เปิดเงินเดือนและสวัสดิการผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ชีวิตดีๆ บนภาษีประชาชน

“ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา” คือ หนึ่งในหลักการสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา การเป็นอิสระ ไม่ได้หมายถึงผู้พิพากษาจะวินิจฉัยคดีอย่างไรก็ได้ การวินิจฉัยคดีนั้นยังต้องผูกพันตามกฎหมาย แต่ความเป็นอิสระของผู้พิพากษานั้น จะต้องปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจอื่นใด อีกทั้งผู้พิพากษารายปัจเจกบุคคล จะต้องเป็นอิสระจากอำนาจบังคับบัญชา ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้บังคับบัญชา
หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษานี้เองที่นำไปสู่การแยกระบบบริหารงานของ “ศาลยุติธรรม” ออกจากกระทรวงยุติธรรมในปี 2543 ไม่ได้อยู่ภายใต้โครงสร้างขององค์กรฝ่ายบริหาร แยกงานด้านธุรการ งานส่งเสริมงานตุลาการ งานทางวิชาการ งบประมาณรายจ่ายประจำปี ออกจากกัน อย่างไรก็ดี และเพื่อรักษา “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา” ไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือชักจูงใจโดยอำนาจอิทธิพลทางการเงิน การกำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง รวมไปถึงสวัสดิการของผู้พิพากษา จึงต้องกำหนดให้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งก็เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินกู้ของรัฐ ค่าธรรมเนียมที่รัฐจัดเก็บได้ และจากภาษีของประชาชน

เปิดเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งผู้พิพากษา สตาร์ท 35,000 บาท ประธานศาลฎีกา 138,090 บาท

ผู้พิพากษามีสถานะเป็นข้าราชการเหมือนกับอาชีพอื่นๆ เช่น ครู ทหาร ตำรวจ แต่สถานะของ “ข้าราชการตุลาการ” นั้น นอกจากจะส่งผลต่อมุมมองของประชาชนที่มีต่อผู้พิพากษาแล้ว ยังส่งผลให้อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษากำหนดไว้สูงกว่าข้าราชการอื่นๆ ด้วย หลักคิดในการกำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแก่ผู้พิพากษาตั้งอยู่บนฐานความคิดว่า ต้องกำหนดเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อไม่ให้ผู้พิพากษาประสบกับสภาวะยากลำบากจนหันเหไปสู่เส้นทางที่ไม่โปร่งใส และกระทบต่อความยุติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่
เมื่อสอบได้เป็นผู้พิพากษา ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสอบสนามใหญ่ สนามเล็ก หรือสนามจิ๋วก็ตาม และได้บรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ ก็จะมีตำแหน่งเป็น “ผู้ช่วยผู้พิพากษา” ก่อน โดยยังไม่ได้เริ่มขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดีเต็มตัว แต่จะเข้ารับการฝึกอบรม เรียนรู้กระบวนการทำงาน การร่างคำพิพากษาหรือคำสั่ง และการพิจารณาคดี จากผู้พิพากษาที่เป็น “ติวเตอร์” ก่อน โดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2561 ซึ่งอัพเดทอัตราเงินเดือนจากบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 กำหนดให้ผู้ช่วยผู้พิพากษาได้รับเงินเดือน 25,000 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท/เดือน รวม 35,000 บาท/เดือน หากเทียบกับข้าราชการประเภทอื่นแล้ว ครูผู้ช่วย (ซึ่งมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ) มีเงินเดือนขั้นต่ำ 15,050 บาท/เดือน ข้าราชการรัฐสภาสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ มีเงินเดือนขั้นต่ำ 15,050 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 3,500 บาท/เดือน รวม 18,550 บาท/เดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าผู้พิพากษา
ภายหลังจากเรียนรู้งานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาแล้ว ก็จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้พิพากษาประจำศาล”  เมื่อมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่าสามปีจึงจะได้เลื่อนขึ้นเป็น “ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น” ซึ่งแต่ละตำแหน่งที่ขยับขึ้นตามระยะเวลาการทำงานก็ส่งผลต่อเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษารวมกันแล้วจะเริ่มแตะหลักแสนที่ตำแหน่ง “ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น” เงินเดือน 74,360 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 30,000 บาท/เดือน รวม 104,360 บาท/เดือน ตำแหน่งที่ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งสูงสุด คือ ประธานศาลฎีกา เงินเดือน 83,090 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท/เดือน รวม 138,090 บาท/เดือน โดยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม มีรายละเอียด ดังนี้
ขั้นศาล ขั้นเงินเดือน ตำแหน่ง

