กรรมาธิการพาณิชย์ฯ ส.ว. เสนอ ไทยเข้าร่วม CPTPP ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

6 ตุลาคม 2564 คณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม (กมธ.พาณิชย์ฯ) วุฒิสภา ส่งข้อเสนอให้กับนายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้ไทยเริ่มกระบวนการขอเจรจาเข้าเป็นภาคีความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อเป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดการลงทุนและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19
ข้อเสนอของกมธ.พาณิชย์ฯ ของ ส.ว. นี้เกิดจากการประชุมหารือจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ กรรมาธิการพาณิชย์ฯ ซึ่งมีอภิรดี ตันตราภรณ์ ส.ว. และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลคสช. ในช่วงปี 2558-2560 เป็นประธาน ภาคธุรกิจโดยมีผู้แทนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนักวิชาการ ประกอบด้วย ดร.วิระไท สันติประภพ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม และดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
จากการย้อนดูสรุปการประชุมของคณะกรรมาธิการพาณิชย์ฯ พบว่ามีการพูดคุยกันถึง CPTPP ครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมาธิการครั้งที่ 15/2563 วันที่ 9 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่รัฐบาลพยายามผลักดันการเข้าร่วมเป็นข้อตกลงทางการค้า CPTPP โดยเป็นผลมาจากการพูดคุยระหว่างอนุกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง รายงานประชุมระบุว่า “CPTPP ไม่ใช่เรื่องของการค้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการลงทุนของไทยที่มีมาตรฐานสูงขึ้น” ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 16/2563 วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมกรรมาธิการพาณิชย์ฯ ก็มีมติว่าควรจะมีการจัดเวทีเสวนาและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเกี่ยวกับ CPTPP ในวันที่ 25 มิถุนายน 2563
การจัดเวทีเสวนาวันที่ 25 มิถุนายน 2563 และอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 มีภาคธุรกิจและนักวิชาการเข้าร่วมได้กลายเป็นที่มาของข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการพาณิชย์ฯ ของวุฒิสภา ในหนังสือที่ส่งให้กับนายกรัฐมนตรี และแนบถึงดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อีกหนึ่งปีต่อมาลงวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ระบุว่าการขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP ของสหราชอาณาจักร สาธารณรัฐประชาชนจีน และจีนไทเป รวมถึงประเทศอาเซียนอีกหลายประเทศที่แสดงท่าทีอยากเข้าร่วมด้วยทำให้ไทยต้องตัดสินใจโดยเร่งด่วนเนื่องจากจีนเป็นพันธมิตรด้านการค้าและการลงทุนที่สำคัญของไทย
ข้อเสนอที่กรรมาธิการพาณิชย์ฯ ส.ว. พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมมีต่อนายกรัฐมนตรีคือไทยควรจะ “เริ่มกระบวนการ” เจรจาความตกลง CPTPP เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าจากโลกาภิวัตน์เป็นการค้าที่จำกัดเฉพาะอยู่ในวงสมาชิกมากขึ้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระชับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนผ่านการเข้าร่วม CPTPP หากไทยไม่เข้าร่วมก็อาจจะต้องแบกรับต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการไม่เข้าร่วมและทำให้ไม่สามารถหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้
ข้อเสนอยังระบุว่า รัฐบาลควรจัดงบประมาณและมาตรการที่มีวงเงินชัดเจนเพื่อเยียวหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาเข้าร่วม CPTPP และควรมีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาวิชาการอิสระเพื่อทำข้อเสนอแนะควบคู่ไปกับการเจรจาเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส
ส.ส. เห็นต่าง ไทยยังขาดความพร้อม ต้องรับฟังความคิดเห็นก่อน
ทั้งนี้ ข้อเสนอในรายงานของวุฒิสภามีความแตกต่างจากรายงานเรื่อง CPTPP ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร รายงานของ ส.ส. ซึ่งมีการประชุมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 และเสนอให้สภาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เห็นว่าไทยยังขาดความพร้อมในหลายด้าน การเข้าร่วมสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีนี้จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณ ที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ รวมถึงรัฐบาลยังต้องจัดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง
หนึ่งเดือนเศษหลังจากการส่งหนังสือข้อเสนอของ ส.ว. ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึง CPTPP ในงานสัมมนาหอการค้าไทยครั้งที่ 39 ว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่หากไม่เริ่มเจรจาในวันนี้ไทยก็อาจจะไม่มีโอกาสในการตั้งข้อสงวนเมื่อสมาชิกเพิ่มมากขึ้น การจะเข้าร่วมหรือไม่นั้นยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่ต้องเข้าไปร่วมเจรจาเพื่อพิจารณาก่อน ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีกำหนดประชุมเรื่อง CPTPP ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ก่อนที่จะส่งเรื่องให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ในด้านของภาคประชาชนก็ได้มีการออกมาต่อต้านการเข้าร่วม CPTPP ของไทยบ้างแล้ว วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เครือข่าย #NoCPTPP ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีหยุดพิจารณาการเจรจาเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรี CPTPP ของไทย จดหมายระบุว่า CPTPP จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทนายทุนขนาดใหญ่ อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 จะเอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมถึงข้อบังคับเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้ราคายาในไทยสูงขึ้น