แก้รัฐธรรมนูญ: สรุปร่างเพื่อไทย 2 รูปธรรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เลิกข้อยกเว้นศาล ตัดมรดก คสช.

ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคสอง พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายร่วมค้านเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแยกเป็น ห้าฉบับ ห้าประเด็น อย่างไรก็ตามประเด็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับถูกปัดตกไปตั้งแต่ยังไม่เริ่มพิจารณาในสภา เนื่องจากประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าแก้ไขขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อน ส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเหลือเพียงสี่ประเด็น
ยกระดับสิทธิเสรีภาพ เพิ่มอำนาจรัฐสภา งดข้อยกเว้นศาล
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคเพื่อไทย2 ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรวมแล้วทั้งหมดเจ็ดประเด็น เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน รวมถึงหลายประเด็นที่ถูกลดทอนมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 
1. ยกระดับสิทธิเสรีภาพครอบคลุมกติการะหว่างประเทศ  
เดิมในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพตราบเท่าที่ไม่ได้มีข้อห้ามหรือถูกจำกัดโดยกฎหมาย นอกจากนี้ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพสามารถยกรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือใช้เป็นข้อต่อสู่คดีในศาลได้ รวมทั้งมีสิทธิได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยได้เพิ่มเติมประเด็นในมาตรา 25 วรรคห้า ระบุ “สิทธิหรือเสรีภาพตามมาตรานี้ให้หมายความรวมถึงสิทธิหรือเสรีภาพตามพันธกรณีและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย” การเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกระดับสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เหนือไปจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ทำให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น และทำให้หลักการมีความยืดหยุ่นหากในอนาคตประเทศไทยเป็นภาคีของกติกระหว่างประเทศฉบับใหม่ ก็มีผลคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญตามไปด้วย โดยไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก
2. ยกระดับสิทธิประกันตัวต้องรวดเร็ว ห้ามขังเกิน 1 ปี
ในยุคที่ประเทศถูกปกครองภายใต้ทหารอย่างยาวนาน สถาบันศาลและกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือจนเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะศาลยุติธรรมเองที่หลายครั้งควรจะทำหน้าที่เป็นกรรมการยุติความขัดแย้ง แต่กลายเป็นเพิ่มความขัดแย้งให้ลุกลามปานปลาย โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่จำเลยและผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มต่างได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยให้มีความชัดเจนขึ้น เช่น การปล่อยตัวชั่วคราวต้องพิจารณา "อย่างรวดเร็ว" หากไม่ให้ปล่อยตัวต้องมีพฤติการณ์ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือมีเหตุอื่นเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ และหากศาลไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็จะคุมขังผู้ต้องหาและจำเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีเกินหนึ่งปีไม่ได้ โดยพรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขมาตรา 29 วรรคห้า และเพิ่มวรรคหก โดยระบุว่า
“สิทธิในการขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาย่อมได้รับความคุ้มครองและพิจารณาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวต้องเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าหากปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือมีเหตุอื่นเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ
จำเลยที่ศาลชั้นต้นไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเกินหนึ่งปีมิได้ และจำเลยที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือลงโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีเกินหนึ่งปีมิได้”
นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังได้เสนอเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอีกหนึ่งมาตรา คือมาตรา 29/1 ซึ่งเป็นการนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 กลับมาใช้ใหม่อีกครั้งโดยมีการปรับปรุงเล็กน้อย โดยระบุว่า  
“มาตรา 29/1 บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
(1)   สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง
(2)   สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซี่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง
(3)   บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
(4)   คู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในคดีมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรม
(5)   ผู้เสียหาย และพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสมและค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(6)   เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง และมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
(7)   ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้นับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้องรวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
(8)   ในคดีแพ่ง บุคคลมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐ”
3. คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ติชมด้วยความเป็นธรรมถูกจำกัดไม่ได้
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยได้แก้ไขมาตรา 34 วรรคหนึ่ง จากเดิมที่ระบุว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สามารถถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามที่บทบัญญัติขึ้นเพื่อรักษาความมั่งคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน โดยพรรคเพื่อไทยได้เพิ่มเติมประโยคสุดท้ายของวรรคนี้เข้าไปว่า “ทั้งนี้ บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจะจำกัดการติชมด้วยความเป็นธรรมมิได้” 
ข้อความดังกล่าว แม้เป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยปรากฎขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน หากเขียนเช่นนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมเป็นการเพิ่มให้การติชมด้วยความเป็นธรรมมีผลเป็นข้อยกเว้นความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทุกกรณี เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามมาตรา 198 ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามมาตรา 393 ด้วย
4. เพิ่มสิทธิสาธารณสุข “เสมอกัน” ไม่ต้องยากไร้ก็ได้รักษาฟรี
เดิม มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากได้ลดทอนสิทธิทางสาธารณสุขของประชาชนที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะการตัดคำว่า “สิทธิเสมอกัน” และการได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม” ออกไป จนนำไปสู่ความกังวลว่า จะเป็นการเปิดทางให้แก้ไขสิทธิของประชาชนในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “ล้มบัตรทอง” ในอนาคตได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม
การแก้ไขใหม่ในร่างฉบับของพรรคเพื่อไทยได้ยกเลิกมาตรา 47 ปัจจุบัน และได้เสนอแก้ไขใหม่โดยระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานและได้รับหลักประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้า”
5. ลดภาระพรรคการเมือง ไม่ยุบพรรคพร่ำเพื่อ
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ระบุให้ บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติ และวรรคสองกำหนดกรอบให้กฎหมายลูกที่จะต้องออกตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ตีกรอบสำหรับการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ซึ่งหลายประเด็นได้สร้างภาระที่เกินจำเป็นและอุปสรรคในการพัฒนาการเมืองให้เข้มแข็ง ซึ่งก็เป็นเป้าหมายทางการเมืองในการสืบทอดอำนาจของ คสช. อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเสนอยกเลิก มาตรา 45 วรรคสอง และเสนอให้กรอบในการจัดทำกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองใหม่ เพื่อให้ไม่สร้างภาระที่เกินความจำเป็นให้กับพรรคการเมือง
เปรียบเทียบ ม.54 วรรคหนึ่ง กรอบการจัดทำร่างกฎหมายลูกว่าพรรคการเมือง
รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย
กําหนดพรรคการเมืองให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้
การบริหารพรรคการเมืองซึ่งต้องมีความเป็นอิสระเปิดเผย ตรวจสอบได้ 
 
เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกําหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 
 
การเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 
 
กําหนดมาตรการให้สามารถดําเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงําหรือชี้นํา โดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น 
 
การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจและไม่เสียค่าใช้จ่าย
 
มาตรการกํากับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมือง กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง  การจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขั้นตอนและความยุ่งยากเกินควร
  การยุบพรรคการเมืองจะทำได้เฉพาะกรณีที่ปรากฎพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครอง
6. ห้ามศาลและเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับการทำรัฐประหาร เป็นประเพณีการปกครอง
ในร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐประหารอีกหนึ่งมาตรา คือ มาตรา 49/1 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1)     การทำรัฐประหารและการนิรโทษกรรมแก่ผู้ทำรัฐประหารจะกระทำมิได้
2)     ห้ามไม่ให้ศาล หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐยอมรับการทำรัฐประหาร
3)     ความผิดจากการทำรัฐประหารไม่ให้มีอายุความ
4)     บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านรัฐประหารหรือการกระทำอื่นที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยสันติวิธี
5)     การปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร ให้ถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
7. ฟื้นคำสั่งเรียก กมธ. ไม่ยกเว้นศาล และองค์กรอิสระ
หลังมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 คำสั่งเรียกของกรรมาธิการกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติในการเรียกผู้มีอำนาจทั้งจากรัฐบาลและกองทัพเข้ามาชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ รวมทั้งการเรียกเอาข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยมีพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการฯ กำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติคำสั่งเรียกด้วย อย่างไรก็ตามเครื่องมือนี้ได้ถูกทำลายความศักดิ์สิทธิ์ลงเมื่อ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จนในที่สุดพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกรรมาธิการฯ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคสี่ กำหนดให้ คณะกรรมาธิการของสภามีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในเรื่องที่กำลังพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่ได้ แต่การเรียกนั้นไม่ให้ใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาและตุลาการที่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในกระบวนวิธีพิจารณาอรรถคดี หรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และไม่ให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย เสนอให้ยกเลิก มาตรา 129 วรรคสี่ และใช้ความนี้แทน “คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ และให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ” โดยเพิ่มความชัดเจนให้คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และตัดข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญ 2560 มอบให้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระออกไป
แก้ระบบเลือกตั้งกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540
ร่างแก้ไขรัฐธรรนูญ ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ต้องการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับไปคล้ายกับระบบของปี 2540 โดยให้มี ส.ส. 500 คน มาจากการเลือกตั้งระบบแบ่งเขต 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
พรรคเพื่อไทยยังเสนอให้ปรับลดเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเหลือเพียงร้อยละ 1 (มาตรา 91) จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ถึงจะมีสิทธิได้รับที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ ร่างของพรรคเพื่อไทยยังกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง (มาตรา 85)
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในร่างของพรรคเพื่อไทยคือการลดอำนาจ กกต. จากเดิมที่มีอำนาจในเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งชั่วคราว เพิกถอนสิทธิในการรับสมัครหรือเลือกตั้ง รวมไปถึงการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือที่เรียกว่าการแจกใบเหลือง ใบส้ม หรือใบแดงแก่ผู้สมัคร ส.ส. โดยร่างของพรรคเพื่อไทยเสนอให้เป็นอำนาจของศาลในการวินิจฉัยแทน (มาตรา 92)
เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ได้ ยกเลิกนายกฯ คนนอก
รัฐธรรมนูญ 2560 สร้างล็อกเอาไว้ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น ทำให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีปัจจุบันเหลืออยู่เพียงห้าคน คือ ว่าที่นายกรัฐมนตรีบัญชีจากพรรคเพื่อไทยสามคน พรรคประชาธิปัตย์หนึ่งคน และพรรคภูมิใจไทยหนึ่งคน ดังนั้นถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง ก็มีเพียงสองวิธี คือ ให้เสนอชื่อว่าที่นายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง หรือนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชี 
ด้วยเหตุนี้พรรคเพื่อไทยจึงยกเลิกมาตรา 158 วรรคหนึ่ง เพื่อเปิดให้ ส.ส. จากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรสามารถเป็นนายกฯ ได้ ซึ่งปัจจุบัน ประกอบด้วยห้าพรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล รวมทั้งการยกเลิกมาตรา 272 ไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกฯ อีก รวมทั้งปิดช่องทางนายกฯ คนนอกด้วย
ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และยุติการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร
ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย เสนอยกเลิกมรดกของคณะรัฐประหารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศทั้งหมด โดยแก้ไขมาตรา 142 และมาตรา 162 วรรคหนี่ง ให้การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ และแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ไม่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 
รวมทั้งยกเลิกมาตรา 279 มาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นิรโทษกรรมการทำต่างๆ ของ คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วกฎหมาย