ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทยในมุมมอง “สิริพรรณ นกสวน สวัสดี”

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระแสการแก้รัฐธรรมนูญยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง หลังกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และภาคประชาชนจัดชุมนุมใหญ่เพื่อกดดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทั้งในสภาและนอกสภาเพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

50327805427_f981e88891_c

ทั้งนี้ ในมุมมองของ รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ One-on-One มองว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับ สสร. ของทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลยังไม่เพียงพอต่อการสะท้อนกลุ่มก้อนทางสังคมเพราะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ในขณะที่ข้อเสนอของภาคประชาชนซึ่งใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งก็มีข้อเสียที่ความยุ่งยากซับซ้อนในการลงคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้ง

นอกจากนี้ รศ.ดร.สิริพรรณ ยังชวนคิดต่อด้วยว่า การแก้รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องพิจารณาควบคู่กับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งจากข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปิตสวิตช์ ส.ว. อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการแก้ระบบเลือกตั้งควบคู่ไปด้วย เพื่ออย่างน้อยประชาชนจะมีรัฐบาลที่ชอบธรรมมากขึ้นในระหว่างที่ต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรเป็นแค่การต่อสู้กับรัฐบาลที่เราไม่ชอบ แต่มันควรเป็นไปเพื่อป้องกันทางตันทางการเมือง ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะเป็นการมองหาสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม อย่างน้อยที่สุดรัฐธรรมนูญควรมีหลักประกันว่า เราจะได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ได้ระบบที่ทำให้เราตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ แต่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กลับปิดช่องทางการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจทางการเมือง

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า เวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญที่ดี เราไม่ควรให้ความสำคัญแต่ประเด็นสิทธิเสรีภาพ เพราะเรื่องสิทธิเสรีภาพมันเป็นเรื่องพื้นฐานที่รับรู้กัน แต่ควรมองให้เห็นประเด็นหลักอย่างวิธีการได้มาซึ่งรัฐบาลหรือตัวผู้ได้อำนาจรัฐ เพราะต่อให้เขียนสิทธิเสรีภาพดีอย่างไร แต่ถ้ารัฐบาลที่มาตามรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่มีความหมาย  

รศ.ดร.สิริพรรณมองว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องกำหนดขอบเขตอำนาจทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ให้ชัดเจน รวมถึงต้องเขียนให้ที่มาของผู้ใช้อำนาจต้องเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะหากผู้มีอำนาจมาจากประชาชน เขาจะแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ของประชาชน เขาจะแก้ปัญหาโดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เราจะเห็นอำนาจอยู่ที่ระบบราชการ กองทัพ กลุ่มทุนมากกว่าประชาชน

สสร. ต้องตอบโจทย์ความเป็นตัวแทนประชาชน

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญควรจะเป็นตัวแทนที่สะท้อนกลุ่มอัตลักษณ์หรือกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนแต่ละกลุ่ม แต่จากข้อเสนอที่มา สสร. ของทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่กำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งยังไม่ตอบโจทย์ความเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ เพราะจะทำให้เราได้ สสร.ที่อยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมืองในพื้นที่ซึ่งอาจทำให้เราได้รัฐธรรมนูญแบบเดิม 

ส่วนร่างแก้รัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่เสนอให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) รศ.ดร.สิริพรรณมองว่า ยังมีข้อเสียที่ทำให้มีจำนวนผู้สมัครเยอะมากและประชาชนไม่รู้จักผู้สมัครทั้งหมด ดังนั้น จึงเสนอว่า เราควรกำหนดให้มีตัวแทนกลุ่มที่เจาะจงมากขึ้นและกำหนดจำนวนสมาชิกในกลุ่ม เช่น กลุ่มนักศึกษา นักกฎหมาย หรือกลุ่มจังหวัด โดยบอกแก่ประชาชนให้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเข้ามาทำหน้าที่แทนคนกลุ่มใด เพื่อลดจำนวนผู้สมัครลง และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้สมัคร สสร.กับประชาชนมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สิริพรรณเสนอว่า นอกจากการมี สสร. แล้ว เรายังมีทางเลือกซึ่งเคยทำมาแล้วในรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ที่ปูทางมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็คือ การค่อยๆ แก้ไขไปทีละมาตรา เหมือนค่อยๆ ปลดล็อคไปทีละเรื่อง เช่น แก้เรื่องการเพิ่มอำนาจของประธานรัฐสภา ตั้ง กกต. จนท้ายที่สุดคือ ตั้ง สสร. เพื่อให้มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 โดยข้อดีของการแก้ไปทีละมาตรานั้น จะสร้างความเชื่อมโยงและความใกล้ชิดระหว่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนมากขึ้น 

ในระยะเปลี่ยนผ่าน แค่ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ คงไม่พอ 

นอกจากเรื่องของ สสร. แล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในสังคมคือ อำนาจและที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งในประเด็นนี้ รศ.ดร.สิริพรรณ นักวิชาการทางรัฐศาสตร์มองว่า อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดอีกต่อไป เนื่องจากหากพิจารณาจากจำนวนที่นั่ง ส.ส. ระหว่างพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล จะพบว่า ฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส. ถึง 270 เสียง หรือหมายความว่า ถึงไม่ใช้เสียง ส.ว. 250 เสียง ฝ่ายรัฐบาลก็สามารถเลือกนายกฯ ใหม่ได้ ถึงยุบสภาไป เราก็อาจจะได้นายกฯ คนเดิม หรือถ้าไม่ได้คนเดิม เราก็จะได้คนจากเครือข่ายเดิม ดังนั้น การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. คงไม่พอ

ทั้งนี้ รศ.ดร.สิริพรรณมองว่า โจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญปัจจุบันจะรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองได้หรือไม่ เพราะกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องใช้เวลานาน ถ้าหากมีแรงกดดันทางการเมืองที่มากกว่านี้ ประชาชนจะรอ สสร. รอการเลือกตั้ง ในอีกปีสองปีข้างหน้าได้หรือไม่ ถ้ารอไม่ไหวก็ควรที่จะมีการเสนอแก้ระบบเลือกตั้งใหม่ให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่ชอบธรรมและประชาชนโอบรับได้มากกว่านี้ ควรจะต้องมีกระบวนการหรือวิธีการเลือกตั้งที่เป็นธรรม

รศ.ดร.สิริพรรณเสนอว่า ให้กลับมาใช้ระบบเลือกที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ หรือจะนำระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาใช้ก็ได้แต่ต้องไม่เอามาทั้งหมด เพราะเป็นระบบที่เอื้อให้พรรคขนาดใหญ่ได้เปรียบ ในขณะที่ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้พรรคขนาดใหญ่เสียเปรียบ ดังนั้น จุดตรงกลางคือ หากจะนำระบบเลือกตั้ง ปี 40 กลับมาใช้ ก็ต้องแก้ไขเรื่องเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ควรใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (MMP) ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนนได้ตรงที่สุด และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย