รับมือโควิดในอินเดีย: ใช้มาตรการแรงเพื่อควบคุมโรค แต่มาตรการรองรับยังมีปัญหา

“สาวกองค์สุดท้าย” นักศึกษาปริญญาเอก
มหาวิทยาลัยด็อกเตอร์ บาบาซาเฮ็บ แอมเบดการ์ มารัทวาดา

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และวิธีการแก้ไขสถานการณ์ของรัฐบาลอินเดียเป็นอีกหนึ่งในกรณีศึกษาที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชากรที่มีประมาณ 1,377,626,000 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563) สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศที่มีความต่างกันอย่างสุดขั้วทั้งภูเขาหิมะจนถึงทะเลทราย ไปจนถึงเงื่อนไขที่อาจเอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรค ทั้งความแออัดในสังคมเมือง ปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาด และการขนส่งสาธารณะระบบราง (รถไฟ) ที่มีความแออัด 

แม้ในช่วงต้นเดือนมีนาคมตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศอินเดียจะอยู่ที่ประมาณ 4,600 คนและมีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 200 คน ทว่าตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมรัฐบาลกลางของอินเดียก็ประกาศมาตรการควบคุมโรคด้วยยาแรงทั้งสั่งห้ามคนออกจากบ้าน ยุติการให้บริการรถสาธารณะระหว่างเมืองและระหว่างรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟที่มีผู้โดยสารเรือนล้านในทุกๆ วัน ด้วยมาตรการที่เข้มงวดรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งพยายามออกมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบในชีวิตของประชาชน แต่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น คนยากจน คนทำงานรับจ้างรายวัน ยังดูจะเข้าถึงการช่วยเหลือโดยรัฐได้ไม่ทั่วถึง 

 

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลแห่งรัฐก่อนมาตรการ ”ปิดเมือง” โดยรัฐบาลกลาง

ก่อนที่รัฐบาลกลางของอินเดียจะมีมาตรการปิดเมืองระงับการสัญจรปกติของประชาชนและระงับการสัญจรระหว่างรัฐเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ทั่วประเทศ เป็นเวลา 21 วัน (ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 14 เมษายน 2563) รัฐบาลของแต่ละรัฐและแต่ละเมืองมีการดำเนินมาตรการปิดเมืองเป็นการภายในเกิดขึ้นก่อนแล้ว เช่น ในรัฐเวสต์ เบงกอล (West Bengal) ฝ่ายบริหารของโกคาแลนด์ (Gorkhaland) ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่มีอำนาจบริหารเมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) และเมืองกาลิมปง (Kalimpong) ดำเนินการโดย

(1) มีคำสั่งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากรัฐอื่นๆ ในอินเดีย (ซึ่งหมายรวมทั้งชาวอินเดียที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาในทั้งสองเมืองและชาวต่างชาติ) เดินทางเข้าสู่เมืองดาร์จิลิ่งและเมืองกาลิมปง และ
(2) ขอให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมและโฮมสเตย์ หยุดให้บริการจองโรงแรมและโฮมสเตย์ทันที และขอให้ร้องขอให้แขกที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาในเมืองดาร์จิลิ่งและเมืองกาลิมปง ออกนอกพื้นที่    

เมืองดาร์จิลิ่งและเมืองกาลิมปงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับรัฐเวสต์เบงกอล ซึ่งในทางกลับกันก็มีความเสี่ยงที่ไวรัสโคโรนาอาจเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับนักท่องเที่ยว ผู้บริหารของ Gorkhaland จึงมีคำสั่งนี้และเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมถึง 15 เมษายน 2563 

ที่รัฐหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) ซึ่งเป็นรัฐทางตอนเหนือติดเทือกเขาหิมาลัยก็มีคำสั่งปิดเมืองลักษณะเดียวกันกับที่บังคับใช้ในรัฐเวสต์เบงกอล ในวันที่ 19 มีนาคม 2563 ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ 

(1) สั่งปิดเมืองชิมลา (Shimla) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ เมืองมันดิ (Mandi) เมืองกังครา (Kangra) และเมืองฮามิปูร์ (Hamirpur) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มีนาคม 2563
(2) ห้ามรถโดยสารและรถบัสนำเที่ยวทุกประเภทจากรัฐที่มีพรมแดนติดกับรัฐหิมาจัลประเทศเดินทางเข้าเขตรัฐ
(3) ให้นักท่องเที่ยวที่อยู่ในรัฐเดินทางออกจากรัฐนี้ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2563

นอกจากคำสั่งทั้งสามข้างต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เมืองธรัมศาลา (Dharamsala) ซึ่งอยู่ในรัฐหิมาจัลประเทศยังขอให้ชาวต่างชาติที่มาเรียนโยคะหรือพุทธศาสนาแบบธิเบตเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นด้วย เนื่องจากประเทศอินเดียปกครองแบบกระจายอำนาจและผู้นำรัฐบาลแห่งรัฐมีอำนาจบริหารจัดการภายใน รัฐบาลแห่งรัฐตัวอย่างที่ยกมาจึงตัดสินใจปิดพื้นที่ก่อนที่รัฐบาลกลางจะมีนโยบายเพราะเชื่อว่า หากปล่อยให้มีการติดเชื้อจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว 

เมืองธรัมศาลา

 

รัฐบาลกลางเริ่มจำกัดการเข้าประเทศของผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

เนื่องจากผู้ติดเชื้อในอินเดียส่วนใหญ่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียและยุโรป รัฐบาลกลางจึงเริ่มออกมาตรการปิดประเทศไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ ได้แก่  

(1) ในวันที่ 10 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวออกประกาศขอให้ผู้ที่มีประวัติการเดินทางจากจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี ไทย สิงคโปร์ อิหร่าน มาเลเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน กักตัวเองเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันเดินทางเข้าประเทศ
(2) ยกเลิกวีซ่าที่ออกให้ชาวต่างชาติที่มีประวัติเดินทางไปจีน อิหร่าน อิตาลี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปน แต่ยังไม่เดินทางเข้าอินเดียตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563  

จากนั้นในวันที่ 11 มีนาคม 2563 รัฐบาลอินเดียก็ประกาศมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่  

(1) ยกเลิกวีซ่า ประเภทท่องเที่ยว ธุรกิจ นักเรียน/นักวิจัย สื่อมวลชน เข้าเมืองฉุกเฉิน ประชุม เดินทางผ่าน และการแพทย์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2563 ที่ด่านขาออกจากประเทศต้นทาง (หมายถึงไม่ให้ขึ้นเครื่องจากประเทศต้นทาง) เบื้องต้นมาตรการนี้กำหนดให้บังคับใช้ถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 
(2) ผู้ที่จะเดินทางเข้าอินเดีย (ชาวอินเดียและชาวต่างประเทศ รวมถึงชาวไทย) ซึ่งเดินทางมาจากหรือมีประวัติการเดินทางไปจีน อิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี หลังจากวันที่ 15 ก.พ. 2563 จะถูกกักตัว (quarantined) โดยรัฐบาลอินเดียเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ที่ด่านขาออกจากประเทศต้นทางเพื่อเดินทางเข้ามาในอินเดีย

 

การยกระดับมาตรการขั้นสูง ห้ามชาวต่างชาติทั้งหมดเข้าประเทศและประกาศปิดน่านฟ้า

หลังจากมีการยืนยันผู้ติดเชื้อในประเทศสะสมถึง 60 คน ประกอบกับองค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นระดับการแพร่ระบาดไปทั่วโลก รัฐบาลอินเดียจึงยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อถึงระดับสูงสุด ด้วยคำสั่งขั้นสูงสุดคือ การห้ามต่างชาติเข้าประเทศ และระงับวีซ่าการท่องเที่ยวทั้งหมดที่เคยออกไปโดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2563  

ต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลอินเดียจึงประกาศปิดน่านฟ้า ห้ามเที่ยวบินพาณิชย์เข้าออกประเทศ 1 สัปดาห์ โดยให้มีผลบังคับในวันที่ 22 มีนาคม เวลา 5.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น จนถึงวันที่ 29 มีนาคม เวลา 5.30 น. ในเวลาต่อมามาตรการนี้ถูกต่ออายุออกไปโดยไม่มีกำหนด

 

