สภาผู้แทนฯ เห็นชอบ ถอด “พืชกระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติด

สภาผู้แทนฯ เห็นชอบ ถอด “พืชกระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติด

27 มกราคม 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ด้วยคะแนน 319 เสียง เห็นชอบให้กับร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ หรือ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ เพื่อยกเลิกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5  ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 และยกเลิกบทลงโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ คือ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังวุฒิสภาเพื่อให้พิจารณาก่อนจะมีประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

กฎหมายปี 2522 ระบุ ผู้ผลิต เสพ ครอบครอง ‘พืชกระท่อม’ มีความผิด

เดิมทีตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ปี 2522  ได้แบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน แมทแอมเฟตามีน
  • ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น ใบโคคา โคคาอีน โคเดอีน ฝิ่น มอร์ฟีน
  • ประเภทที่ 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ผสมอยู่ เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย
  • ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือ 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติลคลอไรด์
  • ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 ได้แก่ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น และพืชเห็ดขี้ควาย

โดยแต่ละประเภทจะมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดชนิดนั้นๆ แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของชนิดยาเสพติด ทั้งนี้ เป็นเพราะรัฐจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมยาเสพติดชนิดต่างๆเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งแม้ว่าบางชนิดจะมีประโยชน์ในทางการแพทย์ก็ตาม 

สำหรับ “พืชกระท่อม” ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ปี 2522 เช่น มาตรา 75 บุคคลใดผลิต นำเข้า หรือส่งออก ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท, มาตรา 76 บุคคลใดมีไว้ครอบครอง ต้องโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท, มาตรา 92 ผู้ใดเสพกระท่อม ต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นต้น 

ปี 62 ให้ใช้ทางการแพทย์-ปี 64 ให้ถอดจากบัญชียาเสพติดถาวร

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้ เผยแพร่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 (แก้ไขเพิ่มเติม) ที่มีสาระสำคัญคือ การอนุญาตให้ประชาชนได้ใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและการแพทย์โดยไม่มีความผิดอีกต่อไป

ต่อมาหลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ได้มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ อีกครั้ง โดยฉบับแรกคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมี ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาระบุว่า สาเหตุที่ตนพยายามผลักดันให้ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 เป็นเพราะพืชกระท่อมส่งผลต่อร่างกายเพียงเล็กน้อย และไม่ถือเป็นยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้อีกมาก

นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ อีกสองฉบับ นำโดย ‘พยม พรหมเพชร’ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและคณะ และ ‘เทพไท เสนพงศ์’ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และคณะ ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ทั้งสามฉบับ คือ การถอดพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกความผิดของผู้เสพและครอบครอง

ต่อมา 16 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมส.ส.ได้มีลงมติในวาระแรกรับหลักการทั้งสามร่าง พ.ร.บ. และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาโดยมีสมศักดิ์ เทพสุทินเป็นประธาน

ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ มีดังนี้

  • กำหนดให้ พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ถ้าไม่นำมาผสมกับยาเสพติดตามที่กฎหมายระบุ
  • แก้ไขเรื่องระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย จากเดิมที่เสนอมา คือ 180 วัน กำหนดให้เหลือ 90 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  • เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้ทราบถึงวิธีการใช้ และคุณประโยชน์ของพืชกระท่อมที่ถูกต้อง
  • ส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงเป็นธุรกิจที่สามารถส่งออกได้ในต่างประเทศ รวมทั้งให้สามารถนำไปใช้รักษาโรคภายใต้การดูแลและการควบคุมของแพทย์ได้

หลังจากที่คณะกรรมาธิการได้รายงานการพิจารณาต่อที่ประชุมและได้มีการลงมติในวาระที่สามในวันที่ 27 มกราคม 2564 ผลปรากฎว่า ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนนเอกฉันท์ 319 เสียง โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คือการส่งร่าง พ.ร.บ. ไปยังวุฒิสภาเพื่อให้พิจารณาและลงมติก่อนจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ดังนั้น เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้บุคคลที่ผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือ เสพ “พืชกระท่อม” ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย และ ประชาชนย่อมสามารถปลูกและใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการรักษาโรคหรือเพื่อทางเศรษฐกิจ

แม้ถอด ‘กระท่อม’ ออกจากยาเสพติด แต่ยังต้องมีกฎหมายเฉพาะมาควบคุม

แม้ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ จะผ่านการพิจารณาของสภาและบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะมีผลให้พืชกระท่อมไม่ถูกจัดว่าเป็นยาเสพติดที่จะต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ปี 2522 อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าประชาชนทุกคนจะสามารถใช้พืชกระท่อมได้อย่างอิสระเสรี ไร้ขอบเขต เพราะคณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรมีมาตรการควบคุมการใช้พืชกระท่อมหลังจากยกเลิกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด จึงได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อม พ.ศ… ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอมา 

โดยรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ว่า ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ…. ฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์คือเพื่อเป็นการควบคุมให้การใช้พืชกระท่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และไม่เปิดช่องสำหรับเยาวชนที่อาจนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยสาระสำคัญ คือ

  1. ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เสพพืชกระท่อม และห้ามผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เสพพืชกระท่อมแบบ 4×100 (ผสมกับยา ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์) รวมทั้งห้ามมิให้ผู้ใดยุยงส่งเสริมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือสตรีมีครรภ์เสพพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท  
  2. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกพืชกระท่อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท  
  3. ห้ามมิให้ขายพืชกระท่อมให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ รวมถึงห้ามใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีขายพืชกระท่อม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหรือข้อกำหนดภายในร่างพ.ร.บ.อีกหลายครั้งจนกว่าจะมีประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ขณะที่ ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นในการตราร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อมที่มีลักษณะเป็นกฎหมายควบคุมเข้มงวด เพราะเป็นการสร้างผลกระทบต่อประชาชนทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ยังไม่รวมถึงการกำหนดโทษทางอาญาที่หนักเกินกว่าความจำเป็น  

นอกจากนี้ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ก็ไม่ถือว่าพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดและมิได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้หากมีการใช้อย่างถูกต้อง และในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ เยอรมัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ต่างก็ไม่ได้มีการควบคุมการใช้พืชกระท่อมโดยมีกฎหมายกำหนดโทษทางอาญาเหมือนอย่างในประเทศไทย