แก้รัฐธรรมนูญภาคสาม: 16-17 พ.ย. 64 ชวนติดตาม ร่าง Resolution ขอยกเลิก ส.ว.

ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ "รื้อระบอบประยุทธ์" จากกลุ่ม Resolution ที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชนเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา อีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นภาคสามของการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นครั้งที่สองที่ร่างจากประชาชนได้เข้าสู่สภา เนื้อหาสำคัญคือเสนอให้ยกเลิกวุฒิสภา แต่ยังคงต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ด้วย
ความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ของ คสช. เพื่อพาระบอบการปกครองกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ปกติยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าในช่วงปีเศษที่ผ่านมาจะมีการเสนอร่างแก้ไขต่อรัฐสภาแล้วรวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ และรัฐสภาเปิดการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วอย่างน้อย 2 ภาค แต่ก็มีร่างเพียงฉบับเดียวที่ผ่านกระบวนการพิจารณาที่ "ยากที่สุดในประวัติศาสตร์" ของรัฐสภาได้สำเร็จ คือ ข้อเสนอที่ให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.
วันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 มีกำหนดการประชุมรัฐสภา ที่จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณา ร่างฉบับนี้มีชื่อเล่นว่าร่าง "รื้อระบอบประยุทธ์" ที่มีข้อเสนอมุ่งหมายจะจัดการกับประเด็นปัญหาหลักๆ ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ไม่ว่าจะได้รับความนิยมจากประชาชนมากน้อยเพียงใด และเป็นชุดข้อเสนอที่มีประเด็นหลากหลาย นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโครงสร้างทางการเมือง ชนิด "ไม่ประนีประนอม" 
โดยมีข้อเสนอ สรุปได้ดังนี้
1. ยกเลิก ส.ว.
ให้รัฐสภาไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว มีแต่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาจากการเลือกตั้ง 500 คน ไม่มีสมาชิกวุฒิสภาอีกต่อไป โดยระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ร่างฉบับนี้ไม่ได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงแค่เสนอตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้ก่อนการเสนอร่างฉบับนี้
2. โละศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่และมาจากระบบการคัดเลือกของ คสช. พ้นจากตำแหน่ง และให้คัดเลือกคนใหม่ มีที่มาจากระบบการคัดเลือกที่เสนอชื่อโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และให้ ส.ส. ลงมติเลือกคนที่ได้คะแนนสูงที่สุดจากชื่อที่เสนอมาทั้งหมด
3. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ คสช.
ให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ของ คสช. ที่วางอนาคตข้างหน้าไว้ 20 ปี และยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นกลไกที่ คสช. ตั้งคนของตัวเองเข้าไปร่างเนื้อหาและอยู่ในกลไกการบังคับใช้ทั้งหมด
4. เขียนให้ชัด นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.
เงื่อนไขของ “ที่มานายกฯ” คงไว้ซึ่งระบบบัญชีที่พรรคการเมืองต้องแจ้งรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีไม่เกินพรรคละสามรายชื่อ แต่เขียนให้ชัดเจนขึ้นว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมตรีจากบุคคลที่ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แปลว่า นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น และพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯภายใต้ร่างฉบับนี้ไม่ได้
5. เสนอกลไกต่อต้านรัฐประหาร
เสนอหมวด 16 ใหม่ ชื่อว่า “การลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ให้ยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของคุณรัฐประหาร 2557 กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการรัฐประหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหารที่ก่อการรัฐประหาร ห้ามไม่ให้ศาลพิพากษารับรองความสำเร็จของการรัฐประหาร 
6. เพิ่มอำนาจตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน
ให้เพิ่มกลไกพิเศษของรัฐสภาขึ้น ได่แก่ คณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาล และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ โดยให้มีสมาชิก 10 คนที่ต้องเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านอย่างน้อย 5 คน และบังคับให้คณะกรรมาธิการ ส.ส. ที่เกี่ยวกับกฎหมาย งบประมาณ การทุจริต ฯลฯ ต้องให้ฝ่ายค้านเป็นประธานอย่างน้อย 5 คณะ