จากเคอร์ฟิวถึง Lockdown: 32 รัฐปิดเมือง ห้ามประชาชนออกจากบ้าน

เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นไปถึง 180 คน นายกรัฐมนตรีโมดีประกาศเคอร์ฟิวสาธารณะ (Janata Curfew) ให้ประชาชนทั่วประเทศเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่ไปไหนมาไหน และไม่รวมตัวกันในที่สาธารณะ ในวันที่ 22 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 7.00 น. ถึงเวลา 21.00 น. ของวันเดียวกัน ซึ่งเพจ “พูดทั้งโลก X กระแสเอเชียใต้ – South Asian News” ให้ข้อมูลว่า มาตรการนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนรวมทั้งพรรคฝ่ายค้าน แม้หลายคนจะมองว่า การให้เวลาปฏิบัติเพียงหนึ่งวันนั้นน้อยเกินไป อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายคนมองว่านี่คือการซ้อมใหญ่เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตเท่านั้น

สำหรับตัวผู้เขียนเองซึ่งอาศัยอยู่ที่รัฐมหาราษฏร์ (Maharashtra) ก็รู้สึกกังวลว่าการประกาศเคอร์ฟิวนี้อาจเป็นการทดสอบก่อนประกาศใช้มาตรการปิดเมืองเต็มรูปแบบทั่วประเทศ 

มาตรการขั้นสูงสุดที่รัฐบาลกลางอินเดียนำมาใช้ คือ การระงับการสัญจรของประชาชนทั้งภายในเมือง และระหว่างเมือง (มาตรการ lockdown) ทั่วประเทศ เป็นเวลา 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม – 14 เมษายน 2563 โดยมาตรการนี้กำหนดว่า “ให้ทุกท่านอยู่ในที่พักตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว และสามารถออกจากที่พักได้ในกรณีจำเป็น เช่น การซื้ออาหารและของใช้เพื่อชีวิตประจำวัน และเพื่อรับการรักษาที่คลินิก/โรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน” เมื่อครบกำหนดเวลาที่ประกาศล็อคดาวน์ครั้งแรก รัฐบาลอินเดียก็ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปจนวันที่ 3 พฤษภาคม 2563

ภายใต้มาตรการปิดเมือง (Lockdown) ผู้ที่ออกจากบ้านไปเดินตามท้องถนนโดยไม่มีเหตุอันควรอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรใช้ไม้พลองตีได้ สำหรับประชาชนที่ต้องการซื้อของกินของใช้ ยังสามารถไปซื้ออาหารได้โดยไม่ต้องแสดงบัตร แต่จะออกมาได้เฉพาะเวลาผ่อนผันซึ่งแต่ละพื้นที่อาจกำหนดไว้แตกต่างกัน โดยมากมักเป็นช่วงเช้า และแม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะสนับสนุนให้ส่วนงานต่างๆ ที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้เปลี่ยนไปทำงานจากที่บ้าน ในขณะนี้รัฐบาลยังไม่อนุญาตให้เปิดร้านซ่อมแซมอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ

 

มาตรการช่วยเหลือในบางรัฐ

เท่าที่ผู้เขียนมีข้อมูล รัฐบาลแห่งรัฐบางแห่งก็พยายามออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปิดเมืองจนทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยปกติอยู่บ้าง โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์คนรู้จักที่อาศัยอยู่ในสามเมืองที่แตกต่างกัน ได้แก่

– ที่เมืองจัยปูร์ (Jaipur) เมืองหลวงของรัฐราชสถาน (Rajasathan) ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ชาวอินเดียชื่อ ราเจช ชอดริ (Rajesh Choudhary) เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 ได้ความว่า รัฐบาลกลางมอบเงินให้กับชาวบ้านที่ยากจนโดยครั้งแรกให้กับทุกคนในสมาชิกของครอบครัวละ 500 รูปี ต่อมาผู้นําในเมืองจัยปูร์ (Jaipur) ได้ให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 รูปี กับทุกคนที่เป็นสมาชิกของครอบครัว 

ตลาดในเมืองจัยปูร์

– ที่รัฐพิหาร พระอาจารย์วิวัฒน์ อุทาโน (พระนักศึกษาปริญญาเอก) ที่จำพรรษาที่วัดอโศกมหาราช เมืองพุทธคยา ให้ข้อมูลในวันที่ 19 เมษายนว่า ผู้ว่าการรัฐแจกเงินให้ประชาชนครอบครัวละ 1,000 รูปี (ประมาณ 500 บาท) โดยให้ทุกครอบครัวที่มีทะเบียนบ้านและจะมีผู้นําชุมชนนําไปมอบให้ ส่วนชาวพิหารที่ไปประกอบอาชีพนอกรัฐจะมีการสำรวจและเยียวยาในภายหลัง

– ที่รัฐมณีปูระ หรือมานีปูร์ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ติดกับพม่า ข้อมูลจาก Facebook พระอาจารย์ วิวัฒน์ อุทาโน (พระนักศึกษาปริญญาเอก) ระบุว่า ผู้ว่าการรัฐประกาศให้เงินช่วยเหลือ 2,000 รูปีหรือประมาณ 1,000 บาทกับประชาชนที่มีภูมิลำเนาในรัฐ ทั้งที่ในอยู่พื้นที่และคนที่ออกไปทำงานต่างรัฐโดยใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีและใช้วิธีแจกตามทะเบียนบ้าน

จะเห็นได้ว่าในกรณีของอินเดีย เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการแรงที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตโดยปกติของประชาชน รัฐบาลแห่งรัฐก็จะออกมาตรการมาเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะรัฐมหาราษฏร์ (Maharashtra) ซึ่งเป็นรัฐที่พบการติดเชื้อมากที่สุด และผู้เขียนได้อาศัยอยู่ในรัฐนี้ 

บรรยากาศในเมืองออรังกาบัดภายใต้มาตรการล็อคดาวน์ ภาพโดย “สาวกองค์สุดท้าย”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เดือนเมษายน 2563 ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรุสตะ มาเกอ (Amtuta Magar) ซึ่งเป็นอาจารย์ฝึกสอนด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยด็อกเตอร์ บาบาซาเฮ็บ แอมเบดการ์ มารัทวาดา โดยผู้เขียนสอบถามเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาของรัฐบาลรัฐมหาราษฏร์ ซึ่งได้ความว่า รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนรวม 163 แห่งเพื่อจัดหาน้ำและอาหารให้แจกจ่ายผู้ประสบความเดือดร้อน ทั้งนี้แรงงานอพยพจากชนบทในนครมุมไบน่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างเลวร้ายจากมาตรการการปิดเมือง เพราะพวกเขาต้องสูญเสียงาน แรงงานบางส่วนไม่มีทางเลือกและต้องเดินเท้ากลับบ้านในชนบท 

สำหรับความช่วยเหลือในระดับประเทศจากการพูดคุยกับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงและเพื่อนชาวอินเดีย ผู้เขียนได้รับคำตอบว่า รัฐบาลกลางดูจะไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ ที่ชัดเจน เพื่อนชาวอินเดียคนหนึ่งระบุว่า

“รัฐบาลไม่ช่วยอะไรเลย เอาแต่ปิดเมือง ไม่ได้เหมือนที่เมืองไทยรัฐบาลยังช่วยนะ และที่อินเดียประชากรก็เยอะ หากรัฐบาลจะช่วยแล้วจะช่วยได้อย่างไร ให้ทั่วถึงทุกคน”

ขณะที่บทความของศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ตอนหนึ่งก็สะท้อนความด้อยประสิทธิภาพของการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐบาลกลางว่า 

“รัฐบาลออกมาบอกว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือมากมายหลังจากสั่งปิดตายประเทศ แต่ส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่คนในระบบโครงการต่างๆ ของรัฐ ต่างจากแรงงานเหล่านี้ที่อยู่นอกระบบอย่างสิ้นเชิง มาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ออกมาจึงไม่จูงใจให้แรงงานเหล่านี้ทนอยู่ต่อไปในสถานการณ์ปิดเมือง ที่แรงงานหลายคนบอกว่า “พวกเขาอาจต้องอดตายก่อนที่ไวรัสมรณะนี้จะหยุดระบาด”


หมายเหตุ: ภาพ thumbnail โดย nonmisvegliate

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา