7 ปี แห่งความถดถอย. : เมื่อการเมืองสองมาตรฐาน เพราะเกมถ่วงความยุติธรรม

ความขัดแย้งทางการเมืองทางไทยที่ร้าวลึกยาวนานข้ามทศวรรษ จนสามารถส่งต่อความขัดแย้งผ่านคนอีกรุ่นสู่คนอีกรุ่นได้เป็นผลมาจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถูกนิยามว่า “สองมาตรฐาน” หรือบ้างก็มองว่า “ไร้มาตรฐาน” จนกลายเป็นคำขวัญทางการเมืองที่ว่า “ความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีไม่เกิด” ซึ่งสะท้อนความวุ่นวายที่เกิดขึ้นอย่างหาทางออกไม่ได้ในทุกวันนี้
หลังการรัฐประหารปี 2549 องค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยเข้ามายึดพื้นที่ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  กล่าวคือ องค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาทและเล่นการเมืองมากยิ่งขึ้นผ่านการส่งคนเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการในองค์กรอิสระ และยิ่งเด่นชัดขึ้นอีกภายหลังการรัฐประหารปี 2557 จนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญกลายเป็นส่วนสำคัญในการรักษาอำนาจตลอดเจ็ดปีให้กับระบอบ คสช.
เครือข่ายองค์กรตามรัฐธรรมนูญสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร 2557
ระยะเวลาห้าปีภายใต้ระบอบเผด็จการ คสช. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอยู่ภายใต้อำนาจหรือเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาล คสช. อย่างแยกไม่ออก และมีลักษณะเป็นเหมือนส่วนราชการที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ พลเอกประยุทธ์ สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยมีมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รองรับการกระทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมายได้ ดังตัวอย่างการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ปลด สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง
แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านั้น คือ ส่วนหนึ่งในการโค่นรัฐบาลพลเรือนสร้างเงื่อนไขจนนำมาสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กล่าวคือ ตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 การเมืองกำลังจะเดินไปสู่การเลือกตั้งตามครรลองของประชาธิปไตยกลับต้องสะดุด เพราะมีความพยายามจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ร่วมมือกับมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านและวุฒิสภาแต่งตั้ง ในการสร้างเงื่อนไขให้การเมืองเดินไปสู่ทางตัน
ดังที่เราจะเห็นได้ว่า เส้นทางไปสู่การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เต็มไปด้วยขวากหนาม จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และต่อมายังปลดยิ่งลักษณ์จากการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ จนนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า แม้หลังการรัฐประหาร คสช. จะประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ยังคงได้ทำหน้าที่ต่อ กรรมการแต่ละคนยังอยู่ในตำแหน่งและได้รับค่าตอบแทนไปเรื่อยๆ แม้หลายคนหมดวาระลงก็ยังได้รับสิทธิพิเศษต่ออายุให้ทำหน้าที่ต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ
อยู่นาน จึงวางฐานอำนาจผ่านสภาแต่งตั้งสำเร็จ
การครองอำนาจที่ยาวนานของระบบเผด็จการ คสช. ทำให้พวกเขามีเวลามากพอที่จะจัดสรรอำนาจด้วยการส่งคนในเครือข่าย คสช. เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่า คสช. ออกประกาศให้การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระยังคงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกล้มไปแล้ว แต่ความเป็นจริงกระบวนสรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับว่า มีความชอบธรรมในการยึดโยงกับประชาชน
ทั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้ง โดยรวมแล้วกรรมการสรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะมีที่มาจากฝ่ายตุลาการ และองค์กรต่างๆ หมุนเวียนมาเลือกกันเอง อีกทั้งก็ไม่น่าแปลกใจว่าคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งจะไม่ใช่คนอื่นคนไกลจากวงอำนาจ หรือถ้ามีใครที่น่าสงสัยหลุดไปได้ก็จะมี สภานิติบัญญัติแห่งชาติกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการพิจารณาแต่งตั้งผู้ตรวจแผ่นดิน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ สนช. เคยไม่ปฎิเสธไม่เห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งเนื่องจากสงสัยในความเกี่ยวพันกับขั้วการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
ในยุคเผด็จการ คสช. ได้ใช้ สนช. ในการเห็นชอบบุคคลให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 34 คน และหลังมีการเลือกตั้งในปี 2562 รัฐบาล คสช. เปลี่ยนเครื่องทรงสวมชุดประชาธิปไตย แต่กระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระยังคงอยู่ในมือคณะกรรมการสรรหาที่มาจากตัวแทนของอำนาจตุลาการ และยังคงต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เช่นเดิมเหมือนครั้งที่ยังเปลือยกายเป็นเผด็จการ
ที่มาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบัน
 
 
ปัจจุบันในวาระครบรอบ 7 ปี คสช. มีผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ จำนวน 39 คน โดยทั้งหมดมาจากกระบวนการแต่งตั้งโดย คสช. ด้วยวิธีการที่แต่งตั้งกัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 วิธี
วิธีที่ 1 ส.ว.แต่งตั้ง คือ วิธีปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 250 คน มีหน้าที่เห็นชอบบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
วิธีที่ 2 สนช. แต่งตั้ง คือ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งจาก คสช. ในยุคก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบอยู่ 5 ปี
วิธีที่ 3 ต่ออายุโดย สนช. คือ การออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล เพื่อให้กรรมการองค์กรอิสระเดิมที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ได้ตามกฎหมายลูกฉบับใหม่ จนกว่าจะเกษียรอายุราชการ
วิธีที่ 4 ต่ออายุโดย คสช. คือ การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่ออายุการทำงานให้ตุลาการศาลรัฐธรรมแม้จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว
 

 

7 ปีศาลรัฐธรรมนูญ หน้าที่รักษาอำนาจเผด็จการ คสช. เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ
ในบรรดาองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่นับว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะถูกวางบทบาทให้เป็นองค์กรสุดท้ายที่มีอำนาจตัดสินเพื่อยุติข้อพิพาททางการเมือง ก่อนการเลือกตั้ง ในปี 2563 ชื่อเสียงของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะยังไม่ลือลั่นมากนัก แต่การทำหน้าที่ในช่วงห้าปีแรกภายใต้ระบอบเผด็จการ คสช. ก็ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการรักษาอำนาจให้คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานสุด และรองรับการกระทำทุกอย่างของ คสช. แม้จะขัดหลักการทางกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญก็ตาม
ขณะที่หลังการเลือกตั้งปี 2562 บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญได้รับการจับตามากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากคำตัดสินหลายคดีที่ค้างคาใจสังคม เช่น กรณีการไม่รับคำร้องกรณีคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ หรือกรณีขัดกันแห่งผลประโยชน์จากกรณีที่พลเอกประยุทธ์พักบ้านหลวง โดยศาลอ้างระเบียบกองทัพบกเหนือรัฐธรรมนูญ การปกป้องร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า จากคุณสมบัติที่เคยมีคดีค้ายาเสพติด ในทางตรงกันข้าม และอีกด้านหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่กำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของ คสช. ด้วย โดยเฉพาะในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ที่กลายเป็นภัยคุกคามใหม่ จนต้องใช้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในที่สุด
ในช่วงตั้งแต่มีรัฐบาล คสช. 2 หลังการเลือกตั้ง ผลคดีจากศาลรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นถึงความ "สองมาตรฐาน" ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคุณต่อฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้านอย่างชัดเจน แม้ในกรณีที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินต่างกัน เช่น กรณีการถือหุ้นสื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ กับ ภาดาร์ วรกานนท์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ทั้งสองมีกิจการที่เกี่ยวกับการทำสื่อเช่นกัน แต่ธนาธรถูกตัดสินให้พ้นสภาพความเป็น ส.ส. ส่วน ภาดาร์ ยังดำรงตำแหน่งต่อไปได้ หรือ กรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลลงคะแนนเสียง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ให้ลงคะแนนใหม่ได้ แต่ย้อนกับไปในปี 2556 ที่มีการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้มีการโหวตแทนกัน จนเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญรล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผู้ที่เสียบบัตรแทนกันถูกดำเนินคดีโดย ป.ป.ช. และถูก สนช. ตัดสิทธิทางการเมืองด้วย