ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่: ใบอนุญาตปกปิดข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ปี 2540 หรือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปี 40 นับว่าเป็นหนึ่งในกฎหมายที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นให้ภาครัฐเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ทว่า กฎหมายดังกล่าวก็บังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยยังไม่มีการแก้ไขปรับปรุง แม้ว่าจะมีการเสนอแก้ไขปรับปรุงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง มีร่างกฎหมายมาแล้วหลายฉบับ
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ ซึ่งหลังจากมีการเปิดเผยเนื้อหาของร่างกฎหมายออกมา กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำให้หลักการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการจากให้เปิดเผยเป็นหลัก ไม่เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น กลายเป็น “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” เช่น การกำหนดข้อยกเว้น “ห้ามเปิดเผย” ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผยแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงของรัฐในหลายๆ ด้าน หากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษทางอาญาด้วย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตา คือ กฎหมายฉบับดังกล่าวถูกเสนอในฐานะร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือหมายความว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภา กฎหมายฉบับนี้ก็จะถูกพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งแตกต่างจากการเสนอร่างพระราชบัญญัติทั่วไปที่จะต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วเสร็จจึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา และทำให้ฝ่ายรัฐบาลคสช. ที่ใกล้ชิดกับวุฒิสภาได้เปรียบในการผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าว
แก้นิยามเพิ่มคำว่า “ข้อมูลสาธารณะ” หรือข้อมูลที่ต้องเปิดเผยโดยไม่ต้องร้องขอ
ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มีการแก้ไขนิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” จากเดิมที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ปี 2540 กำหนดไว้ว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน แต่ใน ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ฉบับใหม่ ได้เพิ่มคำใหม่หนึ่งคำ คือว่า “ข้อมูลสาธารณะ” เข้าไป
โดยคำว่า ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เป็นคำใหม่ที่ยังไม่มีปรากฏในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ มาก่อน และนิยามของคำดังกล่าว ตามร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐ “ต้อง” เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบหรือตรวจดูได้โดยไม่จำเป็นต้องร้องขอ
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ปรากฏเพียงแต่ในส่วนนิยามถ้อยคำตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังส่งผลสืบเนื่องไปถึงชื่อหมวด 1 ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งยังคงใช้บังคับอยู่ ได้กำหนดชื่อหมวด 1 ไว้ว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการได้แก้ไขชื่อหมวดดังกล่าวเป็น ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ดังนั้นเมื่อพิจารณาประกอบกับนิยามที่มีการเพิ่มเติมมาในข้างต้น บทบัญญัติส่วนหนึ่งในหมวด 1 จึงเป็นเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ โดยที่ไม่ต้องมีการร้องขอ
บังคับเปิดเผยข้อมูล “แผนงาน-งบประมาณ-สัญญาของรัฐ” ผ่านระบบดิจิทัล
พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ ได้กำหนดให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะอย่างน้อย 2 ประเภท ได้แก่
หนึ่ง ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานรัฐต้องส่งลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 7 เช่น สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญไปจากเดิมนัก เพียงแต่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำในตัวบทกฎหมายจากคำว่าข้อมูลข่าวสาร เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
สอง ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจดูได้ ตามมาตรา 9 เช่น แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ หรือ คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ตามมาตรา 13/1 และมาตรา 13/2 และมาตรา 15
อย่างไรก็ดี ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ ได้เพิ่มลักษณะของข้อมูลที่ต้องเปิดเผยด้วย เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาของรัฐ หรือ สัญญาทางปกครอง สัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ที่เกี่ยวกับการขยายหรือต่ออายุสัญญา การงด ลด เพิ่มค่าสัมปทานหรือค่าปรับ และการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าว รวมถึงให้เปิดเผย ข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาต การต่ออายุ การยกเลิกเพิกถอน หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการอนุญาตต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะผ่านระบบดิจิทัล และยังกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดหาข้อมูลให้ประชาชนผู้ขอข้อมูลนั้นภายใน 30 วัน
ข้อมูลความมั่นคง-กระทบสถาบันกษัตริย์ ห้ามเปิดเผยอย่างน้อย 30 ปี-ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 10 ปี 
แม้ว่าร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ จะกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ ตามมาตรา 7 และ 9 แต่ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็มีการกำหนดให้ข้อมูลบางประเภทห้ามไม่เปิดเผย ดังนี้
หนึ่ง ข้อมูลตามมาตรา 13/1 ที่ระบุว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย จะเปิดเผยมิได้”
มาตราดังกล่าวเป็นการแก้ไขมาตรา 14 เดิม ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปี 2540 ที่ห้ามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ทว่า การแก้ไขใหม่ในครั้งนี้เป็นการขยายขอบเขตข้อมูลที่ห้ามไม่ให้เปิดเผย โดยไม่ได้ดูแค่เนื้อหาของข้อมูลที่ห้ามเปิดเผย แต่ให้มองไปถึงว่า ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยหรือไม่ นั้นเท่ากับรัฐจะมีดุลยพินิจในการเลือกเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลได้กว้างขึ้น
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การกำหนดไว้เช่นนี้ในมาตรา 13/1 ของร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น หากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้วมีการบังคับใช้ จะส่งผลต่อการใช้และการตีความกฎหมายในทางปฏิบัติหรือไม่ ตัวอย่างเช่น หากมีประชาชนยื่นคำร้องต่อสำนักงบประมาณ ให้เปิดเผยข้อมูลงบประมาณของ “ส่วนราชการในพระองค์” ให้ละเอียดขึ้นกว่าที่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงบประมาณ เพราะในเอกสารงบประมาณระบุข้อมูลการตั้งงบประมาณสำหรับส่วนราชการในพระองค์แบบรวมๆ ว่าเป็นงบเงินอุดหนุนเท่านั้น ไม่ได้แจกแจงว่าเป็นงบบุคลากรและงบดำเนินงานเท่าใด (ดูเอกสารงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ ประจำปีงบประมาณ 2564 ที่นี่) กรณีเช่นนี้จะถูกตีความว่า “หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” จนเป็นเหตุสำนักงบประมาณไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวหรือไม่
สอง ข้อมูลตามมาตรา 13/2 ที่ระบุว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยของบุคคลและข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยข้อเสนอของคณะกรรมการ จะเปิดเผยมิได้”
ทั้งนี้ ข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามมาตรา 13/2 นั้น ยังมีการระบุรายละเอียดไว้ในมาตรา 13/3 ถึง มาตรา 13/7 อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 13/3 กำหนดให้ข้อมูลด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งทางทหาร การรักษาความปลอดภัยที่ตั้ง อัตราการจัดหน่วยและกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ การกำหนดให้ข้อมูลดังกล่าวห้ามเปิดเผยจะกลายเป็น “ใบอนุญาต” ในการปกปิดข้อมูลของกองทัพหรือไม่ เพราะภายใต้บทบัญญัติมาตรา 13/2 จะทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ดำเนินการอยู่ที่เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์ จะเปิดเผยมิได้
อีกทั้ง ในมาตรา 13/8 ยังกำหนดไม่ให้นำกฎหมายอื่นมาบังคับเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 13/1 และมาตรา 13/2 ด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคงตามมาตรา 13/2 นั้นให้เปิดเผยได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลหรือตามระเบียบที่ครม. กำหนด ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้ ก็มีข้อสังเกตว่า กฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกตรวจสอบความโปร่งใสภาครัฐก็จะไม่ถูกบังคับใช้กับข้อมูลที่กองทัพอ้างว่าเป็นข้อมูลด้านความมั่นคง
อย่างไรก็ดี ข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผยทั้งสองประเภทข้างต้น ตามมาตรา 13/1 และมาตรา 13/2 ก็ไม่ได้ห้ามเปิดเผยตลอดไป เพียงแต่จะเปิดเผยได้เมื่อเวลาล่วงพ้นไปตามที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยในร่างพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการได้กำหนดไว้ในมาตรา 26/1 ให้ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 13/1 เปิดเผยได้เมื่อครบเจ็ดสิบห้าปี ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 13/2 ให้เปิดเผยได้เมื่อครบสามสิบปี ส่วนข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐใช้ดุลยพินิจไม่เปิดเผยตามมาตรา 15 ให้เปิดเผยเมื่อครบยี่สิบปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารนั้น
แต่ในระหว่างที่ข้อมูลดังกล่าวยังเปิดเผยไม่ได้ ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 41/2  โดยระบุว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนเปิดเผยข้อมูลที่ห้ามไม่ให้เปิดเผยตามมาตรา 13/1 และมาตรา 13/2 ด้วย โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเปิดเผยเมื่อเวลาล่วงพ้นกำหนดที่ให้เปิดเผยได้ตามมาตรา 26/1 จะไม่มีความคิด
เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจในการปกปิดข้อมูลสาธารณะ
ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ได้มีการเพิ่มมาตรา 11/1 เข้ามา โดยระบุว่า กรณีที่มีผู้ยื่นคำขอข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีลักษณะก่อกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ หรือสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบข้อมูลข่าวสารนั้น จะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ขอก็ได้ แต่ต้องระบุเหตุผลให้ผู้ขอทราบด้วย หรือหมายความว่า เจ้าหน้าที่มีสิทธิปฏิเสธการให้ข้อมูลโดยใช้ดุลยพินิจได้
นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ยังมีการเพิ่มหมวด “ข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่มีดุลพินิจในการเปิดเผย” โดยไปกำหนดลักษณะของข้อมูลที่ให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลก็ได้ ดังนี้
  • การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการเงินการคลังของประเทศ
  • การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม
  • ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็น หรือคำแนะนำภายในดังกล่าว
  • การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
  • รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
  • ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
  • กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
บังคับสภาและศาลให้พิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผยเป็นการลับ
ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ นอกจากการกำหนด “ห้ามเปิดเผย” ในหมวด 1/1 และกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการยังกำหนดให้การพิจารณาคดีในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ให้ศาลพิจารณาเป็นการลับไว้ในมาตรา 13/9 ดังนี้
“มาตรา 13/9 การพิจารณาคดีในศาลในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผยตามหมวดนี้ ให้ศาลพิจารณาเป็นการลับ และห้ามมิให้เปิดเผยเนื้อหาสาระของข้อมูลและวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ให้ศาลรับฟังข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีได้”
โดยการพิจารณาคดีโดยลับตามมาตรา 13/9 นี้ ไม่ได้หมายความเฉพาะการพิจารณาคดีของผู้ที่มีความผิดฝ่าฝืนเปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการที่ห้ามเปิดเผย แต่ยังรวมไปถึงการพิจารณาคดีอื่นๆ โดยอาจเป็นคดีทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย
อีกทั้ง ในมาตรา ในมาตรา 13/6 วรรคสุดท้าย ยังบังคับด้วยว่า ในกรณีที่รัฐสภาต้องพิจารณเกี่ยวกับข้อมูลด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ให้การพิจารณาดังกล่าวกระทำ เป็นการลับและจะเปิดเผยรายงานการประชุมลับดังกล่าวมิได้
นอกจากนี้ ในมาตรา 19 ยังกำหนดให้ การพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผยตามมาตรา 13/1 และ 13/2 โดยคณะกรรมการหรือคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นการลับ ส่วนการพิจารณาที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มีคำสั่ง มิให้เปิดเผยตามมาตรา 15 ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิให้ข้อมูลข่าวสารนั้นเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดที่ไม่จำเป็นแก่การพิจารณา
ลดจำนวนคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร-แต่เพิ่มข้าราชการเป็นกรรมการชั่วคราวได้
ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 27 ได้เปลี่ยนแปลงสัดส่วนของ “คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ” จากเดิมที่มีกรรมการทั้งหมด 23 คน ก็ลดเหลือ 21 คน ซึ่งประกอบไปด้วย รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม. แต่งตั้ง จำนวน 9 คน
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าจะมีการลดจำนวนคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารลง แต่จำนวนของ “ข้าราชการประจำ” ที่เป็นผู้ถือครองข้อมูลข่าวสารสาธารณะก็ยังเป็นสัดส่วนเสียงข้างมาก และถ้าในการประชุมครั้งใดมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของปลัดกระทรวงหรือหัวหน้า ส่วนราชการอื่น คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการจะมีมติให้เชิญปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการนั้นให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ โดยให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการและนับเป็นองค์ประชุมสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น
บังคับให้มี “ตัวแทนหน่วยงานความมั่นคง” ในคณะกรรมการวินิจฉัย
ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ มาตรา 35 กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่ง ครม. แต่งตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ และในมาตรา 36 กำหนดให้ให้คณะกรรมการวินิจฉัยในคณะต่างๆ ต้องประกอบไปด้วยบุคคลไม่น้อยกว่า 3 คน แต่อย่างไรก็ดี ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ มาตรา 36/1 กำหนดให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อมูลด้านความมั่นคงต้องมีตัวแทนหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าไปเป็นกรรมการด้วย