เปิดงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ปีย้อนหลัง (บางส่วน)

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นกระบวนการที่จะกำหนดว่าเงินงบประมาณของประเทศที่มาจากการจัดเก็บภาษี จะถูกนำไปให้กับหน่วยงานใด เพื่อวัตถุประสงค์ใด โดยหวังเห็นผลผลิตเป็นสิ่งใดบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะในช่วงปี 2563–2564 ที่ทั้งประเทศไทยและสังคมโลกประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก กระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และปากท้องของประชาชน “งบประมาณรายจ่าย” ของภาครัฐจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่พอมีอยู่ที่รัฐสามารถเลือกใช้จ่ายเพื่อ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ผ่านการใช้จ่ายงบประมาณเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ หรือใช้เป็นงบประมาณสำหรับการเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นต้น ดังนั้น ดังนั้นทุกบาททุกสตางที่รัฐตัดสินใจใช้จ่าย จึงกระทบกับปากท้องของประชาชนในภาวะที่อ่อนไหวเช่นนี้การจัดสรรงประมาณรายจ่ายประจำปี รวมไปถึงงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ได้ตั้งขึ้นแต่ละปีอย่างโดดๆ หากแต่มีความเกี่ยวร้อยกันในแต่ละปีงบประมาณ

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์  (Strategic Performance Based Budgeting: SPBB) ที่การจัดสรรงบประมาณยึดโยงกับยุทธศาสตร์ของ ‘รัฐบาล’ เพื่อให้การดำเนินงานของภาครัฐสำเร็จลุล่วงตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลวางไว้ และในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 142 ก็ได้กำหนดอีกชั้นหนึ่งให้การเสนอร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องแสดงความสอดคล้องกับ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ด้วย ดังนั้น การจัดสรรงประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

โดยเหตุนี้ การพิจารณาความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามปีงบประมาณปัจจุบัน จึงต้องย้อนสำรวจปีงบประมาณก่อนๆ ด้วย เพื่อดูที่มาและทิศทางของงบประมาณนั้น ซึ่งพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ละฉบับแสดงข้อมูลเพียงว่าในแต่ละ ‘แผนงาน’ นั้นมีงบประมาณรายจ่ายเท่าใด ไม่ได้มีรายละเอียดของการใช้จ่ายว่า แต่ละแผนงานนั้นใช้จ่ายไปกับโครงการอะไรบ้าง การสำรวจงบประมาณจึงต้องอาศัยรายละเอียดเพิ่มจากเอกสารงบประมาณ ที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ใช้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย ตามกำหนดไว้ในมาตรา 10 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561

โดยขอบข่ายของการสำรวจงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น มีดังนี้ 

  1. สำรวจที่หน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ถึง 2560 ได้แก่ สำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ และตั้งแต่ พ.ศ.2561 คือ ส่วนราชการในพระองค์ 
  2. งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพระราชวัง พระราชฐานที่ประทับ 
  3. งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนินและพระราชพาหนะ 
  4. งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการการถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติและปฏิบัติตามพระราชประสงค์
  5. งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการเฉลิมพระเกียรติ พิทักษ์รักษาพระเกียรติ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การจัดกิจกรรมในโอกาสสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การจัดกิจกรรมตามพระราชประสงค์
  6. งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินตามพระราโชบาย โครงการจิตอาสาพระราชทาน โครงการจิตอาสา 904

1. งบประมาณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนราชการในพระองค์งบเพิ่มสูง ปีงบ 64 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าพันล้าน

ก่อน พ.ศ.2560 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง มีสองหน่วยงาน ได้แก่ สำนักพระราชวัง ที่มีหน้าที่ เช่น ปฏิบัติงานถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ จัดงานพระราชพิธี รัฐพิธี งานพิธี งานพระราชกุศลต่างๆ ตลอดจนงานเสด็จพระราชดำเนิน ฯลฯ และสำนักราชเลขาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งในราชการแผ่นดินและส่วนพระองค์ รวมถึงงานเลขานุการในพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนงานเลขานุการของคณะองคมนตรี ประสานงานระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับองค์กรอื่นๆ รวมถึงประชาชน เผยแพร่พระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

ต่อมา 28 เมษายน 2560 ได้มีการออกพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 กำหนดให้โอนสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง กรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม สํานักงานนายตํารวจราชสํานักประจํา สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ การจัดระเบียบราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์และสถานภาพของข้าราชการในพระองค์ให้เป็นไปตาม “พระราชอัธยาศัย”

ในกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า ส่วนราชการในพระองค์ ไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ หมายความว่า ส่วนราชการในพระองค์ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบตามระบบกฎหมายปกครอง อีกทั้งรายได้ของส่วนราชการในพระองค์ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (ถ้าเป็นรายได้แผ่นดินจะนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป) แต่ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการในพระองค์ด้วย

รายละเอียดอื่นๆ ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ที่กำหนดโครงสร้างส่วนราชการในพระองค์ไว้ ดังนี้

  1. สำนักงานองคมนตรี
  2. สำนักพระราชวัง
  3. หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

การสำรวจงบประมาณที่จัดสรรสำหรับหน่วยงานที่ทำงานให้สถาบันพระมหากษัตริย์หลังปี 2560 จึงแยกย่อยออกเป็นสามส่วน คือ งบประมาณที่จัดสรรให้แก่สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และส่วนราชการในพระองค์

สำนักพระราชวัง

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ถึง 2560 แนวโน้มการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับสำนักพระราชวังเพิ่มขึ้นหลักร้อยล้านทุกปี ยกเว้นในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559 เพียง 56.9 ล้านบาท ทั้งนี้แยกพิจารณาได้ในตารางข้างใต้นี้

งบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับ “สำนักพระราชวัง”

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
25542,606,293,900 บาท
25552,794,957,000 บาทเพิ่มขึ้น 188,663,100 บาท+ 7.24 %
25563,070,857,400 บาทเพิ่มขึ้น 275,900,400 บาท+ 9.87 %
25573,219,275,100 บาทเพิ่มขึ้น 148,417,700 บาท+ 4.83 %
25583,327,055,300 บาทเพิ่มขึ้น 107,780,200 บาท+ 3.35 %
25593,435,414,300 บาทเพิ่มขึ้น 108,359,000 บาท+ 3.26 %
25603,492,347,100 บาทเพิ่มขึ้น   56,932,800 บาท+ 1.66 %

แม้เปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่สำนักพระราชวังได้รับการจัดสรรจะดูเป็นจำนวนที่ไม่มากเทียบกับงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับ แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป) จะเห็นได้ว่าเปอร์เซ็นต์การเพิ่มของงบประมาณที่สำนักพระราชวังได้รับนั้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

เมื่อพิจารณาตามปีปฏิทินที่คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาการบังคับใช้พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ปีพ.ศ. 2554 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.80 % ปี 2555 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.00 % ปี 2556 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.20 % ปี 2557 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.90 % ในขณะที่ปี 2558 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ -0.90 % ซึ่งหมายความว่าสภาพเศรษฐกิจในตอนนั้นกำลังอยู่ในภาวะเงินฝืด งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรก็ยังคงเพิ่มขึ้นแต่เป็นไปในอัตราที่ลดลง ในปี 2559 และปี 2560 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.19 % และ 0.66 % ตามลำดับ ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นของงบประมาณที่สำนักพระราชวังได้รับ (อ่านเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อได้ที่นี่)

โดยการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักพระราชวังนั้น ส่วนหนึ่งเป็นงบบุคลากร เช่น เงินเดือนและค่าจ้างประจำสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งเป็นงบดำเนินการ เช่น ค่าวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค ส่วนหนึ่งเป็นงบลงทุน สำหรับค่าครุภัณฑ์และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แต่งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง คือ งบเงินอุดหนุน ซึ่งมีหลายรายการที่ได้รับการจัดสรรไว้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • เงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในพระราชฐานที่ประทับ ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 ได้รับการจัดสรรที่ 335 ล้านบาท ปี 2555 ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 350 ล้านบาท ในปี 2556 ได้รับการจัดสรรไว้ที่ 450 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนถึง 100 ล้านบาท ส่วนในปี 2557 นั้น เอกสารประกอบงบประมาณไม่ได้เขียนแจกแจงรายละเอียดไว้ จึงไม่สามารถระบุการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ได้ ในปีงบประมาณ 2558 ถึง 2560 ได้รับการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ในตัวเลขที่เท่ากันทุกปี ปีละ 440 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในพระราชฐานที่ประทับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในปีงบประมาณ 2554 ได้รับการจัดสรรไว้ที่ 225 ล้านบาท ในปี 2555 250 ล้านบาท ปี 2556 320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 70 ล้านบาท ปี 2557 ไม่มีระบุรายละเอียดไว้ในเอกสารงบประมาณ ส่วนปี 2558 ถึงปี 2560 คงจำนวนเดิมอยู่ที่ 320 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนเพื่อเป็นเงิน ‘พระราชกุศล’ ตามพระราชอัธยาศัยนั้นก็ได้มีการจัดสรร ‘งบประมาณแผ่นดิน’ ไว้เช่นกัน โดยในปี 2554 และ 2555 จัดสรรไว้ที่ 15 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 จัดสรรไว้ที่ 17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาสองล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2557 ไม่ปรากฏรายละเอียดนี้ในเอกสารงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2558 ถึง 2560 จัดสรรไว้ที่ 17 ล้านบาทเช่นกัน 

สำนักราชเลขาธิการ

ไม่ใช่แค่พันธกิจและหน้าที่ที่ต่างจากสำนักพระราชวังเท่านั้น แต่แนวโน้มการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับสำนักราชเลขาธิการก็แตกต่างจากสำนักพระราชวังโดยสิ้นเชิง มีบางปีที่การจัดสรรงประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าจำนวนมาก โดยปีงบประมาณ 2558 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นถึง 50.25 % แต่บางปีก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ลดลงจากปีงบประมาณก่อนหน้า โดยแยกพิจารณาได้ ดังนี้

งบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับ “สำนักราชเลขาธิการ”

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
2554474,124,500 บาท
2555525,512,600 บาทเพิ่มขึ้น 51,388,100 บาท+ 10.84 %
2556553,192,800 บาทเพิ่มขึ้น 27,680,200 บาท+ 5.27 %
2557552,086,800 บาทลดลง 1,106,000 บาท– 0.20 %
2558829,503,700 บาทเพิ่มขึ้น 277,416,900 บาท+ 50.25 %
2559641,768,900 บาทลดลง 187,734,800 บาท– 22.63 %
2560544,867,900 บาทลดลง 96,901,000 บาท– 15.10 %

สำหรับงบประมาณที่จัดสรรให้สำนักราชเลขาธิการ โครงสร้างเป็นเช่นเดียวกับสำนักพระราชวังที่มีการจัดสรรงบบุคลากร งบดำเนินการ และงบเงินอุดหนุน โดยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับองคมนตรี ปรากฏอยู่ในงบดำเนินการในรูปแบบของค่ารับรององคมนตรี และในงบเงินอุดหนุนในรูปแบบของเงินประจำตำแหน่งองคมนตรี แยกพิจารณาได้ ดังนี้

  • ค่ารับรององคมนตรี ในปีงบประมาณ 2554 2555 2556 จัดสรรไว้ที่ปีละ 8.5 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ในเอกสารประกอบงบประมาณ ปีงบประมาณ 2558 วงเงินค่ารับรององคมนตรีตั้งไว้ 8.22 ล้านบาท ต่อมาในปีงบประมาณ 2559 และ 2560 กลับมาจัดสรรไว้จำนวนเท่าเดิมปีละ 8.5 ล้านบาท
  • เงินประจำตำแหน่งองคมนตรี ปีงบประมาณ 2554 2555 2556 จัดสรรไว้ที่ 25.71 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2557 และ 2558 แม้จะมีรายการที่มีวงเงินเท่ากัน คือ 25.71 ล้านบาท แต่ได้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำในเอกสารประกอบงบประมาณโดยใช้คำว่า “ค่าใช้จ่ายบุคลากร” ต่อมาในปีงบประมาณ 2559 กลับมาระบุว่าเงินประจำตำแหน่งองคมนตรีอีกครั้ง โดยมีวงเงินเท่าเดิม ในเอกสารงบประมาณปี 2560 ไม่ปรากฏรายละเอียดเงินประจำตำแหน่งองคมนตรี
  • ปรากฏในเอกสารงบประมาณ ปี 2559 ว่า มีการตั้งงบประมาณรวม 87.5 ล้านบาท สำหรับรถประจำตำแหน่งประธานองคมนตรีและองคมนตรี (ทดแทนคันเดิม) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รวม 19 คัน

นอกจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับองคมนตรีแล้วยังปรากฏการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายรายการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การจัดสรรงบเงินอุดหนุนพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร ในปีงบประมาณ 2554 ตั้งไว้ที่ 10 ล้านบาท ปี 2555 2556 2557 ตั้งไว้ที่ปีละ 15 ล้านบาท ปี 2558 2559 2560 ตั้งไว้ที่ปีละ 20 ล้านบาท

ส่วนราชการในพระองค์

สำหรับการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในพระองค์ เริ่มมีการจัดสรรให้ในงบประมาณปี 2561 (บังคับใช้ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2561) จากการสำรวจพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีปีงบประมาณ 2561 ถึง 2564 ทิศทางของงบประมาณที่จัดสรรให้แก่ส่วนราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาททุกปี แม้กระทั่งในปีงบประมาณ 2564 ก็ยังเพิ่มขึ้นถึงหลัก 1,000 ล้านบาท โดยรายละเอียดปรากฏในตาราง ดังนี้

งบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับ “ส่วนราชการในพระองค์”

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
25614,196,323,500 บาท
25626,800,000,000 บาทเพิ่มขึ้น 2,603,676,500 บาท+ 62.05 %
25637,685,282,800 บาทเพิ่มขึ้น 885,282,800 บาท+ 38.29 %
25648,980,889,600 บาทเพิ่มขึ้น 1,295,606,800 บาท+ 16.86 %

เอกสารงบประมาณปี 2561 ถึง 2564 ระบุผลผลิตของการตั้งงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ว่า “การดำเนินงานด้านเลขานุการในพระองค์และการถวายความสะดวกแด่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์และพระอนุวงศ์” มีวัตถุประสงค์ “เพื่อให้การดำเนินงานด้านเลขานุการในพระองค์และการถวายความสะดวก ถวายความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์พระบรมวงศ์ และพระอนุวงศ์ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยถูกต้อง รวดเร็ว”

สำหรับรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณปี 2561 ถึง 2564 เฉพาะส่วนราชการในพระองค์ ล้วนแต่ระบุไว้อย่างกว้างๆ ว่า “เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนราชการในพระองค์” แต่ไม่มีการแจกแจงรายละเอียดอื่นใดอีก ซึ่งแตกต่างจากเอกสารงบประมาณปีก่อนหน้าส่วนของสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการที่ยังปรากฏรายละเอียดว่าจะจัดสรรงบเพื่อนำไปใช้จ่ายในด้านใด

เมื่อพิจารณาเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ปี 2560 ซึ่งเป็นปีปฏิทินที่งบประมาณปี 2561 เริ่มบังคับใช้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.66 % ปี 2561 อยู่ที่ 1.07 % ปี 2562 อยู่ที่ 0.71 % ปี 2563 อยู่ที่ -0.94 % จะเห็นได้ว่าทิศทางการจัดสรรงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ เพิ่มขึ้นสูงอย่างชัดเจนโดยไม่มีรายละเอียดอธิบาย

ด้านการเบิกจ่าย ในทางปฏิบัติแล้วหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณไม่จำเป็นที่จะต้องเบิกจ่ายเงินให้ครบทั้งหมดตามที่ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งไว้ อาจจะเบิกจ่ายน้อยกว่าก็ได้ (ดูตัวอย่างการเบิกจ่ายได้ที่นี่) แต่จากเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2563  หน้าที่ 125 ระบุผลการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ พบว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 28 กันยายน 2561 งบประมาณทั้งสิ้น 4,196.3235 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 6,391.4085 ล้านบาท คิดเป็นการเบิกจ่าย ‘เกินกว่า’ วงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ร้อยละ 152.31 โดยมีหมายเหตุว่า เป็นการรับโอนกิจการ อำนาจหน้าที่ ฯ และเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ทั้งนี้เมื่อไปสำรวจ พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2561 มีการโอนเงินงบประมาณจากหน่วยรับงบประมาณหลายๆ หน่วย ไปยังกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่ไม่ปรากฏว่ามีการโอนงบประมาณไปยังส่วนราชการในพระองค์ 

อย่างไรก็ดี ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560 ก่อนที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2561 จะประกาศใช้ (เริ่มใช้ 1 ตุลาคม 2560) ได้กำหนดเรื่องโอนย้ายหน่วยงานและบุคลากร ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการของบุคลากรที่ถูกโอนย้าย จึงมีความเป็นไปได้ว่าการเบิกจ่ายที่เกินกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น จะสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เป็นสังกัดเดิมของบุคลากรที่ถูกโอนย้าย ทั้งนี้ ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 ก็มิได้แจกแจงรายละเอียดไว้ว่า ส่วนที่เกินนั้นมีการเบิกจ่ายจากหน่วยงานใด หรือรับโอนจากหน่วยงานใด เป็นจำนวนเท่าไหร่

ส่วนของปีงบประมาณ 2562 ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2564 หน้าที่ 159  ระบุผลการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ พบว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2562 งบประมาณทั้งสิ้น 6,800 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วจำนวน 6,800 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 กล่าวคือ เบิกจ่ายเต็มจำนวนที่ตั้งไว้ในกฎหมาย

เมื่อสำรวจดูกลไกของรัฐสภาในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายสำหรับส่วนราชการในพระองค์ จากรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปรากฏว่าไม่มีการแปรญัตติแก้ไขในมาตราที่กำหนดงบประมาณรายจ่ายส่วนราชการในพระองค์ ส่วนในรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และปีงบประมาณ 2564 ระบุว่า ไม่มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็น และไม่มีผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติ หมายความว่า ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งต่างก็ไม่ได้ตั้งคำถามหรือตั้งประเด็นขอให้ลดงบประมาณที่ให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ลง

ทั้งนี้มีข้อสังเกตอีกประการว่า งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ปี 2563 อาจเพิ่มขึ้นจากการประกาศใช้ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ที่กำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่) โดยพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ประกาศใช้เมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2562 อันเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ 2562 ดังนั้นการจะจัดสรรงบประมาณที่รับโอนมาได้จึงต้องทำในปีงบประมาณถัดไป กล่าวคือปีงบประมาณ 2563

2. งบเขตพระราชวัง พระราชฐานที่ประทับ

เพิ่มขึ้นห้าปีติด ตั้งแต่ปี 2558 ไม่มีรายละเอียดการใช้จ่าย

นอกจากงบเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในพระราชฐานที่ประทับที่ปรากฏอยู่ในงบประมาณสำนักพระราชวังแล้ว กรมโยธาธิการและผังเมืองก็เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับพระราชฐานที่ประทับ พระราชวังเป็นการเฉพาะ ในรูปแบบของ “โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง” โดยมีงบประมาณตามที่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณปี 2554 ถึง 2564 ดังนี้

งบประมาณที่จัดสรรให้กรมโยธาธิการและผังเมือง

“โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง”

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
2554429,111,000 บาท
25551,010,092,000 บาทเพิ่มขึ้น 580,981,000 บาท+ 135.39 %
2556885,000,000 บาทลดลง 125,092,000 บาท– 12.38 %
2557916,520,600 บาทเพิ่มขึ้น 31,520,600 บาท+ 3.56 %
2558865,300,000 บาทลดลง 51,220,600 บาท– 5.59 %
2559901,221,400 บาทเพิ่มขึ้น 35,921,400 บาท+ 4.15 %
25601,269,755,400 บาทเพิ่มขึ้น 368,534,000 บาท+ 40.89 %
25611,999,670,000 บาทเพิ่มขึ้น 729,914,600 บาท+ 57.48 %
25622,276,829,000 บาทเพิ่มขึ้น 277,159,000 บาท+ 13.86 %
25632,378,063,000 บาทเพิ่มขึ้น 101,234,000 บาท+ 4.45 %
25641,700,000,000 บาทลดลง 678,063,000 บาท– 28.51 %

โดยตัวอย่างการตั้งงบประมาณที่กำหนดไว้ใน “โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง” ที่น่าสนใจ มีดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2554 (เอกสารงบประมาณ เล่มที่ 6 หน้าที่ 158 – 159)
    • 30 ล้านบาท สำหรับจ้างที่ปรึกษาโครงการบริหารควบคุมงานก่อสร้างปรับปรุงหมู่พระที่นั่งอัมพรสถาน วังทวีวัฒนา และโครงการก่อสร้างกิจกรรมพิเศษในพระบรมวงศานุวงศ์
    • 14.5 ล้านบาท สำหรับจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานตกแต่งภายในหมู่พระที่นั่งอัมพรสถาน วังทวีวัฒนา และเขตพระราชฐานอื่นๆ
    • 50 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้างปรับปรุงอาคาร VVIP GYM วังทวีวัฒนา
    • 100 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้าง POOL HOUSE BALI และสระสรง วังทวีวัฒนา
  • ปีงบประมาณ 2555 (เอกสารงบประมาณ เล่มที่ 6 หน้าที่ 222 – 224)
    • 40 ล้านบาท สำหรับจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารดูแลและบำรุงรักษางานระบบพระที่นั่งอัมพรสถาน วังทวีวัฒนาและพื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904
    • 25 ล้านบาท สำหรับค่าปรับปรุงซ่อมแซมแฟลต 1 พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904
    • 26.5 ล้านบาท สำหรับค่าปรับปรุงซ่อมแซมแฟลต 2 พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904
    • 10 ล้านบาท สำหรับค่าปรับปรุงห้อง Gym อาคารศูนย์ราชการวังทวีวัฒนา
  • ปีงบประมาณ 2556 (เอกสารงบประมาณ เล่มที่ 6 หน้าที่ 128 – 129)
    • 70 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างโรงรถไฟโบราณ พื้นที่วังทวีวัฒนา 1 แห่ง
    • 25 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างอาคาร Guest House พื้นที่วังทวีวัฒนา 1 แห่ง
    • 20 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงเพิ่มเติมงานสถาปัตยกรรม, ครุภัณฑ์ อาคารศูนย์ราชการในพระองค์ฯ V.904 1 แห่ง
  • ปีงบประมาณ 2557 (เอกสารงบประมาณ เล่มที่ 6 หน้าที่ 124 – 125)
    • 160 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างอาคารแผนก ร.ย.ล. และที่จอดรถพระที่นั่ง-รถขบวน พร้อมที่พักเจ้า หน้าที่ พื้นที่วังศุโขทัย 1 แห่ง
    • 70 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงอาคารกองรักษาการณ์ศุโขทัยอัลฟ่า 1 แห่ง
    • 40 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างอาคาร บก.หน่วย ทม.รอ. พื้นที่ทม.แลนด์ 1 แห่ง

มีข้อสังเกตว่า ในเอกสารงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 (ระยะเวลาที่ปีงบประมาณ 2558 ใช้บังคับ คือ 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558) จนถึงปีงบประมาณ 2564 รายละเอียดการตั้งงบประมาณรายจ่ายของโครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวงไม่ได้แจกแจงอย่างละเอียดว่าใช้งบประมาณสำหรับโครงการใด พระราชวังใด แต่ใช้วิธีการอธิบายรวมๆ ว่าตั้งงบประมาณสำหรับค่าสิ่งก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าครุภัณฑ์สนับสนุนโครงการพิเศษหลวงไปเท่าใด

3. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนิน

ปีงบประมาณ 2561 และ 2562 พุ่งกว่า 50%
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเพิ่มขึ้นห้าปีซ้อน

งบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนินส่วนหนึ่ง ไม่ได้นับรวมในงบประมาณของสำนักพระราชวังหรือสำนักงานราชเลขาธิการ แต่ปรากฏอยู่ใน “งบกลาง” อันเป็นรายจ่ายภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ที่จัดสรรไว้ให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้นอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับในกรณีปกติ โดยงบกลางรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ บางปีเพิ่มขึ้น 100 ล้านบาท แต่บางปียังคงตัวเลขเช่นเดียวกับงบประมาณปีก่อนหน้า 

ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ตั้งงบรายการดังกล่าวไว้ที่ 600 ล้านบาท และคงเดิมในงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ.2555 แต่ในปี 2556 ได้ตั้งงบดังกล่าวไว้ที่ เป็นจำนวน 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านบาท ต่อมาในปี 2557 ตั้งงบไว้ที่ 800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านบาท และคงตัวเลขเดิมในปี 2558 ในปี 2559 จนถึงงบประมาณปี 2561 ตั้งไว้ปีละ 900 ล้านบาท และปี 2562 จนถึง 2564 ตั้งไว้ปีละ 1,000 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนินและพระราชพาหนะ โดยหลักแล้วอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยค่าใช้จ่ายบางรายการที่ตั้งงบประมาณไว้ไม่ใช่รายจ่ายประจำที่มีขึ้นทุกปี แต่เป็นงบลงทุนในช่วงปีงบประมาณนั้นๆ เช่น โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขบวนฯ พระราชพาหนะ การทำโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ ในขณะที่บางรายการเป็นรายจ่ายประจำ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการส่งกำลังบำรุงม้าทรงประจำพระองค์ ที่ตั้งไว้ทุกปีงบประมาณ ปีละ 1,825,000 บาท และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ที่ตั้งไว้เป็นจำนวน ดังนี้

งบประมาณเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
2554975,229,400 บาท
2555960,260,500 บาทลดลง 14,968,900 บาท– 1.53 %
2556960,260,500 บาท
2557960,260,500 บาท
2558960,260,500 บาท
2559960,260,500 บาท
25601,220,072,500 บาทเพิ่มขึ้น 259,812,000 บาท+ 27.06 %
25621,295,611,500 บาทเพิ่มขึ้น 75,539,000 บาท+ 6.19 %
25621,463,406,500 บาทเพิ่มขึ้น 167,795,000 บาท+ 12.95 %
25631,575,528,900 บาทเพิ่มขึ้น 112,122,400 บาท+ 7.66 %
25641,959,441,400 บาทเพิ่มขึ้น 383,912,500 บาท+ 24.37 %

จะเห็นได้ว่าในปีงบประมาณ 2555 ถึง 2559 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งที่ตั้งไว้คงตัวเลขเดิมต่อเนื่องทุกปี และเริ่มเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2560 จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2564 ตั้งวงเงินไว้สูงเฉียดสองพันล้านบาท

นอกจากค่าใช้จ่ายหลักแล้ว ยังปรากฏค่าใช้จ่ายบางรายการที่ตั้งงบประมาณไว้เฉพาะบางปีงบประมาณ โดยปรากฏในงบประมาณที่ตั้งไว้ให้กับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดังนี้

  • เครื่องบินพระราชพาหนะสำรอง จำนวน 1 เครื่อง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น
    ปีงบประมาณ 2557 ตั้งไว้ที่ 566,853,400 บาท
    ปีงบประมาณ 2558 ตั้งไว้ที่ 1,411,200,500 บาท
    ปีงบประมาณ 2559 ตั้งไว้ที่ 1,849,125,900 บาท
    รวม 3,827,179,800 บาท
  • เฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ จำนวน 3 เครื่อง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น
    ปีงบประมาณ 2561 ตั้งไว้ที่ 662,746,000 บาท
    ปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ 1,275,400,000 บาท
    ปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ 890,232,100 บาท
    ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ 142,554,500 บาท
    รวม 2,970,932,600 บาท
  • โรงตรวจซ่อมเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวน 1 โรง จังหวัดลพบุรี
    ปีงบประมาณ 2559 ตั้งไว้ที่ 23,975,000 บาท
    ปีงบประมาณ 2560 ตั้งไว้ที่ 49,960,300 บาท
    ปีงบประมาณ 2561 ตั้งไว้ที่ 9,964,000 บาท
    รวม 83,899,300 บาท
  • โรงเก็บเครื่องบินพระที่นั่ง 1 หน่วยบินเดโชชัย 3 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 หลัง
    ปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ 56,519,000 บาท
    ปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ 148,349,600 บาท
    ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ 76,931,400 บาท
    รวม 281,800,000 บาท
  • โรงเก็บเครื่องบินพระที่นั่ง 2 หน่วยบินเดโชชัย 3 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 หลัง
    ปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ 38,121,200 บาท
    ปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ 107,847,900 บาท
    ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ 41,530,900 บาท
    รวม 187,500,000 บาท
  • โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ ฝูงบิน 201 กองบิน 2 พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 1 หลัง
    ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ 95,000,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

  • โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขบวนฯ พระราชพาหนะ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 4 ลำ ดังนี้
    ปีงบประมาณ 2561 ตั้งไว้ที่ 510,000,000 บาท
    ปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ 1,870,000,000 บาท
    ปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ 1,020,000,000 บาท
    รวม 3,400,000,000 บาท
  • โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะทดแทน 2 ลำ ภายใต้แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 
    ปีงบประมาณ 2557 ตั้งไว้ที่ 255,000,000 บาท
    ปีงบประมาณ 2560 ตั้งไว้ที่ 1,445,000,000 บาท
    รวม 1,700,000,000 บาท

โดยสามารถรวมยอดการตั้งงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนินและพระราชพาหนะได้ดังนี้

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนินและพระราชพาหนะ

ปีงบประมางบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
25541,577,054,400 บาท
25551,562,085,500 บาทลดลง 14,968,900 บาท– 0.95 %
25561,662,085,500 บาทเพิ่มขึ้น 100,000,000 บาท+ 6.40 %
25572,583,938,900 บาทเพิ่มขึ้น 921,853,400 บาท+ 55.46 %
25583,173,286,000 บาทเพิ่มขึ้น 589,347,100 บาท+ 22.81 %
25593,735,186,400 บาทเพิ่มขึ้น 561,900,400 บาท+ 17.71 %
25602,171,857,800 บาทลดลง 1,563,328,600 บาท– 41.85 %
25613,380,146,500 บาทเพิ่มขึ้น 1,208,288,700 บาท+ 55.63 %
25625,705,271,700 บาทเพิ่มขึ้น 2,325,125,200 บาท+ 68.79 %
25634,743,783,500 บาทลดลง 961,488,200 บาท– 16.85 %
25643,317,283,200 บาทลดลง 1,426,500,300 บาท– 30.07 %

4. งบประมาณเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติตามพระราชประสงค์

ปี 61 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ปีงบ 64 ทะลุ 4.6 พันล้าน

หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัย และปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ได้แก่ หน่วยงานที่สังกัดกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังจะเห็นได้จากเอกสารงบประมาณที่มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีของทั้งสองหน่วยงาน โดยระบุงบประมาณที่บ่งบอกถึงพันธกิจและวัตถุประสงค์ดังกล่าว

สำหรับหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงกลาโหม มีหลายหน่วยงานที่ได้รับการตั้งงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติและปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ดังนี้

กรมราชองครักษ์

ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจนถึงปีงบประมาณ 2560 สืบเนื่องจากพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ที่โอนกรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหมไปยังส่วนราชการในพระองค์ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ระบุวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายไว้ว่า “เพื่อถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ” ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ถึงปี 2560 ดังนี้

งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับกรมราชองครักษ์

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่าย
2554541,205,000 บาท
2555615,359,100 บาท
2556580,426,700 บาท
2557684,585,900 บาท
2558619,472,700 บาท
2559742,283,200 บาท
2560501,432,900 บาท

กองทัพบก

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 จนถึงปีงบประมาณ 2556 กองทัพบกได้รับการตั้งงบประมาณปีละ 210 ล้านบาท สำหรับวัตถุประสงค์การในถวายความปลอดภัย และปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ปีงบประมาณ 2557 ถึงปีงบประมาณ 2562 ได้รับปีละ 200 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 เพิ่มขึ้นมาเป็น 260 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2564 ลดลงเหลือ 195.5 ล้านบาท