7. เพิ่มอำนาจการเข้าชื่อของประชาชน
นำเสนอระบบใหม่ให้ประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 20,000 คน “ตรวจสอบตุลาการ” ที่ส่อทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายได้ รวมทั้งเสนอตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลายด้วย การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน 10,000 คนก็สามารถเสนอได้ทุกประเด็นไม่มีข้อจำกัด รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย
ดูสรุปเนื้อหาร่าง "รื้อระบอบประยุทธ์" ได้ทาง https://ilaw.or.th/node/5850
ศึกษาร่าง "รื้อระบอบประยุทธ์" ฉบับเต็ม ได้ทาง https://progressivemovement.in.th/wp-content/uploads/2021/04/Draft_Constitution_Resolution2564.pdf
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "รื้อระบอบประยุทธ์" จัดทำและจัดให้ประชาชนมาเข้าชื่อร่วมกันโดยกลุ่ม Resolution นำโดยพริษฐ์ วัชระสินธุ์ จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า โดย iLaw ร่วมทีมในการรวบรวมรายชื่อประชาชนด้วย 
ร่าง "รื้อระบอบประยุทธ์" เริ่มต้นนำเสนอสู่สาธารณะและเปิดให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2564 สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนได้ 150,921 คน และนำรายชื่อทั้งหมดพร้อมกับข้อเสนอไปยื่นต่อสภาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นับเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่สองที่เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชนที่จะได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาชุดนี้ และเป็นร่างฉบับแรกที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันภายใต้ระบบใหม่ที่สามารถส่งเอกสารและลงชื่อผ่านทางระบบออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 
รัฐสภามีกำหนดนัดพิจารณาร่างฉบับนี้วาระแรก ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 โดยเป็นการประชุมร่วมกันของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. กระบวนการการพิจารณาจะเริ่มจาก พริษฐ์ วัชระสินธุ์ และปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะตัวแทนของผู้ริเริ่มเสนอจะได้นำเสนอสาระสำคัญของร่างฉบับนี้ก่อน จากนั้น ส.ส. และส.ว. จะแบ่งเวลากันเพื่ออภิปรายในประเด็นต่างๆ ของร่างฉบับนี้ รวมทั้งสอบถามให้ผู้เสนอร่างได้มีโอกาสชี้แจง หลังจากการอภิปรายแล้วจะเป็นการลงมติด้วยวิธีการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทีละคนให้ลงมติโดยเปิดเผยว่าจะรับหลักการร่างฉบับนี้หรือไม่ 
การลงมติรายคนของสมาชิกรัฐสภาที่มีจำนวนมากกว่า 730 คน อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง จึงเป็นไปได้ว่า จะมีการลงมติในช่วงเย็นหรือช่วงค่ำของวันที่ 16 พฤศจิกายน หากการอภิปรายไม่ใช้เวลานานเกินไป แต่หากการอภิปรายใช้เวลาถึงช่วงเย็นแล้วก็อาจเลื่อนไปลงมติในวันรุ่งขึ้น วันที่ 17 พฤศจิกายน ก็ได้
ร่างฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาในวาระแรกได้ ต้องอาศัยเสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. คือ ประมาณ 360+ เสียง (เนื่องจาก ส.ส. หลายคนถูกตัดสิทธิทำให้จำนวนสมาชิกไม่เต็มสภา) และยังต้องอาศัยเสียง ส.ว. เห็นชอบอีกอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 คน หากไม่ได้รับเสียงเห็นชอบถึงเกณฑ์ขั้นต่ำร่างฉบับนี้ก็จะตกไปทันที แต่หากได้รับเสียงเห็นชอบเพียงพอ ก็จะทำให้ร่างฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สอง โดยตั้ง ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี จะส่งตัวแทนมาเป็นคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาในรายละเอียดต่อไป 
ประเด็นร้อนที่น่าจะเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในระหว่างการอภิปราย คือ ข้อเสนอให้ใช้ระบบ "สภาเดี่ยว" หรือยกเลิก ส.ว. ไปเลย ซึ่งน่าจะมีเสียงคัดค้านจาก ส.ว. หลายคนที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีหากร่างฉบับนี้ผ่านการพิจารณา ข้อคัดค้านหลักน่าจะอยู่ที่การโอนภารกิจในปัจจุบันของ ส.ว. ให้เป็นอำนาจของ ส.ส. เกือบทั้งหมด เช่น การพิจารณาร่างกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเห็นชอบบุคคลเป็นกรรมการองค์กรอิสระ ฯลฯ ซึ่งบรรดา ส.ว. จะมีความไม่ไว้วางใจว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน หรือเป็นตัวแทนของเสียงที่หลากหลายในสังคมได้อย่างรอบคอบ เพราะมีอำนาจของพรรคการเมืองกำกับอยู่
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้เสนอแก้ไขในประเด็นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด