พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมโรคหรือควบคุมประชาชน

2 กรกฎาคม 2563 เวลา 15.00 น.-17.00 น. ในงานเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ทางเพจ People GO network ในหัวข้อ #คนหายไม่ตามหาแต่ตามล่าคนทวงถาม “รัฐบาลกำลังใช้กฏหมายควบคุมโรค หรือควบคุมเรา (ประชาชน) กันแน่” ร่วมเสวนาโดย

ประยงค์ ดอกลำใย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.) สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษา กป.อพช. ภาคใต้, สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และผู้ได้รับหมายเรียกฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสี่คน คือ ณัฐวุฒิ อุปปะ, แสงศิริ ตรีมรรคา, วศิน พงษ์เก่า และอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 

โดยเนื้อหาหลักของงานเสวนาออนไลน์ กล่าวถึงสถานการณ์การใช้เสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ข้อกำหนดที่ออกโดยอาศัย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ที่กำหนดห้ามมั่วสุมในลักษณะที่กระทบต่อความมั่นคงหรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ซึ่งเมื่อประกาศออกมาแล้ว ทำให้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) ไม่บังคับใช้ 

ความเคลื่อนไหวภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ไร้ทิศทาง

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เล่าถึงการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินว่า แม้จะมีความพยายามในการแสดงออกโดยปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันโรค เว้นระยะห่าง สื่อสารโดยการถือป้าย แต่ก็มีการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งยังอ้างว่า การกระทำดังกล่าวผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในกรณีการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นชายหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา ซึ่งตำรวจได้อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศห้ามเข้าพื้นที่ ขณะที่ผู้ก่อสร้างโครงการเข้าไปดำเนินการได้ แต่ประชาชนเข้าไปทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิไม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอุปสรรคหนึ่งที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ชุมชนนั้นไม่อาจจัดการปัญหาในชุมชนที่อาจกระทบกับชีวิตของเขาได้

วศิน พงษ์เก่า ได้เล่าถึงการชุมนุมของชาวบ้านจากอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของโรงงานน้ำตาลภายใต้กลุ่มทุนพลังประชารัฐ ได้มีการยื่นข้อเสนอให้จัดรับฟังความคิดเห็นใหม่เนื่องจากการจัดรับฟังความคิดเห็นไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง กลุ่มผู้เรียกร้องได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพเพื่อยื่นข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ห้ามไม่ให้ชุมนุมโดยอ้างว่า ไม่มีการแจ้งการชุมนุม แต่ไม่ได้อ้างถึงมาตรการในการป้องกันโรคระบาดแต่อย่างใด

สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษา กป.อพช.ภาคใต้ เล่าถึงสถานการณ์การเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านในประเด็นการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เดินทางมาปักหลักค้างคืนในกรุงเทพว่า แม้ตำรวจจะไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน แต่ก็มีการห้ามปรามไม่ให้ชุมนุมทำนองว่า “รอก็ได้นะ แต่หมายศาลจะไปถึงที่บ้านเมื่อไหร่ผมไม่รับผิดชอบนะ” และมีการส่งตัวแทนมาเจรจารับเรื่อง

สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แสงศิริ ตรีมรรคา อธิบายว่า ทางเครือข่ายมีกำหนดการจะไปทวงถามให้นายกรัฐมนตรีรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญชราภาพ ที่ประชาชนเสนอ ในวันที่ 13 กรกฏาคม 2563 ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องลงชื่อเพื่อนำร่างและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาต่อไป ก่อนหน้านี้เมื่อติดตามความคืบหน้าก็มีการอ้างว่า กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น แต่เมื่อสอบถามไปยังทุกหน่วยงานก็ได้ทราบว่า ส่งเรื่องกลับไปหมดแล้ว จึงเหลือเพียงการทวงถามไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง แต่เมื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปว่า จะจัดกิจกรรมชุมนุมก็ได้รับหนังสือตอบกลับว่า ไม่อนุญาตโดยอ้างสถานการณ์โควิด และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ประยงค์ ดอกลำใย ยังเล่าเสริมด้วยว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ที่ออกมาใหม่กำลังประสบปัญหา เพราะกฎหมายใหม่สั่งให้ชาวบ้านไปแสดงตัวว่า เป็นผู้บุกรุกเขตอุทยานทั้งที่ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่มาก่อน ซึ่งกำหนดเวลาที่จะให้ชาวบ้านไปรายงานตัว คือ ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ช่วงเวลานี้ชาวบ้านจำนวนมากเดือดร้อนและต้องการแสดงออก แต่ก็ยังกังวลเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่บังคับใช้อยู่ ยังไม่แน่ว่า ปัญหานี้จะรอได้อีกนานแค่ไหน

ประยุทธ์อ้างไม่ปิดกั้น แต่ในความเป็นจริงมีการดำเนินคดี

ถึงแม้พลเอกประยุทธ์ จะอ้างว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ใช้ปิดกั้นใคร แต่จากคำบอกเล่าของประยงค์ ดอกลำใยและณัฐวุฒิ อุปปะ การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องกรณีของวันเฉลิมที่ถูกอุ้มหาย โดยไปยื่นหนังสือที่สถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย เมื่อ 8 มิถุนายน 2563 ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดี ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่ลักษณะการกระทำไม่ใช่การชุมนุม เป็นงานยื่นหนังสือ และเมื่อเทียบกับการไปยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาลก็ไม่มีปัญหาใดๆ

ผู้ได้รับหมายเรียกฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสี่คนได้แบ่งปันประสบการณ์การได้รับหมายเรียกที่ตำรวจใช้วิธีการส่งหมายเรียกมาค่อนข้างกระชั้นชิด ไม่มีการคำนึงระยะเวลาเผื่อสำหรับผู้ถูกเรียก โดยกำหนดให้ทั้งสี่คนไปรับทราบข้อกล่าวหากันคนละวันและเวลา และแม้จะมีการส่งหนังสือเพื่อขอเลื่อนวันนัดตามหมายเรียกครั้งแรกไปแล้ว แต่ตำรวจก็ยังส่งหมายเรียกครั้งที่สองมาอีกครั้ง โดยกำหนดวันเวลาในหมายเรียกยังกระชั้นชิดเช่นกัน

นอกจากการยื่นหนังสือที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังมีกรณีอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดี เช่น การจัดกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ เสธ.แดง หรือการจัดกิจกรรม #saveวันเฉลิม ที่บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวันด้วย

ไม่ถอย ไม่ทน เดินหน้ายื่นฟ้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีความจำเป็นแล้วในการรับมือโควิด เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ติดต่อกันมาแล้ว 38 วัน อีกทั้งการคงไว้ยังเปิดช่องให้บังคับใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก 

ผู้ถูกดำเนินคดีจึงแจ้งกำหนดการว่า วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นฟ้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อศาลแพ่ง เหตุที่ฟ้องศาลแพ่งเนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดข้อยกเว้นไม่ให้ฟ้องที่ศาลปกครอง จึงต้องฟ้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งมีเขตอำนาจแบบทั่วไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดไว้ ต่อจากการยื่นฟ้องคดีจะมีการเคลื่อนขบวนภายใต้แคมเปญ “หมดเวลายาแรง” ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจวังทองหลาง ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐที่ประสงค์ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถมาฟ้องร่วมกันได้

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม