ก้าวไกลเสนอแก้กฎหมายอาญา เอาผิดเจ้าพนักงานฐานบิดเบือนกฎหมาย

จากการชุมนุมที่ช่วงกลางปี 2563 สืบเนื่องมาจนถึงปี 2564 การแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกของประชาชนในประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ การเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้นำไปสู่การตั้งข้อหาดำเนินคดีร้ายแรงและกว้างขวาง เช่น การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ มาตรา 116 ซึ่งมีหลายกรณีที่พบว่า มีการใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นหรือเป็นการใช้กฎหมายที่มีผลให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องรับผิดมากกว่าความเป็นจริง
ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย แม้จะมีการกำหนดความผิดสำหรับเจ้าพนักงานยหรือความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบเอาไว้ แต่ก็ยังไม่มีความผิดที่ครอบคลุมถึง "การบิดเบือนกฎหมาย" หรือความผิดสำหรับกรณีที่เจ้าพนักงานช้กฎหมายโดยอำเภอใจหรือโดยพลการซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีและเป็นผลให้เกิดความเสียหาย
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลได้เสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจำนวนห้าฉบับเข้าสู่สภา โดยหนึ่งในชุดร่างกฎหมายดังกล่าว มีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา  (ฉบับที่  ..) พ.ศ. …. หรือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญาฯ ที่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยเพิ่มมาตรา 200/1 ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย มาอีกมาตราหนึ่ง โดยบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ต้องรับผิดทางอาญาหากใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ กระทำการ “บิดเบือนกฎหมาย”
ประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้มาตั้งแต่ ปี 2499 ไม่มีความผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายอาญา ในลักษณะ 3 หมวด 2 ได้บัญญัติความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเอาไว้ ว่าการกระทำใดบ้างที่เจ้าพนักงานทำแล้วมีความผิด โดยในหมวดนี้มีทั้งสิ้นหกมาตรา ตั้งแต่มาตรา 200 ถึงมาตรา 205 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
มาตรา 200 กำหนดความผิดสำหรับเจ้าพนักงานที่มีอำนาจสืบสวนหรือจัดการตามกฎหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง
มาตรา 201 กำหนดความผิดสำหรับตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับสินบน
มาตรา 202 กำหนดความผิดสำหรับตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการใดๆ โดยเห็นแก่สินบนที่ตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ในช่วงก่อนที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว
มาตรา 203 กำหนดความผิดสำหรับเจ้าพนักงาน ที่มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
มาตรา 204 กำหนดความผิดสำหรับเจ้าพนักงาน ที่มีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ที่ต้องคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา แต่กระทำการใดๆ ให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังนั้นหลุดพ้นจากการคุมขังไป ส่วนในมาตรา 205 กำหนดไว้ว่า ความผิดฐานนี้หากเป็นการกระทำโดยความประมาท จะรับโทษน้อยลง
นอกจากนี้ ในลักษณะ 2 หมวด 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ยังกำหนดความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไว้ด้วย อาทิ มาตรา 157 ที่กำหนดความผิดสำหรับเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 
แต่ทว่า ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย แม้จะมีการกำหนดความผิดสำหรับเจ้าพนักงานหรือความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบเอาไว้ ซึ่งเป็นฐานความผิดที่กว้าง ไม่ได้เจาะจงไปที่ "การบิดเบือนกฎหมาย" หรือความผิดสำหรับกรณีที่เจ้าพนักงานช้กฎหมายโดยอำเภอใจหรือโดยพลการซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีและเป็นผลให้เกิดความเสียหาย
ยกตัวอย่างเช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 ถึง 205 กำหนดความผิดสำหรับการรับสินบน การขัดขวางคำพิพากษา การควบคุมดูแลผู้ต้องขัง แต่ไม่มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายที่ผิดไปจากตัวบท และแม้ว่า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 จะครอบคลุมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แต่ต้องเป็นกรณีที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต หากเป็นการกระทำในกรอบอำนาจที่กฎหมายให้ดุลพินิจไว้ เช่น พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ มีอำนาจทำความเห็นในคดีแม้จะมีการตีความกฎหมายเกินกว่าหรือผิดไปจากตัวบทเพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหายก็อาจจะยังไม่ถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดนี้
แต่ฐานความผิด "บิดเบือนกฎหมาย" จะครอบคลุมกรณีที่เจ้าพนักงานทำการตีความ การบังคับใช้กฎหมายที่ผิดไปจากตัวบท ผิดไปจากข้อเท็จจริงในคดี หรือการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อตัวบทกฎหมาย อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ก้าวไกลเสนอเพิ่มความผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย-มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญาฯ โดยเพิ่มบทบัญญัติความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายในมาตรา 200/1 โดยมีเนื้อหาดังนี้
"มาตรา 200/1 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างทำการสอบสวน มีความเห็นทางคดี สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี"