เงินเดือน

เงินประจำตำแหน่ง

รวม

(บาท/เดือน)

   
ผู้ช่วยผู้พิพากษา
25,000

10,000

35,000
ศาลชั้นต้น 1 ผู้พิพากษาประจำศาล
30,000

20,000

50,000
32,080
52,080
34,210 54,210
2 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 37,110

23,300

60,410
41,410 64,710
45,890 69,190
53,200 76,500
58,370 81,670
3 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 74,360

30,000

104,360
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
อธิบดีผู้พิพากษาภาค
อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 76,800

41,500

118,300
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค
รองประธานศาลอุทธรณ์
4 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 80,540

42,500

123,040
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค
รองประธานศาลอุทธรณ์
ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 81,920

50,000

131,920
ประธานศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
รองประธานศาลฎีกา
5 ประธานศาลฎีกา 83,090

55,000

138,090

ทำโอที 500 บาท/ชั่วโมง “เข้าเวร” ออกหมายจับหมายค้น กะละ 2,500 บาท

นอกจากรายได้ประจำจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแล้ว ผู้พิพากษายังมีรายได้อีกทางจากเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ถ้าหากผู้พิพากษาทำงานนอกเวลาราชการ กล่าวคือ ทำงานในวันทำการปกติ แต่นอกเวลา 08.30 – 16.30 น. หรือทำงานในวันหยุดราชการ โดยรายละเอียดเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ. 2545 (ระเบียบก.บ.ศ. ค่าตอบแทนนอกเวลาฯ)
เนื่องจากการจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ (โอที) นั้นเป็นรายจ่ายของหน่วยงานซึ่งเกี่ยวพันกับงบประมาณและรายได้ของหน่วยงาน การที่ผู้พิพากษาจะได้โอทีนั้น ไม่ใช่แค่ทำงานนอกเวลาราชการแล้วจะได้ค่าโอทีโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีผู้อนุมัติให้ผู้พิพากษาทำงานนอกเวลาด้วย ซึ่งระเบียบก.บ.ศ.ค่าตอบแทนนอกเวลาฯ กำหนดให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค เลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติ จะต้องคำนึงถึงความจำเป็น ประโยชน์ของทางราชการและประชาชน รวมทั้งความเหมาะสมของผู้ปฏิบัติงานประกอบ
อย่างไรก็ดี บางกรณีการทำโอทีอาจเป็นสิ่งที่คาดหมายล่วงหน้าไม่ได้ ระเบียบดังกล่าวก็กำหนดว่า หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการโดยยังไม่ได้รับอนุมัติ ให้ขออนุมัติภายหลังและแจ้งเหตุความจำเป็นด้วยว่าทำไมถึงไม่สามารถขออนุมัติก่อนได้
ระเบียบก.บ.ศ.ค่าตอบแทนนอกเวลาฯ กำหนดหลักเกณฑ์การรับโอทีกรณีผู้พิพากษามีเหตุต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการไว้ โดยแต่ละกรณีมีอัตราค่าตอบแทนแตกต่างกัน ดังนี้
กรณีเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการ เป็นกรณีที่ต้องศาลยุติธรรมเปิดทำงานตามประกาศเพื่อนั่งพิจารณาคดี นอกเวลา 08.30 – 16.30 น. ของวันทำการปกติ หรือปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ ตัวอย่างเช่น การสืบพยานปากเดียวหรือหลายปาก และไม่สามารถกระทำให้เสร็จภายในเวลาราชการ กรณีนี้ผู้พิพากษาจะได้รับค่าโอทีต่างกัน แบ่งจากฐานชั้นเงินเดือน ดังนี้
๐ ผู้พิพากษาที่ได้รับเงินเดือนชั้น 1 ถึงชั้น 3 ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราชั่วโมงละ 500 บาท แต่ในวันหนึ่งต้องไม่เกิน 3,000 บาท
๐ ผู้พิพากษาที่ได้รับเงินเดือนชั้น 4 ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราชั่วโมงละ 600 บาท แต่ในวันหนึ่งต้องไม่เกิน 3,500 บาท
๐ ผู้พิพากษาที่ได้รับเงินเดือนชั้น 4 ขั้นสูงสุดขึ้นไป ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราชั่วโมงละ 800 บาท แต่ในวันหนึ่งต้องไม่เกิน 4,500 บาท
