ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “สิระ เจนจาคะ” ไม่สิ้นสภาพ ส.ส. กรณีปะทะตำรวจ ขณะลงพื้นที่ภูเก็ต

วันนี้ (1 กรกฎาคม 2563) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ สิระ เจนจาคะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. จากกรณีมีปากเสียงกับ พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ ในขณะลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้างที่มีผู้ร้องว่าบุกรุกพื้นที่ป่าที่ จ.ภูเก็ต

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้หลังการุณ โหสกุล ส.ส. พรรคเพื่อไทย รวมกับ ส.ส. ฝ่ายค้าน 57 คน ส่งเรื่องผ่านชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสิระว่าสิ้นสุดลงหรือไม่ 

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 (1) กำหนดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ ซึ่งหากมีการกระทำตามมาตรานี้ให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 101 ของรัฐธรรมนูญ

เวลาประมาณ 14.50 น. ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยใจความว่า ในการตรวจสอบอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หากการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติมีน้อยเกินไปก็จะตรวจสอบไม่ได้ ในขณะที่หากมีตรวจสอบมากเกินไปก็จะเป็นการก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายบริหาร 

เมื่อมีข้อเท็จจริงที่ว่าสิระและพรรคพวก 8 คน ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบกรณีโครงการก่อสร้างเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดจากการบุกรุกป่าจึงเป็นการปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ การกระทำของสิระเป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด 

ส่วนการใช้ถ้อยคำและพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็เป็นเพียงการสอบถามข้อมูลและรับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติงานกับตำรวจที่ไม่ยอมเข้าจับกุมและดำเนินคดีกับนายทุน ทั้งๆ ที่พบว่ามีการก่อสร้างที่ผิดกฎหมายเท่านั้น 

และแม้เหตุการณ์จะเกิดที่ภูเก็ต ในขณะที่สิระ ผู้ถูกร้องนั้นเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ แต่มาตรา 114 รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ 

ดังนั้น เมื่อการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการดำรงตำแหน่งในฐานะผู้แทนปวงชนซึ่งหมายถึงพื้นที่ทั้งประเทศ จะมุ่งปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเขตที่ตนได้รับเลือกมาไม่ได้ การดำเนินงานของสิระนอกเขตจึงสามารถทำได้

ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจของ พ.ต.ท.ประเทือง นายกเทศมนตรี และผู้บริการเทศบาลตามมาตรา 185 (1) ของรัฐธรรมนูญ ศาลจึงวินิจฉัยให้สิระไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 101

อย่างไรก็ตาม ศาลยังกล่าวต่อไปถึงกรณีพฤติการณ์ของสิระว่า หากมีบุคคลใดเห็นว่าการแสดงพฤติการณ์ของสิระต่อ พ.ต.ท.ประเทือง นายกเทศมนตรี และผู้บริหารเทศบาลไม่สุภาพเหมาะสม ก็สามารถที่จะไปว่ากันตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการได้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ‘สิระ เจนจาคะ’ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ แถลงถึงความไม่ชอบมาพากลในโครงการก่อสร้างคอนโดหรูในจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งระบุว่า ตนถูก ‘ขู่ฆ่า’ จากการติดตามปัญหาของโครงการดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2562 ‘สิระ เจนจาคะ’ พร้อมคณะเดินทางไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างที่มีปัญหาในจังหวัดภูเก็ต แต่ทว่ากลับมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เนื่องจากตนมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตแต่กลับไม่มีตำรวจคอยดูแล พร้อมทั้งปรากฏเป็นคลิปวิดีโอการโต้เถียงระหว่างทั้งสองฝ่าย

หลังเกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงคลิปวิดีโอการโต้เถียงดังกล่าว สิระ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ขณะที่ไปตรวจสอบการก่อสร้าง พบตำรวจนั่งรับประทานกาแฟอยู่ในสำนักงานก่อสร้างที่มีปัญหา ซึ่งรู้สึกว่า เรามาทำงาน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับนั่งดื่มกาแฟในที่ดินพิพาทแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว

ช่วงเช้าวันนี้ ก่อนอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สิระให้สัมภาษณ์ว่า หากคำวินิจฉัยออกมาแล้วทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งจริงก็จะยอมรับ แต่หากยกฟ้องก็จะให้อีกฝ่ายรับผิดชอบที่มีการร้องเท็จหรือกลั่นแกล้งตน โดยจะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการต่อไป

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย