ปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 : สิทธิเสรีภาพที่อยู่ภายใต้ “ความมั่นคงของรัฐ”

รัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นเครื่องมือกำหนดโครงสร้างของรัฐแล้ว ยังเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยสิทธิเสรีภาพอาจถูกรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่มีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติ ที่กำหนดกระบวนการเพื่อให้สามารถใช้สิทธินั้นได้ในทางปฏิบัติ เมื่อสิทธิของประชาชนได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญอย่างครอบคลุมและมีพระราชบัญญัติกำหนดขั้นตอนทางปฏิบัติก็จะทำให้ระบบกฎหมายของรัฐนั้นๆ คุ้มครองประชาชนได้อย่างเต็มที่ หากสิทธิในเรื่องใดที่มีรับรองไว้ในกฎหมายอื่น แต่ไม่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือเขียนไว้แต่เปิดช่องให้ยกเว้นได้ ก็อาจจะขาดความมั่นคงแน่นอน เพราะขาดกรอบที่กำหนดหลักการใหญ่ไว้ 

โดยเหตุนี้การรับรองสิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญจึงสำคัญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ก็รับรองหลักความเสมอภาค หลักห้ามเลือกปฏิบัติ และรับรองสิทธิเสรีภาพไว้หลายประการ ทว่าก็ยังขาดความชัดเจนในบางประเด็น เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย และมีรายละเอียดหลายประการที่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

 

ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศที่ยังคลุมเครือ

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะรับรองความเสมอภาคและความเท่าเทียมไว้ในมาตรา 27 โดยกำหนดว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” อีกทั้งยังห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า ความหมายของ ‘ชายและหญิง’ กับ ‘เพศ’ นั้นหมายถึงเฉพาะเพศกำเนิด (Sex) หรือหมายความรวมไปถึงเพศสภาพ (Gender) และเพศวิถี (Sexual Orientation) 

ตัวอย่างเช่น หากมีประชาชนคนหนึ่งที่เพศกำเนิดในใบสูติบัตรเป็นชาย แต่ภายหลังพบว่า ตัวเองเหมาะสมกับเพศหญิง จึงใช้ชีวิตและกำหนดอัตลักษณ์เป็นหญิงตลอดมา มีคู่รักที่เป็นเพศชาย จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร จะอยู่ภายใต้หลักห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุที่ใช้ชีวิตเป็นเพศหญิงด้วยหรือไม่

เมื่อย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ พบว่าได้บรรจุหลักการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง ‘เพศสภาพ’ เอาไว้ และให้หมายความรวมถึงความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางเพศและความหลากหลายทางเพศด้วย ทว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงของมีชัย ฤชุพันธ์ุ กลับไม่หยิบยกหลักห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพมาบรรจุไว้ โดยไม่มีคำว่า เพศสภาพ อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย

อีกทั้งเมื่อสำรวจความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ก็ไม่พบคำอธิบายที่ขยายความคำว่า ‘ชายและหญิง’ และ ‘เพศ’ อีกทั้งยังไม่ปรากฏเจตนารมณ์รายมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่อาจช่วยขยายความถ้อยคำดังกล่าว

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 จะพบว่า หลักความเท่าเทียมทางเพศและห้ามเลือกปฏิบัติโดยเหตุแห่งเพศได้ถูกนำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ราวกับจับวาง ซึ่งในเอกสารเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ตามรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า มีการถกเถียงในประเด็นการบัญญัติหลักการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง ‘เพศสภาพ’ และ ‘เพศวิถี’ ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดรับกับความหลากหลายทางเพศ ทว่าในท้ายที่สุดแล้วก็เลือกที่จะบัญญัติออกมาโดยใช้คำว่า ‘เพศ’ เท่านั้น

มีข้อสังเกตว่า การที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้โดยใช้คำว่า ‘เพศ’ อาจส่งผลต่อการตีความในทางกฎหมายได้ โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นผู้ตีความกฎหมายอย่างศาลรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เช่น กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส กฎหมายคำนำหน้า กฎหมายสัญชาติในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสัญชาติ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ความไม่ชัดเจนในถ้อยคำก็อาจส่งผลต่อการตีความของศาลรัฐธรรมนูญได้

 

ห้ามเลือกปฏิบัติด้วย ‘ความคิดเห็นทางการเมือง’ เครื่องมือสำคัญที่อาจไม่ครอบคลุมไปถึงองค์กรเอกชน

นอกจากเรื่องเพศแล้ว รัฐธรรมนูญยังวางหลักห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุ “ความคิดเห็นทางการเมือง” เอาไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าความคิดเห็นนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย

ในการรับคนเข้าทำงานของหน่วยงานรัฐ เป็นที่ชัดเจนว่า ต้องปฏิบัติตามหลักการนี้ จะเลือกปฏิบัติไม่รับคนเข้าทำงานเพราะความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้ มิเช่นนั้นกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการรับบุคคลเข้าทำงานอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานรัฐนั้นๆ อาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองได้

