จากอิตาลีถึงชิลี ย้อนดูประชามติเปลี่ยนประเทศสู่ประชาธิปไตย

เมื่อพูดถึง “ประชาธิปไตย” คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงแค่ "ประชาธิปไตยแบบตัวแทน" (representative democracy) เพราะในสังคมปัจจุบันที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นจนทำให้ "ประชาธิปไตยทางตรง" (direct democracy) เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ ประเทศต่าง ๆ จึงเลือกที่จะให้อำนาจประชาชนเลือก “ผู้แทน” ของตนเองให้ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดทิศทางของประเทศแทน แต่ก็ยังไม่ทิ้งกลไกประชาธิปไตยทางตรงที่ให้ประชาชนสามารถออกเสียงของตนเองได้ นั้นคือ "การออกเสียงประชามติ" (referendum)
"ประชามติ" คือกระบวนการทางการเมืองที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตัดสินใจต่อบางประเด็นได้โดยตรงแทนที่จะให้เป็นหน้าที่ของผู้แทนจากการเลือกตั้ง การจัดประชามตินี้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ตั้งแต่ประเด็นเล็ก ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ส่งผลต่อคนทั้งประเทศ ประชามติจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการมอบอำนาจกลับคืนไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้ง
ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา มีการจัดประชามติหลากหลายครั้งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองขนานใหญ่ กรณีของอิตาลีในปี 2489 และชิลีในปี 2563 แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันจากประชาชนที่สั่นสะเทือนทำให้แม้แต่สถาบันกษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญของเผด็จการก็ต้องล้มหายไป
2489 อิตาลี: ประชามติล้มกษัตริย์ เปิดทางสู่สาธารณรัฐ
ความวุ่นวายของสงครามไม่ได้จบลงในวันที่ฝ่ายหนึ่งประกาศยอมแพ้ แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปสู่การเมืองในประเทศจนทำให้สถาบันทางการเมืองบางแห่งต้องมลายหายไปในยุคหลังสงครามด้วย หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สามราชวงศ์แห่งจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ในยุโรปตอนกลาง ทั้งเยอรมนี ออสเตรียฮังการี และรัสเซีย ต้องล่มสลายลงจากความไม่พอใจของประชาชนที่มาพร้อมกับกระแสการปฏิวัติและพิษสงคราม ในขณะที่สถาบันกษัตริย์ของอิตาลี แม้จะรอดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาได้ แต่อีก 30 กว่าปีถัดมา ก็ต้องประสบกับชะตากรรมที่ไม่ต่างกันกับราชวงศ์ยุโรปอื่น ๆ
หลังจากการล่มสลายลงของจักรวรรดิโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 5 คาบสมุทรอิตาลีก็แตกออกเป็นนครรัฐต่าง ๆ แทนที่จะเป็นรัฐขนาดใหญ่ ส่วนประเทศอิตาลีที่มีหน้าตาคล้ายรองเท้าบูทอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้นเป็นผลมาจากการรวมชาติในปี 2404 ที่ฝ่ายนิยมกษัตริย์เอาชนะเจ้าครองแคว้นเดิมและฝ่ายนิยมสาธารณรัฐไปได้ โดยมีกษัตริย์จากแคว้นที่แข็งแกร่งที่สุดในคาบสมุทรอิตาลีอย่างแคว้นซาร์ดิเนีย (Sardinia) วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สอง (Victor Emmanuel II) แห่งราชวงศ์ซาวอย (House of Savoy) ขึ้นเป็นประมุของค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลี
อิตาลีออกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฐานะผู้ชนะ แต่ชัยชนะนั้นกลับนำไปสู่ความปั่นป่วนทางการเมือง กลุ่มชาตินิยมขวาจัดแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและรัฐสภา เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอในสงคราม รวมถึงความผิดหวังต่อตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาข้อตกลงหลังสงครามที่อิตาลีไม่ได้ในสิ่งที่ควรได้รับ ในขณะที่ฝ่ายซ้ายและสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งก็ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติในรัสเซียและต้องการปฏิวัติล้มล้างระบอบการปกครองเดิมในอิตาลี ปัญหาความแตกแยกในสังคมยังถูกซ้ำเติมด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง จนราวกับว่าสายลมแห่งการปฏิวัติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้
สถานการณ์ความขัดแย้งที่ไม่มีใครสามารถช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองมาได้อย่างเด็ดขาดได้เปิดโอกาสให้กับผู้นำเผด็จการขึ้นมามีอำนาจ เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) อดีตนักสังคมนิยมฉวยโอกาสเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้นำฟาสซิสต์ขวาจัด จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตัวเองเพื่อก่อกวนและทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ในปี 2465 มุสโสลีนีจัด “กรีฑาสู่โรม” (March on Rome) ซึ่งรวมผู้สนับสนุนฟาสซิสต์กว่า 20,000 คน เดินทางเข้าสู่กรุงโรมและยึดสถานที่ราชการต่าง ๆ คณะรัฐมนตรีร้องขอให้กษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สาม (Victor Emmanuel III) ทรงประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่กษัตริย์ลำดับที่สามแห่งราชอาณาจักรอิตาลีกลับไม่ทำเช่นนั้นและเลือกแต่งตั้งให้มุสโสลีนีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เนื่องจากทรงเกรงกลัวความขัดแย้งที่อาจจะลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง
วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สาม (Victor Emmanuel III) แห่งราชวงศ์ซาวอย (House of Savoy)
ตลอดช่วงเวลาการใช้อำนาจกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดร้ายโดยกลุ่มฟาสซิสต์ของมุสโสลีนี กษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สามกลับทรงเลือกที่จะนิ่งเฉย และทรงไม่เลือกที่จะหยุดยั้งการทำลายระบอบประชาธิปไตยภายใต้ผู้นำฟาสซิสต์ ตั้งแต่การรวบอำนาจให้มาอยู่ที่ตัวผู้นำแต่เพียงผู้เดียว การยุบพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน ยกเลิกการเลือกตั้ง ไปจนถึงการจำคุกและสังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างเป็นระบบ การตัดสินใจของกษัตริย์เช่นนี้ในแง่หนึ่งก็คือการให้ใบอนุญาตแก่ผู้นำเผด็จการในการใช้ความรุนแรง และจะย้อนกลับมาทำร้ายสถาบันกษัตริย์ในภายหลัง
ในท้ายที่สุด มุสโสลินีการพาประเทศไปสู่หายนะ ผู้นำฟาสซิสต์นำอิตาลีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในปี 2483 ก่อนที่จะต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายในหลายสมรภูมิ สถานการณ์ที่เลวร้ายลงของสงครามทำให้กษัตริย์ต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น การที่วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สามคอยให้ท้ายผู้นำเผด็จการอย่างมุสโสนิลีทำให้ความนิยมในตัวสถาบันกษัตริย์กลับตกต่ำลงอย่างมาก ประชาชนเริ่มมองว่ากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งที่พาประเทศไปเผชิญกับความเลวร้ายของเผด็จการ และเมื่อเห็นว่าทุกอย่างกำลังแย่ลง กษัตริย์กลับทรงเพิกเฉย ไม่แก้ไขสถานการณ์ทั้งที่ทรงทำได้
ความกลัวการปฏิวัติที่จะนำมาสู่จุดจบของสถาบันกษัตริย์ทำให้วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สามทรงตัดสินใจปลดมุสโสลินีจากตำแหน่งผู้นำตามคำแนะนำของชนชั้นนำทางการเมืองในปี 2486 และรีบเจรจายอมแพ้กับฝ่ายสัมพันธมิตร หลังจากที่นาซีเยอรมนีบุกเข้าตอนเหนือของอิตาลีและประกาศตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร้องขอให้วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สามประกาศสงครามกับเยอรมนี แต่กษัตริย์กลับถ่วงเวลาโดยให้เหตุผลว่าต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภาก่อน ทั้งที่ในสงครามก่อนหน้านี้กษัตริย์ไม่เคยปรึกษาสภาก่อนเลย
แม้จะทรงปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่ง แต่ทัศนคติของชาวอิตาลีในตอนนี้เกลียดชังกษัตริย์ของตนเองเป็นอย่างมาก ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อกษัตริย์ทรงตัดสินใจหนีภัยสงครามออกจากกรุงโรมแทนที่จะอยู่กับประชาชนของพระองค์ สุดท้าย วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สามก็ต้องยอมสละอำนาจและหน้าที่ให้กับมกุฎราชกุมาร ส่วนพระองค์นั้นก็หนีไปเก็บตัวจนสงครามจบลง
หลังสงครามสิ้นสุดลง แรงกดดันจากสังคมนำไปสู่ประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของสถาบันกษัตริย์อิตาลี วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สามทรงตัดสินใจสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมารขึ้นเป็น กษัตริย์อุมแบร์โตที่สอง (Umberto II) เนื่องจากทรงตระหนักว่าพระองค์ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน การให้พระราชโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์อาจจะทำให้โอกาสที่ประชาชนจะโหวตรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้มีมากกว่า แต่ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว ผลการลงประชามติปฏิเสธสถาบันกษัตริย์และลงคะแนนเสียงให้กับสาธารณรัฐกว่า 52 เปอร์เซ็นต์ ที่ปรึกษาของอุมแบร์โตพยายามแนะนำว่าให้ใช้กำลังทหารในการควบคุมสถานการณ์และเปลี่ยนผลประชามติ แต่กษัตริย์หนุ่มที่เพิ่งครองราชย์มาได้แค่หนึ่งเดือนกลับทรงปฏิเสธ และทรงยอมทำตามความต้องการของประชาชน
สุดท้ายเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ห้ามไม่ให้ผู้ชายที่สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ซาวอยอยู่ในอิตาลี เชื้อพระวงศ์ทั้งหมดจึงต้องหนีออกนอกประเทศ วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สามเสียชีวิตในปี 2490 ที่ประเทศอียิปต์ และกว่าที่สมาชิกราชวงศ์จะกลับประเทศได้ก็ต้องรอถึงปี 2545 เมื่อรัฐสภาแก้ไขกฎหมายภายใต้เงื่อนไขว่าต้องสละสิทธิ์ในราชบัลลังก์
2563 ชิลี: ประชามติล้มมรดกเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน
สงครามเย็นไม่เคยจะ ‘เย็น’ เหมือนชื่อ ช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษของสงครามเย็นอาจจะนับได้ว่าเป็นเวลาทองของเผด็จการอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทุกแห่งในโลก ชิลีก็เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการฝ่ายขวา ในปี 2516 นายพล ออกุโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ก่อรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อัลเยนเด (Salvador Allende) จากพรรคสังคมนิยม ภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่เกรงกลัวอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ หลังการรัฐประหารประสบความสำเร็จ ปิโนเชต์จัดตั้งรัฐบาลเผด็จการขวาจัดโดยยกตัวเองขึ้นเป็นผู้นำ และดำเนินนโยบายกวาดล้างนักกิจกรรม และนักการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง มีคนจำนวนมากมายหลายหมื่นคนถูกจับเข้าค่ายกักกัน รายงานของรัฐบาลที่จัดทำขึ้นในยุคประชาธิปไตยพบว่ามีผู้ถูกสังหารและอุ้มหายอย่างน้อย 3,095 คน โดยมีหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อของ “คาราวานแห่งความตาย” ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและทหารที่เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อจับกุมและสังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
นายพล ออกุโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) จอมเผด็จการแห่งชิลี
ภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐฯ ปิโนเชต์ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ตามแนวคิดของเหล่า “ชิคาโกบอยส์” ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก รัฐบาลเผด็จการเชิดชูระบบตลาด แปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของเอกชน ทำให้สหภาพแรงงานกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ถูกตัดลด ผลที่ตามมาในระยะสั้นคือเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ราคาที่ต้องจ่ายในระยะยาวคือความเหลื่อมล้ำที่ถ่างขึ้นสวนทางกับความร่ำรวยของชนชั้นนำ
เมื่อถึงปี 2523 ปิโนเชต์ได้จัดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ตัวเองสามารถมีอำนาจอยู่ต่อไปได้อีกแปดปี แม้จะมีการกล่าวหาว่ามีรัฐบาลแทรกแซงการออกเสียงของประชาชน แต่ชนชั้นกลางจำนวนมากที่ได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลเผด็จการก็ออกมาให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญจนประชามติผ่านไปได้ แต่เมื่อครบกำหนดในปี 2531 สถานการณ์กลับเปลี่ยนไป แรงกดดันที่มาจากทั้งภาคประชาสังคม ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งต่างประเทศบีบบังคับให้ปิโนเชต์ต้องยอมทำตามรัฐธรรมนูญ และจัดประชามติใหม่อีกครั้งเพื่อต่อเวลาอยู่ในอำนาจของตัวเอง ซึ่งผลก็ไม่ได้เป็นไปตามที่จอมเผด็จการหวัง เพราะประชาชนจำนวน 56 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกมาใช้เสียงโหวตไม่เห็นชอบกับการต่ออายุให้ปิโนเชต์เพื่อเปิดทางไปสู่การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
นับตั้งแต่ปิโนเชต์หมดอำนาจลง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2523 ก็ผ่านการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหลายครั้ง แต่ด้วยสารตั้งต้นเดิมที่มาจากเผด็จการ ทำให้มรดกอำนาจนิยมในรัฐธรรมนูญนั้นก็ยังเป็นก้างใหญ่ที่ขวางกระบวนการประชาธิปไตย การผ่านกฎหมายใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา พรรคการเมือง กองทัพ หรือระบบเลือกตั้งจะต้องใช้เสียงสองในสาม โดยที่คณะผู้วินิจฉัยรัฐธรรมนูญสามารถตีตกได้ทุกเมื่อ
แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ง่ายดายหนัก แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในปี 2562 การขึ้นราคาตั๋วรถไฟนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่มีผู้เข้าร่วมกว่า 1.2 ล้านคน ประเด็นปัญหาที่หลบอยู่ใต้พรมมานานได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ข้อเรียกร้องเริ่มขยับเพดานไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม เช่น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการสังคมที่ดีขึ้น โดยทั้งหมดมีจุดร่วมอยู่ที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่
หลังการประท้วงที่ยืดเยื้อ และมีการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวางจนภาพของบาดแผลที่ดวงตาจากการถูกกระสุนยางยิงใส่กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประท้วง ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา (Sebastián Piñera) จึงยินยอมให้มีการทำประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมของปิโนเชต์ที่เปรียบเสมือนมรดกของยุคสมัยที่โหดร้ายของเผด็จการ และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ดังนั้น ในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ชาวชิลีผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 15 ล้านคนจึงเดินเข้าคูหาเพื่อตอบคำถามสองข้อ คือต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และต้องการให้สภาแบบไหนเป็นผู้ดำเนินการร่าง ระหว่าง ‘สภาผสม’ (Mixed Convention) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาคองเกรสชุดปัจจุบันครึ่งหนึ่ง และตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง หรือ ‘สภารัฐธรรมนูญ’ (Constitutional Convention) ที่มีตัวแทนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ผลของการลงประชามติให้ข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านไปได้อย่างงดงามด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วยกว่า 78 เปอร์เซ็นต์ และยังให้มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบร่างรัฐรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยชาวชิลีมีกำหนดจะเดินเข้าคูหาอีกครั้งเพื่อโหวตว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่ในปี 2565
แม้ปิโนเชต์จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2549 โดยที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่อาจจะทำอะไรอดีตจอมเผด็จการได้ แต่การชำระสะสางมรดกความรุนแรงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในชิลี อดีตนายพลและเจ้าหน้าที่รัฐที่เคยมีส่วนร่วมกับการสังหารฝ่ายตรงข้ามถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ญาติและเหยื่อที่รอดชีวิตได้รับการเยียวยาเท่าที่จะทำได้จากรัฐบาลประชาธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เผด็จการได้ทิ้งไว้ในชิลีด้วยเช่นกัน