รับมือโควิดในเยอรมนี: สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในวิกฤติ ผู้นำย้ำหลักประชาธิปไตย

เรื่องโดย
เบญจมา อนันตพงศ์

 

ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ ยามที่โลกกำลังใจจดใจจ่อกับข่าวใหญ่การระบาดของเชื้อไวรัสในประเทศจีน สื่อมวลชนเยอรมนีก็เช่นเดียวกับสื่อทั่วโลกที่ติดตามเสนอข่าวอย่างใกล้ชิด แม้เยอรมนีจะอยู่ห่างไกลจีนกว่าเก้าพันกิโลเมตรก็ตาม ไม่มีใครคาดคิดว่าไวรัสจะแพร่กระจายมาสู่ยุโรปอย่างรวดเร็ว 

เวลานั้น ศาสตราจารย์ ดร. Lothar Wieler ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันโรคระบาดโรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch Institut) ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางสถานีโทรทัศน์ระดับชาติว่า โรคนี้มีความรุนแรงคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด และเชื้อไวรัสตัวนี้คงไม่แพร่กระจายมาไกลมาถึงเยอรมนี 

27 มกราคม มีการยืนยันว่า เยอรมนีพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรกที่กิ่งอำเภอ Starnberg ในรัฐบาเยิร์น พนักงานบริษัทได้รับเชื้อมาจากเพื่อนร่วมงานชาวจีน ที่เดินทางจากเมืองจีนมาร่วมประชุมที่บริษัท ไม่มีใครรู้ว่าเธอติดเชื้อ เพราะไม่แสดงอาการ อีกราว 2-3 สัปดาห์ต่อมากลางเดือนกุมภาพันธ์พอดิบพอดี กิ่งอำเภอ Heinsberg ในรัฐนอร์ดไรน์เวสต์ฟาลเล่นห์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ จัดเทศกาลคานิวัล มีคนมาร่วมสังสรรค์ในหอประชุมราว 300 คน ภายหลังพบว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นคู่สามีภรรรยา ทั้งคู่เพิ่งกลับจากสกีรีสอร์ทที่เมือง Ischgl ในประเทศออสเตรีย ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญแห่งหนึ่งในยุโรป ผู้ไปร่วมงานทั้งหมดต้องถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน หลังจากระยะเวลากักตัวสองสัปดาห์ พบว่า มีผู้ติดเชื้อราวเจ็ดสิบคน

นับตั้งแต่เกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หน่วยงานระดับชาติที่เข้ามารับผิดชอบงานต่อต้านและป้องกันการแพร่ระบาดโดยตรงได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีเย็นส์ สปาห์น (Jens Spahn) จากพรรคซีดียู สถาบันป้องกันโรคติดต่อโรเบิร์ต ค็อค และนักระบาดวิทยาจากโรงพยาบาลแชริตี้ที่เบอร์ลิน 

จนเมื่อเส้นกราฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มไต่สูงขึ้นเป็นลำดับ ราววันที่ 11 มีนาคม แองเกล่า แมคเคิ่ล (Angela Merkel) ออกมาร่วมให้ข่าวต่อสื่อมวลชนพร้อมคณะทำงานที่รับผิดชอบอยู่เดิม ใช้ภาวะความเป็นผู้นำจัดการและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในชาติอย่างจริงจัง

นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ที่ได้เห็นและได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาของรัฐบาลเยอรมนี โดยมีบทเรียนเพื่อการพิจารณาในประเด็นสำคัญดังนี้

1. ประสิทธิภาพในการจัดการแก้ไขปัญหา
2. จิตวิทยาทางสังคม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
3. การหาสมดุลระหว่างการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนกับการปกป้องรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ภาพถ่ายโดย Tantai Kulthani

 

