อันวาร์ สาและ: ประชาธิปัตย์ถอนตัว ไม่ใช่ทางตันแต่เป็นทางออก

“ชัดๆเลยนะครับ ผมจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อแน่นอน” “เพราะการสืบทอดอำนาจ เท่ากับ สร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว” “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”
++อภิสิทธิ เวชชาชีวะ 10 มีนาคม 2562++
ก่อนการเลือกตั้ง 62 หนึ่งในประเด็นที่ประชาชนจับตามอง คือ สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ พรรคที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงกันข้ามกับคสช. เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาชาติ เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าจะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่พรรคการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่ถูกจับตาว่าจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร
อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศก่อนหน้าวันเลือกตั้งประมาณ 2 สัปดาห์ว่าจะไม่สนับนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยอนุธิน ชาญวีรกูลไม่เคยประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ได้แต่ประกาศว่าไม่เอานายกฯ เสียงข้างน้อยเท่านั้น
แต่หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยต่างเข้าร่วมรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลาออกจากการเป็นส.ส.ในวันเดียวกับที่รัฐสภาจะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคที่ดำรงตำแหน่งต่อจากอภิสิทธิ์แถลงมติพรรคว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลเพราะพรรคพลังประชารัฐแถลงยอมรับสามเงื่อนไขของพรรค ได้แก่ การนำนโยบายประกันรายได้เกษตรไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทว่า 2 ปี เศษหลังพรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาล การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ดูจะเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามทั้งจากประชาชนไปจนถึงจากส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน
อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานีเขต 1 คือ หนึ่งคนออกมาแสดงจุดยืนว่า ถึงเวลาแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์ควรถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่มีการลงมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 อันวาร์ลงมติงดออกเสียงรัฐมนตรีทุกคนยกเว้นร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เขาลงมติไม่ไว้วางใจ ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 อันวาร์ยังส่งจดหมายเปิดผนึกถึงจุรินทร์ให้พิจารณาถอนตัวจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 อันวาร์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
"หากพระเจ้าเลือก ยังไงก็หนีไม่พ้น"
อันวาร์ นักการเมืองจากดินแดนลังกาสุกะ เล่าถึงชีวิตของเขาก่อนเข้าสู่แวดวงการเมือง ดังนี้
"ปู่ของผมเป็นกำนันอยู่ที่อำเภอยะหริ่ง ปัตตานี ทำให้ผมมีโอกาสเห็นพี่น้องในพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนมาพูดคุยกับคุณปู่ตั้งแต่เด็กๆ ต่อมาพอคุณพ่อมาเป็นกำนันต่อจากคุณปู่ บางทีคนที่จะมาหาคุณพ่อแล้วเค้าไม่กล้าพูดอะไรกับคุณพ่อเค้าก็เลยพูดกับผมก่อนเหมือนกับผมเป็นเด็กหน้าห้อง" แม้อันวาร์จะมีโอกาสสัมผัสการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เขาก็ไม่เคยคิดทำงานทางการเมืองมาก่อน
"ผมมีโอกาสเห็นการแก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ของทั้งคุณพ่อและคุณปู่ ก็เห็นว่าบทบาทของท่านทั้งสองตอนนั้นเป็นเหมือนหนังหน้าไฟ พอแก้ปัญหาให้ฝ่ายหนึ่งก็จะมีอีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ ผมรู้สึกว่างานการเมืองไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือกระทั่งการเมืองระดับชาติ เป็นงานที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบและปัญหาของคนอื่นๆ ของคนทั้งจังหวัด ผมก็คิดว่าลำพังปัญหาของตัวก็มากพออยู่แล้วเลยคิดว่าอยากทำอะไรที่เป็นส่วนตัว ก็เลยเลือกเรียนและทำงานสายธุรกิจ"
อันวาร์ ทำธุรกิจรับเหมาก่อนสร้างอยู่ที่ปัตตานี แต่พอเข้าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" ปี 2540 ก็ประสบปัญหา และเขาใช้เวลาช่วงปี 2541-2548 เพื่อเคลียร์ปัญหาและหนี้สินของตัวเอง หลังสะสางหนี้เสร็จก็มีผู้ใหญ่มาทาบทามไปทำงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคำชวนที่ว่า "จำไว้นะคนเนี่ยถ้าพระเจ้าเลือกหนียังไงก็ไม่พ้น ถ้าพระเจ้าไม่เลือกหนียังไงก็ไม่ได้" เมื่อตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้เป็น ส.ส. จังหวัดปัตตานีในนามพรรคประชาธิปัตย์มา 4 สมัย
เงื่อนไขในพื้นที่
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนทั้งมิติการเมืองและวัฒนธรรม สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีส่วนอย่างยิ่งทั้งต่อผลการเลือกตั้งในปี 2548 ที่อันวาร์ได้เป็นส.ส.สมัยแรก ต่อผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด และต่อการตัดสินใจเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ของอันวาร์ที่เพิ่งเกิดขึ้น
"ตอนที่ผมลงสมัครในปี 2548 ผมก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะชนะการเลือกตั้ง เพราะคนที่เป็นคู่แข่งผมเขาเป็นนักการเมืองที่อยู่ในพื้นที่มายาวนาน แต่ช่วงหลังปี 2547 เริ่มมีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบและการวิสามัญฆาตกรรมที่มัสยิดกรือเซาะ ทำให้หลายส่วนปฏิเสธพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น จะว่าไปการเลือกตั้งสมัยแรกก็อาจจะไม่ใช่ชัยชนะที่เป็นของตัวผมเองอย่างแท้จริง"
"ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงที่บางส่วนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีช่องว่างระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ พอมีการยึดอำนาจในปี 2557 ยาวมาจนถึงปี 2562 เราไม่มีนักการเมืองที่มาจากประชาชนเลย มีแต่ข้าราชการ ผมคิดว่าสำหรับคนในพื้นที่มันมีความต่างที่เวลาเขาเดือดร้อนแล้วต้องไปคุยกับข้าราชการ กับคุยกับผู้แทนที่เขาจะรู้สึกปลอดภัยหรือสะดวกใจที่จะบอกเล่าปัญหามากกว่า"
"พอมาถึงการเลือกตั้งในปี 2562 คนในพื้นที่เท่าที่ผมรับทราบก็ส่งเสียงชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่อยากได้นายกคนเดิม เมื่อคุณอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคประกาศจุดยืนว่าจะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ตรงนั้นถือว่าสอดคล้องกับจุดยืนของคนในพื้นที่ รวมทั้งจุดยืนของตัวผม"
อย่างไรก็ตามในวันที่ 4 มิถุนายน 2562 พรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์และร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล ตัวอันวาร์เองก็ยกมือให้การสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี
"พรรคการเมืองก็เหมือนกับสังคมที่มีกติกา เมื่อพรรคของเรามีมติสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ผมก็เคารพมติพรรค และครั้งนั้นพรรคพลังประชารัฐก็ยอมรับเงื่อนไขสามข้อของพรรคเรา ผมจึงคิดว่าลองให้โอกาสทำงานร่วมกันไปก่อน"
เสียงสะท้อนจากเจ้าของอำนาจ
สองปีเศษหลังการร่วมรัฐบาล อันวาร์เริ่มมองเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรทบทวนบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในการเมืองไทย เพราะเงื่อนไขสามข้อที่เคยตั้งไว้กับพรรคพลังประชารัฐดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร โดยเฉพาะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อันวาร์เห็นว่ามีการ "ชักเข้าชักออก ชงเองล้มเอง"
"ตอนก่อนเลือกตั้งคนในพื้นที่เท่าที่ผมรู้ไม่ต้องการผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหาร แต่หลังพรรคมีมติเลือกคุณประยุทธ์คนในพื้นที่ของผมก็พอเข้าใจแล้วก็เฝ้าดูว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะมีนโยบายอะไรที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นมาหรือลืมตาอ้าปากได้ นโยบายประกันรายได้เกษตรเป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลที่ผมเห็นว่าทำได้สำเร็จระดับหนึ่ง แต่หากท่านอื่นๆจะมีความเห็นว่าไม่ประสบความสำเร็จผมก็ถือว่าเป็นสิทธิของท่านที่จะมองต่างมุม แต่อีกสองเรื่องคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับเรื่องความโปร่งใสข้อนี้ผมเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่เคยคุยกันไว้"
"อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญก็เห็นว่ามีความพยายามที่จะแก้ไขแบบชักเข้าชักออก คือ เสนอเองแล้วก็คว่ำเองหลายครั้งจนกระทั่งล่าสุดมีเพียงร่างแก้ไขของประชาธิปัตย์ที่เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งเพียงร่างเดียวที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระที่หนึ่ง ซึ่งการแก้ไขที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนเสียทีเดียว ส่วนเรื่องการบริหารโดยสุจริต ข้อนี้เชื่อว่าหลายคนคงพอทราบข่าวกันอยู่บ้าง ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาผมจึงลงคะแนนไม่ไว้วางใจ ร.ต.ธรรมนัส ผมคิดว่าคนที่ผิดไม่ใช่ตัวคุณธรรมนัสแต่เป็นท่านนายก ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลท่านควรทราบว่าการดำรงตำแหน่งสำคัญภาพพจน์และประวัติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ท่านก็เลือกคุณธรรมนัสมารับตำแหน่ง"
"สิ่งที่ผมพูดไปมันไม่ใช่แค่ความรู้สึกของผม แต่คนในพื้นที่ของผมก็มีหลายส่วนที่คิดแบบนั้น ซึ่งผมในฐานะผู้นำสาส์นของประชาชนก็ต้องสื่อสารความต้องการของประชาชน การแก้ปัญหาโควิดและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมาดูเหมือนทุกอย่างจะไม่มีอะไรดีขึ้น อย่างจังหวัดปัตตานีที่ผมเป็นผู้แทนประชากรส่วนใหญ่มีรายได้จากการประมงและการประมงพื้นบ้าน เมื่อรัฐบาลสมัยคสช.ใช้อำนาจพิเศษออกกฎหมายเกี่ยวกับการประมงเพื่อให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองไทยจากการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ซึ่งกฎหมายที่ออกมาไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตและศักยภาพของผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ส่งผลให้ประชากรส่วนหนึ่งต้องสูญเสียอาชีพและวิถีชีวิตและเมื่อการประมงล่มสลายอาชีพอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างโรงงานปลากระป๋องในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อผู้ประกอบอาชีพในโรงงานซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อย"
"ในพื้นที่ของผมคนจำนวนไม่น้อยข้ามไปทำงานที่มาเลเซียโดยเฉพาะร้านอาหาร พวกเขาเหล่านี้สร้างรายได้และส่งเงินกลับประเทศเป็นจำนวนมากแต่พอเกิดการแพร่ระบาดและมาเลเซียมีนโยบายผลักดันคนเหล่านี้ออกนอกประเทศ คนเหล่านี้ก็สูญเสียอาชีพ เมื่อกลับมาก็ขาดรายได้แล้วขั้นตอนการประสานให้กลับเข้าประเทศเข้าสู่กระบวนการกักตัวอะไรต่างๆ ตรงนั้น ที่สำคัญ คือ เมื่อพวกเขากลับเข้าประเทศก็ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องอาชีพรองรับ คนเหล่านี้ทำงานร้านอาหารมาตลอดพอกลับมาก็เป็นเรื่องยากที่จะปรับตัวและหางานอื่น"
ปฏิบัติการทางการเมืองและผลกระทบที่ยากหลีกเลี่ยง
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวมสิบคน อันวาร์และส.ส.บัญชีรายชื่ออีกสองคน คือ พนิต วิกิตเศรษฐ์และอภิชัย เตชะอุบล เป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ลงคะแนน "งดออกเสียง" ให้จุรินทร์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ในเวลาต่อมามีส.ส. 23 คนเข้าชื่อให้ตั้งคณะกรรมการสอบ 3 ส.ส.จากกรณี "โหวตไม่เหมาะสม" ระหว่างการประชุมพรรคในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 พนิตจะลุกขึ้นชี้แจงกรณีการลงคะแนนของตัวเองแต่บัญญัติ บรรทัดฐาน ประธานที่ปรึกษาพรรคซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วยขอให้งดประเด็นดังกล่าวและให้ส.ส.ทั้งสามทำหนังสือชี้แจงแทน
"เงียบ" คือ คำตอบของอันวาร์เมื่อถูกถามถึงบรรยากาศภายในพรรคหลังการออกเสียงแต่สิ่งที่เขาได้รับคือกำลังใจจากคนในพื้นที่
"ผมคิดว่าการแสดงออกของผมน่าจะมีมารยาททางการเมืองที่สุดแล้ว ถ้าผมจะลงมติไว้วางใจคุณจุรินทร์ แต่ไปลงมติงดออกเสียงพล.อ.ประยุทธ์ แบบนั้นคุณจุรินทร์จะไปมองหน้าท่านนายกอย่างไร ในเมื่อคนในพรรคของท่านลงคะแนนไว้วางใจท่าน แต่ลงคะแนนงดออกเสียงรัฐมนตรีท่านอื่นๆ รวมถึงตัวท่านนายกซึ่งถือเป็นหัวหน้าของคุณจุรินทร์ ส่วนคุณธรรมนัสแน่นอนว่าผมลงมติไม่ไว้วางใจ"
หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2564 อันวาร์แสดงจุดยืนที่หนักแน่นขึ้นจากเดิมที่เพียงแต่ลงมติงดออกเสียงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการเปิดหน้าเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 อันวาร์ โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊กของเขาตอนหนึ่งว่า เขาได้ยื่นข้อเสนอถึงพรรคประชาธิปัตย์ให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลแล้ว ข้อความตอนหนึ่งระบุสาเหตุเกี่ยวกับกรณีของร.อ.ธรรมนัสที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า ตนเองคือผู้กุมความลับดีลในการต่อรองต่างๆไว้ ก่อนที่อันวาร์จะตั้งข้อสรุปว่า
"…สรุปแล้วปัญหาทั้งหมดเกิดจากใคร เกิดจากท่านนายกหรือไม่ ? และเมื่อต้องแก้ปัญหา ท่านก็โยนให้องค์กรอิสระที่มีอยู่มาจัดการแทน ศาลรธน.ก็ไม่เว้น สังคมแตกแยกกันในเรื่องความคิด ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตศรัทธา คงจำกันได้ ที่ผมเสนอว่า ต้องร่วมรัฐบาลด้วยความจริงใจ “ทำในสิ่งถูกให้เป็นถูก ผิดให้เป็นผิด” ปัญหาจะแก้ไขได้ อย่าเห็นแก่การร่วมรัฐบาล ต้องเห็นแก่ประชาชนและประเทศชาติ
ดังนั้น เมื่อฝ่ายค้านเรียกร้องให้ท่านนายกลาออก ซึ่งท่านคงไม่ออก ท่านก็คงอยู่อย่างนี้ ทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม เพราะพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นพรรคเดิม ก็คงคิดแบบเดิมๆ แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาก็ไม่ชัดเจน ผมจึงขอเสนอสิ่งที่ผมเคยเสนอเอาไว้หลายครั้งว่า พรรคปชป. ควรใช้โอกาสนี้แก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ด้วยการถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย"
ทว่าข้อเสนอของอันวาร์ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากทางพรรค วันที่ 8 พฤศภาคม 2564 ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีของอันวาร์ตอนหนึ่งว่า
“ที่ถามว่าหลังคุณอันวาร์ยื่นหนังสือแล้วคนในพรรคให้ความสนใจหรือไม่นั้น ส.ส. อดีต ส.ส. สมาชิกพรรคเฉยๆ ไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่หลายครั้งแล้ว และทุกคนกำลังตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้พี่น้องประชาชนที่กำลังประสบกับการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19”
ในวันที่ 12 กรกฎาคม อันวาร์โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของเขาประกาศลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคซึ่งเขาเข้าดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2562 โพสต์ของอันวาร์วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะสถานการณ์โควิด19 และการจัดหาวัคซีน พร้อมทั้งแสดงความผิดหวังต่อท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้ทำงานตามที่สัญญากับประชาชนไว้จนความนิยมของพรรคดิ่งลง
"…ขณะนี้ปัญหาวิกฤติมาก ลามไปถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ทุกคนเรียกร้องขอความช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องวัคซีน และมีคำถามมาถึงผมว่า ทำไมวัคซีนจึงมีปัญหา ประเทศที่ล้าหลังอย่างประเทศลาว ประชากรเขายังฉีดวัคซีนหลายยี่ห้อ มีทั้งแอสตร้าเซเนกา ไฟเซอร์ ชิโนฟาร์ม สปุตนิกวี ฯลฯ พวกมึงไปทำอะไรอยู่ จึงหาวัคซีนไม่ได้ ผมฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าจะตอบยังไง แต่ก็คงจะต้องนำคำพูดของผู้จัดรายการ “คุยได้คุยดี” ในทางวิทยุ FM96.5 ที่พูดแบบชาวบ้านว่า “ต้องอยู่กันตามยถากรรมแล้ว เพราะเตือนรัฐบาลอะไรก็ไม่ฟัง มันเลยเวลาแก้ไขไปหมดแล้ว” เพราะทำให้นึกถึงตัวผมเอง ที่พยายามเตือนพรรคมาตลอดว่า อย่ายืนตรงข้ามกับประชาชน ต้องแก้ไขในทุกเรื่องที่เป็นภาพลบ แต่ก็ไม่เป็นผล…"
ในวันเดียวกันโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาย้ำเรื่องการร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐตอนหนึ่งว่า "…การร่วมรัฐบาลของพรรคก็เป็นไปตามมติของตัวแทนประชาชน"
ถอนตัวไม่ใช่ทางตันแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทางเลือกใหม่
 
จนถึงบัดนี้ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะไปต่อกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่อันวาร์ซึ่งถูกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งขนานนามว่าเป็น "แกะดำ" ยังยืนยันว่าเขาจะอยู่กับปัจจุบันและทำหน้าที่รับใช้คนในพื้นที่รวมทั้งประชาชนคนอื่นๆต่อไป ส่วนอนาคตหากจะมีความเปลี่ยนแปลงเขาก็พร้อมยอมรับ
