88 ปี ประชาธิปไตยไทย: กฎหมาย นิติรัฐ ในทัศนะของวรเจตน์ ภาคีรัตน์

24 มิถุนายน 2563 รายการ “The Politics 88 ปี ประชาธิปไตยไทย” ได้ถ่ายทอดการสนทนากับศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 88 ปี ประชาธิปไตยไทย โดยบทสนทนามุ่งเน้นไปถึงหลักนิติรัฐที่วางรากฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แนวคิดทางกฎหมาย และประชาธิปไตยในประเทศไทย

Worachet Pakeerat Quotes

ภาพฝันการเป็น ‘นิติรัฐ’ ของคณะราษฎรที่ยังไปไม่ถึง

วรเจตน์อธิบายว่า หลักนิติรัฐได้แทรกซึมอยู่ในหลักหกประการของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการปกครองโดยกฎหมายที่เป็นธรรม แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้ถูกบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็ตาม ทว่าในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่สัญลักษณ์ของคณะราษฎรเท่านั้นที่ถูกทำให้จางหาย แต่จุดมุ่งหมายแห่งการเป็น ‘นิติรัฐ’ ของคณะราษฎรก็ยังมิได้เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ 

วรเจตน์มองว่า อุดมการณ์ของคณะราษฎรดำรงอยู่อย่างเข้มข้นเพียงแค่ 15 ปี กล่าวคือ พ.ศ. 2475-2490 และในปี 2490 นับเป็นจุดพลิกผันบางอย่างที่ยังส่งผลมาถึงสังคมไทยในปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการเป็นนิติรัฐจึงไม่ได้จบเมื่อปี 2475 แต่ยังดำเนินต่อมา จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่จบสิ้น

เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ‘การปกครอง’ แต่ไม่เปลี่ยนแปลงองค์กร ‘ตุลาการ’

ในทัศนะของวรเจตน์ รัฐธรรมนูญ 2489 (ฉบับที่สาม) เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่มีผลบังคับใช้เพียงปีเศษเท่านั้น ภายหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่แปด บ้านเมืองระส่ำระสาย มีการรัฐประหารในปี 2490 ก่อตั้งระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ และเข้าสู่ทิศทางเช่นนี้เรื่อยมา

รัฐธรรมนูญ 2540 แม้ว่าจะมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีปัญหาในการจัดโครงสร้างบางอย่าง วรเจตน์มองว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังไม่สามารถทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นสมบูรณ์ได้ การมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่ถึงระดับที่ควรจะเป็น เมื่อครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มุ่งเน้นไปที่การปรับโฉมหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ทว่ากลับละเลยการปฏิรูป ‘ตุลาการ’ หลักวิธีคิดของตุลาการตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองยังคงใช้สืบต่อมา และมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นักกฎหมาย ผู้เล่นสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ‘แบบไทยๆ’

ในมุมมองของวรเจตน์ “อุดมการณ์กำกับการตีความกฎหมาย” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพิจารณาถึงอุดมการณ์ของนักกฎหมายอันส่งผลต่อกฎหมายในประเทศไทย เขาได้หยิบยกคำอธิบายของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์ที่อธิบายวิธีคิดของนักกฎหมายซึ่งมีอยู่สองประเภท ประเภทที่หนึ่ง คือ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญนิยม ประเภทที่สอง คือ นักกฎหมายจารีตนิยม

นักกฎหมายรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐแบบอารยประเทศมีอิทธิพลเพียงช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น โดยช่วงแรกมีความพยายามจะประนีประนอมกับทุกฝ่ายให้มากที่สุด เช่น การยินยอมให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก และทำความตกลงร่วมกันกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง เพื่อประนีประนอมกับทุกฝ่ายให้มากที่สุด 

ต่อมาในปี 2489 นักกฎหมายที่มีแนวคิดนี้ได้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้เกิดระบบสองสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2489 ได้แก่สภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา ซึ่งมีลักษณะเป็นสภาสูงอันอาจเทียบได้กับวุฒิสภาในปัจจุบัน ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ สภาหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภาหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ต่อมาระบบดังกล่าวได้ถูกทำลายลงในการรัฐประหาร 2490 และกำเนิดวุฒิสภาซึ่งมาจากการ ‘แต่งตั้ง’ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2490

นักกฎหมายจารีตนิยม ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีบทบาทนำในสังคมไทย มีแนวคิดในการปรับหลักคิดทางสากลให้เข้ากับบริบท ‘แบบไทย’ นักกฎหมายฝ่ายนี้บางส่วนไปทำงานให้กับผู้ถืออำนาจหรือที่เรียกว่า ‘เนติบริกร’ โดยอาจจะคำนึงถึงหลักการบางอย่างน้อยลง และมีชุดความคิดบางอย่างในการกำหนดกฎหมายหรืออธิบายกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ‘ในสถานการณ์ฉุกเฉิน’ ช่วงที่มีการรัฐประหารหรือในการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร 

ในความคิดเห็นของวรเจตน์ การนำคุณค่าแบบไทยเข้าไปสวมใส่ในคุณค่าสากล เท่ากับเป็นการปฏิเสธสิ่งนั้น เช่น “ความยุติธรรมแบบไทย ก็คือความอยุติธรรม ประชาธิปไตยแบบไทย ก็คือไม่ใช่ประชาธิปไตย นิติรัฐแบบไทย ก็คือไม่ใช่นิติรัฐ”  

และวรเจตน์ยังได้ทิ้งท้ายถึงอนาคตของประชาธิปไตยไทยว่า “ยังคงมืดดุจรัตติกาลมากขึ้นกว่ากาลก่อน แต่ก็มีความอื้ออึงมากขึ้น” การกดทับยังทำไม่ได้สนิท เพียงแต่ว่าแสงยังไม่มาถึง เมื่อเสียงอื้ออึงเพิ่มมากขึ้น แสงก็อาจจะมา

You May Also Like
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์
อ่าน

ส่องได้แล้ว! ชวนทำความรู้จักผู้ประกาศตัวจะสมัคร สว. 67 ทาง senate67.com

ใครที่สนใจจะสมัคร สว. 67 เชิญชวนมาประกาศตัวทาง senate67.com ประชาชน-ผู้สมัครคนอื่นๆ จะได้ทำความรู้จัก มีข้อมูลเบื้องต้นประกอบการ “เลือกกันเอง”