สำรวจสี่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษ-อากาศสะอาด แก้ปัญหา PM 2.5

ปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายๆ ประเทศต้องเผชิญ โดยเฉพาะในประเทศที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยการพึ่งพาอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ซึ่งปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศจีนและประเทศเกาหลีใต้ต่างก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน แต่ทั้งสองประเทศต่างก็มีมาตรการจากรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจีน นอกจากจะมีมาตรการในทางบริหารโดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคมนาคมแล้ว ยังมีการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ ในขณะที่เกาหลีใต้ รัฐบาลได้ห้ามไม่ให้รถยนต์จดทะเบียนก่อนปี 2005 เข้ามาวิ่งในกรุงโซล และลดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนและถ่านหิน
ทางด้านไทย ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เช่นเดียว แม้จะมีมาตรการจากฝ่ายบริหาร เช่น การฉีดน้ำลดฝุ่น การจัดทำแอพพลิเคชั่น Air4Thai สำหรับแจ้งข้อมูลค่าฝุ่นละออง แต่ก็ยังไม่มีการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเพื่อจัดการปัญหามลพิษให้เกิดอากาศสะอาดอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา มีผู้เสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษและอากาศสะอาดถึงสี่ฉบับด้วยกัน จากผู้เสนอกฎหมายสี่ฝ่าย อันได้แก่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ส.ส.พรรคก้าวไกล และภาคประชาชนสองกลุ่ม นำโดยสภาหอการค้าไทย และเครือข่ายอากาศสะอาด
สามร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาด-มลพิษ ไร้วี่แววเข้าสู่สภา เหตุนายกฯ ยังไม่รับรอง
ในช่วงปี 2563 จนถึงปี 2564 มีร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหามลพิษและเกี่ยวข้องกับอากาศสะอาดที่เสนอต่อสภาแล้วสามฉบับ และมีร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ในกระบวนการรวมรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอต่อสภาหนึ่งฉบับ รวมสี่ฉบับด้วยกัน ได้แก่ 
1) ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ….  เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย เมื่อ 9 กรกฎาคม 2563   
2) ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….  ที่เสนอโดยประชาชน โดย Voice Online รายงานว่า ผู้ริเริ่มร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบไปด้วย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 คน และนำรายชื่อมาส่งมอบต่อสภาเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563
4) ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….  ริเริ่มโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ถึง 10,000 ชื่อ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (สามารถอ่านวิธีการร่วมลงชื่อได้ที่นี่)
โดยร่างกฎหมายสองฉบับแรกนั้น เว็บไซต์ระบบรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ระบุว่าเป็นร่างที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่าเป็นร่างพ.ร.บ.การเงินฯ ในขณะที่ร่างกฎหมายฉบับที่สามนั้นแม้ในเว็บไซต์ดังกล่าวจะระบุว่าเป็นร่างที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่า ไม่เป็นร่างพ.ร.บ.การเงินฯ แต่ข่าวสดรายงานว่า เมื่อ 19 มกราคม 2564 ที่ประชุมกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร มีมติว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างพ.ร.บ.การเงินฯ ด้วยคะแนนเสียง 21 ต่อ 6 เสียง
ผลของการเป็นร่างพ.ร.บ.การเงินฯ คือ หากร่างพ.ร.บ.นั้นเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชน จะต้องได้รับ “คำรับรอง” จากนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะเสนอสู่การพิจารณาของสภาได้ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 ภายใต้ฐานคิดที่ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นผู้ใช้เงินงบประมาณ จึงมีความรู้สถานะทางการเงินการคลังของประเทศเป็นอย่างดี โดยเหตุนี้กฎหมายใดที่จะส่งผลต่อสถานะการเงินการคลังของรัฐ จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองเสียก่อน อย่างไรก็ดี การกำหนดเช่นนี้ก็ส่งผลในทางปฏิบัติด้วย แม้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะมาจากการเสนอโดยผู้แทนประชาชน หรือมาจากการที่ประชาชนเสนอเองโดยตรง แต่ก็อาจถูกปัดตกหรือถูกดองได้ในขั้นตอนนี้ (อ่านบทความ "พ.ร.บ.การเงินฯ" กับ อำนาจนายกฯ สำหรับ 'ปัดตก' หรือ 'ดอง' กฎหมาย ได้ที่นี่)
