เปิดข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ให้ใช้ฟ้องปิดปาก

ในโลกที่สังคมถูกย่อส่วนลงมาอยู่แค่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอมือถือ ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสาร ถกเถียงแลกเปลี่ยน หรือมีช่องทางในการแสดงออกความคิดเห็นได้เพิ่มมากขึ้น โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน แต่ช่องทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าผู้คนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายหลายฉบับที่กำกับและควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก ที่โดดเด่นที่สุด คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำความผิดต่อข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การโจมตีระบบ หรือ การปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่ก็ถูกนำมาใช้จำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างผิดฝาผิดตัวและเป็นผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ต้องการป้องกันไม่ให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกนำมาใช้เพื่อ “ฟ้องปิดปาก” ด้วยการแก้ไขบทบัญญัติในมาตรา 14 ให้เจาะจงไปที่การเอาผิดเฉพาะการกระทำความผิดฐานปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์ และให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ เกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ละเมิดต่อบุคคลอื่นอันไม่ใช่การติชมโดยสุจริตหรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

FINAL_01

มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมฯ จากความผิดเชิงระบบสู่ความผิดเชิงเนื้อหา

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คือ ป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ อาทิ การใช้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกปลอมแปลงในทางเทคนิค หรือการปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลจากเหยื่อ หรือที่เรียกว่า Phishing ดังนั้น การกระทำความผิดตามมาตรานี้ จึงเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีกระทำความผิด มิใช่การเอาผิดต่อการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

แต่เนื่องจากมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 เขียนบทบัญญัติไม่ชัดเจนทำให้ถูกตีความใช้กับ “ข้อมูล หรือ เนื้อหา” บนโลกออนไลน์ได้ อย่างเช่น ในมาตรา 14 (1) ที่กำหนดให้ “การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” เป็นความผิด 

จากบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ถูกตีความให้หมายถึง การโพสต์ข้อมูลหรือเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่ไม่ใช่ความจริง และถ้าข้อมูลหรือเนื้อหาดังกล่าว “น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” หรือ “น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” ก็เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายได้ในทันที

จากงานวิจัยพบว่า หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ บังคับใช้มาตั้งแต่กรกฎาคม ปี 2550 ถึงธันวาคม ปี 2554 มีคดีความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เป็นความผิดต่อระบบ 62 คดี และความผิดต่อเนื้อหา 215 คดี งานวิจัยชิ้นนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า กฎหมายถูกนำมาใช้ผิดเจตนารมณ์อย่างกว้างขวาง อีกทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังไม่มีข้อยกเว้นตามหลักการเรื่อง “ความสุจริต” หรือ “ประโยชน์สาธารณะ” ที่กำหนดให้การติชมโดยสุจริตหรือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะเป็นเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษได้ ดังนั้น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟ้องปิดปากมาตั้งแต่ปี 2550

ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 มีคดีที่ฟ้องเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอยู่หลายคดี อาทิ คดีกองทัพเรือฟ้องหมิ่นประมาทสำนักข่าวภูเก็ตหวานที่อ้างอิงรายงานของรอยเตอร์ กล่าวหาว่า กองทัพเรือมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา หรือ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน จากการเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในโรงงานผลไม้กระป๋อง เป็นต้น

 

มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับแก้ไข ยังใช้กับเนื้อหาเหมือนเดิม

ในปี 2560 สนช. แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้สำเร็จท่ามกลางคำอธิบายว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ อันจะเห็นได้จากการพยายามเติมข้อความว่า “โดยทุจริต หรือหลอกลวง” และ “อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” เข้าไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 (1) เพื่อเพิ่ม ‘เจตนาพิเศษ’ และทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น

แต่ทว่ามาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2560 ก็ยังคงเปิดช่องให้มีการใช้ดำเนินคดีจำกัดการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการแสดงออกในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยกตัวอย่าง มาตรา 14 (2)  ฉบับที่แก้ไขในปี 2560 ที่กำหนดความผิดฐาน “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

เมื่อเพิ่มข้อความว่า “ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ” เข้าไปเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 14 (2) จึงทำให้ขอบเขตการตีความเพื่อเอาผิดกว้างขว้างออกไปอีก

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพ (ไอลอว์) พบว่า หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการดำเนินคดีกับคนที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ อย่างน้อย 147 ราย อีกทั้งหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2560 มีการดำเนินคดีตามมาตรา 14 กับผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง อย่างน้อย 57 ราย อาทิ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการดึงตัว ส.ส. จากพรรคต่างๆ ไปร่วมกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนคสช. หรือกรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ในชื่อบัญชีว่า “นิรนาม” ที่ทวีตข้อความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นต้น

 

ภาคประชาชน เสนอแก้ ‘มาตรา 14’ ให้ใช้เฉพาะความผิดเชิงระบบ

เพื่อป้องกันการใช้ ‘มาตรา 14’ ดำเนินคดีปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จึงมีข้อเสนอจาก ‘เครือข่ายพลเมืองเน็ต‘ ให้แก้ไขมาตราดังกล่าวใหม่ให้องค์ประกอบความผิดมีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยให้ยกเลิกมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2560 ทั้งมาตรา และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ถ้าได้กระทำไปเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แท้จริง เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือเพื่อให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

จากบทบัญญัติข้างต้น มีการยกเลิกข้อความที่เป็นปัญหาที่เปิดช่องให้ตีความได้กว้างขวาง อย่าง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” และให้ใช้คำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้น” เพื่อให้องค์ประกอบความผิดเจาะจงไปที่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในฐานะ “วัตถุ” ชิ้นหนึ่งที่สามารถปลอมขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับ การทำเอกสารปลอม และเพื่อให้ตรงกับความหมายคำว่าของ “forgery” ในอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต (Convention on Cybercrime)

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มข้อความว่า “เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม” และ ” เพื่อให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ” เข้าไปเป็นองค์ประกอบความผิด แทนข้อความว่า “น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” หรือ “น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” ทำให้การกระทำความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำกัดอยู่ที่การปลอมแปลงข้อมูลเพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือสิทธิของบุคคลอื่น ไม่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

อย่างไรก็ดี ต่อให้มีการแก้ไขมาตรา 14 ให้เอาผิดเฉพาะการปลอมแปลงข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่ว่า ผู้คนจะโพสต์ข้อความที่เป็นการละเมิดต่อบุคคลอื่นอย่างไรก็ได้โดยไม่มีกฎหมายมาจำกัดกรอบ ผู้เสียหายยังคงสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ โดยอาศัยกฎหมายอาญา ฐานหมิ่นประมาท หรือฟ้องร้องเอาผิดทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งจะได้รับการคุ้มครองถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นในลักษณะติชมด้วยความสุจริต เป็นความจริง และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม