ศาลสั่ง งดใช้ข้อกำหนดฯ “ตัดเน็ต” คนเผยแพร่ข่าวทำให้หวาดกลัว ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ-ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ

6 สิงหาคม 2564 เวลา 14.10 น. ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29  ที่เป็นการห้ามเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และให้อำนาจ กสทช. “ตัดเน็ต” เลขที่อยู่ไอพี (IP address) โดยให้เหตุผลว่าข้อกำหนดเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในสั่งระงับอินเทอร์เน็ตไว้
กรณีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ตัวแทนสื่อมวลชนและประชาชนทั้งหมด 12 คน ได้รวมตัวกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จากกรณีการออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 โดยมีใจความสำคัญห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และให้อำนาจ กสทช. สั่งระงับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านการสั่งให้ผู้บริการ (ISP) ต้องเปิดเผยเลขที่อยู่ไอพี (IP address) และระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตกับเลขที่อยู่ไอพี โดยศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนเป็นการฉุกเฉินในวันเดียวกัน
คำฟ้องระบุว่าข้อกำหนดฉบับที่ 29 ข้อ 1 ห้ามการเผยแพร่ข้อความใด “อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเอาไว้ นอกจากนี้ การใช้ภาษาที่กำกวมยังอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการห้ามนำเสนอข่าวทั้งที่เป็นความจริง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เกินกว่าเหตุไม่ได้ตามหลักสัดส่วน ส่วนในข้อ 2 ของข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 ซึ่งให้อำนาจ กสทช. ในการสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นการออกโดยที่มาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจไว้ การระงับอินเทอร์เน็ตจะเป็นการจำกัดสิทธิแบบ “เหมารวม”​ ที่อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบไปด้วย
สำหรับในการไต่สวนฉุกเฉินเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 โจทก์และพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความไปในทางเดียวกันว่าข้อกำหนดฉบับที่ 29 จะเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำกัดการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน ทั้งที่บทบาทของสื่อในการนำเสนอข่าวสารมีความสำคัญเป็นอย่างมากท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสของโควิด เพราะประชาชนต้องการข้อมูลเพื่อให้ตนเองสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ในทางกลับกัน การเปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางในการสั่งห้ามเผยแพร่ข้อมูลจะเป็นการปกปิดความจริงที่เป็นผลเสียต่อรัฐ นอกจากนี้ การระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพียังไม่มีผลในทางปฏิบัติในการจัดการกับข่าวปลอม แต่จะทำให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบไปด้วย การแก้ปัญหาข่าวปลอมที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การสั่งห้าม แต่รัฐต้องนำเสนอข้เท็จจริงและสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน
ทั้งนี้ ในการอ่านคำสั่งวันนี้ 6 สิงหาคม 2564 ศาลให้เหตุผลประกอบคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่ห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้นไม่ได้เป็นไปตามเหตุผล และเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดยังมีลักษณะที่ไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้ประชาชนไม่แน่ใจในการแสดงความคิดเห็นของตนเอง ไม่รู้ว่าจำกัดเพียงข้อความเท็จหรือเรื่องจริงด้วย อีกทั้งไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน
สำหรับข้อที่ 2 ของข้อกำหนดฯฉบับที่ 29 ซึ่งให้อำนาจ กสทช. ในการสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพีและระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก้เลขที่อยู่ไอพีนั้น ศาลเห็นว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตไว้ การออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญกับประชาชนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในฐานะช่องทางการสื่อสาร ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ไม่ได้ระงับการกระทำที่ผิดเท่านั้น แต่ยังเป็นการระงับต่อไปในอนาคตด้วย รวมถึงปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ศาลยังให้เหตุผลว่าหากข้อกำหนดนี้ถูกบังคับใช้ ก็อาจสร้างความเสียหายได้ ประกอบกับรัฐบาลเองยังมีกฎหมายอื่นให้เลือกใช้ดำเนินการกับข้อมูลที่เป็นเท็จได้ รัฐควาจะใช้สื่อในกำกับของตัวเองเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมากกว่า
๐ อ่านสรุปคำฟ้องคดีนี้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5933
๐ อ่านรายละเอียดข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. สั่ง ISP “ตัดเน็ต” ผู้โพสสร้างความหวาดกลัว ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/942
ไฟล์แนบ