‘ขวางแก้รัฐธรรมนูญ’ ความสำเร็จครั้งที่ 2 ของระบอบ คสช.

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกขนานนามว่าเป็นฉบับ ‘สืบทอดอำนาจ’ เพราะมีกลไกช่วยเหลือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ยังคงอยู่ในอำนาจได้ต่อหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลไก “วุฒิสภา” ที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดย คสช. ตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ส.ว.ชุดนี้ได้สร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญไปแล้ว 2 ครั้ง คือ การเลือกนายกรัฐมนตรี และขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ชัยชนะครั้งแรกของระบอบ คสช.

24 มีนาคม 2562 ก่อนการลงมติเลือกนายกฯ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้รับที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดในสภาและสมควรเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่อาจรวมเสียงจากพรรคอื่นๆ ได้มากพอตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่กำหนดว่า ในช่วง 5 ปีแรกการเลือกนายกฯ จำเป็นจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. โดยต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาหรือประมาณ 376 เสียง 

หากพรรคการเมืองใดต้องการจะจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ใช้เสียงของ ส.ว. 250 เสียงเลยก็ต้องใช้เสียงของ ส.ส.มากถึงร้อยละ 75 ของสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นเรื่อง ‘เป็นไปไม่ได้’ แม้จะเป็นพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ก็ตาม ดังนั้น เสียงของ ส.ว.จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกนายกฯ หรือการตั้งรัฐบาล 

ถ้าไม่มี ส.ว. พรรครัฐบาลแพ้ลงมติ “เลื่อนพิจารณา” แก้รัฐธรรมนูญ

24 กันยายน 2563 รัฐสภามีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ว.-ส.ส.) เพื่อพิจารณาวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จำนวน 6 ญัตติ ท้ายที่สุด สภามิได้ลงมติรับหลักการในร่างใด เนื่องจากหลังการอภิปรายถกเถียงกันอย่างหนักหน่วง พรรคพลังประชารัฐได้เสนอให้รัฐสภาลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 121 วรรคสามเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ กินเวลา 30 วันเสียก่อนจะมีการลงมติในเรื่องนี้ซึ่งจะเป็นขั้นของการรับหลักการในวาระแรก

วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยถึงเหตุผลในการเสนอญัตตินี้ว่า เพื่อไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอนั้นถูกตีตกไปจึงเห็นควรให้มีการตั้ง กมธ. เพื่อพิจารณาร่วมกันว่าเนื้อหาสาระสำคัญประการใดที่เห็นร่วมกันได้  ถึงจะส่งผลให้การพิจารณาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญช้าไปอีก 1 เดือนแต่ก็คุ้มค่า

ผลการลงมติดังกล่าวพบว่า  431 เสียงเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาฯ ไม่เห็นด้วย 255 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากเสียงของ ส.ส. และ ส.ว. ที่เข้าประชุมทั้งหมด 715 คน 

50385130191_320470d9c1_o

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่า 

1. พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาญัตติแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสียงข้างมากลงมติไม่เห็นด้วย 

2. หากไม่นับเสียง ส.ว.นั่นเท่ากับว่า ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตในครั้งนี้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาโดยใช้วิธีตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 252 ต่อ 203

3. ส.ว.ชุดพิเศษของ คสช. มีความเป็นเอกภาพสูงเช่นเดียวกับที่ผ่านมา ครั้งนี้ก็โหวตไปทางเดียวกันถึงร้อยละ 90 หรือ 228 เสียง 

การเลื่อนญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปส่งผลกระทบอย่างสำคัญ เพราะตามข้อบังคับการประชุมสภา หากมีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ในการประชุมสภาสมัยถัดไป พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านจะไม่สามารถเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญที่มีหลักการเช่นเดียวกันได้ในสมัยประชุมเดียวกัน หรือถ้าญัตติแก้รัฐธรรมนูญตกไปก็ต้องไปเสนอใหม่ในสมัยประชุมหน้าซึ่งอาจใช้เวลานานขึ้นถึง 8-9 เดือน ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็เรียกได้ว่า เป็นความสำเร็จในการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญของ คสช.

6 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล 1 ฉบับ
– ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน โดยให้ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง และอีก 50 คนมาจากการสรรหาคัดเลือกโดยรัฐสภา นักเรียน-นักศึกษา และที่ประชุมอธิการบดี ตามลำดับ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ฉบับ ได้แก่
– แก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. เสนอจำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
– แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดสิทธิ ส.ว. ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ
– ยกเลิกมาตรา 270, 271 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ
– ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
– แก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้ง โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนให้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย