กองทัพไม่โปร่งใสเพราะกฎหมายไม่เอื้อให้ตรวจสอบ

กองทัพไทยกลายเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งแง่เรื่อง “ความโปร่งใส” มาโดยตลอด ทั้งจากเรื่องเงินงบประมาณที่ได้รับเพิ่มขึ้นแทบทุกปี หรือ กรณีการเกณฑ์ทหารเพื่อนำคนไปรับใช้ส่วนตัว หรือ กระบวนการฝึกที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ ‘การซ่อม’ หรือ ‘ธำรงวินัย’ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือจะเป็นเรื่องกิจการพาณิชย์ภายในกองทัพที่นำไปสู่เหตุการณ์กราดยิงสุดสะเทือนขวัญที่จังหวัดนครราชสีมา

แม้ว่าผู้นำเหล่าทัพ อาทิ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะพยายามแก้ปัญหาการทุจริตในกองทัพ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สายตรง ผบ.ทบ.” แต่ก็ไม่วายเกิดปัญหาอีกครั้ง จากกรณี “หมู่อาร์ม” หรือ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตภายในกองทัพแต่กลับต้องถูกลงโทษทางวินัยและถูกให้ออกจากราชการ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่ากลไกและกฎหมายภายในกองทัพเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กองทัพไทยเป็นหน่วยงานที่ขาดความโปร่งใส-ตรวจสอบไม่ได้

 

หมู่อาร์ม ผู้เปิดโปงการทุจริตแต่ถูกปิดปากด้วยกฎหมายวินัยทหาร

ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ “หมู่อาร์ม” เข้ารับราชการตั้งแต่ปี 2554 มีตำแหน่งล่าสุดคือ ‘เสมียนงบประมาณ’ แผนกโครงการและงบประมาณ กองแผนและโครงการ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ กรมสรรพาวุธทหารบก 

หมู่อาร์มเปิดเผยว่า ได้ร้องเรียนกระบวนการทุจริตภายในกองทัพ เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ปี 2555 ปี 2560 และปี 2562 โดยลักษณะการทุจริตคือให้ หมู่อาร์มลงชื่อในเอกสารโครงการต่างๆ เพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยง เบิกค่าเดินทางโดยที่ไม่ได้มีการเดินทางหรือโครงการที่ปรากฏในเอกสารเกิดขึ้นจริง

5 กันยายน 2562 หมู่อาร์มตัดสินใจยื่นเรื่องร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบการทุจริตภายในศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก โดยหมู่อาร์ม เปิดเผยว่า เหตุที่เลือกร้องเรียนกับองค์กรภายนอกเพราะไม่มีเชื่อมั่นในการตรวจภายในกองทัพ แต่หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินทำเรื่องกลับมายังหน่วยงานที่ถูกกล่าวหา หมู่อาร์ม เปิดเผยว่า เขาถูกกลั่นแกล้งและมีข้อพิพาทกับผู้บังคับบัญชาจนมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยทหารฐาน ‘ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา’ และตามมาด้วยคำสั่งลงโทษจำขังเป็นเวลา 7 วัน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 (พ.ร.บ. วินัยทหาร)

ต่อมา หมู่อาร์มได้ตัดสินใจร้องเรียนไปยัง “สายตรง ผบ.ทบ.” พร้อมแจ้งเหตุการณ์แก่ผู้รับเรื่องร้องเรียน ว่าได้ร้องเรียนเรื่องทุจริตและกำลังถูกกลั่นแกล้งสั่งจำขัง และในวันเดียวกัน หมู่อาร์มได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าแผนก เพื่อให้ไปทำการ ‘ขอขมา’ ผู้บังคับบัญชา

ทั้งนี้ หมู่อาร์มเปิดเผยว่า มีการข่มขู่ว่ามีความเสี่ยงถึงชีวิต จนหมู่อาร์มตัดสินใจหนีออกมา และไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องการทุจริตในกองทัพและขอให้สั่งคุ้มครองพยานตามกลไกที่กฎหมายได้กำหนดไว้

 

พ.ร.บ.วินัยทหาร เปิดช่องทหารชั้นผู้ใหญ่แกล้งชั้นผู้น้อยได้กว้างขวาง

พ.ร.บ. วินัยทหารเป็นกฎหมายซึ่งบังคับใช้มาแล้วกว่า 87 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมให้นายทหารทุกคนเป็นระเบียบตามสายบังคับบัญชา โดยในหมวดสองที่ว่าด้วยวินัยทหาร ได้บัญญัติว่า ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร และวินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจะต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าผู้นั้นกระทำผิด และยังได้กำหนดตัวอย่างของกรณีที่เป็นการผิดวินัยทหารไว้ดังต่อไปนี้ 

  1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
  2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
  3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
  4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
  5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
  6. กล่าวคำเท็จ
  7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
  8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
  9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

จากตัวอย่างดังกล่าว มีข้อสังเกตว่าวินัยทหารบางประการใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ไม่ปรากฏคำนิยามอื่นในกฎหมาย ไม่มีการขยายความเพิ่มเติมในรายละเอียด เช่น ดื้อ ขัดขืน ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร ประพฤติไม่สมควร ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย การตีความว่าการกระทำใดเป็นการผิดวินัยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวผู้กระทำผิด แต่ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา

แม้ว่าบทลงโทษตาม พ.ร.บ.วินัยทหารจะวางกรอบเอาไว้เพียงห้าสถาน ได้แก่ หนึ่ง ภาคทัณฑ์ หรือ ทำทัณฑ์บนไว้ สอง ทัณฑกรรม เช่น ให้กระทำการสุขา การโยธา สาม กัน หรือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้ สี่ ขัง หรือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคน ห้า จำขัง หรือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร แต่ พ.ร.บ.วินัยทหาร ก็อนุญาตให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการ ‘ใช้อาวุธ’ เพื่อปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบหรือบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับมาทำหน้าที่ โดยที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ช่วยเหลือในการใช้อาวุธลงโทษไม่ต้องรับโทษ อีกทั้ง ยังกำหนดให้การกระทำผิดต่อวินัยทหารเป็นเหตุให้สั่งถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหารได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงอาชีพอื่นที่มีลักษณะการทำงานที่ต้องรักษาวินัยและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างข้าราชการตำรวจ แม้ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 จะกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้อาวุธหรือ ‘กำลังบังคับ’ เพื่อประโยชน์ในการรักษาวินัยและปราบปรามตำรวจผู้กำเริบหรือบังคับตำรวจให้กลับมาทำหน้าที่แต่ก็มีเงื่อนไขว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้ช่วยเหลือจะไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาถ้าทำไปโดย ‘สุจริตตามสมควรแก่เหตุ’ 

กล่าวคือ ผู้บังคับบัญชาต้องไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง มีเจตนาทำไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และตามสมควรแก่เหตุ ต้องไม่ลงโทษร้ายแรงเกินไปเมื่อเทียบกับลักษณะการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น หากผู้บังคับบัญชาลงโทษหนักเกินสมควร กระทบต่อเนื้อตัวร่างกายหรือชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ช่วยเหลือก็ยังต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งต่างจากกรณีของทหารที่ไม่ได้กำหนดในรายละเอียดเช่นนี้ไว้

 

ทหารชั้นผู้น้อยร้องเรียนได้ แต่ต้องฝ่าด่าน “สารพัดข้อห้าม”

เพื่อป้องกันการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของผู้บังคับบัญชา พ.ร.บ.วินัยทหารก็ได้กำหนดช่องทางการร้องทุกข์ไว้เป็นการเฉพาะ โดยได้นิยามการ “ร้องทุกข์” คือ คำชี้แจงของทหารว่าผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนด้วยการอันไม่เป็นยุติธรรม หรือผิดกฎหมาย หรือแบบธรรมเนียมทหารว่า ตนมิได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิตามที่ควรจะได้รับในราชการนั้น

แม้คำนิยามจะดูสวยหรู แต่การร้องทุกข์ของทหารนั้นกลับเต็มไปด้วย ‘ข้อห้าม’ โดยอาจพิจารณารายละเอียดการร้องทุกข์ตามกระบวนการภายในกองทัพได้จากสิ่งที่ทำได้และต้องทำ และสิ่งที่ห้ามทำ ดังนี้

สิ่งที่ทำได้และต้องทำ ได้แก่ ทหารร้องทุกข์ได้แต่สำหรับตนเองเท่านั้น หากจะกล่าวโทษผู้ใดให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน หรือหากไม่ทราบชัดว่า ตนได้รับความเดือดร้อนเพราะผู้ใดแน่ ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน เพื่อเสนอไปตามสายบังคับบัญชาจนถึงที่สุด วิธีการร้องทุกข์ จะทำโดยวาจาหรือจะเขียนเป็นจดหมายก็ได้ และไม่ว่าวิธีใดก็ต้องมีการ ‘ลงลายมือชื่อ’ ของผู้ร้องเรียน ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ร้องเรียนไม่สามารถปฏิเสธการระบุตัวตนหรือร้องเรียนโดย ‘นิรนาม’ ได้เลย

สิ่งที่ห้ามทำ แยกพิจารณาเป็นกรณีได้ดังนี้

  • ห้ามมิให้ร้องทุกข์แทนผู้อื่น
  • ห้ามมิให้ลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน
  • ห้ามมิให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องจะร้องทุกข์
  • ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาที่ตนกำลังเข้าแถว หรือในขณะที่กำลังทำหน้าที่ราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ห้ามมิให้ร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่มีเหตุจะต้องร้องทุกข์เกิดขึ้น หรืออาจอธิบายในทางตรงกันข้ามได้ว่า หากจะร้องทุกข์ต้องรอให้เวลาผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง ซึ่งมีข้อสังเกตได้ว่าการกำหนดเช่นนี้อาจส่งผลต่อพยานหลักฐานได้
  • ห้ามมิให้ร้องทุกข์ว่า ผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชานั้นมิได้ลงทัณฑ์เกินอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด

และกฎหมายยังได้ทิ้งท้ายถึงการร้องทุกข์ไว้ว่า ถ้าหากปรากฏชัดว่าข้อความที่ร้องทุกข์เป็นความเท็จ หรือการร้องทุกข์นั้นกระทำไปโดย ‘ผิดระเบียบ’ ผู้ร้องทุกข์จะต้องมีความผิดฐานกระทำผิดต่อวินัยทหาร

 

กระบวนการยุติธรรมลายพรางยังขาดความโปร่งใส

ในวันที่ 22 มิถุนายน 2563 หมู่อาร์มต้องเดินทางมารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาหนีราชการที่ศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งหมู่อาร์มมองว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีอันสืบเนื่องมาจากการเปิดโปงการทุจริตในกองทัพ ซึ่งหมู่อาร์มก็ต้องต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพียงแต่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมปกติแต่เป็น “กระบวนการยุติธรรมลายพราง”

เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร กำหนดให้กองทัพมีศาลเฉพาะเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า ‘ศาลทหาร’ ซึ่งแตกต่างจากศาลปกติหลายประการ อาทิ ในมาตรา 5 ที่กำหนดให้ โครงสร้างของศาลทหารอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมซึ่งสะท้อนว่าอำนาจของศาลทหารอาจไม่ได้แยกขาดจากอำนาจฝ่ายบริหาร ผู้มีอำนาจยังสามารถเข้ามาแทรกแซงกลไกกระบวนการยุติธรรมได้

หรือในมาตรา 30 กำหนดให้ตุลาการศาลทหารมาจากการแต่งตั้งกันเองโดยนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา หรือพูดง่ายๆ ว่า กระบวนการยุติธรรมลายพรางก็ถูกรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ดี ดังนั้น การที่ทหารชั้นผู้น้อยจะลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจทหารชั้นผู้ใหญ่ก็อาจจะไม่มีหลักประกันในกระบวนการยุติธรรม

 

กลไกคุ้มครองพยานทั้งภายในภายนอกยังใช้ไม่ได้จริง

แม้ว่ากองทัพบกที่นำโดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ ผบ.ทบ. จะพยายามแก้ปัญหาการทุจริตในกองทัพ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สายตรง ผบ.ทบ.” แต่จากกรณีหมู่อาร์มก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า กลไกดังกล่าวล้มเหลวในการปกป้องและคุ้มครองพยานที่มาให้ข้อมูล อีกทั้ง ในท้ายที่สุด กองทัพก็พบว่าสิ่งที่หมู่อาร์มร้องเรียนนั้น “มีมูล” จนต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาเสียด้วยซ้ำ 

