#พูดหยุดโกง เริ่มจากรัฐต้องหยุดฟ้องประชาชน

หลังจากที่ดารานักแสดงหลายคนออกมาแสดงคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการต่อต้านการทุจริตในแคมเปญ #พูดหยุดโกง ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐเองมีความพยายามในการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นหรือส่งเสียงเรียกร้องเพื่อให้การทำงานของฝ่ายรัฐ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ มากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูพฤติกรรมการใช้กฎหมายต่อประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นก่อนหน้านี้ มีหลายครั้งที่ประชาชน สื่อมวลชน หรือแม้แต่นักการเมืองที่ออกมาพูดหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการทุจริต คอรัปชั่น หรือการทำงานที่ไม่โปร่งใสของฝ่ายรัฐ กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ทั้งๆที่สิทธิในการสิทธิในการแสดงความคิดเห็นควรได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ 
คดีจำนวนไม่น้อยนำไปสู่การถอนฟ้องยุติคดี หรือคดีความค้างคาอยู่ไม่เดินหน้า หรือสุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง แสดงให้เห็นว่าการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากมูลเหตุเพราะการโจมตีให้ร้ายกันด้วยข้อมูลเท็จ อันจะเป็นเหตุให้เอาผิดกันตามกฎหมายได้ แต่กลับแสดงให้เห็นว่า มูลเหตุการดำเนินคดีแต่ละครั้งไม่ได้แข็งแรง ไม่ได้นำไปสู่การลงโทษเอาผิด แต่ผลที่เกิดขึ้น คือ กระบวนการดำเนินคดีได้สร้างภาระและสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่ต้องการรจะ "พูดหยุดโกง" หากพฤติกรรมการใช้กฎหมายฟ้องร้องประชาชนเช่นนนี้ไม่หยุลง แคมเปญนี้อาจไม่มีความหมายอะไรนอกจากการใช้งบประมาณแผ่นดินไปจ่ายให้กับดารานักแสดง
ตัวอย่างคดีที่ประชาชนถูกฝ่ายรัฐดำเนินคดี
 
คดีกองทัพเรือฟ้องภูเก็ตหวาน
เรื่องที่พูด : เจ้าหน้าที่รัฐไทยมีผลประโยชน์ในชบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
คนฟ้อง : กองทัพเรือ
ผลคดี : ยกฟ้อง 
สาระสำคัญของคดี สามารถสรุปได้ดังนี้ 
ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นภาคภาษาอังกฤษในจังหวัดภูเก็ต ถูกกองทัพเรือแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาท และ คดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ที่อ้างว่า กองกำลังทางเรือของไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
ในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยต่อสู้ว่ารายงานที่เผยแพร่เป็นรายงานที่ภูเก็ตหวานอ้างอิงมาจากรายงานของรอยเตอร์ การลงข่าวดังกล่าว ก็เป็นเพียงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ไม่มีเจตนาจะสร้างความเสื่อมเสียแก่กองทัพเรือ นอกจากนี้เมื่อกองทัพเรือออกมาชี้แจงเรื่องรายงาน ภูเก็ตหวานก็นำคำชี้แจงของกองทัพเรือมาเผยแพร่ด้วย โดยในท้ายที่สุด ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องจำเลย 
ติดตามความเคลื่อนไหวคดีทั้งหมดที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/554
คดีกสทช. ฟ้องดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
เรื่องที่พูด : วิจารณ์การทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เกี่ยวกับการจัดการประมูลที่ล่าช้า
คนฟ้อง : คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)และ สำนักงาน กสทช.