จากมาตรา 200/1 ในร่างกฎหมายดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบของกฎหมายได้ ดังนี้
ผู้กระทำ หรือ ผู้ที่กระทำแล้วมีความผิด คือ เจ้าพนักงาน หรือบุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ โดยมีตำแหน่งเป็น "พนักงานอัยการ" "ผู้ว่าคดี" "หรือพนักงานสอบสวน"
การกระทำ หรือ การกระทำที่ถือเป็นความผิด คือ การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ กระทำการบิดเบือนกฎหมาย โดยคำว่า “บิดเบือนกฎหมาย” นั้น  ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญาฯ ไม่ได้แก้ไขเพิ่มนิยามคำว่าบิดเบือนกฎหมายเอาไว้ แต่เมื่อสำรวจคำอธิบายถ้อยคำดังกล่าวจากบทความวิชาการเรื่อง "ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษา : ศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายเยอรมัน" ได้อธิบายโดยอ้างอิงนิยามของคำว่า “บิดเบือนกฎหมาย”  จากต่างประเทศไว้ว่า "การบิดเบือนกฎหมาย คือ การกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือขัดแย้งต่อกฎหมายอย่างชัดเจน รวมถึงการพิจารณาพิพากษาคดีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด" 
หรืออย่าง ในคำอธิบายตามประมวลกฎหมายอาญาแห่งสเปน ได้บัญญัติไว้ว่า "การบิดเบือนกฎหมายเป็นการใช้กฎหมายโดยอำเภอใจหรือโดยพลการ" รวมถึงในหนังสือหักดิบกฎหมาย ของ ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ให้นิยามคำว่า บิดเบือนกฎหมายเช่นเดียวกับคำว่าหักดิบกฎหมาย ซึ่งหมายถึง การกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง และในกรณีที่กฎหมายอาจตีความได้หลายอย่างการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมายก็คือการตีความกฎหมายที่เกินเลยขอบเขตที่ยอมรับได้ในทางวิชาการ
วัตถุของการกระทำ หรือ สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิด คือ กฎหมาย โดยอาจเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ที่กำหนดในเชิงเนื้อหาสิทธิหน้าที่ของบุคคลในทางแพ่ง และทางอาญา เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรืออาจเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ ซึ่งกำหนดกระบวนการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิหน้าที่ของประชาชน เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ทั้งนี้ ตามมาตรา 200/1 ได้กำหนดความผิดไว้เฉพาะสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเมื่อทำการสอบสวน การทำความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี และการกระทำข้างต้นนี้ต้องมีเจตนาที่หวังให้เกิดผลหรือเล็งเห็นผลว่าจะทำให้เกิดประโยชน์หรือเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด  
กรรมของการกระทำ หรือ ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด คือ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยคำว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาในคดีเท่านั้น อาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ เช่น มูลนิธิ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด
ในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ยังได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่ทำผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย โดยมีอัตราโทษ คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี
เปิดหลักกฎหมายอาญาเยอรมัน ผู้พิพากษาต้องรับผิดหากบิดเบือนกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน (German Criminal Code : Strafgesetzbuch – StGB) ได้กำหนดความผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย (Judicial perversion of justice : Rechtsbeugung) ไว้ในมาตรา 339 โดยมีใจความว่า
ผู้พิพากษา เจ้าพนักงานรัฐ หรืออนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีอำนาจกระทำการหรือวินิจฉัยข้อกฎหมาย กระทำการบิดเบือนกฎหมายเพื่อก่อประโยชน์หรือก่อความเสียหายของคู่ความ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี
สำหรับบทบัญญัตินี้ เหมือน สุขมาตย์ ได้อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา เรื่อง "ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษา : ศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายเยอรมัน" ไว้ว่า
ผู้กระทำ ตามมาตรานี้ ต้องเป็นผู้พิพากษา ทั้งผู้พิพากษาอาชีพและผู้พิพากษาสมทบ รวมไปถึงองค์คณะของผู้พิพากษาทั้งหมดที่พิจารณาและตัดสินคดีนั้นด้วย แต่หากเป็นผู้พิพากษาในองค์คณะที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษานั้นและไม่ได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษา ก็ไม่มีความผิด  หรือเป็นเจ้าพนักงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นอนุญาโตตุลาการที่ตัดสินชี้ขาด
การกระทำ เหมือน สุขมาตย์ ได้อธิบายโดยแบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่ม 1) การบิดเบือนกฎหมายสารบัญญัติ ซึ่งอาจเกิดจากการกฎหมายผิด การใช้กฎหมายที่ไม่มีผลใช้บังคับ การใช้กฎหมายขัดกับกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายอย่างชัดแจ้ง การปฏิบัติการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ การบิดเบือนข้อเท็จจริงในการปรับข้อกฎหมาย รวมไปถึงการละเมิดหลักพื้นฐาน 2) การบิดเบือนกฎหมายสารบัญญัติ เช่น ตัดสินคดีโดยปราศจากพยานหลักฐาน
วัตถุของการกระทำ จากวิทยานิพนธ์ข้างต้น สรุปได้ว่า วัตถุแห่งการกระทำคือ กฎหมายภายในของรัฐ (เยอรมนี) ไม่รวมกฎหมายระหว่างประเทศ
กรรมของการกระทำ คือ คู่ความ ซึ่งหมายความถึงทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาคดี
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลนั้น กำหนดอัตราโทษฐานบิดเบือนกฎหมายไว้เท่ากับความผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย มาตรา 339 ของประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน