“ร่าง พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร” ฉบับก้าวไกล ชีวิตใหม่ทหารเกณฑ์

ทุกฤดูกาลเกณฑ์ทหาร ภาพที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นประจำก็คือ ภาพของคนที่ดีใจสุดชีวิตจากการไม่ต้องเข้ารับการฝึกทหาร ตัดสลับกับภาพของคนที่แทบล้มทั้งยืนเมื่อทราบข่าวว่า ตนต้องเข้ารับราชการทหารอย่างไม่มีทางเลือก ภาพเหล่านี้ได้สะท้อน “ความผิดพลาดของระบบ” ที่บีบบังคับให้ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหารโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมและต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกันของแต่ละคน จนกลายเป็นสิ่งยืนยันความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เห็นว่า คนที่มีฐานะดีก็จะมีทางเลือกในการไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารหรือมีระยะการฝึกที่น้อยกว่าคนขาดโอกาสในชีวิต

ที่ผ่านมา ระบบเกณฑ์ทหารถูกผูกโยงกับคำว่า “รับใช้ชาติ” อย่างคับแคบ ทั้งที่การทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมืองสามารถทำได้อย่างหลากหลายตามความถนัดส่วนตัวของแต่ละบุคคล อีกทั้งการบังคับเกณฑ์ทหารยังเป็นการคัดกรองคนแบบหยาบ ไม่มีประสิทธิภาพ และยิ่งถ้าขาดการประเมินถึงความจำเป็นของการเกณฑ์ทหารด้วยแล้วก็จะยิ่งนำไปสู่การสร้างไขมันให้กองทัพจนนำไปสู่กระบวนการ “หาประโยชน์” อย่างไม่ถูกต้อง เช่น การนำพลทหารไปเป็นทหารรับใช้ส่วนตัว 

จากปัญหาที่สั่งสมมาตลอด ทำให้หลายพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับนโยบาย “ปฏิรูปกองทัพ” โดยหนึ่งในพรรคที่พยายามจัดทำเป็นร่างกฎหมาย คือ พรรคก้าวไกล ที่พยายามผลักดัน ‘ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร‘ หรือ “พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ” ฉบับใหม่ออกมา ซึ่งมีสาระสำคัญว่า กองทัพจะต้องยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารและหันมาใช้ระบบสมัครใจ รวมถึงต้องยกระดับชีวิตของทหารเกณฑ์ด้วยการให้สวัสดิการและความก้าวหน้าในชีวิต ควบคู่ไปกับการปกป้องคุ้มครองทหารจากการฝึกที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์รวมถึงการหาประโยชน์ส่วนตนของนายทหารระดับสูง

เกณฑ์ทหารแบบใหม่ ใช้ระบบสมัครใจไม่บังคับ แต่ระยะการฝึก 5 ปี

ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร หรือ พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ปี 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 8 กำหนดให้ชายไทยทุกคนที่มีอายุย่างเข้า 18 ปี มี “หน้าที่” ต้องรับราชการทหาร โดยต้องแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน และเมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ก็ต้องรับหมายเรียกตรวจเลือกเป็น “ทหารกองประจำการ” หรือ “ทหารเกณฑ์” เป็นระยะเวลาสูงสุด 2 ปี เว้นแต่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน

แต่ตาม พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ฉบับก้าวไกล ได้แก้มาตรา 8 ของกฎหมายเดิม โดยกำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด (ไม่จำกัดเพศ) และมีอายุตั้งแต่ 18 แต่ไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิสมัครเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์ได้ ขอแค่สำเร็จวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย และผ่านการสอบคัดเลือกเท่านั้น แต่ระยะการฝึกจะถูกขยายจาก 2 ปี เป็น 5 ปี

ทั้งนี้ ในยามศึกสงคราม พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ฉบับก้าวไกล ยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรรีสามารถตรา “พระราชกฤษฎีกาเรียกระดมพลให้ทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ” โดยการเรียกระดมพลให้กำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกิน 1 ปี หรือสามารถเรียกบุคคลมาเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ได้นั่นเอง

 

ทหารเกณฑ์ต้องได้รับทุนการศึกษา ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ

ตาม พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ฉบับก้าวไกล ได้เพิ่มมาตราใหม่เข้าไปในกฎหมายเดิม ได้แก่ มาตรา 8 ทวิ กำหนดว่า การฝึกทหารต้องมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ประเพณีทหารแบบสากล และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทหาร และยังเพิ่มมาตรา 8 ตรี ที่กำหนดให้ ทหารเกณฑ์ต้องได้รับเงินเดือน สวัสดิการ ซึ่งต้องรวมถึงทุนการศึกษา ประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงครอบครัวและประโยชน์ตอนแทนอย่างอื่นของทหารกองประจำการตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

 

ยกเลิกระบบ “ทหารรับใช้” และการฝึกแบบ “ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ฉบับก้าวไกล พยายามจะแก้ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของกองทัพ อย่างการนำทหารเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้และการฝึกแบบละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนบางครั้งมีพลทหารที่ถูกลงโทษจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการบัญญัติเพิ่มเติมในมาตรา 8 จัตวา ว่า ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นใดให้ทหารกองประจำการทำงานในลักษณะที่เป็นงานรับใช้ส่วนตัว หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการละเมิดต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

และในมาตรา 8 ยังระบุด้วยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่อำนวยการฝึกทหารกองประจำการให้มีความปลอดภัย สวัสดิภาพ สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และในกรณีที่มีการกระทำความผิดดังกล่าวให้ดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการให้ถือว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการ 

 

ฝึกครบทุก 5 ปี มีสิทธิสอบเลื่อนชั้น ครองยศสูงสุดได้ถึง “พันโท”

พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ฉบับก้าวไกล  มาตรา 8 กำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุเป็นทหารกองประจำการที่อยู่ครบกำหนด 5 ปี มีสิทธิสมัครเป็นทหารกองประจำการได้อีกครั้งหนึ่งในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยให้ครองชั้นยศไม่เกินสิบโทกองประจำการ อีกทั้งยังมีการกำหนดให้ทหารกองประจำการที่ได้รับการแต่งตั้งครบ 5 ปี มีสิทธิสมัครแข่งขันเพื่อเป็นข้าราชการทหารชั้นประทวนและชั้นสัญญาบัตรตามลำดับทุก 5 ปี โดยครองยศสูงสุดได้ไม่เกินพันโท และให้เกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ 46 ปีบริบูรณ์ นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงกลาโหมจัดให้มีทุนประกอบอาชีพแก่ทหารกองประจำการที่ถูกปลดพ้นจากราชการทหาร