามที่กำหนด
10. ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาพบ หรือเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือบุคคลใดที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
11. ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูหรือกิจกรรมที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
12. แจ้งพนักงานคุมประพฤติเมื่อมีการย้ายสถานที่ทำงานหรือเปลี่ยนงาน
13. ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไล EM)
มาตรการเฝ้าระวังฯ เป็นกระบวนการดำเนินงานที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบกรมคุมประพฤติ และพนักงานคุมประพฤติจะต้องจัดทำรายงานผู้ถูกเฝ้าระวังทุกๆ หกเดือนเสนอต่อศาล หากศาลเห็นสมควรอาจเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกมาตรการเฝ้าระวังได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอ ในอีกกรณีหนึ่ง หากสถานการณ์ของผู้ถูกเฝ้าระวังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว พนักงานอัยการหรือผู้ถูกเฝ้าระวังสามารถร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกมาตรการเฝ้าระวังที่มีอยู่ได้

สาม มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ

มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะกระทำความผิดซ้ำ และประเมินแล้วว่าไม่สามารถใช้มาตรการใดที่มีอยู่เพื่อยับยั้งไม่ให้กระทำผิดอีกครั้งได้ โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจะพิจารณารายงานจำแนกลักษณะของนักโทษว่ามีมาตรการอื่นที่สามารถป้องกันผู้กระทำความผิดจากการกระทำความผิดซ้ำได้หรือไม่ ถ้ามีมาตรการอื่น ให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังฯ แต่หากไม่มี ก็จำเป็นต้องคุมขังภายหลังพ้นโทษต่อไป เพราะมีความเสี่ยงสูงที่เมื่อนักโทษรายนั้นพ้นโทษไปแล้วจะก่อเหตุกระทำความผิดซ้ำ
มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ยังใช้กับผู้ที่ถูกเฝ้าระวังตามมาตรการเฝ้าระวังฯ และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังฯ หรือมีแนวโน้มว่าไม่สามารถใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการกระทำความผิดแล้ว พนักงานคุมประพฤติสามารถเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการให้ร้องขอต่อศาล เพื่อให้ออกคำสั่งใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวังนั้นได้
สำหรับการใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เมื่ออัยการร้องขอต่อศาล ศาลสามารถไต่สวนและออกคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ โดยกำหนดระยะเวลาเท่าที่จำเป็นต่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเท่านั้น ซึ่งต้องไม่เกินสามปีนับจากวันที่ผู้นั้นพ้นโทษ และเมื่อใกล้ระยะเวลาครบการคุมขัง พนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังฯ แทนต่อได้

สี่ มาตรการคุมขังฉุกเฉิน

มาตรการคุมขังฉุกเฉิน เป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและผู้ถูกเฝ้าระวัง (ตามมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ) จะกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง และไม่มีมาตรการอื่นใดที่สามารถยับยั้งผู้ถูกเฝ้าระวังคนดังกล่าวได้ พนักงานคุมประพฤติสามารถเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการเพื่อร้องขอให้ศาลสั่งให้มีคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน โดยสามารถคุมขังได้ไม่เกินเจ็ดวันนับจากศาลมีคำสั่ง และเมื่อถูกคุมขังฉุกเฉินแล้ว กรมคุมประพฤติจะต้องทำความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขมาตรการเฝ้าระวังฯ หรือให้ใช้มาตรการคุมขังหลังพ้นโทษแทนเพื่อป้องกันผู้ที่ถูกคุมขังฉุกเฉินไปกระทำความผิดซ้ำ โดยกระบวนการคุมขังฉุกเฉินนี้ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์
ทั้งนี้ ระหว่างกระบวนการที่พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาล ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่ง พนักงานหรือตำรวจสามารถจับผู้ถูกเฝ้าระวังได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาล และควบคุมตัวได้แต่ห้ามเกินกว่า 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถึงที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ  เมื่อศาลมีคำสั่งให้คุมขังฉุกเฉิน จะต้องส่งตัวผู้ถูกเฝ้าระวังให้กับกรมราชทัณฑ์ต่อไป

ตั้งคณะกรรมการสองชุด วางนโยบาย-พิจารณาใช้มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

จากการสำรวจสี่มาตรการข้างต้น จะเห็นว่านอกจากกรมราชทัณฑ์ พนักงานอัยการ และศาลแล้ว ยังมีอีกหนึ่งองค์กรที่สำคัญที่มีบทบาทต่อการบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ  คือ คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (เรียกสั้นๆ ว่า คณะกรรมการแม่) ซึ่งมีบทบาทสำคัญคือ กำกับและจัดทำนโยบาย นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (เรียกสั้นๆ ว่า คณะกรรมการลูก)  มีบทบาทสำคัญคือ นำนโยบายไปบังคับใช้
คณะกรรมการป้องกันการทำความผิดซ้ำ (คณะกรรมการแม่) ตามร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวนสูงสุด 15 คน
10 คนเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ 1. รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (ประธาน) 2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม (รองประธาน) 3. ปลัดกระทรวงมหาดไทย 4. อธิบดีกรมการปกครอง 5. อธิบดีกรมการแพทย์ 6. อธิบดีกรมราชทัณฑ์ 7. อธิบดีกรมสุขภาพจิต 8. ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 9. เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ 10. อัยการสูงสุด
อีกห้าคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านใดด้านหนึ่งจากต่อไปนี้ ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านอาชญวิทยา ด้านทัณฑวิทยา ด้านการบริหารงานยุติธรรม ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านจิตวิทยา ด้านจิตเวชศาสตร์ หรือด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการกระทำความผิด โดยผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระดำรงตำแหน่งได้สามปี แต่ดำรงตำแหน่งมากกว่าสองวาระไม่ได้
อำนาจหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ คือ การออกนโยบาย กำกับและให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (คณะกรรมการลูก) ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กลไกตามร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ นอกจากนั้นเป็นการให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงเพื่อใช้ประกอบการบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ และเสนอแนะมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอื่นๆ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทวงยุติธรรม เพื่อพิจารณากำหนดในกฎกระทรวง
คณะกรรมการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (คณะกรรมการลูก) เป็นคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งเท่านั้น ไม่มีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีคุณวุฒิจากภายนอก มีทั้งหมดห้าราย ได้แก่ 1. รองปลัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งปลัดกระทรวงยุติธรรมมอบหมาย (ประธาน) 2. ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 3. ผู้แทนกรมคุมประพฤติ 4. ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ และ 5. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
คณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่พิจารณารายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาว่านักโทษที่กำลังจะพ้นโทษว่าผู้ใดมีแนวโน้มจะกระทำความผิดซ้ำและอยู่ในความเสี่ยงระดับใด นำไปประเมิน กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังหลังพ้นโทษ รวมถึงระยะเวลาที่บังคับใช้มาตรการ เพื่อเสนอต่อพนักงานอัยการให้ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งใช้มาตรการดังกล่าว โดยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้จะต้องอยู่ภายใต้นโยบายและการกำกับของคณะกรรมการแม่อยู่เสมอ