กองทัพเรือ

กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณถวายความปลอดภัย และปฏิบัติตามพระราชประสงค์น้อยเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ถึงปีงบประมาณ 2562 ตั้งงบประมาณไว้ปีละ 5,420,500 บาท ต่อมาในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ตั้งงบประมาณไว้ปีละ 33,663,400 บาท เพิ่มขึ้นถึง 28,242,900 บาท

กองทัพอากาศ

ปีงบประมาณ 2554 ตั้งงบประมาณสำหรับการถวายความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ที่ 12.5 ล้านบาท ต่อมาปีงบประมาณ 2555 เพิ่มเป็น 17.5 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 ถึง 2562 ตั้งไว้ปีละ 20 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ตั้งไว้ปีละ 37.81 ล้านบาท

ในเอกสารงบประมาณ ได้ระบุถึงตัวชี้วัดเชิงคุณภาพอันเป็นเป้าหมายของงบประมาณไว้ว่า “กองทัพอากาศสามารถถวายความปลอดภัยบนอากาศยานพระราชพาหนะ/พระที่นั่งและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของกองทัพอากาศ ในการสนับสนุนการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ รวมทั้งรักษาความปลอดภัยในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพอากาศอย่างสมพระเกียรติ ตามพระราชประสงค์”

กองบัญชาการกองทัพไทย

ปีงบประมาณ 2554 ถึง 2557 กองบัญชาการกองทัพไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติและปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ตามวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบถวายความปลอดภัย พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ปีละ 240 ล้านบาท ต่อมาในปีงบประมาณ 2558 ลดลงเหลือ 30 ล้านบาท ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเองสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเพิ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติและปฏิบัติตามพระราชประสงค์เป็นปีแรก จากนั้นงบดังกล่าวสำหรับกองบัญชาการกองทัพไทยตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2562 ได้รับที่ปีละ 30 ล้านบาท ในปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ 20 ล้านบาท

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเริ่มได้รับการจัดสรรงบประมาณถวายความปลอดภัยเป็นปีงบประมาณแรก โดยตัวเลขที่ได้รับตั้งงบประมาณนั้น มิใช่แค่จำนวน 210 ล้านบาทอันเป็นส่วนต่างของงบประมาณที่กองบัญชาการกองทัพไทยได้รับในปีงบประมาณ 2558 กับปีงบประมาณก่อนหน้า แต่เป็นจำนวนเงินที่เยอะกว่าหลายร้อยล้าน โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2561 เพิ่มขึ้นหลักสองพันล้านบาท แยกพิจารณาได้ดังนี้

งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่าย
2558855,871,400 บาท
25591,012,599,900 บาท
2560340,000,000 บาท
25612,879,982,200 บาท
25621,278,970,800 บาท
25631,210,154,300 บาท
25641,216,966,000 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ได้รับงบประมาณเพื่อถวายความปลอดภัยสูง และมีบางปีที่มีรายจ่ายอื่นๆ เป็นพิเศษ เช่น การเช่ารถยนต์สำหรับขบวนเสด็จ โดยรายจ่ายที่จัดสรรไว้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อถวายความปลอดภัยนับเป็นจำนวนหลักร้อยล้านบาทต่อปี แต่ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ตั้งไว้เป็นจำนวนถึงหลักพันล้านบาท ตามตารางด้านล่าง

งบประมาณสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติตามพระราชประสงค์

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่าย
2554315,321,200 บาท
2555396,766,500 บาท
2556369,928,700 บาท
2557432,680,500 บาท
2558451,878,000 บาท
2559515,182,500 บาท
2560436,771,700 บาท
2561174,534,000 บาท
2562255,053,500 บาท
25631,975,713,300 บาท
25641,649,869,700 บาท

จากเอกสารประกอบงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ถึง 2564 สรุปได้ว่า งบประมาณดังกล่าวตั้งไว้เพื่อรายจ่ายหลายประเภท ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2558 จะมีงบบุคลากรอยู่ในส่วนนี้ด้วย ส่วนปีงบประมาณ 2559 จนถึงปีงบประมาณ 2564 ไม่มีงบบุคลากรรวมอยู่ บางส่วนเป็นงบดำเนินการ ค่าวัสดุสำหรับใช้สอย และงบลงทุน สำหรับปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของงบลงทุนด้านครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง ดังตัวอย่างจากเอกสารงบประมาณปี 2563 ต่อไปนี้

  • 63.9 ล้านบาท สำหรับโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 บก.ตร.มหด.รอ.904 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร 1 โครงการ
  • 56.8 ล้านบาท สำหรับโครงการจัดหาเสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุนระดับ 3A ใช้สำหรับงานสืบสวนแบบพรางตัว กันแทง บก.ตร.มหด.รอ.904 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร 1 โครงการ
  • 99.8 ล้านบาท สำหรับโครงการจัดหาอุปกรณ์ต่อต้านอากาศยานไร้คนขับเชิงรุกแบบเต็มระบบ บก.ตร.มหด.รอ.904 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร 1 โครงการ

มีข้อน่าสังเกตว่ารายจ่ายบางรายการ เดิมในเอกสารงบประมาณจัดไว้ในรายการผลผลิตการถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หรือมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการจัดการถวายความปลอดภัย แต่เอกสารงบประมาณปี 2561 หน้าที่ 92 – 96  และเอกในสารงบประมาณปี 2562 หน้าที่ 104 – 109 กลับปรากฏในรายการที่ระบุผลผลิตว่า “การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” โดยมีวัตถุประสงค์ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเป็นธรรมและปฏิรูประบบงานตำรวจให้มีประสิทธิภาพโปร่งใส ภายใต้แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ และในเอกสารงบประมาณปี 2563 หน้าที่ 334 – 339 และเอกสารงบประมาณปี 2564 หน้าที่ 314 – 319 ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ปรากฏอยู่ภายใต้ โครงการการบังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรมและบริการประชาชน บางรายการนั้นเป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายผูกพันข้ามปีด้วย แจกแจงรายละเอียดได้ดังนี้

  • ค่าเช่ารถยนต์สำหรับใช้ในขบวนเสด็จ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ (นรป.) 75 คัน 
    ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 100,069,800 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ เพื่อใช้ในภารกิจถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ 6 คัน 
    ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 12,067,200 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ เพื่อใช้ในภารกิจถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ 8 คัน 
    ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 16,089,600 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ประกอบสำหรับภารกิจการถวายความปลอดภัยของ ตร. 33 คัน
    ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 17,749,200 บาท
    ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 17,749,200 บาท
    รวม 35,498,400 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์สำหรับใช้ในขบวนเสด็จ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ (นรป.)(เพิ่มเติม) 4 คัน
    ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 9,062,400 บาท
    ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 9,062,400 บาท
    ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 9,062,400 บาท
    รวม 27,187,200 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์สำหรับใช้ในภารกิจการถวายความปลอดภัย (บช.ส.) 6 คัน
    ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 2,880,000 บาท
    ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 2,880,000 บาท
    ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 2,880,000 บาท
    รวม 8,640,000 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ เพื่อใช้ในภารกิจถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ (บก.ป.) 18 คัน
    ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 19,291,200 บาท
    ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 37,012,800 บาท
    ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 28,152,000 บาท
    ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 28,152,000 บาท
    รวม 112,608,000 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ เพื่อใช้ในภารกิจถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ (เพิ่มเติม) 14 คัน
    ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 28,207,200 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์สำหรับใช้ในขบวนเสด็จฯ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ (นรป.) 72 คัน
    ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 133,143,600 บาท
    ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 123,939,600 บาท
    ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 140,227,400 บาท
    รวม 397,310,600 บาท
  • ค่าเช่ายานพาหนะตามโครงการเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์เพื่อใช้ในการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ 8 คัน
    ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 16,560,000 บาท
    ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 16,540,800 บาท
    ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 16,550,400 บาท
    รวม 49,651,200 บาท
  • ค่าเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ฯ เพื่อใช้ในภารกิจถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ 4 คัน
    ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 10,454,400 บาท
    ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 10,233,600 บาท
    ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 10,344,000 บาท
    รวม 31,032,000 บาท
  • ค่าเช่ายานพาหนะตามโครงการเช่ารถยนต์ พร้อมอุปกรณ์เพื่อใช้ในภารกิจถวายอารักขา และรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ 4 คัน
    ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 6,210,000 บาท
  • โครงการจัดหาระบบตรวจจับและอุปกรณ์ต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ สำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ บ.ตร. แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 2 ระบบ
    ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 343,000,000 บาท

โดยสรุป ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัยแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในเอกสารงบประมาณกับระบุยอดงบประมาณส่วนนี้ไว้ในโครงการประเภทอื่น รวมทั้งสิ้น 3,586,755,700 บาท

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นอกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ยังมีงบประมาณที่จัดสรรให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เฮลิคอปเตอร์ติดตามในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน จำนวน 2 เครื่องรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 549,441,100 บาท
ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 786,153,300 บาท
ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 967,335,100 บาท

สามารถสรุปรวบยอดงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้ตามในตารางด้านล่าง

งบประมาณเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติตามพระราชประสงค์

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
25541,324,446,700 บาท
25551,485,046,100 บาทเพิ่มขึ้น 160,599,400 บาท+ 12.13 %
25561,425,775,900 บาทลดลง 59,270,200 บาท– 3.99 %
25571,582,686,900 บาทเพิ่มขึ้น 156,911,000 บาท+ 11.01 %
25582,382,782,200 บาทเพิ่มขึ้น 800,095,300 บาท+ 50.55 %
25592,625,555,900 บาทเพิ่มขึ้น 242,773,700 บาท+ 10.19 %
25601,633,694,900 บาทลดลง 991,861,000 บาท – 37.78 %
25613,515,353,300 บาทเพิ่มขึ้น 1,881,658,400 บาท+ 115.18 %
25622,576,202,700 บาทลดลง 939,150,600 บาท– 26.72 %
25634,620,103,300 บาทเพิ่มขึ้น 2,043,900,600 บาท+ 79.34 %
25644,665,628,000 บาทเพิ่มขึ้น 45,524,700 บาท+ 0.99 %

มีข้อสังเกตว่าแม้จะมีการโอนย้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยบางส่วนตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 (กรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม สํานักงานนายตํารวจราชสํานักประจํา สํานักงานตํารวจแห่งชาติ) ไปยังส่วนราชการในพระองค์ โดยกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 บังคับใช้ แต่งบในการรักษาความปลอดภัยดังตารางข้างต้นในปีงบประมาณ 2561 ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ และหากพิจารณาควบคู่ไปกับงบประมาณส่วนราชการในพระองค์อันเป็นหน่วยงานที่รับโอนบุคลากรไป งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์เองก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

5. งบเฉลิมพระเกียรติ เทิดพระเกียรติ 

เป็นของกองทัพ-ตำรวจ ต่อเนื่องทุกปีงบประมาณ

สำหรับงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แบ่งได้หลักๆ เป็นสองกลุ่มด้วยกัน หนึ่ง การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานรับงบประมาณเป็นรายปี สอง บางปีที่มีเหตุการณ์พิเศษ ก็อาจมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งตั้งไว้เพื่อกิจกรรมนั้นเป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น 

  • ปีงบประมาณ 2554 ตั้งงบประมาณ 300 ล้านบาท ไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 
  • ปีงบประมาณ 2555 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการจัดนิทรรศการและสื่อสารคดีเฉลิมพระเกียรติไว้ที่ 10 ล้านบาท 
  • ปีงบประมาณ 2562 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตั้งงบประมาณไว้ที่หนึ่งล้านบาท สำหรับโครงการจัดพิมพ์หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยในกรณีแรก การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยรับงบประมาณเป็นรายปี เพื่อใช้ในกิจกรรมหรือในวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ มีหลายหน่วยงานด้วยกัน จากการสำรวจเอกสารงบประมาณ 10 ปีงบประมาณ พบว่าในแต่ละปีงบประมาณมีจำนวนหน่วยรับงบประมาณที่ตั้งงบดังกล่าวไว้ไม่เท่ากัน โดยสรุปได้ดังตารางข้างใต้

หน่วยรับงบประมาณที่ตั้งงบเกี่ยวข้องกับการเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

* เครื่องหมาย / หมายความว่า ในปีงบประมาณนั้นได้มีตั้งงบแก่หน่วยรับงบประมาณ

ปีงบประมาณ25542555255625572558255925602561256225632564
สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
กลาโหม
///////////
กองทัพบก///////////
กองทัพเรือ///////////
กองทัพอากาศ///////////
กองบัญชาการ
กองทัพไทย
///////////
กอ.รมน./
สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
มหาดไทย
/
สำนักงาน
ตำรวจแห่งชาติ
///////////
สำนักงาน
ปลัดสำนัก
นายกรัฐมนตรี
/////////
สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
พาณิชย์
///////
สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
การต่างประเทศ
///////////
สำนักงานปลัด
กระทรวงการ
อุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม
//
สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
คมนาคม
//////
สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
ศึกษาธิการ
///////////
สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
ยุติธรรม
///////
สำนักงาน
ปลัดกระทรวง
วัฒนธรรม
/////////
กรมการศาสนา//////////
กรมส่งเสริม
วัฒนธรรม
///////
รวมจำนวน
หน่วยรับงบ
ประมาณ
912121112141415151616

จะได้เห็นว่าหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับงบประมาณเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องทุกปี เป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณเกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัยด้วย ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัย คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ตามเอกสารประกอบงบประมาณปี 2554 ได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับ “ผลผลิตที่ 1: การเทิดทูน การป้องกันรวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์” ภายใต้แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยระบุวัตถุประสงค์ว่า “จัดกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาสอันควร รวมทั้งดำเนินการป้องกัน ตอบโต้ ทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเชิดชูพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์”

ตามเอกสารงบประมาณปี 2555 ถึง 2559 ระบุถึงการตั้งงบประมาณในผลผลิตที่ 1: การเทิดทูน ป้องกัน รวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอยู่ภายใต้แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ละปีก็จะมีการระบุวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยสาระสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่เอกสารงบประมาณปี 2560 ถึง 2562 งบประมาณถูกตั้งไว้ในโครงการที่ 1: โครงการการเทิดทูนป้องกัน รวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่เอกสารงบประมาณปี 2563 และ 2564 โครงการพิทักษ์รักษา การถวายพระเกียรติการปฏิบัติตามพระราชประสงค์และการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ชื่อโครงการจะแตกต่างกันในแต่ละปีงบประมาณ แต่ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยสามารถแจกแจงงบประมาณในแต่ละปีได้ ดังนี้

งบประมาณสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่าย
255464,520,100 บาท
255565,018,200 บาท
255622,760,700 บาท
255722,760,700 บาท
255832,923,300 บาท
255926,771,200 บาท
256017,975,200 บาท
256120,475,300 บาท
256223,505,000 บาท
256321,705,400 บาท
256428,691,600 บาท

กองทัพบก

จากเอกสารงบประมาณปี 2554 ถึง 2559 ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ในผลผลิตที่ 2 “การเทิดทูน ป้องกันรวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจ มิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยสาระสำคัญของระบุวัตถุประสงค์ คือการเทิดทูนและร่วมป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

ในขณะที่เอกสารงบประมาณปี 2560 ถึง 2562 มีการตั้งงบประมาณสำหรับโครงการ การเทิดทูนป้องกัน รวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ โดยระบุวัตถุประสงค์ว่าเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ส่วนในเอกสารงบประมาณปี 2563 และ 2564 แม้จะยังอยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ แต่มีการตั้งงบไว้ในโครงการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ซึ่งรวบงบประมาณเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและการเทิดพระเกียรติไว้ในโครงการเดียวกัน โดยแยกพิจารณางบประมาณเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเทิดพระเกียรติ ไว้ดังนี้

งบประมาณกองทัพบกเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่าย
2554110,000,000 บาท
2555110,000,000 บาท
2556110,000,000 บาท
2557106,000,000 บาท
2558109,500,000 บาท
2559106,000,000 บาท
2560106,000,000 บาท
2561106,000,000 บาท
2562106,000,000 บาท
2563106,000,000 บาท
2564100,513,200 บาท

กองทัพเรือ

ตามเอกสารงบประมาณปี 2554 ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ในผลผลิตที่ 1 : การเทิดทูน การป้องกันรวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ในเอกสารงบประมาณปี 2555 ถึง 2559 แม้จะระบุชื่อผลผลิตไว้ทำนองเดียวกัน แต่ชื่อของแผนงานกลับแตกต่างออกไป ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่เปลี่ยนไป โดยอยู่ภายใต้แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ในเอกสารงบประมาณ 2560 ถึง 2562 มีการตั้งงบไว้ในโครงการการเทิดทูนป้องกัน รวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ ส่วนในเอกสารงบประมาณ 2563 และ 2564 เปลี่ยนแปลงโครงการโดยรวบรวมงบด้านการถวายความปลอดภัยเข้ามารวมกับการเทิดพระเกียรติ เช่นเดียวกับกองทัพบก ในชื่อของโครงการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์

โดยกองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2561 ปีละ 6,825,600 บาท ในปี 2562 เพิ่มขึ้นสูง ตั้งไว้ที่ 21,825,600 บาท ส่วนในปี 2563 และ 2564 ตั้งไว้ปีละ 3,825,600 บาท 

กองทัพอากาศ

ในรายละเอียดด้านยุทธศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงชื่อผลผลิต การเปลี่ยนแปลงชื่อโครงการและการรวบภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยและการเทิดพระเกียรติอยู่ภายใต้โครงการเดียวกัน กองทัพอากาศกำหนดไว้ในทิศทางเดียวกันกับกองทัพเรือ

ในปีงบประมาณ 2554 กองทัพอากาศตั้งงบเพื่อการเทิดพระเกียรติไว้ที่สามล้านบาท ส่วนปี 2555 ถึง 2554 ยกเว้นปี 2558 ตั้งไว้ที่ปีละ 3,500,000 บาท ส่วนในปี 2558 ตั้งไว้สูงที่สุดในประวัติการณ์ อยู่ที่ 15,300,000 บาท โดยจำนวน 11,800,000 บาท ที่เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนๆ นั้น สืบเนื่องมาจากมีการตั้งงบประมาณเพื่อค่าใช้จ่ายงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

กองบัญชาการกองทัพไทย

การตั้งงบประมาณของกองบัญชาการกองทัพไทย ตั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องไว้เท่ากันต่อเนื่องระหว่างปี 2555-2557 แตกต่างจากกองทัพเรือและกองทัพอากาศ แยกพิจารณาได้ดังนี้

งบประมาณกองบัญชาการกองทัพไทยเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่าย
255417,012,500 บาท
255520,000,000 บาท
255620,000,000 บาท
255720,000,000 บาท
255863,000,000 บาท
255926,780,000 บาท
256026,780,000 บาท
256126,780,000 บาท
256249,458,000 บาท
256341,858,000 บาท
256441,858,000 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ถึง 2560 มีการระบุไว้ในเอกสารงบประมาณถึง “โครงการสร้างจิตสำนึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุสถานที่ดำเนินการไว้ 77 จังหวัด โดยโครงการดังกล่าวปรากฏอย่างเอกเทศในเอกสารงบประมาณ ไม่ปะปนกับโครงการหรือผลผลิตอื่น

ต่อมาในเอกสารงบประมาณปี 2561 กลับไปปรากฏอยู่ในรูปแบบของกิจกรรมสร้างจิตสำนึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ผลผลิตที่ 5 : การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนและการเตรียมพร้อมรับภัยคุกคาม 

ในเอกสารงบประมาณปี 2562 ถึง 2564 โครงการสร้างจิตสำนึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรากฏอยู่ใน ผลผลิต : การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ โดยในแต่ละปีก็มีการจัดสรรงบประมาณจำนวนไม่เท่ากัน ดังนี้

งบประมาณสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่าย
255453,896,800 บาท
255553,461,300 บาท
255650,461,300 บาท
255747,981,400 บาท
255849,224,400 บาท
255952,722,800 บาท
256049,694,800 บาท
256122,416,400 บาท
256221,407,400 บาท
256321,407,400 บาท
256421,432,000 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติที่ตั้งไว้ในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งไว้ภายในผลผลิตหรือโครงการอื่นๆ ของสำนักงานฯ และไม่ได้มีลักษณะกำหนดตายตัวอย่างกรณีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ตามเอกสารงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2555 มีการตั้งค่าใช้จ่ายโครงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ 84 ปี ในหลวงของเราไว้ที่แปดล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 มีการตั้งงบประมาณสำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เป็นต้น โดยสามารถสรุปภาพรวมของงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการในตารางข้างใต้

งบประมาณสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติหรือเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่าย
255411,618,500 บาท
255515,000,000 บาท
255612,000,000 บาท
255710,800,000 บาท
255839,286,100 บาท
255931,889,100 บาท
256031,889,100 บาท
25613,173,000 บาท
256210,294,000 บาท
256322,881,400 บาท
256415,381,400 บาท

ทั้งนี้ สามารถสรุปรวบยอดงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติ พิทักษ์รักษาพระเกียรติ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หน่วยรับงบประมาณแต่ละหน่วยตั้งงบไว้ รวมทั้งหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณต่อเนื่อง และที่ไม่ต่อเนื่องทั้ง 10 ปีงบประมาณ ตามในตารางด้านล่าง

งบประมาณเกี่ยวกับเฉลิมพระเกียรติ พิทักษ์รักษาพระเกียรติ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
2554591,073,500 บาท
2555426,480,100 บาทลดลง 164,593,400 บาท– 27.85 %
2556292,187,600 บาทลดลง 134,292,500 บาท– 31.49 %
2557294,867,700 บาทเพิ่มขึ้น 2,680,100 บาท+ 0.92 %
2558548,619,400 บาทเพิ่มขึ้น 253,751,700 บาท+ 86.06 %
2559859,228,700 บาทเพิ่มขึ้น 310,609,300 บาท+ 56.62 %
2560556,504,700 บาทลดลง 302,724,000 บาท– 35.23 %
2561462,698,100 บาทลดลง 93,806,600 บาท– 16.86 %
2562534,366,000 บาทเพิ่มขึ้น 71,667,900 บาท+ 15.49 %
2563548,694,800 บาทเพิ่มขึ้น 14,328,800 บาท+ 2.68 %
2564521,283,000 บาทลดลง 27,411,800 บาท– 5.00 %

6. งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินตามพระราโชบาย โครงการจิตอาสาพระราชทาน โครงการจิตอาสา 904

นอกจากงบประมาณด้านการเฉลิมพระเกียรติ เทิดพระเกียรติแล้ว ยังมีงบประมาณอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ตั้งไว้ในทุกปีงบประมาณ โดยจัดสรรให้ในหน่วยงาน ดังนี้

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ในปีงบประมาณ 2562 มีการตั้งงบประมาณที่ยึดโยงกับ “พระราโชบาย” ได้แก่

  • ค่าใช้จ่ายโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรในระดับจังหวัด 78,500,000 บาท
  • เงินอุดหนุนโครงการสร้างกระบวนทัศน์เพื่อพัฒนาลูกเสือจิตอาสาตามพระราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร 18,936,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายโครงการน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร 49,880,600 บาท
  • ค่าใช้จ่ายโครงการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานตามพระราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรสู่การปฏิบัติและปลุกจิตสำนึกความรักชาติ ศาสนาและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ 7,200,000 บาท

ปีงบประมาณ 2564  ตั้งงบประมาณไว้ในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ค่าใช้จ่ายโครงการหลักสูตรจิตอาสา 904 จำนวน 19,348,500 บาท

กองทัพเรือ

ปีงบประมาณ 2563 และ ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบไว้ในโครงการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริรุ่นที่ 1-3 11,100,600 บาท
  • ค่าใช้จ่ายจิตอาสาพระราชทาน เราทำความดีด้วยหัวใจ 1,084,800 บาท
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ 13,063,500 บาท

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ปีงบประมาณ 2564 มีการตั้งงบสำหรับโครงการสนับสนุนการดำเนินงานจิตอาสาพระราชทาน 2,596,500 บาท

บทสรุป

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นหลายปี
ปีงบ 61 เพิ่มขึ้น 40.18 %

กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมไปถึงการใช้งบประมาณ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ การที่ประเทศไทยใช้ระบบงบประมาณรายจ่ายขาเดียว คือ มีเพียงงบประมาณรายจ่าย ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น โดยการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแก้ไข แปรญัตติตัดลดงบประมาณ ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนจะทำได้จากฐานของพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ที่รัฐบาลเสนอไว้เท่านั้น การจะแปรญัตติตัดลดงบของกระทรวงหรือกรมใด ก็ต้องลดของกระทรวงหรือกรมนั้น แต่จะแปรญัตติลดงบประมาณรายโครงการไม่ได้ หรือจะตัดโครงการที่เห็นว่าไม่จำเป็น ทั้งโครงการเลยก็ไม่ได้ 

เมื่อเจาะถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในภาพรวมมีการเพิ่มขึ้นและเปอร์เซ็นต์การเพิ่มบางปีสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนหรือตกต่ำ ระบบงบประมาณขาเดียว ก็อาจส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถใช้อำนาจอนุมัติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยหลักอาจแปรญัตติตัดลดได้เฉพาะงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์

จะเห็นได้ว่า ฝ่ายบริหารค่อนข้างมีอำนาจในงบประมาณรายจ่ายมากกว่าทั้งในแง่ของกระบวนการจัดทำ และการใช้งบประมาณ ซึ่งก็เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของแต่ละรัฐบาลหรือยุทธศาสตร์ชาติด้วย แต่ละปีงบประมาณ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ชื่อยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่วนงบประมาณปี 2560 เป็นต้นมา ก็จะยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเหตุที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก การสรุปผลภาพรวมงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ปีงบประมาณ ไอลอว์จึงได้ยกชื่อนายกรัฐมนตรี อันเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมาประกอบด้วย ในฐานที่ว่านายกรัฐมนตรีเองก็เป็นประมุขของฝ่ายบริหาร 

อย่างไรก็ดี ประชาไท ก็ได้ทำการรวบรวมงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เช่นกัน โดยในปีงบประมาณ 2564 ประชาไทยระบุว่า “ประเทศไทยมีการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมดราว 37,228 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 1.12% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด 3.3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายโดยตรง 20,309 ล้านบาท รายจ่ายโดยอ้อม 16,919 ล้านบาท” ซึ่งทางไอลอว์ได้รวบรวมแล้ว มียอดที่แตกต่างกัน โดยจุดที่แตกต่างมีสองจุดหลักๆ ดังนี้

หนึ่ง ไอลอว์มิได้นำงบประมาณในส่วนของโครงการในพระราชดำริมาคำนวณรวมด้วย

สอง กรณีที่งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ปะปนกับงบประมาณด้านอื่น หากแยกส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมาได้ ไอลอว์จะะนำเฉพาะส่วนนั้นมาคำนวณ เช่น ในปีงบประมาณ 2564 ผลผลิต : การบริหารจัดการของรัฐบาลด้านความมั่นคง ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุวัตถุประสงค์ว่า “พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้รับความสะดวก ปลอดภัยสูงสุด ตลอดจนประเทศมีความมั่นคงปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อย” จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวเห็นได้ว่ามีทั้งด้านที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ไอลอว์จะนำเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาคำนวณ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง หากเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไอลอว์จะไม่นำมาคำนวณ เช่น เงินราชการลับ 

กรณีที่วัตถุประสงค์ระบุไว้หลากหลายและไม่สามารถแยกส่วนเฉพาะงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้  ไอลอว์จะไม่นำมาคำนวณเลย ทั้งนี้ สามารถสรุปภาพรวมงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ปีงบประมาณ พร้อมกับความเปลี่ยนแปลง “เพิ่ม-ลด” ในแต่ละปีงบประมาณ และโฉมหน้าของนายกรัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ได้ในตารางด้านล่าง

ภาพรวมงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ปีงบประมาณ

นายกฯ ลงนามรับสนอง
พ.ร.บ. งบประมาณ
รายจ่ายประจำปี
ปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น/ลดลงจากปีก่อนเปอร์เซ็นต์
อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ25547,002,104,000 บาท
ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร25557,804,173,300 บาทเพิ่มขึ้น 802,069,300 บาท+ 11.45 %
25567,889,099,200 บาทเพิ่มขึ้น 84,925,900 บาท+ 1.09 %
25578,894,376,000 บาทเพิ่มขึ้น 1,005,276,800 บาท+ 12.74 %
พลเอกประยุทธ์255811,126,546,600 บาทเพิ่มขึ้น 2,232,170,600 บาท+ 25.10 %
จันทร์โอชา255912,198,375,600 บาทเพิ่มขึ้น 1,071,829,000 บาท+ 9.63 %
25609,669,027,800 บาทลดลง 2,529,347,800 บาท– 20.74 %
256113,554,191,400 บาทเพิ่มขึ้น 3,885,163,600 บาท+ 40.18 %
256218,047,186,000 บาทเพิ่มขึ้น 4,492,994,600 บาท+ 33.15 %
256319,988,112,800 บาทเพิ่มขึ้น 1,940,926,800 บาท+ 10.75 %
256419,230,559,300 บาทลดลง 757,553,500 บาท– 3.79 %

กฎหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้อง

พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2555
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2557
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2558
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2559
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2560
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2561 
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2562 
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563
พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564
รวมเอกสารงบประมาณทุกปีงบประมาณ

ปีงบประมาณ 2554
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2554 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี,  กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2554 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2554 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2554 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

ปีงบประมาณ 2555
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2555 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2555 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2555 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2555 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงวัฒนธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2555 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2555 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง)

ปีงบประมาณ 2556
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2556 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี,  กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2556 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2556 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2556 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงวัฒนธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2556 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2556 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง)

ปีงบประมาณ 2557
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2557 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี,  กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2557 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2557 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2557 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงวัฒนธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2557 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2557 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง)

ปีงบประมาณ 2558
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2558 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2558 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2558 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2558 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงยุติธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2558 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (กระทรวงวัฒนธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2558 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 9 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2558 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 11 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง)

ปีงบประมาณ 2559
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 4 (กระทรวงคมนาคม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 5 (กระทรวงพาณิชย์)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงยุติธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (กระทรวงวัฒนธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 9 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2559 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 11 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง)

ปีงบประมาณ 2560
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 4 (กระทรวงคมนาคม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 5 (กระทรวงพาณิชย์)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงยุติธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (กระทรวงวัฒนธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 9 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2560 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 11 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง)

ปีงบประมาณ 2561
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 3 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 4 (กระทรวงคมนาคม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 5 (กระทรวงพาณิชย์)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงวัฒนธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2561 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 13 (ส่วนราชการในพระองค์)

ปีงบประมาณ 2562
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 3 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 5 (กระทรวงคมนาคม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 6 (กระทรวงพาณิชย์)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (กระทรวงยุติธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 9 (กระทรวงวัฒนธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 (1) (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 12 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2562 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 13 (ส่วนราชการในพระองค์)

ปีงบประมาณ 2563
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 3 (1)  (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 5 (กระทรวงคมนาคม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงพาณิชย์)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 9 (กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงยุติธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 12 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2563 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 17 (ส่วนราชการในพระองค์)

ปีงบประมาณ 2564
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 (สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 2 (กระทรวงการต่างประเทศ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 3 (1) (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 5 (กระทรวงคมนาคม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 7 (กระทรวงพาณิชย์)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 8 (กระทรวงมหาดไทย)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 9 (กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงยุติธรรม)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 10 (กระทรวงศึกษาธิการ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 12 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
เอกสารงบประมาณ ประจำปี 2564 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 17 (ส่วนราชการในพระองค์)