ทว่าในกรณีองค์กรเอกชนกลับไม่ชัดเจนเหมือนกับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากเอกชนเองอาจอ้างความเป็นอิสระ หรือเสรีภาพในการทำสัญญาจ้างแรงงานเพื่อเป็นเกราะป้องกันข้อครหาการเลือกปฏิบัติด้วยความคิดเห็นทางการเมือง อีกทั้งแม้จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นหลักการที่ไม่ได้มีสภาพบังคับอย่างชัดเจน ต่างจากประเทศฝรั่งเศส ที่ได้กำหนดให้การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งครอบคลุมไปถึงการปฏิเสธที่จะจ้างงานเพราะความคิดเห็นทางการเมืองด้วย เพื่อให้เป็นไปตามหลักในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ

 

เมื่อ “สิทธิเสรีภาพ” ถูกโยกย้ายไปเป็น “หน้าที่ของรัฐ”

ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดหมวด “หน้าที่ของรัฐ” เพิ่มเติมเอาไว้ โดยมีเนื้อหาหลายประการที่เคยเป็น “สิทธิ” ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ และได้ถูกเปลี่ยนเป็น “หน้าที่ของรัฐ” เช่น ในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้เป็นสิทธิของผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับเปลี่ยนให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ต้องจัดมาตรการหรือกลไกคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านการศึกษาที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญทั้ง 2540 และ 2550 ให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ได้เปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการให้ 

ด้านสาธารณสุข การเข้าถึงบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพที่เดิมในรัฐธรรมนูญทั้ง 2540 และ 2550 ได้กำหนดให้เป็น “สิทธิ” ของประชาชน ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นหน้าที่ของรัฐ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ที่สะดวก รวดเร็ว และสิทธิในการมีทนายความ ถูกจัดตำแหน่งแห่งที่ใหม่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่เขียนให้เป็นสิทธิของประชาชน แต่เปลี่ยนแปลงเป็น “หน้าที่ของรัฐ” ที่ต้องจัดให้ นอกจากนี้ยังกำหนดหน้าที่ของรัฐต้องให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม รวมถึงการจัดหาทนายความให้เฉพาะ ‘ผู้ยากไร้’ หรือ ‘ผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม’ ซึ่งอาจส่งผลต่อการตีความได้ว่า บุคคลใดจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาส

รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในการยื่นคำร้องขอประกันตัว หรือในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา โดยตัดคำว่า “อย่างรวดเร็ว” ออกไปอย่างน่าสงสัย

การกำหนดเป็นสิทธิ จะส่งผลให้บุคคลมีสถานะเป็น “ผู้ทรงสิทธิ” ที่จะสามารถเรียกร้องสิทธินั้นต่อรัฐไทย ใช้สิทธินั้นยันกับประชาชนคนอื่น ยันกับรัฐ ยันกับเอกชน หรือนิติบุคคล รวมทั้งรัฐต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ให้มาละเมิดต่อสิทธิของตัวเองได้ และรัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิดและสนับสนุนให้ประชาชนใช้สิทธิได้

ในขณะที่การเขียนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐจะเป็นผู้จัดมาให้ ส่วนประชาชนเป็นผู้รอรับสิทธินั้น ผลเสียที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนไม่อาจเรียกร้องจากผู้อื่นได้นอกจากรัฐ เช่น บริษัทแห่งหนึ่งสร้างตึกใหญ่โดยไม่มีทางลาดและลิฟต์สำหรับคนพิการ ถ้าคนพิการมี “สิทธิ” ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกก็มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทสร้างตึกให้เข้าถึงได้ แต่ถ้าสิทธิไม่อยู่กับตัวแต่เขียนเป็น “หน้าที่ของรัฐ” คนพิการก็ต้องไปเรียกร้องกับรัฐ เพื่อให้รัฐแจ้งต่อบริษัทนั้นให้สร้างตึกให้คนพิการเข้าถึงได้

 

สิทธิผู้บริโภค สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในรัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญ 2560 คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค แต่มีเนื้อหาบางประการที่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยหลักการเดิมที่กำหนดให้ ‘ต้องมี’ องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคถูกทำให้หายไป เหลือเพียงแต่การกำหนดให้บุคคลสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคได้เท่านั้น สำหรับสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย ที่เคยมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเช่นกัน และสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้ถูกโยกไปเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ ในรัฐธรรมนูญ 2560

ด้านสิทธิแรงงาน รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้วางหลักการคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งแรงงานเด็กและสตรี กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมให้บุคคลวัยทำงานมีงานทำ มีประกันสังคม และระบบแรงงานสัมพันธ์ ให้แรงงานมีเสรีภาพรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน และยังเปิดโอกาสให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็สามารถรวมตัวตั้งสหภาพข้าราชการได้ เท่าที่ไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ และยังให้แรงงานได้รับค่าตอบแทน ‘ที่เป็นธรรม’ และในรัฐธรรมนูญ 2550 ยังกำหนดให้รัฐต้องคุ้มครองให้บุคคลที่ทำงานซึ่งมีคุณค่าอย่างเดียวกันต้องได้ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องค่าตอบแทนจากเดิมต้องได้รับค่าตอบแทน ‘ที่เป็นธรรม’ เป็นให้ได้รับรายได้ที่ ‘เหมาะสมแก่การดำรงชีพ’ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่า “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่ก็ควรไม่เท่ากันด้วย และจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้น

และรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่กำหนดเรื่องการรวมตัวของข้าราชการไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพ ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวก็อาจถูกจำกัดได้ สำหรับลูกจ้างของหน่วยงานรัฐยังขาดความชัดเจนว่า จะรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิได้หรือไม่ เพียงใด เพราะบุคคลดังกล่าวก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายวินัยข้าราชการที่กำกับไว้

สำหรับมิติของสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดหรืองดเว้นไม่ดำเนินการใดได้ แต่ก็ไม่ได้รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการต่างๆ ของรัฐซึ่งมีในรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้า และความฝันของประชาชนที่จะมี องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคอยกลั่นกรองโครงการของรัฐ ก็ถูกตัดออกไปจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

 

สิทธิเสรีภาพที่ยังไร้การรับรองในรัฐธรรมนูญไทย แต่รัฐธรรมนูญต่างประเทศให้การรับรอง

ประเทศไทยมักรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ในกฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในขณะที่บางประเทศรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ  เช่น กฎหมายพื้นฐาน (Grundgesetz) หรือรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนี ได้กำหนดไว้ในมาตรา 6 หมวด 1 สิทธิขั้นพื้นฐาน (Basic Rights: Die Grundrechte) รับรองให้การสมรสและการก่อตั้งครอบครัวได้รับความคุ้มครองจากรัฐ กำหนดให้สังคมต้องคุ้มครองและดูแลผู้เป็นมารดา นอกจากนี้ยังมีรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นที่ได้รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เช่น รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ และรัฐธรรมนูญสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับสิทธิเด็กในประเทศไทยก็มักรับรองไว้ในกฎหมายอื่นเช่นกัน ในขณะที่รัฐธรรมนูญเยอรมนีได้กำหนดชัดว่า คุ้มครองสิทธิเด็กที่เกิดนอกการสมรส รัฐธรรมนูญอิตาลีเองก็ได้รับรองสิทธิเด็กเช่นกัน  

ในด้านสิทธิแรงงาน รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ก็รับรองไว้เหมือนรัฐธรรมนูญไทย แต่พิเศษกว่าเพราะกำหนดให้รัฐต้องประกันการมีค่าแรงที่ดีที่สุดผ่านมาตรการทางสังคมและเศรษฐกิจ ต้องกำหนดระบบค่าแรงขั้นต่ำ มีกฎหมายที่กำกับมาตรฐานการทำงานเพื่อประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังรับรองให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพได้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญอิตาลีเองก็กำหนดให้แรงงานมีสิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์ กำหนดให้ต้องมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำ และวางหลักการจ่ายค่าตอบแทนแก่แรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย สภาพการทำงานต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเติมเต็มบทบาทที่สำคัญในครอบครัวได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองมารดาและเด็ก

สำหรับมิติของสิทธิทางการเมือง สวิตเซอร์แลนด์รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญเยอรมนีได้รับรองสิทธิในการลี้ภัยด้วยเหตุทางการเมืองอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญสวิตเซอร์แลนด์ยังกำหนดให้มีเสรีภาพบางประการที่คนไทยอาจไม่คุ้นชิน ได้แก่ เสรีภาพในทางภาษา เสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ และเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

รัฐธรรมนูญไทย ใช้สิทธิเสรีภาพได้ แต่ห้ามกระทบ “ความมั่นคงของรัฐ” 

หลักการทั่วไป คือ การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลต้องไม่ให้กระทบต่อบุคคลอื่น ดังนั้น จึงต้องกำหนด ‘ข้อยกเว้น’ ในการใช้สิทธิเสรีภาพไว้ เพื่อให้การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลหนึ่งไม่กระทบต่อบุคคลอื่นหรือสังคมโดยรวม อาจกล่าวได้ว่าข้อยกเว้นนั้นก็เป็นคุณค่าบางอย่างที่มีความสำคัญ และเมื่อนำไปปฏิบัติจริงแล้ว หลายสถานการณ์ข้อยกเว้นก็เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาสำคัญไม่แพ้หลักการใหญ่

ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 วางหลักการไว้คล้ายกัน คือ ห้ามไม่ให้ใช้สิทธิและเสรีภาพกระทบบุคคลอื่น ห้ามใช้สิทธิเสรีภาพเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน การจำกัดเสรีภาพโดยเพราะเหตุ “ความมั่นคงของรัฐ” ใช้ได้กับเฉพาะเสรีภาพในการเดินทางและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมเท่านั้น แม้แต่เสรีภาพในการชุมนุมก็ยังไม่ได้จำกัดโดยอาศัยเหตุเรื่องความมั่นคงของรัฐ

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่