กรณีปฏิบัติงานตามโครงการเร่งรัดคดี โครงการเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการเพื่อเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดี เป็นโครงการที่ต้องผ่านมติคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ก่อน ซึ่งก.บ.ศ. จะกำหนดหลักเกณฑ์ว่าคดีประเภทใดบ้างที่จะอยู่ภายใต้โครงการนี้ เช่น คดีในศาลจังหวัดที่ค้างพิจารณาเกินหนึ่งปีขึ้นไป นับแต่วันรับฟ้องจนถึงวันที่ศาลจัดทำคำของบประมาณ และจะกำหนดรายชื่อศาลและกรอบปริมาณคดีที่สามารถเปิดนัดพิจารณาคดีจัดการพิเศษนอกเวลาราชการได้ ตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ศาลจังหวัดธัญบุรี มีกรอบคดีที่ 3,100 คดี ศาลแขวงสมุทรปราการ 6,100 คดี ศาลแขวงชลบุรี 3,300 คดี
สำหรับค่าโอทีผู้พิพากษาที่ปฏิบัติงานภายใต้โครงการนี้ คิดจากฐานของชั้นศาลที่ผู้พิพากษาปฏิบัติงานอยู่ กรณีศาลชั้นต้นมีอัตราเดียว แต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีรายละเอียดแตกต่างออกไป ดังนี้
๐ ศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาได้รับค่าตอบแทนในอัตราชั่วโมงละ 500 บาท แต่ในวันหนึ่งต้องไม่เกิน 3,000 บาท
๐ ศาลชั้นอุทธรณ์ ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลชั้นอุทธรณ์ ได้รับค่าตอบแทน วันละ 3,500 บาท แต่ถ้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และผู้พิพากษาในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลชั้นอุทธรณ์ ได้รับค่าตอบแทนวันละ 3,000 บาท
๐ ศาลฎีกา ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ให้ได้รับค่าตอบแทนวันละ 4,500 บาท ผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา วันละ 3,500 บาท ผู้พิพากษาในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา (ที่ไม่ได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา) ได้รับค่าตอบแทน วันละ 3,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้พิพากษาอาวุโส หมายถึง ผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 60 ปี และประสงค์จะขอดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส มีเงื่อนไขว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา จะต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลฎีกามาแล้ว ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค ต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคมาแล้ว
กรณีเข้าเวรออกหมายจับและหมายค้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ตำรวจที่ต้องการจับ หรือค้น หรือกระทำการที่กระทบสิทธิของประชาชนต้องขอ “หมาย” จากศาล  และในกรณีเร่งด่วนก็ต้องขอให้ศาลออกหมายได้ในทันทีและทุกวันไม่มีวันหยุด ศาลแต่ละแห่งจึงต้องมีผู้พิพากษาที่ “เข้าเวร” เพื่อรอพิจารณาออกหมายในกรณีเร่งด่วน ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เข้าเวรจึงต้องได้รับค่าตอบแทนพิเศษด้วย โดยแบ่งออกเป็นสามช่วง (กะ) คือ
1) ปฏิบัติงานในวันทำการปกติตั้งแต่เวลา 16.30 น. – 08.30 น. ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลานอกเวลาราชการปกติ
2) ปฏิบัติงานในวันหยุดราชการตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 16.30 น.
3) ปฏิบัติงานในวันหยุดราชการตั้งแต่เวลา 16.30 น. – 08.30 น. ของวันรุ่งขึ้น
หากผู้พิพากษาต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเพื่อออกหมายจับและหมายค้น ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจากสามช่วงข้างต้น จะได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 2,500 บาท สำหรับศาลที่มีผู้พิพากษาจำนวนมากก็จะต้องผลัดกันเข้าเวรและรับค่าตอบแทน ผู้พิพากษาแต่ละคนอาจจะต้องเข้าเวรเพียงไม่กี่วันต่อเดือน แต่สำหรับศาลขนาดเล็กที่มีผู้พิพากษาน้อย ผู้พิพากษาแต่ละคนอาจจะต้องเข้าเวรถี่ และได้รับค่าตอบแทนส่วนนี้เป็นหลักหมื่นต่อเดือน

สวัสดิการมือถือ/ไอแพด เครื่องใหม่ทุกสองปี ผู้พิพากษาหนึ่งคนได้สูงสุดสี่เครื่อง

สำนักงานศาลยุติธรรม จัดสวัสดิการให้แก่ข้าราชการตุลาการ และข้าราชการศาลยุติธรรมผ่าน “กองทุนสวัสดิการสำนักงานศาลยุติธรรม” โดยกองทุนนี้มีรายรับจากการจัดกิจกรรมหรือจัดบริการของสวัสดิการภายในสำนักงานศาลยุติธรรม เงินบริจาค เงินอุดหนุนหรือรายได้ที่รัฐจัดสรรให้ เงินค่าธรรมเนียมสมาชิกสวัสดิการ และจากรายได้อื่นๆ
ซึ่งเงินจากกองทุนสวัสดิการ จะถูกนำไปจัดสรรสวัสดิการภายในศาลยุติธรรม สวัสดิการอาคารที่พักข้าราชการตุลาการ สวัสดิการรถรับส่ง และนำไปใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เช่น การจัดซื้อพัสดุ ครุภัณฑ์ เพื่อใช้ในการปฏิบัติราชการ หรือสนับสนุนการปฏิบัติราชการ และค่าใช้จ่ายในการตรวจเยี่ยมราชการกรณีที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณได้หรืองบประมาณไม่เพียงพอ การช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ข้าราชการตุลาการ พนักงาน และลูกจ้างในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม หากประสบกับภัยพิบัติที่กระทบต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
สวัสดิการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่สำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างที่สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม โดยข้าราชการหรือลูกจ้าง จะได้รับโทรศัพท์เคลื่อนที่ฟรีผูกกับแพ็คเกจค่าโทรศัพท์และค่าอินเทอร์เน็ต สัญญา 24 เดือน ในส่วนค่าโทรศัพท์และค่าอินเทอร์เน็ต ข้าราชการหรือลูกจ้างสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมจะต้องชำระค่าบริการเองโดยให้หน่วยงานดำเนินการหักเงินเดือน และนำส่งบริษัทผู้ให้บริการต่อไป
การขอใช้สิทธิสวัสดิการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับข้าราชการแต่ละประเภทกำหนดไว้แตกต่างกัน โดยหลักเกณฑ์ในปี 2561 และปี 2562 ข้าราชการตุลาการ ดะโต๊ะยุติธรรม สั่งได้คนละไม่เกินสามเครื่อง ผู้อำนวยการ สั่งได้คนละไม่เกินสองเครื่อง ข้าราชการศาลยุติธรรม ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราว สั่งได้หนึ่งคนไม่เกินหนึ่งเครื่อง ขณะที่หลักเกณฑ์ในปี 2563 และปี 2564 เพิ่มจำนวนโควตาสำหรับข้าราชการตุลาการ ดะโต๊ะยุติธรรม สั่งได้คนละไม่เกินสี่เครื่อง ขณะที่ข้าราชการอื่นๆ ยังคงจำนวนเท่าเดิม จะเห็นได้ว่าสำนักงานศาลยุติธรรมค่อนข้างให้ความสำคัญในการจัดสวัสดิการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับผู้พิพากษามากกว่าเจ้าหน้าที่ส่วนอื่น
สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้จัดสรรให้เฉพาะโทรศัพท์ แต่ยังรวมไปถึงแท็บเล็ตด้วย โดยประกาศโครงการสวัสดิการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 2564 ประกาศยี่ห้อและรุ่นของโทรศัพท์ที่ข้าราชการในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมสามารถใช้สิทธิจองได้ ซึ่งก็มีโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นกลางไปจนถึงรุ่นเรือธง (Flagship) อย่าง iPhone 12 Pro Max และ Samsung S21 Ultra 5G สำหรับแท็บเล็ตที่ข้าราชการสามารถใช้สิทธิจองได้ มีเพียงแต่แท็บเล็ตจากค่าย Apple เท่านั้น ซึ่งก็มีให้เลือกหลายรุ่น ตั้งแต่ iPad Gen8, iPad Air ไปจนถึง iPad Pro 11
เมื่อผู้พิพากษาใช้สิทธิในการจองโทรศัพท์แล้ว ก็จะถูกตรวจสอบเอกสารการจอง หลักฐานการยืนยันตัวบุคคล และสัญญาแพ็คเกจโทรศัพท์ว่ายังติดสัญญาเก่า 24 เดือนอยู่หรือไม่ ซึ่งหากยังติดสัญญาเก่าอยู่ ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติสวัสดิการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากครบกำหนดสัญญา 24 เดือนแล้ว ผู้พิพากษาก็สามารถใช้สิทธิจองโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใหม่ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้พิพากษาจะได้รับสวัสดิการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใหม่ได้ทุกๆ สองปีโดยหนึ่งคนขอได้ไม่เกินสี่เครื่อง
หลังจากผู้พิพากษาและข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมใช้สิทธิจองโทรศัพท์แล้ว กองสวัสดิการศาลยุติธรรมก็จะประกาศรายชื่อผู้สั่งจองโทรศัพท์เคลื่อนที่ในโครงการสวัสดิการโทรศัพท์ผ่านทางเว็บไซต์ทำให้ทราบว่าผู้ที่ใช้สิทธิจองโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปนั้นเอกสารครบถ้วนหรือไม่ และใช้สิทธิจองโทรศัพท์รุ่นใดบ้าง ในแพ็คเกจราคาเท่าไหร่ ให้ผู้ที่สั่งจองและประชาชนทั่วไปตรวจสอบดูได้
จากเอกสารประกาศรายชื่อผู้สั่งจองโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำปี 2563พบว่ามีผู้พิพากษาที่ใช้สิทธิจองโทรศัพท์จำนวนสองเครื่องอย่างน้อยสี่คน ได้รับอนุมัติทั้งสองเครื่องจำนวนสองคน หนึ่งคนได้รับอนุมัติจำนวนหนึ่งเครื่อง เหตุที่ไม่ได้รับอนุมัติอีกเครื่องเพราะไม่ส่งเอกสารการจอง  และอีกหนึ่งคนไม่ได้รับอนุมัติทั้งสองเครื่องเพราะไม่ส่งเอกสารการจองของทั้งสองเครื่อง นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งคนที่ใช้สิทธิจองเต็มจำนวนสี่เครื่อง และได้รับอนุมัติทั้งสี่เครื่อง สะท้อนให้เห็นว่าขอเพียงแค่ส่งเอกสาร หลักฐานครบ และไม่ติดเรื่องสัญญา 24 เดือน ผู้พิพากษาก็จะได้รับอนุมัติโทรศัพท์ตามจำนวนที่ใช้สิทธิขอมา
ถึงแม้ว่าสวัสดิการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิพากษา รวมไปถึงข้าราชการอื่นที่สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม แต่การใช้สวัสดิการดังกล่าวก็มีข้อจำกัดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ผู้ที่จะใช้สวัสดิการโทรศัพท์ที่ผูกกับแพ็คเกจนั้น ต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ของเครือข่าย True Move H เท่านั้น หากใช้เครือข่ายอื่นก็ต้องดำเนินการย้ายค่าย เพราะตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2564 สำนักงานศาลยุติธรรมจัดทำข้อตกลง และอนุมัติให้บริษัท เรียล มูฟ จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งยกเลิกบริษัทไปแล้วเมื่อ 30 กันยายน 2562) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้จัดหาโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมแพ็คเกจโปรโมชั่นพิเศษ
ทั้งนี้ ประธานกรรมการของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด คือ ศุภชัย เจียรวรานนท์ บุตรชายคนที่สามของธนินท์ เจียรวนนท์ อีกทั้งศุภชัยยังเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CP) อีกด้วย

รถประจำตำแหน่ง และเงินเหมาจ่ายแทนการซื้อรถ

สำนักงานศาลยุติธรรมจัดสวัสดิการรถประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งแก่ผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรม โดยระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยรถราชการและค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2547 (ระเบียบก.บ.ศ. ว่าด้วยรถประจำตำแหน่งฯ) กำหนดให้เฉพาะผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของศาลยุติธรรมและผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรมเท่านั้นที่ได้รถประจำตำแหน่ง ส่วนตุลาการศาลยุติธรรมที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร หากประสงค์ใช้รถประจำตำแหน่ง จะต้องได้รับเงินเดือนชั้น 4 ขึ้นไป หรือเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสุดท้ายไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค หรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยการจัดสวัสดิการรถประจำตำแหน่งสำหรับผู้พิพากษา มีรายละเอียดดังนี้

ตำแหน่งผู้บริหารศาลยุติธรรม

๐ ประธานศาลฎีกา รถประจำตำแหน่งสำหรับประธานศาลฎีกา ไม่จำกัดปริมาตรกระบอกสูบและกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไว้เหมือนตำแหน่งอื่นๆ
๐ ประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา สองตำแหน่งนี้ สามารถเลือกว่าจะรับค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง หรือประสงค์จะใช้รถประจำตำแหน่ง ซึ่งถ้าหากประสงค์จะใช้รถประจำตำแหน่ง รถประจำตำแหน่งจะต้องมีปริมาตรกระบอกสูบไม่เกินกว่า 3,000 ซีซี หรือมีกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไม่เกิน 180 กิโลวัตต์ ตัวอย่างรถยนต์ที่เข้าข่ายมาตรฐานดังกล่าว เช่น Toyota Camry ซึ่งมีราคามาตรฐานตั้งแต่ 1,455,000 – 1,809,000 บาท แล้วแต่รุ่น, Honda Civic ราคาตั้งแต่ 874,000 – 1,219,000 บาท แล้วแต่รุ่น, BMW 5 Series Sedan ราคา 2,999,000 บาท

ตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม

๐ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม รถประจำตำแหน่งจะต้องมีปริมาตรกระบอกสูบไม่เกินกว่า 3,000 ซีซี หรือมีกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไม่เกิน 180 กิโลวัตต์ ทั้งนี้ ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการตุลาการ แต่เป็นข้าราชการศาลยุติธรรม กล่าวคือ เป็นผู้พิพากษาที่มาทำงานบริหารไม่ได้ทำงานตัดสินคดี พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 23 กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งโอนมาจากคนที่เคยเป็นผู้พิพากษา
๐ กรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) และ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) คณะกรรมการทั้งสองชุดประกอบไปด้วยกรรมการที่เป็นผู้พิพากษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นผู้พิพากษา กรรมการที่มีสิทธิได้รถประจำตำแหน่ง คือกรรมการที่เป็นผู้พิพากษาเท่านั้น โดยรถประจำตำแหน่งจะต้องมีปริมาตรกระบอกสูบไม่เกินกว่า 2,500 ซีซี หรือมีกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไม่เกิน 160 กิโลวัตต์ ตัวอย่างรถยนต์ที่เข้าข่ายมาตรฐานดังกล่าว เช่น Toyota Camry , Honda Civic
๐ กรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.)  ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการที่เป็นผู้พิพากษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นผู้พิพากษา กรรมการที่มีสิทธิได้รถประจำตำแหน่ง คือ กรรมการที่เป็นผู้พิพากษาเท่านั้น โดยรถประจำตำแหน่งจะต้องมีปริมาตรกระบอกสูบไม่เกินกว่า 2,200 ซีซี หรือมีกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไม่เกิน 130 กิโลวัตต์ ตัวอย่างรถยนต์ที่เข้าข่ายมาตรฐานดังกล่าว เช่น Honda Civic

ตำแหน่งตุลาการศาลยุติธรรม

๐ ผู้พิพากษาที่ได้รับเงินเดือนชั้น 4 ขึ้นไป หรือเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสุดท้ายไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค หรือเทียบเท่าขึ้นไป รถประจำตำแหน่งจะต้องมีปริมาตรกระบอกสูบไม่เกินกว่า 3,000 ซีซี หรือมีกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไม่เกิน 180 กิโลวัตต์ มาตรฐานเดียวกันกับรถประจำตำแหน่งของประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
ระเบียบก.บ.ศ. ว่าด้วยรถประจำตำแหน่งฯ กำหนดหลักเกณฑ์การใช้รถประจำตำแหน่ง ว่าต้องใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่หรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่ หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้น ใช้เพื่อเดินทางไป – กลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการ และใช้เพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหมู่ข้าราชการและสังคม เมื่อพ้นจากตำแหน่งหรือส่งมอบงานแล้ว ก็จะต้องคืนรถประจำตำแหน่งภายใน 15 วัน ถ้าหากเสียชีวิต เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมหรือหัวหน้าส่วนราชการ ศาลยุติธรรม ก็จะเรียกรถประจำตำแหน่งคืน สามารถผ่อนผันได้แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่เสียชีวิต
ดังนั้น รถประจำตำแหน่งสำหรับผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของศาลยุติธรรมและผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม จึงไม่ได้มอบเป็นกรรมสิทธิ์ขาดแก่ข้าราชการตุลาการเลย ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือตกทอดเป็นมรดกได้ แต่ผู้พิพากษาตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ได้รถประจำตำแหน่ง จะได้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งเป็นเงินที่จ่ายรายเดือน ผู้พิพากษาก็สามารถนำเงินตรงส่วนนี้ไปซื้อรถยนต์เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองได้ หรือนำเงินไปใช้เพื่อการอื่นเลยก็ได้
ระเบียบก.บ.ศ. ว่าด้วยรถประจำตำแหน่งฯ กำหนดว่า ข้าราชการที่ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งแล้ว ให้จัดหารถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติราชการของข้าราชการผู้นั้นให้เหมาะสมกับเกียรติและฐานะตำแหน่งราชการที่ตนดำรงอยู่ และในบัญชีหมายเลข 3 ท้ายระเบียบดังกล่าว กำหนดตำแหน่งผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง ประกอบไปด้วย ตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งเป็นผู้พิพากษา ผู้บริหารศาลยุติธรรม และผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายธุรการ
โดยค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งที่จ่ายเป็นรายเดือนนั้น แบ่งได้เป็นสามอัตรา 41,000 บาท/เดือน/คน, 31,800 บาท/เดือน/คน และต่ำสุด 25,400 บาท/เดือน/คน ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะได้รับค่าตอบแทนไม่เท่ากัน และบางตำแหน่งแม้จะตำแหน่งเดียวกัน แต่ก็อาจได้รับค่าตอบแทนคนละอัตราโดยแบ่งเกณฑ์ตามชั้นเงินเดือนและอาวุโส หากนับเฉพาะตำแหน่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการตุลาการ จะมีผู้พิพากษาที่ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง ดังนี้
กลุ่มแรก ได้รับ 41,000 บาท/เดือน/คน ตัวอย่างตำแหน่งที่ได้รับค่าตอบแทนในอัตรานี้ เช่น  รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค
กลุ่มที่สอง ได้รับ 31,800 บาท/เดือน/คน ตัวอย่างตำแหน่งที่ได้รับค่าตอบแทนในอัตรานี้ เช่น รองอธิบดีผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ที่มีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคนสุดท้ายตามวาระ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีในศาลชั้นต้น ที่มีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคนสุดท้ายตามวาระ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาอาวุโสประจำสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
กลุ่มที่สาม ได้รับ 25,400 บาท/เดือน/คน ตัวอย่างตำแหน่งที่ได้รับค่าตอบแทนในอัตรานี้ เช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค และผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่มีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลชั้นต้นคนสุดท้าย ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลชั้นต้นคนสุดท้าย
นอกจากนี้แล้ว จากข้อมูลในเว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรม มีโครงการสวัสดิการบริการรถเช่าส่วนบุคคลระยะยาว (KINTO) สำหรับข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยโครงการนี้เป็นโครงการให้เช่ารถยนต์ส่วนบุคคลระยะยาวพร้อมบริการแบบครบวงจร แบ่งออกเป็นหลายแพ็คเกจตามการใช้งานรถยนต์