1. ประสิทธิภาพในการจัดการแก้ไขปัญหา ตั้งคณะทำงานแบบใหม่ ครอบคลุมทุกส่วนปัญหา

เมื่อเกิดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่ารายแรกๆ ในปลายเดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลภายใต้การกำกับและดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันโรเบิร์ต ค็อค และโรงพยาบาลแชริตี้ที่เบอร์ลิน เข้ามารับผิดชอบการติดตามและสื่อสารข้อมูลการแพร่ระบาดต่อสื่อมวลชนประจำทุกวัน ทั้งรัฐมนตรีและผู้อำนวยการสถาบันต่างยอมรับว่า โรคระบาดนี้เป็นโรคใหม่ที่ยังไม่รู้จักอย่างถ่องแท้

หลังจากวันที่ 11 มีนาคมเป็นต้นมา ดูเหมือนจะมีการปรับกระบวนการทำงานและประสานงานยกใหญ่ภายในคณะรัฐมนตรี จนเกิดลำดับชั้นการทำงานแบบราบ ดังนี้

คณะรัฐมนตรีชุดเล็กหรือชุดจำเพาะ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีนางแองเกล่า แมคเคิล และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้แก่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีการประชุมทุกวันจันทร์ 

รัฐบาลกลางประชุมร่วมกับรัฐบาลจากมลรัฐ ทุกวันพุธ รัฐบาลกลางพร้อมคณะรัฐมนตรีจากทุกกระทรวง ประชุมร่วมกับรัฐบาลจากมลรัฐ พร้อมหารือกับหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันโรเบิร์ต ค็อค เป็นต้น

คณะรัฐมนตรีโคโรน่าชุดใหญ่ เมื่อคณะรัฐมนตรีโคโรน่าชุดเล็กประชุมกันแล้วเห็นว่า มีเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นด้วย ก็จะมีการเชิญรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเข้าร่วมประชุม เพื่อดำเนินการจัดการและคลี่คลายปัญหาในวันพฤหัสบดี  

ทีมทำงานแก้วิกฤติ Crisis-Shooter Team ซึ่งเป็นการประสานการทำงานระหว่างกระทรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งคณะทำงานแก้วิกฤติชุดใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้น เพื่อประสานการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเศรษฐกิจ 

คณะทำงาน Taskforce ซึ่งขณะนี้มีคณะทำงานอยู่ห้าชุด ได้แก่
          (1) คณะทำงานให้ความช่วยเหลือรัฐต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ
          (2) คณะทำงานช่วยเหลือจัดซื้อจัดจ้างและโลจิสติกส์จากรัฐต่างๆ
          (3) คณะทำงานร่วมกับนักวิชาการ ฝ่ายสังคมศาสตร์ ได้แก่ สถาบันนักวิชาการแห่งชาติเลโอโพลดิน่า Leopoldina National Academic of Social Scientists ซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์ในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ นักจิตวิทยา นักการศึกษา นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ
          (4) คณะทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ การแสวงหาความร่วมมือในด้านต่างๆ จากภาคธุรกิจ
          (5) คณะทำงานร่วมกับภาคเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อใช้เทคโนโลยีในการป้องกันแก้ไขและติดตามปัญหา     

การทำงานแก้ไขปัญหาของคณะรัฐบาล มีการทำงานในลักษณะสหวิทยาการ (Interdisciplinary) นักการเมืองดึงความช่วยเหลือทั้งจากนักระบาดวิทยาและแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคณะทำงานร่วมกับนักวิชาการสังคมศาสตร์จากสถาบัน Leopoldina ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เมื่อกลางเดือนเมษายน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ประสิทธิภาพในการทำงานและประสานงานการทำงานที่เป็นระบบจนส่งผลต่อการทำงานแก้ปัญหาอย่างชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า รัฐบาลและคณะทำงานทุกระดับจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้อย่างมีขั้นตอนและขจัดปัญหาการแพร่ระบาดได้ในที่สุด ภายในระยะเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 13-22 มีนาคม มีการประกาศมาตรการสำคัญสามด้าน 

มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจทุกขนาด และกลุ่มบุคคลทุกอาชีพ 

