วิเคราะห์ผล “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง

10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิฉัยให้การปราศรัยของ อานนท์ นำภา รุ้ง-ปนัสยา และ ไมค์ ภาณุพงศ์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต คำวินิจฉัยของศาลในส่วนที่เป็นคำสั่ง กล่าวว่า
“การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค2” 
เมื่อวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะพบ “นัยยะสำคัญ” ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

1. ศาลรัฐธรรมนูญชี้มีเจตนาทำลายล้างสถาบันฯ

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครอง แม้ในการชุมนุมจะนำเสนอข้อเสนอเพื่อ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ” แต่ศาลรัฐธรรมนญเห็นว่า ผู้ถูกร้องมีเจตนา “ทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง” โดยเหตุผลที่ศาลยกมาเพื่ออธิบายถึงเจตนาเช่นนี้มีหลายประเด็น ได้แก่

1) เสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และกฎหมายอาญามาตรา 112

ดังที่ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า
“การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและให้อยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์จะกระทำผิดมิได้และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด” 

2) ใช้คำหยาบ ละเมิดสิทธิผู้อื่น

ดังที่ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า
“การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคายและยังจะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตาม”

3) ทำซ้ำต่อเนื่อง ใช้ข้อมูลเท็จ

ดังที่ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า
“การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม”

4) ไม่รับฟังผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นต่าง

ดังที่ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า
“ผู้ถูกร้องใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคล ล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นให้ข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง”

5) มีเครือข่ายใช้ความรุนแรง

ดังที่ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า
“ปรากฏข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องมีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะของเครือข่าย สำหรับการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ในเหตุการณ์ผู้ถูกร้องมีส่วนอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายความเสมอภาคแลภราดรภาพ ผลของการกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด”
กล่าวโดยสรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้สรุปลักษณะรูปแบบของการแสดงออกที่เป็นการ “ทำลายล้าง” สถาบันกษัตริย์ไว้ว่ามีองค์ประกอบ คือ มีข้อเสนอที่ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ใช้คำหยาบคาย ใช้ข้อมูลเท็จ กระทำซ้ำต่อเนื่องเป็นขบวนการ ละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่รับฟังความเห็นต่าง และมีเครือข่ายที่ใช้ความรุนแรง

2. การชุมนุม หรือการแสดงออก ยังคงทำได้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเช่นเดิม

แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการสั่งห้ามองค์กรและเครือข่ายใดกระทำการในลักษณะเดียวกับผู้ถูกร้องทั้งสามคนอีกในอนาคต คำสั่งดังกล่าวระบุเพียงห้ามกระทำการ “ในลักษณะเดียวกับผู้ถูกร้อง” ซึ่งไม่ได้ความหมายที่ชัดเจนว่า การกระทำลักษณะใดบ้างที่ต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า ห้ามจัดการชุมนุม หรือห้ามมีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือห้ามกลุ่มใดบ้างจัดกิจกรรมทางการเมืองอีกโดยเด็ดขาด การชุมนุมหรือการแสดงออกจึงยังคงเดินไปได้ภายใต้คำวินิจฉัยนี้
หากมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไปว่า กิจกรรมแบบใด และการแสดงความคิดเห็นแบบใดที่จะเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองฯ ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามไว้แล้วบ้าง และหากมีข้อโต้แย้งที่หน่วยงานของรัฐหรือประชาชนตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน องค์กรที่จะมีอำนาจชี้ขาดก็ยังคงเป็นศาลรัฐธรรมนูญเอง
โดยการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 อยู่เช่นเดิม ซึ่งบัญญัติว่า 
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”
การแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อ ยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 อยู่เช่นเดิม ซึ่งบัญญัติว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”
ส่วนการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาเพื่อสั่งห้ามหรือไม่ ดังนั้น การตีความว่ากิจกรรมใดจะสามารถทำได้หรือไม่ ต้องพิจารณารูปแบบ เนื้อหา และข้อเรียกร้องของแต่ละกิจกรรมเป็นรายกรณีไป และยังอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญเช่นเดิม

3. คำวินิจฉัยไม่มีผลให้ลงโทษผู้ใดในข้อหา “กบฏ” ได้

แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นการใช้สิทธิหรือหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่ในวรรคที่สี่ยังระบุด้วยว่า การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง หรือ หมายความว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีผลผูกผันต่อคดีความที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั้งสาม หรือบุคคลอื่น หรือ ต่อคดีความที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้ใดในข้อหาใดก็ตาม มีหลักการสำคัญ คือ ศาลจะพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดและกำหนดบทลงโทษได้ ต้องปรากฏชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ผู้นั้นกระทำการครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดที่กฎหมายนั้นๆ ระบุไว้ และในความผิดฐานกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ผู้นั้นกระทำการโดยใช้ “กำลังประทุษร้าย” หรือ “ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย” เพื่อ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือ เพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร หรือไม่ เป็นต้น
ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือการชุมนุมโดยสงบ ที่ไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ไม่ว่าข้อเรียกร้องและเนื้อหาของการชุมนุมเป็นเรื่องอะไรก็ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 113 
หากมีการกระทำใดที่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 113 ก็ต้องมีการดำเนินคดีอาญาแยกต่างหาก และจำเลย ผู้ถูกดำเนินคดีก็มีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของตัวเองเป็นความผิดหรือไม่ และศาลที่พิจารณาคดีทางอาญาก็ต้องพิจารณาโดยอาศัยข้อเท็จจริงและองค์ประกอบของกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่อาศัยความคิดเห็นจากศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นฐานในการตัดสินคดีอาญา

4. การเข้าชื่อเสนอ “ยกเลิก112” โดยลำพังเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ

ส่วนกิจกรรมการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังเป็นสิทธิที่เป็นไปตามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 (3) และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ส่วนเมื่อเสนอต่อรัฐสภาแล้ว ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยว่า จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หรือสมาชิกของรัฐสภาจะลงมติไปอย่างไรก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีสมาชิกรัฐสภาบางคนหยิบความคิดเห็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงมติหรือไม่ก็ได้
คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในคดีนี้ ไม่ได้สั่งห้ามการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ได้สั่งว่า การรณรงค์เรื่องนี้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ เพียงแต่แสดงความเห็นไว้ว่า การแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้ “จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน…” ซึ่งเป็นการเขียนไว้ในส่วนที่เป็นความคิดเห็น ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำสั่งให้ปฏิบัติตาม
ส่วนการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก ตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1. ไม่ใช่เพียงแต่การเสนอแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายจะเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ไปโดยทันที