ผู้พิพากษาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีสิทธิขออยู่หอพัก ค่าบำรุง 3,000 บาท/เดือน

เพื่อไม่ให้ผู้พิพากษาทำงานในพื้นที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งยาวนานจนเสี่ยงต่อการสะสมอิทธิพลในจังหวัดจนกระทบต่อความเที่ยงธรรมในการตัดสินคดี กรอบระยะเวลาจึงถูกนำมาพิจารณาในการปฏิบัติงานของผู้พิพากษา โดยระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายแต่งตั้งและการเลื่อนเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการพ.ศ. 2554 กำหนดให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรับราชการนอกเขตกรุงเทพมหานครได้จังหวัดละไม่เกินห้าปี ส่วนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลรับราชการนอกเขตจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานครได้จังหวัดละไม่เกินสามปี ทั้งนี้ การพิจารณาโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตุลาการให้ดำรงตำแหน่งในศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลเยาวชนและครอบครัวในจังหวัดใด คำนึงจากลำดับอาวุโสและความเหมาะสมในจังหวัด และมีข้อห้าม คือ ห้ามไม่ให้ข้าราชการตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งในศาลจังหวัดย้ายไปรับราชการในศาลแขวงหรือศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ยกเว้นกรณีที่ประจำศาลในกรุงเทพมหานคร และจะรับราชการในศาลเดียวกันกับคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้บริหารศาลไม่ได้
ด้วยการทำงานที่ไม่ได้ประจำอยู่ที่เดิมตลอดอายุราชการ ทำให้สวัสดิการบ้านพักผู้พิพากษา ก็เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่สำคัญต่อการดำรงชีพของผู้พิพากษา จากข้อมูลในเว็บไซต์กองสวัสดิการศาลยุติธรรม และ คู่มือสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ที่สำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้ ปี (พ.ศ. 2563) ให้ข้อมูลสวัสดิการอาคารที่พักข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีจำนวนทั้งสิ้น สามอาคาร คือ อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ (แจ้งวัฒนะ) จำนวน 96 ห้อง อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ (นนทบุรี) จำนวน 100 ห้อง และ อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ (ธนบุรี) จำนวน 100 ห้อง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 
สำหรับสวัสดิการอาคารที่พักข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น ผู้พิพากษาที่รับราชการในเขตกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง คู่สมรสหรือบุตรในเขตกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล หรือมีที่พักอาศัยที่ไม่สะดวกในการเดินทางจากที่พักมายังสถานที่ปฏิบัติราชการประจำ สามารถใช้สิทธิในสวัสดิการดังกล่าวได้ แต่ไม่ฟรีเสียทีเดียว เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดสรรอาคารที่พักของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดอัตราแรกเข้าต้องชำระค่าประกันความเสียหาย 6,000 บาท และค่าบำรุงล่วงหน้า 3,000 บาท เมื่อเข้าพักอาศัยต้องชำระค่าบำรุงเดือนละ 3,000 บาท และต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วย