เปิด 14 ชื่อเข้ารอบลุ้น ‘ตุลาการศาลปกครองสูงสุด’ มีชื่อเลขาฯ ป.ป.ช. ด้วย

วันที่ 23 เมษายน 2563 เว็บไซต์ศาลปกครองได้เผยแพร่ประกาศ กรรมการตุลาการศาลปกครองสูงสุด (ก.ศป.) เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นในการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อแจ้งรายชื่อบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกให้เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด หลังจากรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 17 มีนาคม 2563 โดยมีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้ารับการประเมินประสบการณ์ในการทำงาน หรือผลงานทางวิชาการทั้งหมด 14 คน ได้แก่

1. บุญเสริม นาคสาร
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหาร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
และเคยเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ

2. วรวิทย์ สุขบุญ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

3. พล.ท.สุรพงศ์ เปรมบัญญัติ
อดีตหัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด

4. ไพโรจน์ อาจรักษา
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี

5. พรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ด้านคดี)

6. สมฤทธิ์ ไชยวงศ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านคดี สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

7. ธนสุนทร สว่างสาลี
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

8. วินิตย์ ผลดี
ปัจจุบันประกอบอาชีพทนายความ

9. ประหยัด เสนวิรัช
ปัจจุบันประกอบอาชีพทนายความ เป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมายประหยัดทนายความ, นายกสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค และนายกสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อสังคม

10. รัชนันท์ ธนานันท์
อดีตเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ สาธารณรัฐฟินแลนด์
* ส.ว. เคยลงมติไม่เห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 โดยที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนนเห็นชอบ 36 เสียง ไม่เห็นชอบ 149 เสียง งดออกเสียง 33 เสียง (https://www.ilaw.or.th/node/5589)

11. บรรยาย นาคยศ
อดีตรองเลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง และปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ในคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ.

12. อรรถพร สิงหวิชัย
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์

13. สุรพันธ์ บุรานนท์
อดีตรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

14. สมชาย กิจสนาโยธิน
ปัจจุบันประกอบอาชีพทันตแพทย์ และดำรงตำแหน่งกรรมการทันตแพทยสภา

กระบวนการหลังจากที่ประกาศชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติชั้นต้นแล้ว ผู้มีรายชื่อต้องยื่นเอกสารเกี่ยวกับประวัติ และผลงาน ให้กับสำนักงานศาลปกครองภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 หลังจากนั้นผู้ผ่านการคัดเลือกต้องส่งผลงานทั้งในการทำงาน หรือทางวิชาการ, เขียนแสดงวิสัยทัศน์ และทำการสอบสัมภาษณ์กับคณะกรรมการ 

เมื่อ ก.ศป. ตรวจสอบคุณสมบัติทั้ง 14 คน เสร็จ จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อเสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอชื่อ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อไป

กรณีคนที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ในการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดนั้น ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบสามารถสมัครเข้าคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดซ้ำได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ต่างจากการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ พรป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ กำหนดไว้ว่าคนที่วุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบ ไม่สามารถสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซ้ำได้

 

กระบวนการสรรหาตุลาการศาลปกครองสูงสุด

กระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด กำหนดไว้ในมาตรา 13 ได้แก่

(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี
(3) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือในการบริหารราชการแผ่นดิน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ที่ ก.ศป. กำหนด และ
(4) มีคุณสมบัติอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
     (ก) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการร่างกฎหมาย กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือกรรมการกฤษฎีกา
     (ข) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น
     (ค) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือเทียบเท่าหรือตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารสูงสุด
     (ง) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอัยการพิเศษประจำเขตหรือเทียบเท่า
     (จ) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่าหรือตำแหน่งอื่นในหน่วยงานของรัฐที่เทียบเท่าตามที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด
     (ฉ) เป็นหรือเคยเป็นผู้สอนวิชาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือวิชาที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในสถาบันอุดมศึกษา และดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์พิเศษ
     (ช) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความไม่น้อยกว่ายี่สิบปี และมีประสบการณ์ในคดีปกครองตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด

และต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 14 คือ

(1) เป็นข้าราชการอื่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใด
(3) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(4) เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ
(5) เป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก ก.ศป.
(6) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือที่ปรึกษา หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายกันในห้างหุ้นส่วนบริษัท
(7) เป็นทนายความหรือประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างอื่นหรือดำรงตำแหน่งหรือประกอบการใดๆ อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่ ก.ศป. กำหนด

กระบวนการสรรหานั้นจะดำเนินการโดย ก.ศป. และเป็นดุลพินิจของ ก.ศป. ทั้งหมด ตั้งแต่ประกาศรับสมัครผู้มีความประสงค์ จากนั้นจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น และประกาศชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบเบื้องต้น

กระบวนการต่อไปคือการประเมินประสบการณ์ในการทำงาน หรือผลงานทางวิชาการของผู้ได้รับคัดเลือกทั้งหมด ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องส่งผลงานทั้งในการทำงาน หรือทางวิชาการ, เขียนแสดงวิสัยทัศน์ และทำการสอบสัมภาษณ์กับคณะกรรมการ และ ก.ศป. จะประกาศชื่อผู้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอชื่อ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อไป