ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยแล้ว! ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ละเมิดสิทธิ

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคนำโดย ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ และจำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกและไม่ต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ร้องรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำกัดสิทธิ ไม่เกี่ยวกับโควิด

ในเนื้อหาของคำร้องที่เสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินในระดับที่จะไม่สามารถควบคุมโรคได้อีกแล้ว และที่สำคัญคือ รัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่ได้ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรคติดต่อโดยตรง รวมถึงยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถบังคับใช้ประกอบกันเพื่อควบคุมโรคได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกต่อไป 

อีกทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง ซึ่งรัฐต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยความระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขณะนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังอ้างการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปในทางจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมิได้มีนัยยะเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด 19 แต่อย่างใด 

นอกจากนี้ การออกข้อกำหนดภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับต่างๆ ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ รายได้ และโอกาสในการประกอบอาชีพโดยปกติของทุกผู้คนในสังคม

เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคจึงเห็นว่า การขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีกจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จะเกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชนและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากเกินความจำเป็น และสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจอย่างคลุมเครือไปในทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคระบาด อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 จึงมีคำขอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนี้

(1) ขอให้ใช้อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 22 เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกและไม่ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 

(2) ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนและเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

ผู้ตรวจการมีคำสั่งให้ ‘ยุติ’ คำร้องของเครือข่ายประชาชนฯ

ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยตามประเด็นที่เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคได้ยื่นคำร้องไว้ 

โดยในประเด็นที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกและไม่ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ทางผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่า ยังอยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยถ้ามีความคืบหน้าประการใด จะแจ้งให้ทราบเพิ่มเติม 

แต่ในส่วนที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การขยายระยะเวลาการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ

โดยให้เหตุผลว่า การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรี เป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม และอยู่ภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ มิได้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะออกประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย จึงยังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชนซึ่งประกาศและมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามความจำเป็น และมีระยะเวลาชั่วคราว ประกอบกับมีการผ่อนคลายมาตรการบางประการแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดิน

You May Also Like
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน