วิทิต มันตาภรณ์ เรียกร้องปล่อยตัว-ถอนคดีผู้ชุมนุมโดยสงบ ตำแหน่งที่ได้มาโดยไม่ชอบให้ลาออก

“ผมยืนเพื่อธงชาติ เพราะผมตีความ ธงชาติว่าเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ และมองว่าความหลากหลายเกี่ยวกับการยืนหรือไม่ยืนเคารพธงชาตินั้นเป็นสิ่งที่เราเอื้ออารีต่อกันได้ในความหมายของแต่ละฝ่าย และมันมีทางบรรจบกันได้”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ยืนขึ้นกล่าวในงาน 90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังวิทยากรและผู้ฟังคนอื่นไม่ได้ยืนขึ้นระหว่างเปิดเพลงชาติและบางคนชูสามนิ้ว

ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพ: ดุลยภาพที่เราต้องหาให้เจอ

วิทิต มันตาภรณ์ ในฐานะศาสตราภิชานคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้พูดถึงและให้ความสำคัญกับเรื่องดุลยภาพ (A Sense of Balance) ในประเด็นของสิทธิมนุษยชน โดยได้นำเสนอสามหัวข้อหลักเพื่อเป็นแนวทางให้ได้ลองคิดว่า สิทธิมนุษยชนที่ทุกฝ่ายใฝ่หานั้น แม้แต่ละฝ่ายจะให้ความหมายแตกต่างกันแต่เรายังสามารถหาจุดสมดุลระหว่างกันได้

ประการแรก ข้อคิดเบื้องต้นที่ต้องทำความเข้าใจ 

วิทิตกล่าวว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐ โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องประกันให้ประชาชน สิทธิมนุษยชนมีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงเรื่องความจน หรือแม้กระทั่งการรับมือกับโรคโควิด 19 

และเหตุที่สิทธิมนุษยชนมีหลากหลายมิตินั้นเองก็ส่งผลให้ บางสิทธิเป็นสิทธิเด็ดขาด บางสิทธิไม่เด็ดขาด ยกตัวอย่างเช่น สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิการชุมนุมหรือการแสดงออก ในเวทีสหประชาชาติสิทธิเหล่านี้ไม่ถือเป็นสิทธิเด็ดขาด รัฐสามารถจำกัดสิทธิได้ในบางกรณีแต่ต้องกระทำและให้เหตุผลที่ฟังขึ้นตามหลักสากล 

ยิ่งไปกว่านั้น สิทธิมนุษยชนมีเกณฑ์ในการวัดอยู่ หมายความว่า มีมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐพึงกระทำ โดยต้องพิจารณาจากปรวิสัย (Objective) หรือเงื่อนไขบนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่เกณฑ์ภายในหรืออัตวิสัยที่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเท่านั้น

สิ่งสำคัญเลยคือเราต้องยอมรับ “หลักดุลยภาพ” หรือความแฟร์ในประเด็นที่ว่า มีหลายเรื่องที่ประเทศไทยทำได้ดีมากในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือการรับมือกับโรคโควิด 19 และก็มีอีกหลายเรื่องที่ยังทำได้ไม่ดี โดยเฉพาะประเด็นสิทธิทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การเลือกตั้ง การแสดงออก ที่ทุกวันนี้ยังคงเป็นอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอยู่มาก  

ประการที่สอง สิ่งที่สะท้อนบริบทของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในปัจจุบัน 

วิทิตกล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 100 ปีแล้วที่ประเทศเราและประเทศอื่นๆ แสวงหาประชาธิปไตย และอยากที่จะจารึกประชาธิปไตยไว้ในประวัติศาสตร์ของเรา (Democratic Narrative)  แต่ปัญหาคือ เรายังพบการใช้กำลังของบางฝ่ายเพื่อยึดอำนาจ เพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญ และฝ่ายผู้ที่ยึดอำนาจนั้นก็ยังคงอยู่ต่อไป โดยจะเห็นได้จาก รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับที่ผ่านมา มักถูกสร้างบนฐานอำนาจที่มาจากการใช้กำลัง ซึ่งก็คือ รัฐประหาร รัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่มิได้มีเนื้อหาที่ยึดโยงกับสัญญาประชาคมหรือประชาชนอย่างแท้จริงแต่กลายเป็นเครื่องมือในการแบ่งอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งมักขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน 

นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่เคยสังเกตว่า หลักสิทธิมนุษยชนหลายๆ หลักไม่ได้ถูกบัญญัติรับรองในไว้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในกฎหมายอื่นๆ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้รับรองหลักสิทธิมนุษยชนไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ศ.กิติคุณ วิทิต ระบุว่า ในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นใดก็ตาม เราจำเป็นต้องดูให้ครบทุกวงจร

วิทิตระบุว่า ในปัจจุบันนี้ สภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ และเยาวชน ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นการเคลื่อนไหวของข้อมูลแนวใหม่ ได้เห็นการตื่นตัวในทางสัจธรรม (Social Awakening) การตื่นตัวในทางสัจธรรม รวมถึงเกิดช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap)  ซึ่งสิ่งที่ควรทำ คือ เราต้องพยายามหาช่องทางหรือสะพานที่สามารถเอื้อกันและกันหรือเชื่อมหลายๆ ฝ่ายเข้าด้วยกันเพื่อที่จะเดินไปด้วยกันอย่างสันติ  ซึ่งผู้ที่น่าจะมีความชอบธรรมมากที่สุดในการเป็นสะพานเชื่อมที่ดี คือ สภาที่มาจากประชาชน โดย ศ.กิตติคุณ วิทิตเห็นว่า สภาจะต้องมีบทบาทมากขึ้น ต้องไม่ปล่อยให้ฝ่ายบริหารสร้างอุปสรรคต่อประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนมากไปกว่าเดิม รวมถึงผู้ที่ได้อำนาจมาอย่างมิชอบหรือไม่ได้มาจากประชาชน ควรมีศีลธรรมในการคืนอำนาจให้ประชาชน

ในปัจจุบันรัฐไทยบั่นทอนสิทธิมนุษยชนหลายกรณีโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ตัวอย่างเช่น การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มักจะใช้แต่กับการชุมนุมทางการเมืองที่โดยส่วนใหญ่มักเป็นการใช้ที่มิชอบ ซึ่ง ศ.กิติคุณ วิทิต ระบุว่า นี่เป็นประเด็นที่ประเทศไทยถูกติงในเวทีสหประชาชาติมากที่สุด โดยถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไข

ประการสุดท้าย ข้อเสนอที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพตามหลักสากล

1. เรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังจากการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติ และขอให้ยกเลิกการฟ้องร้องคดีทั้งหมดที่กระทำต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนโดยสงบ 

2. ขอให้เคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการแสดงออก การรวมกลุ่มโดยสันติเพื่อประชาธิปไตยอันสร้างสรรค์ โดยถ้ารัฐจะจำกัดสิทธิดังกล่าว ก็จะต้องพิสูจน์ให้เห็น 4 อย่างดังนี้  

            2.1 ต้องใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสากล หลักนิติธรรม ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจหรือเป็นการใช้ที่มิชอบ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือแม้กระทั่งกฎหมายอาญาบางมาตรา

            2.2 ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีความจำเป็นหรือมีภัยจริงๆ

            2.3 ต้องพิสูจน์ว่าการกระทำของตนสมเหตุสมผล หรือได้สัดส่วนกับมาตรการที่เลือกใช้เพื่อต่อต้านกับภัยที่เกิดขึ้น

            2.4 ถ้ารัฐจะใช้มาตรการบางอย่าง จะต้องรายงานต่อสหประชาชาติ ตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)]

3. สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

4. ขอให้นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้นำท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใสและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งขอเชิญฝ่ายที่มีอำนาจที่ได้ตำแหน่งมาโดยมิชอบหรือจากการใช้ความรุนแรง โปรดคืนอำนาจแก่ประชาชน 

5. สร้างคานของดุลอำนาจ ตามหลัก Check and Balance ของกระบวนการทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ สร้างความโปร่งใสในการบริหารประเทศ เคารพเสียงข้างมากโดยไม่ลืมเสียงข้างน้อย เปิดการเจรจาอย่างมีเหตุผลและหาทางบรรจบกันของหลายฝ่ายอย่างสันติวิธี 

นอกจากนี้ วิทิตได้กล่าวว่า “ตลอด 40 ปีที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในและนอกประเทศ จะพบว่าบางทีคนที่ทำเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพ จะท้อ เหตุที่มาพูดในวันนี้เพื่อบอกว่า อย่าท้อ ให้เรายึดถือในเหตุผล สัจจะ เราต้องเป็นผู้ที่ให้ความหวังต่อไป และเรายึดถือสันติภาพ สันติวิธี เป็นหลัก”