สรุปรัฐธรรมนูญ 2560: เปิดที่มาศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 20 ปี ลดจำนวนตุลาการสายวิชาการ เพิ่มข้าราชการ

ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทหลักเป็น ‘ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ ตรวจสอบว่าร่างกฎหมายหรือกฎหมายขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฯลฯ ตัวอย่างเช่น พิจารณาว่ากฎหมายอาญาที่ห้ามหญิงทำแท้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น เห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเกี่ยวพันกับการเมือง ทำให้เกิดคำถามถึงที่มาและความยึดโยงกับประชาชน 

รัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคน แบ่งเป็นผู้พิพากษาและตุลาการอาชีพห้าคนมีที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการอย่างละสองคนมีที่มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) จะลงมติเห็นชอบตุลาการทั้งเก้าคนในขั้นสุดท้าย

ศาลรัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 และมีการเปลี่ยนแปลงที่มาและองค์ประกอบเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 โดยสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการลดลงจากห้าคนในรัฐธรรมนูญ 2540 เหลือสองคนในรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะที่เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิสายข้าราชการมาอีกสองคน นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทบาทองค์กรอิสระร่วมคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนวิธีเห็นชอบของ ส.ว. อีกด้วย

 

ห้าผู้พิพากษา-สองนักวิชาการ-สองข้าราชการ รวมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคน 

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคน โดยอาจแยกได้เป็นสามกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่ง ผู้พิพากษาและตุลาการอาชีพ จำนวนห้าคน แบ่งเป็นสามคนมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ และอีกสองคนมาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ

ทั้งนี้ ตุลาการที่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกาต้องเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี และตุลาการที่มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดต้องเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

กลุ่มที่สอง ผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการ จำนวนสองคน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์หนึ่งคน และสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์อีกหนึ่ง ทั้งนี้ ต้องมีตำแหน่งทางวิชาการถึงระดับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และต้องมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์อีกด้วย

กลุ่มที่สาม ผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการ จำนวนสองคน มาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี 

 

ตุลาการสายวิชาการ-ข้าราชการ คัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา

ผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการ และสายราชการ ให้ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมาตรา 11 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ประกอบไปด้วย

  • ฝ่ายตุลาการ คือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด
  • ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ประธานสภาและผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
  • บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้ง หรือ ‘คนนอกที่แต่งตั้งโดยองค์กรอิสระ’ องค์กรละหนึ่งคน กล่าวคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่งตั้งผู้ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในองค์กรอิสระหรือศาล แต่ “ต้องมีความเข้าใจในภารกิจของศาล มีความเป็นกลางและซื่อสัตย์สุจริต” องค์กรละหนึ่งคน

คณะกรรมการสรรหาต้องสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ “เป็นบุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม” ผู้ที่จะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจํานวนคณะกรรมการสรรหา จากนั้นจึงเสนอรายชื่อไปยังวุฒิสภา

 

ส.ว. เห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคนในขั้นสุดท้าย

เมื่อคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว ให้เสนอชื่อไปให้วุฒิสภาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวน ส.ว. ทั้งหมด 

หาก ส.ว.ไม่เห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ต้องส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาพร้อมเหตุผล เพื่อให้ดําเนินการสรรหาใหม่แล้วเสนอต่อ ส.ว. อีกครั้งโดยผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาจะหมดสิทธิเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยปริยาย ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่ได้

 

สัดส่วนของตุลาการสายข้าราชการเพิ่มขึ้น ขณะที่สายวิชาการลดลง

ศาลรัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ได้ลดจำนวนลงถึงหกคนด้วยกันเหลือเก้าคน โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงแยกตามกลุ่มได้ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่ง ผู้พิพากษาและตุลาการอาชีพ ตุลาการที่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกาในรัฐธรรมนูญ 2540 มีจำนวนห้าคน ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ลดจำนวนลงสองคนเหลือสามคน ขณะที่ตุลาการที่มาจากศาลปกครองสูงสุด มีจำนวนสองคนตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ถึงปัจจุบัน

กลุ่มที่สอง ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ในรัฐธรรมนูญ 2540 จำนวนห้าคน ต่อมา รัฐธรรมนูญ 2550 ลดจำนวนลงสามคน เหลือสองคน และรัฐธรรมนูญ 2560 ลดลงอีกครั้งเหลือหนึ่งคน 

ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ในรัฐธรรมนูญ 2540 ให้มีจำนวนสามคน ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดที่มาใหม่ให้กว้างขึ้นโดยให้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ลดจำนวนลงเหลือสองคน และรัฐธรรมนูญ 2560 ลดลงอีกครั้งเหลือหนึ่งคน

กลุ่มที่สาม ผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการ จำนวนสองคน ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหม่ที่เพิ่มขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

 

เพิ่มบทบาทองค์กรอิสระร่วมคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เดิมทีในรัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการทางนิติศาสตร์และทางรัฐศาสตร์สรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา อันประกอบไปด้วย

  • ประธานศาลฎีกา 
  • คณบดีคณะนิติศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง เลือกกันเองให้เหลือสี่คน 
  • คณบดีคณะรัฐศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง เลือกกันเองให้เหลือสี่คน 
  • ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร พรรคละหนึ่งคน เลือกกันเองให้เหลือสี่คน

ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของคณะกรรมการใหม่ โดยเพิ่มประธานศาลปกครองสูงสุด ตัดคณบดีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ออกไป และเปลี่ยนจากผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคเป็นประธานสภาและผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทน อีกทั้งยังเพิ่มบทบาทองค์กรอิสระเข้ามา ให้ประธานองค์กรอิสระเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีคณะกรรมการคล้ายกัน ต่างกันที่เปลี่ยนบทบาทขององค์กรอิสระโดยให้ประธานองค์กรอิสระเลือกผู้ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระหรือศาลมาองค์กรละหนึ่งคนแทน

 

ส.ว.ไม่เห็นชอบว่าที่ตุลาการรายใด รายนั้นหมดสิทธิเป็นศาลรัฐธรรมนูญ

เดิมทีในรัฐธรรมนูญ 2540 คณะกรรมการสรรหาต้องทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์สิบคน ด้านรัฐศาสตร์หกคน แล้วลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จากนั้นเสนอรายชื่อพร้อมความยินยอมของผู้ถูกเสนอชื่อต่อวุฒิสภา และวุฒิสภาลงมติเลือกรายชื่อในบัญชีดังกล่าว โดยเรียงตามลำดับจากผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดห้าคนแรกและสามคนแรก โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับนั้นต้องได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว.

ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 คณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นบุคคลโดยชี้เฉพาะ ไม่ได้เลือกเกินจำนวนตุลาการจริงไว้เพื่อให้ ส.ว. เลือกต่ออีกขั้นเหมือนกระบวนการในรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วลงมติคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการโดยเปิดเผยด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด จากนั้นคณะกรรมการฯ จะเสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อวุฒิสภา 

วุฒิสภาจะมติลงคะแนนโดยลับ ว่าจะให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกหรือไม่ อำนาจในการลงมติของ ส.ว. จึงมีลักษณะเป็นการทบทวนว่าจะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกคณะกรรมการฯ เลือกมาแล้วเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจลงมติเลือกบุคคลเฉพาะรายโดยเรียงตามลำดับคะแนนเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 

ในกรณีที่ ส.ว. ไม่เห็นชอบในรายชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการฯ พร้อมเหตุผลเพื่อให้ดำเนินการสรรหาใหม่ ส.ว.ไม่มีอำนาจกำหนดตุลาการที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิเองโดยตรง หากคณะกรรมการฯ ไม่เห็นด้วยกับ ส.ว. และมีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์ คณะกรรมการฯ จะส่งรายชื่อให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป แต่ถ้ามติที่ยืนยันตามเดิมไม่เป็นเอกฉันท์ ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้ง

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีขั้นตอนคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2550 ต่างกันตรงที่ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาไม่สามารถเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่ได้ อีกทั้งคณะกรรมการสรรหายังไม่มีสิทธิที่จะยืนยันตามรายชื่อเดิมเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2550  

 

ลดวาระการดำรงตำแหน่งลงจากเก้าปีเหลือเจ็ดปี

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นได้ลดระยะเวลาของวาระการดำรงตำแหน่งเหลือเจ็ดปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น 

 

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์