โดยเหตุที่ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย  ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยประชาชน และร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ล้วนแต่เป็นร่างพ.ร.บ.การเงินฯ ที่ต้องรอ “คำรับรอง” ของนายกฯ ก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานว่านายกฯ ได้ให้คำรับรองสามร่างกฎหมาย ทั้งๆ ที่การจัดการกับปัญหาฝุ่นมลพิษขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นเรื่องที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนมาต่อเนื่องยาวนาน การที่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอากาศสะอาด-มลพิษทางอากาศไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในสภา ปัญหาอย่างหนึ่งก็มาจากการที่นายกฯ ยังไม่ได้ให้ “คำรับรอง” ต่อสามร่างกฎหมายดังกล่าว
สองร่างกฎหมายจากส.ส.ภูมิใจไทย-ประชาชน กำหนดหน้าที่รัฐต้องจัดระบบอากาศสะอาดเพื่อประชาชน
ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย และร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยประชาชน นอกจากช่วงเวลาในการเสนอร่างกฎหมายและรวบรวมรายชื่อส่งสภาจะใกล้เคียงกันแล้ว เนื้อหาของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังใกล้เคียงกันด้วย โดยร่างกฎหมายทั้งสองฉบับต่างก็รับรองสิทธิในการได้รับอากาศสะอาดของบุคคล สิทธิทางศาลในการฟ้องร้องต่อผู้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่ออากาศสะอาด
นอกจากกำหนดสิทธิประชาชนแล้ว ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังกำหนดหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดระบบบริหารเพื่อให้เกิดอากาศสะอาด ผ่านการจัดนโยบายระดับชาติ การสั่งการหน่วยงานรัฐ การจัดสรรงบประมาณ กำหนดให้รัฐต้องพัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเตือนภัยแก่ประชาชนเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ  นอกจากนี้แล้ว ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมไปถึงระดับประชาคมอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศ ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นสิ่งที่ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยประชาชนไม่ได้กำหนดไว้
ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้กำหนดโครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชน โดยมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกัน แยกพิจารณาได้ดังนี้
คณะกรรมการอากาศสะอาด ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลอากาศสะอาดจากหลายกระทรวง เนื่องจากร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย กำหนดเรื่องการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการเป็นคณะกรรมการอากาศสะอาดด้วย 
ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย และร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยประชาชน ยังได้กำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการป้องกันหรือแก้ไขคุณภาพอากาศสะอาดของคณะกรรมการอากาศสะอาด ซึ่งมีจำนวนไม่เกินแปดคน โดยกำหนดให้ต้องมีผู้แทนเอกชนหรือภาคประชาชนด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่าสี่คน
ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับกำหนดอำนาจของคณะกรรมการอากาศสะอาดไว้เหมือนกันในสาระสำคัญ โดยคณะกรรมการอากาศสะอาดมีอำนาจกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด แต่งตั้งคณะกรรมการมลพิษทางอากาศ เสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการพัฒนาอากาศสะอาดต่อคณะรัฐมนตรี เสนอแนะมาตรการด้านการเงิน การคลัง ภาษีอากร ต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนาอากาศสะอาดที่ต้องไม่ขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติด้วย ฯลฯ จะเห็นได้ว่าแม้คณะกรรมการอากาศสะอาดจะมีอำนาจ แต่ท้ายที่สุดแล้วหลายอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี และต้องไม่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ
คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการอากาศสะอาด โครงสร้างองค์กรประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ในระดับกรรมการประกอบไปด้วยข้าราชการประจำระดับอธิบดีหลายกระทรวง นอกจากนี้ยังมีกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้วย ในร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้กำหนดให้ผู้แทนภาคเอกชนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ไม่มีในร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยประชาชน
สำหรับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมลพิษทางอากาศ ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับกำหนดเหมือนกันในสาระสำคัญ ให้คณะกรรมการมลพิษทางอากาศมีอำนาจหน้าที่กำหนดประเภทและลักษณะของมลพิษ ค่าความเป็นมลพิษ พิจารณาและให้ความเห็นชอบเสนอรัฐมนตรีให้ประกาศกำหนดเขตพื้นที่มลพิษระดับวิกฤติ ประสานงานระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน เพื่อป้องกันและลดมลพิษทางอากาศ ฯลฯ
เจ้าพนักงานอากาศสะอาด ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับกำหนดอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานอากาศสะอาด สามารถออกหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจง เพื่อตรวจสอบหรือเป็นหลักฐานในการกำหนดมาตรฐานอากาศสะอาด สามารถเข้าไปในอาคาร สถานที่ใดๆ เพื่อตรวจสอบ ควบคุม หรือสั่งให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และเจ้าพนักงานอากาศสะอาดมีอำนาจสั่งให้เจ้าของรวมไปถึงผู้ครอบครองมลพิษหรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลมลพิษทางอากาศต้องส่งข้อมูลให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
กรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่อำนวยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานอากาศสะอาด ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยประชาชน กำหนดโทษไว้ที่ปรับไม่เกินห้าพันบาท ในขณะที่ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย กำหนดโทษกรณีไว้แต่ละกรณีแตกต่างกันออกไป โดยมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่พฤติการณ์กรณี
การรับมือปัญหามลพิษเพื่ออากาศสะอาด ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับกำหนดหลักการ มีสาระสำคัญเหมือนกันว่า ในกรณีที่ปรากฏว่าเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมีมลภาวะทางอากาศร้ายแรงจนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน หรืออาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการอากาศสะอาดสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตมลพิษ ซึ่งคณะกรรมการด้านวิชาการจะต้องทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด เข้าไปตรวจสอบกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษในเขตมลพิษนั้นๆ และสามารถสั่งการให้ยุติกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ หากเขตมลพิษนั้นยังมีมลพิษเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ
ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังกำหนดบทบาทของกรมควบคุมมลพิษและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นบทบาทในเชิงรับ โดยจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือปัญหามลพิษ ให้อำนาจคณะกรรมการอากาศสะอาดในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประโยชน์ในการจัดระบบสภาพแวดล้อม
ก้าวไกลเสนอจัดทำฐานข้อมูลมลพิษเผยแพร่ต่อสาธารณะ องค์กรใดเลี่ยงไม่ส่งข้อมูลเจอโทษปรับทางปกครองและโทษอาญา
ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR) เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล มีหลักการที่เป็นสาระสำคัญแตกต่างไปจากร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับอากาศสะอาดฉบับอื่นๆ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การจัดทำฐานข้อมูลด้านมลพิษซึ่งเป็นต้นตอของปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลมลพิษและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับการจัดทำฐานข้อมูลมลพิษ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้บุคคล นิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือหน่วยงานรัฐ ที่ผลิต มีไว้ในครอบครอง เคลื่อนย้าย หรือปล่อยสารมลพิษที่มีประกาศกำหนดลงสู่สิ่งแวดล้อม ต้องจัดทำรายงานข้อมูลชนิดและปริมาณการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษต่อกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ต้องประเมินปริมาณการปล่อยสารพิษจากแหล่งกำเนิดสารพิษนั้นๆ และจัดส่งข้อมูลให้แก่กรมควบคุมมลพิษเช่นกัน 
ซึ่งกรมควบคุมมลพิษก็จะวิเคราะห์และจัดทำฐานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษจากรายงานทั้งสองส่วน ประมวลผลข้อมูลดังกล่าว จากนั้นจึงเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและช่องทางอื่นๆ วิธีนี้เองที่จะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า ในเขตการปกครองที่ตนเองอาศัยอยู่หรือเขตอื่นๆ นั้น มีปริมาณการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดลงสู่สิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ เป็นสารมลพิษประเภทใดบ้าง และสถานประกอบการใดที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษ
ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ได้กำหนดบทบาทของหน่วยที่เกี่ยวข้อง หลักๆ คือ กรมควบคุมมลพิษ คณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยอำนาจหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษนอกจากจัดเก็บรายงานมลพิษ วิเคราะห์ ประมวลผล และเผยแพร่แล้ว ยังต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ จัดให้มีการศึกษาวิจัยและประเมินความอันตรายของสารมลพิษ และเผยแพร่ของมูลต่อสาธารณชน รวมไปถึงการเสนอเรื่องที่อาจกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนต่อคณะกรรมการฯ เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็น
คณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ มีอำนาจหน้าที่สำคัญคือการออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับเรื่องบัญชีรายชื่อสารมลพิษ เกณฑ์ปริมาณการผลิตและการมีไว้ในครอบครอง และเกณฑ์ปริมาณการปล่อยสารพิษลงสู่สิ่งแวดล้อม และสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณากำหนดโทษทางปกครองกรณีที่บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสารมลพิษนั้นไม่ยอมรายงานข้อมูล
ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาต การพักใช้ หรือการเพิกถอนการประกอบกิจการ ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข
ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ได้กำหนดบทลงโทษสองรูปแบบด้วยกัน 
รูปแบบแรก คือโทษปรับทางปกครอง ในกรณีที่บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสารมลพิษนั้นไม่ยอมรายงานข้อมูล หรือกรณีที่ไม่ยอมรายงานข้อมูล และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้สั่งให้ส่งรายงานหรือส่งข้อมูลแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมส่งรายงานหรือข้อมูล อธิบดีมีอำนาจปรับในอัตราไม่เกินหนึ่งล้านบาทของรายได้ในปีที่กระทำผิด หรือถ้ากระทำผิดปีแรก ปรับในอัตราไม่เกินหนึ่งล้านบาท  และปรับเพิ่มวันละตั้งแต่ 20,000 – 50,000 บาทหากยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดี
รูปแบบที่สอง โทษทางอาญา ในกรณีที่บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสารมลพิษ รายงานข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่เรียกให้มาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา และได้ชี้แจงหรือส่งเอกสารอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ 500,000 – 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่มาชี้แจงหรือไม่ส่งเอกสารชี้แจงตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
ภาคประชาชนเสนอร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ คุ้มครองกลุ่มเปราะบางตรวจสุขภาพฟรี จัดตั้งองค์กรดูแลอากาศสะอาด
อีกหนึ่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด คือ ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการรวบรวมรายชื่อให้ถึง 10,000 รายชื่อเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอกฎหมายต่อไป โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติทั้งสิ้น 124 มาตรา ซึ่งยาวกว่าร่างกฎหมายสามฉบับข้างต้น และเนื้อหาหลายอย่างมีความซับซ้อนกว่า
โดยหลักการพื้นฐาน ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ได้รับรองสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของบุคคล รัฐมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองเช่นเดียวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิทธิดังกล่าวต้องได้รับการเคารพและไม่ถูกละเมิดจากบุคคลและหน่วยงานของรัฐ กรณีของบุคคลที่อยู่ในข่ายของ “กลุ่มเปราะบาง” ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภูมิต้านทานและความทนทานในการรับปริมาณสารมลพิษได้ต่ำกว่าบุคคลทั่วไป เช่น เด็ก ผู้มีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยทางเดินหายใจ ผู้ทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่ต้องอยู่ในพื้นที่หมอกควันพิษปกคลุม มีสิทธิได้รับการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเฝ้าระวังแนวโน้มการเกิดโรคจากสภาวะหมอกควันพิษปกคลุม การกำหนดเช่นนี้ไม่ปรากฏในร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน และร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 
ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐ ต้องให้ข้อมูลด้านที่มาของปัญหาคุณภาพอากาศแก่ประชาชน เช่น ข้อมูลบัญชีการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายหมอกควันพิษ รัฐต้องรับฟังข้อมูลข้อร้องเรียนจากประชาชน ต้องจัดเก็บ รวบรวม ประมวลผลข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนประชาชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณแก่ภาคเอกชนหรือประชาชนเกี่ยวกับการจัดระบบหรือเผยแพร่ข้อมูลอากาศสะอาด ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของรัฐข้างต้นเป็นไปเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอากาศสะอาด และได้กำหนดมีสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยรัฐต้องรับเรื่องร้องเรียนและให้คำแนะนำแก่ผู้ร้องเรียนในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับหมอกควันพิษ เพื่อที่ผู้ร้องเรียนจะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหาย 
ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ กำหนดโครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการอากาศสะอาดอย่างมีบูรณภาพ ดังนี้
คณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาด (คณะกรรมการร่วม) ประกอบไปด้วยบุคคลจากหลายภาคส่วนทั้งคณะรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐ ภาคประชาชน เพื่อทำนโยบายและแผนแม่บทในการกำกับดูแลและการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ การทำแผนแม่บทนั้นจะต้องพิจารณาความเห็นของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหามลพิษในอากาศมาพิจารณาประกอบด้วย ทั้งนี้แผนแม่บทต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
คณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ (คณะกรรมการกำกับ) มาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพ ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม  มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ตรวจสอบ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามนโยบายและแผนแม่บทที่คณะกรรมการร่วมกำหนด และสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระดับการแจ้งเตือนเมื่อพบว่าคุณภาพอากาศต่ำกว่าดัชนีคุณภาพอากาศสะอาด
องค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ (อ.อ.ส.ส.) มีสถานะเป็นนิติบุคคล วัตถุประสงค์เพื่อกำกับ ดูแล ติดตาม ดำเนินการจัดการอากาศสะอาดอย่างบูรณาการ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามนโยบายและแผนแม่บทที่คณะกรรมการร่วมจัดทำขึ้น รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษจากแหล่งกำหนดหมอกมลพิษ ส่งเสริมการวิจัย สนับสนุนข้อมูล และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และบริการจัดการกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ
อีกกลไกที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ คือการกำหนด “เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด” ซึ่งไม่มีการกำหนดในร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษหรืออากาศสะอาดฉบับอื่นๆ โดยมีเครื่องมือและมาตรการดังกล่าว มีหลากหลายรูปแบบ เช่น
กองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอ.อ.ส.ส. จัดตั้งเพื่อใช้ทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายในการช่วยเหลือ อุดหนุน พัฒนา ส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกัน จัดการปัญหาอากาศสะอาดอย่างมีบูรณภาพ โดยกองทุนดังกล่าวจะประกอบด้วยเงินจากหลายภาคส่วน อาทิ เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินที่ได้รับจากค่าปรับ ค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหายที่ได้รับจากการฟ้องร้องดำเนินคดี
ภาษีเพื่ออากาศสะอาดและเงินบำรุงกองทุน  คณะกรรมการกำกับสามารถปรึกษา ขอความร่วมมือ เสนอแนะหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร เพื่อส่งเสริมอากาศสะอาด กำหนดมาตรการทางภาษีในการเพิ่มหรือลดหรือยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมอากาศสะอาด ตัวอย่างเช่น เพิ่มภาษีสำหรับบุคคลหรือนิติบุคคลที่ประกอบกิจการที่มีการปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก
ค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นเงินค่าบริการในการบำบัดหมอกควันพิษ ซึ่งเงินดังกล่าวจะถูกส่งเข้ากองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพด้วย กล่าวคือ เป็นการนำเงินจากผู้มีส่วนในการก่อมลพิษ นำไปใช้ในการแก้ปัญหามลพิษ
ร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดบทลงโทษทางอาญา ในกรณีที่มีเหตุที่จะกระทบต่อสิทธิในอากาศสะอาด หากนายกฯ ออกคำสั่งเพื่อระงับการกระทำ หรือคำสั่งให้กระทำการใดๆ แล้วฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกฯ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะต้องรับโทษหนักขึ้นหากผู้ฝ่าฝืนนั้น เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออากาศสะอาด 
ผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และผู้มีหน้าที่จ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษ หากหลีกเลี่ยงมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าถึงยี่สิบเท่าของเงินบำรุงกองทุนหรือเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องเสีย ซึ่งเป็นการคิดโทษปรับตามอัตราตามแต่ละขั้น โดยไม่ได้กำหนดจำนวนค่าปรับขั้นต่ำหรือขั้นสูงสุดไว้
กรณีที่เจ้าพนักงานรัฐเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง ดูแลอากาศสะอาด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่คณะกรรมการตามร่างกฎหมายนี้กำหนด ในร่างกฎหมายได้กำหนดให้ถือว่ากระทำการโดยจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