วงเสวนาองค์กรอิสระไทย เห็นพ้อง ป.ป.ช. ต้องมีที่มาจากประชาชน และตรวจสอบได้ง่าย

วันที่ 4 กรกฎาคม 2563 กลุ่มนิวคอนเซนซัส (New Consensus Thailand) จัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับองค์กรอิสระโดยครั้งนี้เป็นหัวข้อ “ป.ป.ช. ไทย อย่างไรต่อดี?” โดยมีอดีตกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาคประชาชน และนักการเมืองร่วมด้วย ซึ่งต่างเห็นพ้องกันว่า ป.ป.ช. ต้องไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซง และให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมมากขึ้นทั้งในกระบวนการสรรหา ป.ป.ช. และการทำงานที่ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้ง่าย 

Thumbnail Indy

วีระ สมความคิด: ป.ป.ช. ต้องไม่ให้การเมืองแทรกแซง และต้องมีที่มาจากประชาชน 

วีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนและเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า ตนยังไม่เคยเห็นผลงานชิ้นโบแดงของ ป.ป.ช. เลย แม้จะมีกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ ป.ป.ช.สามารถชี้มูลความผิดจนดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้สำเร็จ แต่ท้ายที่สุดประชาชนกลับมองว่าเป็นเรื่องการเมืองเท่านั้น 

“การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. จะต้องทำให้คนเชื่อโดยสนิทใจว่าไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง”

วีระเห็นว่า ประชาชนหมดความศรัทธาและความเชื่อถือต่อ ป.ป.ช. เพราะมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจทางการเมืองพยายามเข้าไปแทรกแซงให้คนของตนเองเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. 

ทั้งนี้ ป.ป.ช. ถูกแทรกแซงทางการเมืองมาตลอด แต่ในยุคที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง การแทรกแซงก็ยังพอมีขอบเขตอยู่ ขณะที่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชาชนถูกกฎหมายปิดปาก ประกอบกับฝั่งรัฐบาลมีกองทัพ การทำงานตรวจสอบ ป.ป.ช. จึงทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก

วีระเล่าว่า ตนเคยยื่นข้อสงสัยเรื่องความร่ำรวยผิดปกติของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่จนปี 2563 ยังอยู่ในชั้นตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นอยู่เลย และเรื่องที่คนใน คสช. ถูกกล่าวหา ป.ป.ช. มักปัดตกหมดไม่เคยรับไว้ไต่สวนเลย

วีระเสนอว่า กรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีที่มาจากภาคประชาชนด้วย เนื่องจากคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ต้องเป็นอดีตข้าราชการ เช่น รับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่มีสัดส่วนของภาคประชาชนเลย และที่ให้มาจากองค์กรวิชาชีพก็ไปกำหนดให้ทำงานในวิชาชีพนั้นไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่กลับไม่ได้กำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน

“ถึงเวลาที่ (กรรมการ ป.ป.ช.) มีสัดส่วนจากภาคประชาชน หรือให้เลือกโดยตรงจากภาคประชาชน …และที่สำคัญต้องมีประสบการณ์การทำงานเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันมาเป็นที่ประจักษ์” วีระกล่าว

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล: ประชาชนตรวจสอบโดยฟ้องร้อง ป.ป.ช. ได้โดยตรง

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงอิทธิพลทางการเมืองที่มีต่อการทำงานของ ป.ป.ช. ว่า ขณะตนยังดำรงตำแหน่งและได้รับมอบหมายให้ทำคดีใหญ่ มีเลขาของนายพลท่านหนึ่งโทรศัพท์มาสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดี ซึ่งตนก็ได้ตอบกลับไปว่าบอกไม่ได้เพราะจะทำให้รูปคดีเสีย ฝ่ายเลขาไม่ยอมเลิกรา ตนจึงเปิดช่องให้ขอเข้ามาเป็นลายลักษณ์อักษรมาว่าต้องการให้เปิดเผยข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งปรากฏว่าเลขานายพลท่านนั้นก็ไม่ได้ติดต่อมาอีกเลย 

“แม้ว่านักการเมืองต่อให้มีอิทธิพลยังไง จะมายุ่งกับกรรมการ ป.ป.ช. แต่ถ้า ป.ป.ช.ไม่ยุ่งกับเขา เขาจะมายุ่งได้เหรอ”

สมลักษณ์เห็นว่า กระบวนการสรรหา ป.ป.ช. มีความสำคัญ โดยรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ประกอบด้วย ประธานศาลยุติธรรม ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน ผู้แทนพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนเลือกกันเองให้เหลือห้าคน รวมทั้งหมด 15 คน ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่มีประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนฯ ผู้นำฝ่ายค้าน และบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้ง ซึ่งสมลักษณ์เห็นว่าคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีจำนวนมากกว่า ทำให้ถูกแทรกแซงได้ยาก

สมลักษณ์กล่าวสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเลือกกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งอาจมีความเห็นแย้งว่าทำให้เกิดการเลือกพวกพ้องเข้ามาเป็น ‘สภาผัวเมีย’ ได้ แต่ตนเห็นว่าเป็นการเคารพประชาชน ซึ่งถ้ามีที่มาจากประชาชนไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรไปใช้ที่มาแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังดีเสียกว่า

นอกจากนี้ สมลักษณ์กล่าวว่า เป็นความเข้าใจผิดว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ จริงๆ แล้ว ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วย ป.ป.ช. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือประชาชนจำนวนสองหมื่นคน สามารถยื่นเรื่องไปยังประธานสภาให้ศาลฎีกาพิจารณาได้ ซึ่งกระบวนการนี้ยังยุ่งยากอยู่ แต่ก็มีข้อถกเถียงว่าถ้าประชาชนฟ้องร้อง ป.ป.ช.กับศาลได้โดยตรงจะทำให้ ป.ป.ช.ทำงานติดขัดได้ แต่ตนก็ยังยืนยันว่าการฟ้องเป็นสิทธิส่วนบุคคลจนไม่นานมานี้ “ศาลฎีกามีคำพิพากษา…ให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องกรรมการ ป.ป.ช.ต่อศาลได้ด้วยตัวเอง“ เป็นอันสิ้นสุดข้อโต้แย้งดังกล่าว 

สุดท้าย สมลักษณ์เสนอให้จัดทำระเบียบว่าด้วยลำดับในการพิจารณาคดี ให้คดีที่ถึง ป.ป.ช. ก่อนได้รับสิทธิพิจารณาก่อน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินคดีซึ่งอาจเกิดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ: ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลที่อ่านง่ายต่อสาธารณะ

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล เชื่อว่าปัจจุบัน ป.ป.ช.เป็นเครื่องมือทางการเมืองจริง แต่ก็ไม่เห็นว่าต้องแยกเรื่องการเมืองออกทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือทำให้องค์กรโปร่งใส ตรวจสอบได้

ณัฐพงษ์พูดถึงการใช้เทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบทุจริตได้ง่าย กล่าวคือ แม้รัฐจะบอกว่าข้อมูลถูกวางหน้าเว็บไซต์โดยเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว แต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถอ่านออกได้โดยง่าย และนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ยาก สิ่งที่ต้องการคือแปลงข้อมูลให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้ตรวจสอบได้เร็วขึ้น จริงๆ ตนได้เคยนำเสนอเครื่องมือนี้กับภาครัฐแล้วและพบว่าภาครัฐมีเครื่องมือเหล่านี้อยู่แต่ใช้กันภายในไม่ได้เปิดเผยให้กับประชาชน

ท้ายที่สุด ณัฐพงษ์ได้กล่าวถึงการตรวจสอบการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า แม้จะมีจำนวนทุจริตมาก แต่เมื่อเทียบเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตกลับมีน้อยกว่าส่วนกลางหลายเท่า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องสมควร กระจายความเสี่ยงในการทุจริตไม่ให้ส่วนกลางที่มีเงินหมุนเวียนปริมาณมากต้องแบกรับความเสี่ยงจนเกินพอดี