ผลคดี : โจทก์ถอนฟ้อง 
สาระสำคัญของคดี สามารถสรุปได้ดังนี้ 
ดร.เดือนเด่น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ศึกษาประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ให้สัมภาษณ์กับสื่อหนังสือพิมพ์หลายแห่งโดยวิจารณ์การทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่จัดประมูลล่าช้า โดยกล่าวทำนองว่า "การขยายระยะเวลาให้เอกชนมีสิทธิใช้คลื่น 1800 ออกไปอีก 1 ปี จะสร้างความเสียหายให้ประเทศและประชาชนเบื้องต้น 1.6 แสนล้านบาท จากการที่ไม่นำเคลื่อน 1800 ดังกล่าวมาเปิดประมูลในปีนี้" รวมถึงให้สัมภาษณ์ในช่องทางออนไลน์ ทำนองว่า "การต่ออายุสัมปทานต่ออีก 1 ปี ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ 1.6 แสนล้านบาท"
โดยที่คำสัมภาษณ์ของเดือนเด่น ถูกเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในรายการ ‘ที่นี่ Thai PBS’  เป็นเหตุให้ กทค. และ กสทช. แจ้งความดำเนินคดีกับเดือนเด่น และณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการของ ThaiPBSในข้อหาหมิ่นประมาท อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลนัดไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมคดี ผลปรากฏว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ และแถลงร่วมกันว่า ในชั้นนี้ได้ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลย
ติดตามความเคลื่อนไหวคดีทั้งหมดที่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/488
คดีปตท.ฟ้องอิฐบูรณ์
เรื่องที่พูด : วิจารณ์ว่า ปตท.บริหารงานโดยทุจริต 
คนฟ้อง : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ผลคดี : ยกฟ้อง 
สาระสำคัญของคดี สามารถสรุปได้ดังนี้ 
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา นักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์บริษัท ปตท. เจ็ดครั้ง โดยใช้เฟซบุ๊กชื่อ "Goosoogong" และ "Gooโกง ร่วมสืบค้นกลโกงพลังงานไทย" โดยบริษัท ปตท.อ้างว่าข้อความดังกล่าว อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่า บริษัท ปตท. บริหารงานโดยทุจริตเพื่อนำเอารายได้แบ่งปันกันระหว่างพวกพ้อง, ฉ้อฉลเบียดบังเอาสาธารณสมบัติของชาติไปเป็นของตน และกระทำการผูกขาดธุรกิจและค้ากำไรเกินควร 
อิฐบูรณ์ ถูกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฟ้องด้วยข้อหา นำเข้าข้อมูลปลอมหรือเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ มีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประกาศใช้ในปี 2560 ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ เนื่องจากบรรยายฟ้องมาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ติดตามความเคลื่อนไหวคดีทั้งหมดที่  https://freedom.ilaw.or.th/case/839
คดีสำนักงานศาลปกครองฟ้องสำนักข่าวอิศรา
เรื่องที่พูด : เผยแพร่ข่าวผลการสอบวินัยจากเหตุ “จดหมายน้อย” ฝากการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ
คนฟ้อง : ดิเรกฤทธิ์ เจนครอบธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง
ผลคดี : ยกฟ้อง 
สาระสำคัญของคดี สามารถสรุปได้ดังนี้ 
เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เผยแพร่บทความหัวข้อ “ตุลาการ โวย สนง.ศาลปกครอง แถลงบิดเบือนผลสอบ จม.น้อยฝาก ตร.” โดยมีถ้อยคำในบทความว่า “ชี้ ดิเรกฤทธิ์ ไม่ได้โดนโทษเบาหวิว! แค่ภาคทัณฑ์ว่ากล่าวตักเตือน แต่อาจถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรง ตามระเบียบราชการพลเรือน” และ “นอกจากนั้นการที่นายวิชัย รองประธานศาลปกครองสูงสุดอ้างว่านายดิเรกฤทธิ์ ได้ถูกพักงานแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงให้งดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่เป็นความจริง”
ดิเรกฤทธิ์ เจนครอบธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองจึงยื่นฟ้องสำนักข่าวอิศราข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14  ในท้ายที่สุด ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าการรายงานข่าวของจำเลยนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต และติชมด้วยความเป็นธรรม มิใช่ข้อมูลปลอมหรือเท็จดังที่โจทก์อ้าง เนื่องจากมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ให้ยกฟ้อง 
ติดตามความเคลื่อนไหวคดีทั้งหมดที่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/651
คดี บก.ปอท.ฟ้องรินดา
เรื่องที่พูด : โพสต์เฟซบุ๊กว่าพล.อ.ประยุทธ์ฯ โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท
คนฟ้อง : กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) 
ผลคดี : ยกฟ้อง 
สาระสำคัญของคดี สามารถสรุปได้ดังนี้ 
รินดา ถูกจับจากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท โดยถูกตั้งข้อหาฐานยุงยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีนี้ถูกส่งฟ้องครั้งแรกต่อศาลทหารกรุงเทพ แต่ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า เนื้อหาที่รินดาโพสต์ ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 จึงสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะศาลทหารไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา ต่อมารินดาจึงถูกส่งฟ้องเป็นครั้งที่สองต่อ ศาลอาญา
ศาลอาญารับพิจารณาคดีนี้ รินดาได้เบิกความต่อศาลว่า เป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง โดยเป็นการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ ในท้ายที่สุดศาลอาญาพิพากษายกฟ้องเพราะไม่เห็นว่าข้อความดังกล่าวกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องเช่นเดียวกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวคดีทั้งหมดที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/682
คดีกองทัพฟ้องธเนตร
เรื่องที่พูด : ทุจริตโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์
คนฟ้อง : อัยการทหาร
ผลคดี : ยกฟ้อง 
สาระสำคัญของคดี สามารถสรุปได้ดังนี้ 
ธเนตร ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดตาม มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่ภาพ ข้อความ แสดงความคิดเห็น และแชร์เฟซบุ๊กของผู้อื่นที่เป็นการโจมตีรัฐบาลและกองทัพ ในประเด็นการทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จำนวน 5 ครั้ง โดยทางโจทก์ได้กล่าวหาว่า ภาพและข้อความเหล่านี้ทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังและต่อต้านรัฐบาล และคสช. ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต  
เดิมคดีของธเนตรอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร จนกระทั่ง คสช. ออกคำสั่งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีของธเนตรจึงถูกโอนไปพิจารณาต่อที่ศาลอาญา จนท้ายที่สุด ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอว่าจำเลยกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในราชอาณาจักรตามมาตรา 116 และ ความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ 
ติดตามความเคลื่อนไหวคดีทั้งหมดที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/698 
คดีมูลนิธิป่ารอยต่อฟ้องรังสิมันต์ โรม
เรื่องที่พูด : อภิปรายไม่วางใจพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณและเครือข่ายป่ารอยต่อ
คนฟ้อง : มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ
ผลคดี : ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี
สาระสำคัญของคดี สามารถสรุปได้ดังนี้ 
รังสิมันต์กล่าวแถลงอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณในประเด็นการสร้างเครือข่ายป่ารอยต่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตนเอง ทั้งกลุ่มคนที่ถืออำนาจรัฐและอำนาจทุน โดยเครือข่ายนี้ผูกขาดอำนาจ ใช้ทรัพยากรของรัฐ ภาษีของประชาชนในการสร้างเครือข่าย โดยได้กล่าวอ้างถึงมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งเกิดขึ้นในยุคก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 2549 ที่ปัจจุบันมี พล.อ. ประวิตร เป็นประธานมูลนิธิ นอกจากนี้มูลนิธิแห่งนี้ยังตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายทหาร โดยมีการเปิดเผยว่า เป็นการเช่าพื้นที่ แต่รังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นคนธรรมดาทั่วไป คงไม่สามารถเช่าพื้นที่มูลนิธิในค่ายทหารได้ 
นอกจากนี้แม้ภารกิจหลักของมูลนิธิคือ การอนุรักษ์ป่า และสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่รังสิมันต์ระบุว่า พล.อ. ประวิตร ใช้พื้นที่ของมูลนิธินี้ในการซ่องสุมอำนาจ ดูแลเครือข่ายบูรพาพยัคฆ์ และเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง โดยมีกลุ่มนายทุนเข้ามาเป็นที่ปรึกษามูลนิธิ และมีการบริจาคเงินอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่รังสิมันต์จะเชื่อมโยงมาสู่การเอื้อประโยชน์ให้นายทุนในการต่อสัญญาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 50 ปี ซึ่งทำให้รัฐเสียหายนับหมื่นล้านบาท  
หลังจากนั้น พ.อ.ภิญโญ บุญทรงสันติกุล ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563