"หลังเหตุการณ์ทั้งหมดผมมีทางเลือกอยู่สองทาง จะเล่นการเมืองต่อ หรือยุติบทบาททางการเมือง ในตอนนี้ผมยังเลือกทำงานต่อ ที่บอกว่าการที่ผมไม่ยอมลาออกจากส.ส. ยังอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เท่ากับผมหนุนพล.อ.ประยุทธ์ผมคิดว่าไม่ใช่นะ ผมถือว่าตัวผมสังกัดองค์กรคือพรรคประชาธิปัตย์ แต่ที่ผมเข้ามาตรงนี้ได้เป็นเพราะประชาชนเลือกผมเข้ามา ประชาชนหวังให้ผมเป็นปากเป็นเสียงเป็นคนส่งสาส์นให้เขา โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ถ้าผมยังพอทำอะไรได้ผมจะทำไปก่อน แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว ผมก็อาจจะมีทางเลือกอีกสองทางคือถ้าเล่นการเมืองต่อก็อาจต้องย้ายพรรค แต่จริงๆแล้วผมคิดว่าประชาธิปัตย์เป็นเหมือนบ้านของผมและพรรคก็ไม่ได้มีความผิดอะไร เป็นเพียงแค่การบริหารผิดพลาดที่สามารถแก้ไขได้ สำหรับอีกทางหนึ่งก็คือยุติบทบาททางการเมืองไปเลยแต่คงยังไม่ใช่ตอนนี้"
"ถ้าถามว่าในวิกฤตการณ์แบบนี้มาถอนตัวจากรัฐบาล จะนำไปสู่ทางตันหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่เลย ถ้าประชาธิปัตย์ถอนตัวมา พรรคพลังประชารัฐก็อาจจะลองทาบทามพรรคอื่นไปร่วมงานแทนดู หรือถ้าร่วมงานแล้วไม่โอเค จะกลับมาร่วมงานกับเราอีกครั้งก็ได้ แต่ภายใต้การพูดคุยที่มีเงื่อนไขและกรอบเวลาชัดเจนว่าคุณจะทำตามข้อเสนอของเราอย่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ ซึ่งหมายรวมถึงการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ หรือถ้าไปต่อไม่ไหวพล.อ.ประยุทธ์ก็อาจยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนไปว่ากันผ่านบัตรเลือกตั้ง และต่อให้พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา ประเทศก็ไม่ได้อยู่ในภาวะสูญญากาศนะ งบประมาณก็ผ่านแล้ว เซ็ตไว้หมดแล้วต้องไปลงตรงไหนๆและรัฐบาลที่อยู่ก็ยังต้องรักษาการณ์ไปก่อน"
"มีคนบอกว่า ต่อให้พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา ให้เลือกตั้งใหม่ก็เหมือนเดิม ส.ว. ก็เอาเขากลับมาอยู่ดี ผมว่าไม่ใช่ มันไม่เหมือนเดิมหรอกนะ ต้องไม่ลืมนะว่า ตอนนี้ประชาชนหลายๆ กลุ่ม รวมทั้งคนที่ไม่เคยแสดงท่าทีต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ อย่างเช่น คุณหมอหรือดารา ตอนนี้ก็ออกมากันหมดแล้ว สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่านายกบริหารล้มเหลวมีคนตายมากมาย แต่ก็อาจมีประชาชนบางส่วนที่เห็นว่านายกบริหารประเทศมาถูกทางแล้ว ก็ให้ไปติดสินกันในคูหาเลือกตั้ง
ถ้าพรรคแกนนำรัฐบาลเดิมชนะด้วยเสียงข้างมากก็จะสามารถอ้างความชอบธรรมของตัวเองได้เต็มปาก หากฝ่ายรัฐบาลเดิมแพ้เป็นเสียงส่วนน้อยแต่ได้นายกคนเดิมเพราะ ส.ว. 250 คน เลือกเข้ามา ถึงอย่างนั้นแม้พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิมก็คงบริหารประเทศแบบเดิมไม่ได้เพราะคุณจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปและต้องฟังคนอื่นมากกว่านี้ พรรคการเมืองอื่นๆจะสามารถทำให้พรรครัฐบาลเดิมยอมมีข้อตกลงว่าเป็นว่าจะเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วนใด เช่น แก้รัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วก็ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจในกฎกติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ประชาธิปไตยก็จะเดินได้ในกลไก โดยไม่ต้องให้ทหารมายึดอำนาจอีก"
"ผมคิดว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการตอนนี้ คือ ความหวังและความเปลี่ยนแปลง หากคนเก่ายังนั่งอยู่ก็ยากที่คนใหม่จะเข้ามาแทน เพราะเขาอาจรู้สึกว่าไม่อยากเป็นปฏิปักษ์กับคนที่นั่งอยู่ก่อน แต่ถ้าเก้าอี้มันว่าง ผมเชื่อว่าคนมีความรู้ความสามารถคนอื่นก็กล้าที่จะมานั่งแทน"ลดกำแพงลงแล้ว”