ในขณะเดียวกัน หมู่อาร์มเคยหันหน้าไปพึ่งหน่วยงานที่มีหน้ารับผิดชอบโดยตรง อย่าง ป.ป.ช. แต่การสนองรับต่อคำขอให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นของผู้ชี้เบาะแสของหมู่อาร์มกลับล่าช้าและไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแส เพราะ ป.ป.ช.ใช้เวลาในการพิจารณากว่าสองเดือน จนท้ายที่สุดแล้ว หมู่อาร์มได้ถูกปลดจากราชการฐานหนีราชการเกินกว่า 15 วัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ซ้ำยังถูกดำเนินคดีในศาลทหารฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และหนีราชการในเวลาปกติ

เหตุการณ์ดังกล่าวสวนทางกับคำอวดอ้างที่มีต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ถูกยกย่องเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” เพราะแม้จะมีบทบัญญัติในมาตรา 278 ว่า ต้องมีการออกกฎหมายที่กำหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันและขจัดการทุจริต และได้บรรจุเรื่องการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริตไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 อย่างเช่น ขอให้มีกลไกคุ้มครองพยาน หรือการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้ชี้เบาะแส รวมถึง ในกรณีที่พบว่าน่าจะมีการกลั่นแกล้งรังแกผู้ชี้เบาะแส ก็สามารถเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามมาตรการที่กำหนด เช่น การโยกย้ายไปสังกัดยังหน่วยงานอื่น แต่ท้ายที่สุด การนำมาปฏิบัติใช้ยังไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะกลไกดังกล่าวต้องพึ่ง “ดุลยพินิจ” ของ ป.ป.ช.

 

“ออกกฎหมายพิเศษ-ตั้งผู้ตรวจการกองทัพ” บทเรียนจากต่างประเทศ

ในสหรัฐอเมริกาเองก็เคยประสบปัญหาที่ล้ายคลึงกับกรณีของหมู่อาร์ม คือนายทหารหลายรายได้พบเห็นการทุจริตและได้พยายามร้องเรียนไปตามสายบังคับบัญชา แต่ก็ถูกผู้มีอำนาจกลั่นแกล้ง ทั้งการกล่าวหาว่าเป็นโรคจิตเภท การส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช กล่าวหาว่าละเมิดกฎแห่งเกียรติยศของกองทัพ ทั้งการพยายามลงโทษทางวินัยเนื่องจากข้าราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต จนในท้ายที่สุดมีการยื่นเรื่องไปยังสภา congress และมีการตรากฎหมาย military whistleblower protection act สำหรับผู้ชี้เบาะแสในกองทัพขึ้นมา

โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดช่องทางให้บุคลากรในกองทัพสามารถชี้เบาะแสการทุจริตไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ ส.ว. และ ส.ส. ได้ ทั้งยังมีกลไกห้ามมิให้มีการกลั่นแกล้งตัวผู้ร้องเรียน และห้ามกองทัพขัดขวางการร้องเรียน  เช่น ห้ามเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่อย่างมีนัยสำคัญ ห้ามโยกย้ายทหารผู้ร้องเรียนไปรับตำแหน่งอื่น ห้ามข่มขู่ คุกคาม ห้ามกระทำการเอาคืนเพราะเหตุที่ผู้ใต้บังคับบัญชาร้องเรียน เป็นต้น

ขณะที่อีกฟากหนึ่งอย่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพ  (Commissioner for the Armed Forces: Wehrbeauftragten) เป็นการเฉพาะ โดยผู้ตรวจการกองทัพจะได้รับการเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคลากรในกองทัพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น บุคลากรในกองทัพสามารถร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการกองทัพได้โดยตรง แม้กระทั่งปัญหาการถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ปัญหาหน้าที่ในกองทัพ ปัญหาในเรื่องราชการหรือเรื่องส่วนตัว

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการกองทัพยังมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ และจัดทำรายงานประจำปีซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์อีกทั้งยังมีฉบับภาษาอังกฤษ โดยในรายงานประจำปีนั้นมีเนื้อหาทั้งในเรื่องการเงินกองทัพ สวัสดิการ คุณภาพชีวิตของบุคลากรในกองทัพรวมไปถึงกรณีการละเมิดต่อกฎหมายในกองทัพ