เปิดผลโพล #สมรสเท่าเทียม 99.9% เห็นด้วยให้มีกฎหมายรับรองสิทธิจดทะเบียนสำหรับเพศหลากหลาย

5-10 พฤศจิกายน 2564 ไอลอว์เปิดแบบสอบถามออนไลน์ เช็คความคิดเห็นของผู้คนในสังคมเกี่ยวกับประเด็น #สมรสเท่าเทียม ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ตลอดระยะเวลาที่เปิดแบบสอบถาม มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 3,616 คน ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 99.9% หรือจำนวน 3,614 คน เห็นด้วยหากประเทศไทยจะมีกฎหมายที่รับรองสิทธิจดทะเบียนสมรสหรือคู่ชีวิตสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามอีกสองคน คิดเป็น 0.1% ไม่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าว
ผู้ที่เข้ามาร่วมตอบบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 55.3% เป็นบุคคลที่มีอายุในช่วง 20-30 ปี รองลงมา 32.4% คือผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 9.2% เป็นผู้ที่มีอายุช่วง 31-40 ปี 2.3% เป็นผู้มีอายุในช่วง 41-50 ปี และ 0.6% เป็นผู้มีอายุช่วง 51-60 ปี 
สำหรับอาชีพของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่ 56.8% เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา รองลงมา 17.1% เป็นลูกจ้างในองค์กรเอกชน 7.7% เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ 6.5% ว่างงาน 6.1% ทำธุรกิจส่วนตัว 4% รับจ้างอิสระ และยังมีผู้ตอบแบบสอบถามที่ทำอาชีพอื่นๆ ด้วย เช่น ทำงานในองค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำงานในกลุ่มภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นนักบวช
เมื่อถามถึงการเข้าร่วมกิจกรรมหรือการชุมนุมที่เรียกร้องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ เช่น ม็อบตุ้งติ้ง, ขบวนกี, เรียกร้องให้วุฒิสภาผ่าน #ทำแท้งปลอดภัย ที่หน้ารัฐสภา ผู้ตอบแบบสอบถาม 7.7% เคยเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ขณะที่อีก 30% ไม่เคยเข้าร่วมไม่เคยร่วมชุมนุมประเด็นดังกล่าว แต่เคยร่วมชุมนุมประเด็นอื่น เช่น #แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยกเลิก 112 ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ถึง 62.3% ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมหรือการชุมนุม 
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ต้องจับตา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติว่า การจำกัดการจดทะเบียนสมรสเฉพาะคู่ชายและหญิง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 39.1% ทราบข่าวนี้ อีก 30.9% ระบุว่าเคยได้ยินผ่านๆ ขณะที่อีก 30% ตอบว่าไม่ทราบ

74.1% หนุนแก้กฎหมายแพ่ง ทุกคนใช้กฎหมายเดียวกัน 93.1% เห็นว่าสภาควรเลื่อนพิจารณา “เร็วขึ้น”

ผู้ตอบแบบสอบถาม 99.9% หรือจำนวน 3,614 คน เห็นด้วยหากประเทศไทยจะมีกฎหมายที่รับรองสิทธิจดทะเบียนสมรสหรือคู่ชีวิต สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เหตุผลที่ผู้ตอบแบบสอบถามนำมาสนับสนุนคำตอบ 96.3% ให้เหตุผลว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน กฎหมายที่รับรองสิทธิสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อหลักความเสมอภาค, 89.4% ให้เหตุผลว่า ต้องการให้มีกฎหมายรับรองสวัสดิการ สิทธิประโยชน์คู๋สมรสหรือคู่ชีวิต เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาล, 87.6%  ต้องการให้มีกฎหมายรับรองการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมสำหรับคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศ, 87.2% ต้องการให้คู่สมรสหรือคู่ชีวิต สามารถเซ็นให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลได้, 83.2% ต้องการให้มีกฎหมายที่รับรองให้คู่สมรสหรือคู่ชีวิต สามารถรับมรดกของอีกฝ่ายได้, 67.9% เห็นว่า ประเทศไทยควรรับรองสิทธิจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะประเทศอื่นๆ ก็รับรองแล้ว อีก 52.3% ให้เหตุผลสนับสนุนว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดูเป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วน ก็ให้เหตุผลอื่นประกอบด้วย เช่น ต้องการให้มีกฎหมายที่รับรองเพื่อให้สามารถออกวีซ่าสมรสสำหรับคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติได้
เมื่อถามต่อว่าในความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม ประเทศไทยควรแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้การจดทะเบียนสมรสทำได้โดยไม่จำกัดว่าเป็นคู่รักเพศใด (สมรสเท่าเทียม) หรือ ควรมีกฎหมายรับรองการจดทะเบียนโดยเฉพาะสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ผู้ตอบแบบสอบถาม 74.1% เห็นว่า ควรแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทุกคนใช้กฎหมายเดียวกัน #สมรสเท่าเทียม ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1.4% ตอบว่า ควรมีกฎหมายแยก เช่น ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต อีก 24.5% ตอบว่าได้ทั้งสองกรณี
ต่อมาในคำถามว่า ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาเกินหนึ่งปีแล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณา ผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่า สภาผู้แทนราษฎรควรเลื่อนการพิจารณาให้ “เร็วขึ้น” หรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนถึง 93.1% คิดว่าควรเลื่อนมาพิจารณาให้เร็วขึ้น อีก 5% ระบุว่า เลื่อนหรือไม่เลื่อนก็ได้ แล้วแต่สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจ 1.9% คิดว่าไม่ต้องเลื่อน
เมื่อถามย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งปี 2562 ว่าพรรคการเมืองที่ชูนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ มีผลทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามตัดสินใจเลือกผู้สมัครของพรรคนั้นหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 33.7% ตอบว่ามีผล อีก 63.3% ระบุว่า มีผลบ้าง แต่ดูนโยบายอื่นๆ ประกอบด้วย ส่วน 3% ตอบว่า ไม่มีผล 
คำถามต่อมา ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองที่ชูนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกพรรคนั้นหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถาม 34.9% ระบุว่า เลือกแน่นอน ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 64.9% ตอบว่า ไม่แน่ใจ ต้องดูนโยบายอื่นประกอบ เมื่อถามเจาะลึกลงไปเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสสำหรับเพศหลากหลาย ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้ตอบแบบสอบถามจะเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนการจดทะเบียนสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถาม 51.3% ระบุว่า ไม่แน่ใจ ต้องดูนโยบายอื่นประกอบ ขณะที่อีก 48.6% ระบุว่า เลือกแน่นอน 

เสียงจากคนหนุนสิทธิสมรสเพศหลากหลายที่อยากฝากถึงผู้แทนประชาชน

ในแบบสอบถาม ทางไอลอว์ได้เปิดช่องให้ผู้ตอบแบบสอบถามคอมเมนต์ว่า มีอะไรอยากฝากถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในประเด็นเกี่ยวกับ #สมรสเท่าเทียม ผู้ตอบแบบสอบถามราวพันคนก็ได้ร่วมแชร์ความคิดเห็นเอาไว้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วน แชร์ความเห็นที่อยากฝากถึงส.ส. ส.ว. ไว้ว่า
“อยากฝากสมาชิกสภาเปิดใจ เพราะการสมรสเท่าเทียมไม่ได้ทำให้ใครเสียประโยชน์ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะตีตก”
“ควรรีบพิจารณาและรับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม (แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ – ป.พ.พ.) เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีเสมอกันในฐานะมนุษย์ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรมีหน้ามาเรียกประเทศไทยว่าเป็น “สวรรค์ของ LGBT””
“สำหรับส.ส. : เข้าใจถึงความยากลำบากในการทำงาน แต่ในเมื่อเป็นตัวแทนประชาชน ก็อยากให้ทำงานเพื่อประชาชนโดยแท้จริง
สำหรับส.ว. : ยุบ ๆ ไปซะ ไร้ประโยชน์”
“จริงๆ เราก็เป็นผู้หญิงที่สมรสกับชายนะ เรามองถึงการใช้ชีวิตของคู่สมรสทุกคู่ไม่ว่าจะเป็น ชายหญิง หญิงหญิง ชายชาย ควรได้รับสิทธิ์ในกฎหมายได้อย่างถูกต้องและเท่าเทียมกัน ทั้งในกรณีการรักษาพยาบาล การรับมรดก กฎหมายคุ้มครองทุกคนตั้งแต่หลุดออกมาจากท้องแม่ แต่ทำไมคนกลุ่มนี้ถึงไม่ได้ความคุ้มครองตรงนี้ด้วย ทำให้เขาเสียคุณภาพชีวิตที่ควรดีกว่านี้”
“ช่วยกันหน่อยค่ะ บางพรรคโหนกระเเส lgbtq+ ดังได้ มีกระเเสกับคนรุ่นใหม่ได้ก็เพราะคู่จิ้น เเถมยังดันคู่จิ้นกันอีกทั้งพรรค เเต่พอวันที่ศาลจะอ่านคำวินิจฉัยไม่มีใครมาช่วยกัน speak up เรื่องนี้สักคน (ในพรรคนั้น) เห็นเเค่ก้าวไกล ส.ส.บางท่านยังไม่ทราบเลยว่ามีอะไรกัน มันเเสดงให้เห็นว่าพวกท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับกฎหมายที่ข้องเกี่ยว lgbtq+ เลย เเท็กส.ส.บางคนไปให้พูด ให้ออกมาช่วยกันเคลื่อนไหว อยากเห็นจุดยืน เค้ารับรู้ เเต่ก็เงียบ สรุปเเล้วทุกวันนี้ยังพึ่งส.ส.ได้อยู่ไหมที่จะให้เป็นตัวเเทนประชาชนไปขับเคลื่อนกฎหมายในสภาน่ะ”
“อยากให้เร่งการพิจารณากฎหมายให้เร็วขึ้น เพราะมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน และการสมรสเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า ประเทศไทย ได้เริ่มการพัฒนาสู่สากลมากขึ้น”
“การให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสได้ ไม่ได้ทำให้คนแห่กันมาเป็นเกย์ ไม่ได้ทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเลย การขวางไม่ให้เขาจดทะเบียนนั่นแหละทำให้คนอื่นเดือดร้อน เขาเดือดร้อนกันมานานมากแล้ว อยากให้ท่านๆ รับรู้”
“สมรสเท่าเทียมจะทำให้ประชาชนไทยเสมอภาคมากขึ้น และไม่ได้ทำให้ใครเสียประโยชน์ หากคุณไม่เห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม ฉันอยากทราบว่า คุณเสียประโยชน์อะไร?”
“อยากเห็นการผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม ถ้าพรรคการเมืองใดให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็พร้อมสนับสนุน”
“ปล่อยเวลาทิ้งไปวันๆ เพื่ออะไรคะ ในเมื่อสเตรทเกิดมาวินาทีแรกบนโลกก็ได้สิทธิพวกนี้แล้ว ทำไมต้องปล่อยพวกเรารอ”
“อยากให้ส.ส.เห็นถึงความสำคัญของสมรสเท่าเทียมอย่างเข้าใจปัญหา เมื่อคุณมีโอกาสมากกว่าประชาชน ขอให้คุณช่วยผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริง เพียงแค่คุณเห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่มีสิทธิที่เท่าเทียมกับคนที่ใช้ชีวิตตรงตามเพศสภาพ นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่ากลุ่มคนกลุ่มนั้นใช้ชีวิตแบบถูกกดทับด้วยมาตรฐานทางสังคม หากการมีสมรสเท่าเทียมไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน โปรดช่วยมองว่าการมีสมรสเท่าเทียมมอบสิทธิให้คนทุกคนเท่ากันอย่างแท้จริง”
“ควรแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทุกคนใช้กฎหมายเดียวกัน ทุกคนควรได้รับสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน”
“ทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน ควรมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในทุกด้าน ฝากส.ส. ส.ว. ทำความเข้าใจและส่งเสริมสนับสนุนสมรสเท่าเทียมด้วยค่ะ”
“พวกคุณเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน ก็ควรที่จะผลักดันประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนได้ยื่นหรือเสนอเข้าไปด้วย พรรคที่ทำดีแล้วก็อยากให้ทำได้ดีขึ้นอีก ส่วนพรรคที่กำลังคิดอะไรอยู่ก็ขอให้ช่วยรีบตัดสินใจในสิ่งที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีให้ไปเป็นเงินเดือนของคุณที่แม้ว่าเขาทำงานหนักมามากขนาดไหนก็อาจจะได้เงินเดือนไม่เท่าพวกคุณๆ ก็ตาม ช่วยรีบตัดสินใจ และช่วยตระหนักว่าผลประโยชน์ที่จะประชาชนได้รับนั้นมันมากน้อยเพียงใดด้วย ไม่ใช่เห็นแต่ผลประโยชน์ของตนเอง ปากบอกจะช่วยประชาชนลับหลังยื่นข้อเสนอให้กันแบบนี้ก็ไม่เอา”
“ส.ส. ยังผลักดันกันน้อยไป แม้ในปัจจุบันส.ส. จะมีความหลากหลายมากขึ้นแล้ว แต่ส.ส. และส.ว. อาวุโสบางคนยังไม่เข้าใจหลักการเท่าเทียมและยังคงยึดโยงอยู่กับทัศนคติชายเป็นใหญ่แบบเก่าซึ่งล้าสมัยไปแล้ว ไม่เหมาะกับปัจจุบัน การที่ผู้มีสิทธิ์และอำนาจในการโหวตร่างกฎหมายใดๆ ยังคงมีทัศนคติล้าสมัย จะส่งผลให้กฎหมายที่ออกมาเพื่อบังคับใช้ล้าสมัยไปด้วย สังคมไม่เกิดความก้าวหน้า ไม่ทันโลก”
“อย่างให้ท่าน ส.ส. และ ส.ว. นึกถึงประชาชนกลุ่มหนึ่งที่โดนทอดทิ้งทั้งจากกฎหมายและสังคม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เป็นประชาชนของท่าน เหตุใดคนเหล่านี้ถึงไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับชายหญิง ดิฉันอย่างให้ท่านคิดถึงว่า การมีอยู่ของสมรสเท่าเทียมไม่ได้มีผลเสียใดๆ เลยต่อประเทศ กลับมีแต่ผลดี การที่ท่านไม่เห็นด้วยท่านต้องกลับมานั่งถามตัวท่านเองว่าการไม่เห็นด้วยนั้นมันมาจากการที่ท่านมีอคติกับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ และอคติของท่านกำลังทำลายสิทธิและความฝันของประชาชนที่ท่านบอกจะดูแล ท่านกำลังผิดคำพูดที่ได้ปฏิญาณไว้เสมอมาว่า “ท่านพร้อมจะฟังและทำเพื่อเสียงของพี่ร้องประชาชน””
“นี่คือเสียงจากประชาชนที่เรียกร้องถึงสิทธิความเท่าเทียมอย่างทั่วถึง และไม่ว่าจะส.ส.หรือส.ว .ก็มีหน้าที่ต้องทำงานเพื่อประชาชน สมรสเท่าเทียมเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าที่พวกเราเรียกร้อง และไม่ได้มีข้อไหนที่จะทำให้ผู้ใดเสียผลประโยชน์ กรุณาทำหน้าที่ของพวกคุณอย่างโปร่งใส ถึงแม้ว่าเราจะรู้อยู่แก่ใจว่าพูดไปก็เท่านั้นก็ตาม”
“อยากให้ส.ส.หรือส.ว.ให้ความสนใจกับสมรสเท่าเทียมจริงๆ ไม่ใช่นำมาเพื่อใช้หาเสียง”
“การเป็นส.ส. หรือส.ว.คือกระบอกเสียงของประชาชน ฉะนั้นหากประชาชนเล็งเห็นว่ากฎหมายมีช่องโหว่พวกคุณทั้งหลายควรเร่งพิจารณาแก้ปัญหาให้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมในประเทศและสังคมโลก”
“อยากฝากถึงส.ส.และส.ว.ว่า พวกคุณได้เข้าไปนั่งในสภา ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนทุกคน ฉะนั้นพวกคุณทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดให้สมกับที่ประชาชนเลือกเข้าไป ต้องนำข้อเรียกร้องของประชาชนไปเสนอโดยเร็วที่สุด ไม่สามารถเลื่อนออกไปได้ ในเรื่องสมรสเท่าเทียมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และควรจะทำให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยได้แล้ว ดิฉันมองไม่เห็นข้อเสียใดเลยที่จะคัดค้านสมรสเท่าเทียมไม่ให้เกิดขึ้น ตราบใดที่มองว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรี สิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน”
“ขอบคุณ ส.ส. และ ส.ว. ทุกท่านที่สนับสนุนเรื่องการสมรสเท่าเทียมค่ะ และสำหรับบางท่านที่ยังไม่เห็นด้วย อยากให้เข้าใจว่าเหตุผลมากมายที่เอามาโต้เถียงกันในเรื่องสมรสเท่าเทียม มันไม่ต้องหาเหตุผลประเด็นอะไรมากมายเลย แค่สิทธิพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเพศไหนก็ไม่ควรแบ่งแยก มันไม่ควรมีแค่ผู้หญิงและผู้ชาย คำว่าประชาธิปไตยจะเป็นศูนย์ทันทีถ้าความคิดยังแบ่งแยกเรื่องเพศหรือเอาเพศมากำหนดในสิทธิต่างๆ”
“ในฐานะตัวแทนของประชาชน ท่านต้องฟังเสียงของประชาชน และทำเพื่อประชาชน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม และเป็นประชาชนไม่ต่างกับคนอื่น เขาควรมีสิทธิเสรีภาพ และได้รับสวัสดิการเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป”
“อยากจะให้คิดถึงใจเค้าใจเรา คุณไม่ได้รับผลกระทบ คุณอาจจะคิดว่ามันคือเรื่องเล็ก จะแก้ไม่แก้จะช้ายังไง ก็ไม่ได้คอขาดบาดตาย แต่คุณไม่รู้หรอกคนที่เค้าไม่มีสิทธิ์เท่าคนอื่นมันเจ็บปวดข้างในอย่างไร ฟังนะคะ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าๆ กัน อย่าเอาเพศไปตัดสินหรือกำหนดขอบเขตกับการใช้ชีวิตเลย มันไม่สมเหตุสมผลเลย”

เสียงจากคนไม่เห็นด้วย หวั่นสังคมเกิดความสับสน กระทบสถาบันครอบครัว

อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบแบบสอบถามอีก 0.1% หรือสองคน ที่ไม่เห็นด้วยหากประเทศไทยจะมีกฎหมายที่รับรองสิทธิจดทะเบียนสมรสหรือคู่ชีวิต สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยทั้งสองรายเลือกเหตุผลสนับสนุนว่าไม่เห็นด้วย เพราะการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน อาจทำให้สังคมเกิดความสับสน และกระทบสถาบันครอบครัว ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามหนึ่งราย เลือกเหตุผลอื่นๆ ด้วย คือ การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เป็นบาป ผิดศีลธรรมอันดี ขัดต่อหลักการทางศาสนาหรือความเชื่อ, ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถมีบุตรได้เหมือนชาย-หญิง จึงไม่ควรรับรองการจดทะเบียนตามกฎหมาย, ควรสงวนสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เฉพาะคู่สมรสชาย-หญิง เพราะสามารถให้กำเนิดประชากรของประเทศได้ และไม่ควรรับรองสิทธิจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะจะส่งผลต่อจำนวนประชากรของประเทศ
หากร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่แก้ไขให้ทุกเพศจดทะเบียนสมรสกันได้ หรือร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่เห็นด้วย ให้ความเห็นว่าเฉยๆ กับเรื่องนี้ แต่อีกหนึ่งรายระบุว่า คัดค้าน แต่ไม่ได้ทำอะไร 
หากในอนาคตประเทศไทยรับรองการจดทะเบียนสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วญาติหรือเพื่อนของผู้ตอบแบบสอบถาม จะไปจดทะเบียนสมรส ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งระบุ จะคัดค้าน ขณะที่อีกรายเฉยๆ
สำหรับคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่มีนโยบายสนับสนุนเพศหลากหลายและสมรสเท่าเทียมทั้งในการเลือกตั้งปี 2562 และการเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งระบุว่า พรรคการเมืองที่ชูนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ มีผลบ้างที่ทำให้ตัดสินใจเลือกพรรคนั้น แต่ดูนโยบายอื่นๆ ประกอบด้วย ขณะที่อีกรายตอบว่าไม่มีผล และในการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายของพรรคการเมืองที่สนับสนุนการจดทะเบียนสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสองรายตอบว่า ไม่แน่ใจ ต้องดูนโยบายอื่นประกอบ
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่ง แชร์ความเห็นเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสหรือทะเบียนคู่ชีวิต ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ว่า “เป็นเพียงกระแสชั่วระยะหนึ่งในปัจจุบัน ในอนาคตจำเป็นต้องคำนึงถึงและต้องตระหนักว่าประชากรไทยจะไปในทิศทางใด”