วันที่ 13 มีนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายโอลาฟ ชูลซ์ จากพรรคเอสพีดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจนายปีเตอร์ อัลท์ไมเออร์ จากพรรคซีดียู ประกาศมาตรการให้เงินกู้อย่างไม่มียอดจำกัดแก่ผู้ประกอบการภาคการผลิต และผู้ประกอบการภาคบริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมทั้งธนาคาร และบรรษัทขนาดใหญ่ที่มียอดขายสองพันล้านยูโรต่อปี เพื่อป้องกันความเสียหายถึงล้มละลายของภาคธุรกิจ โดยจะมีเงินให้กู้ทันที 2 ล้านยูโรโดยให้กู้ผ่านธนาคารของรัฐที่มีหน้าที่ให้บริษัทต่างๆ กู้เงินเพื่อการบูรณะธุรกิจโดยเฉพาะ KfW (Kreditanstalt für Wiederaufbau) 

อีก 6 วันต่อมา รัฐบาลกลางได้แจ้งมาตรการทางการเงินการคลังโดยให้เงิดอุดหนุนอีกห้าแสนล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางอย่างเป็นรูปธรรม บริษัทที่มีพนักงานไม่เกินห้าคน สามารถได้รับเงินอุดหนุน 9,000 ยูโร (315,000 บาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ บริษัทที่มีพนักงานประจำถึงสิบคนได้รับเงินอุดหนุน 15,000 ยูโร (525,000 บาท) ส่วนผู้ทำงานอาชีพอิสระต่างๆ เช่น นักดนตรี ศิลปิน นักวิชาการ ครู อาจารย์อิสระ นักแปล ฯลฯ จะได้รับเงินอุดหนุนทันทีจากรัฐบาลผ่านธนาคารสินเชื่อเพื่อการลงทุน Kreditinvestitionsbank ประจำแต่ละรัฐ คนละตั้งแต่ 5-9 พันยูโร (150,000-315,000 บาท) นอกจากเงินอุดหนุนเหล่านี้แล้วก็ยังมีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่กิจการและบริษัทต่างๆ  

ส่วนกิจการหรือบริษัททุกขนาดที่ต้องหยุดกิจการ ไม่มีรายได้ก็ต้องแจ้งหน่วยงานจัดหางาน (Arbeitsamt) ว่า มีพนักงานลูกจ้างของบริษัทมีความจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เหมือนกรณีคนตกงานซึ่งรัฐจะช่วยเหลือให้ได้รับเงินถึง 65% จากจำนวนเงินเดือนเต็มที่ได้รับตามปกติ 

ผู้ที่ต้องเช่าบ้านหรืออพาร์ทเม้นต์อยู่ก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ เจ้าของหรือผู้ให้เช่าจะไล่ผู้เช่าออกจากที่พักช่วงสามเดือนนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคม จนถึงเดือนมิถุนายนไม่ได้ และให้ขยายกำหนดต้องชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ตออกไปอีกหนึ่งเดือน เป็นต้น  

มาตรการกำกับการดำเนินงานของธุรกิจต่างๆ Lichtlinien หรือ Guidelines 

การประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน หรือประกาศเคอร์ฟิวในระดับชาติ เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากและไม่เคยปรากฏมาก่อน รัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐของเยอรมนีจึงไม่ใช้โอกาสนี้ประกาศกฎหมายใดๆ ที่อาจกำจัดเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินความจำเป็น นอกเหนือจากข้อกำกับหรือคำแนะนำที่ให้พลเมืองในรัฐปฏิบัติตาม ให้ใช้บังคับกับทุกคนในประเทศ มีการกำหนดลงไปอย่างละเอียดว่า ธุรกิจที่เปิดกิจการได้ คือ ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต คลินิกแพทย์ ธนาคาร ร้านทำผม ร้านซักรีด ไปรษณีย์ บริการรับส่งของ ปั๊มน้ำมัน นอกจากนั้นไม่สามารถเปิดกิจการได้ ซึ่งรวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ ฯลฯ  

งดการทำกิจกรรมนอกบ้านต่างๆ การแข่งกีฬา ให้ปิดสถานที่ ได้แก่ คลับ บาร์ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร ศูนย์แสดงสินค้า โรงหนัง สวนสัตว์ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานเล่นกีฬา แม้แต่สนามเด็กเล่น ฯลฯ นอกจากนี้ยังห้ามโรงแรมเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ร้านอาหารเปิดขายรับส่งอาหารไปทานที่บ้าน และเปิดได้ถึงหกโมงเย็นเท่านั้น การไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชราทำได้อย่างจำกัด เป็นต้น 

มาตรการกำกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน (Verhaltensregeln)

ราวหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ในวันที่ 22 มีนาคม นางแมคเคิ่ล นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อชาวเยอรมนีอีกครั้งเกี่ยวกับมาตรการที่จะกำกับการใช้ชีวิตในช่วงที่เชื้อไวรัสยังคงแพร่ระบาด ดังนี้ 

         (1) ลดกิจกรรมทางสังคม งดพบปะเพื่อนฝูง ญาติสนิท ที่ไม่ได้อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน
         (2) ให้รักษาระยะห่างระหว่างตัวกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5-2 เมตร
         (3) สามารถไปที่สาธารณะคนเดียว หรือเป็นคู่ หรือกับบุตรในครอบครัวเดียวกันได้
         (4) ออกจากบ้านไปทำงาน ไปร้านขายยา ไปหาแพทย์ ไปจ่ายกับข้าว ไปซื้อของ ไปสอบ ไปประชุม ไปนัดสำคัญ ไปช่วยผู้อื่น ไปเดินเล่น ออกกำลังกายที่สวนสาธารณะได้
         (5) การพบปะเพื่อนฝูง จัดงานฉลองของกลุ่มคนในโอกาสต่างๆ ที่สวนสาธารณะ ที่บ้าน สถานที่ส่วนตัวอื่นๆ ไม่อาจทำได้ หากฝ่าฝืนจะถูกตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
         (6) ไม่ให้ร้านอาหารรับลูกค้า แต่สามารถปรุงอาหารเพื่อให้ลูกค้ามารับไปทานที่บ้านได้
         (7) ห้ามธุรกิจที่เกี่ยวกับร้านเสริมสวย ร้านนวด ร้านสัก และธุรกิจที่คล้ายคลึงดำเนินกิจการต่อ
         (8) กิจการทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่มีลูกค้าสาธารณะจะต้องมีมาตรการอนามัย และมีมาตรการป้องกันที่จำเป็นด้วย
         (9) มาตรการทั้งหมดนี้มีระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์ 

 

2. จิตวิทยาสังคม การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Solidarity) ในการแก้ปัญหา

สิ่งสำคัญประการแรกที่เห็นเด่นชัดในภาวะวิกฤตินี้ คือ ภาวะผู้นำของนางแมคเคิ่ล นายกรัฐมนตรี คำปราศรัยของเธอต่อประชาชนในชาติ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม แมคเคิ่ลย้ำถึงความเป็นประชาธิปไตย หลักความโปร่งใสของข้อมูลที่รัฐจะต้องชี้แจงเหตุและผลให้ประชาชนรับรู้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และเพื่อการร่วมมือกันของประชาชน ร่วมกับรัฐรับผิดชอบ “ภารกิจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์” (historische Aufgabe) รับมือกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การให้ความสำคัญและยกย่องบุคลากรทุกฝ่าย ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงแคชเชียร์และคนจัดของในซูเปอร์มาร์เก็ต เธอยังเรียกร้องความมีเหตุมีผลและการมีน้ำจิตน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ทั้งกับคนที่เป็นญาติในครอบครัวเดียวกันและผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น เพื่อนบ้าน 

เรามักคิดกันว่า ชาวตะวันตกรักความเป็นอิสระส่วนตัว ไม่ชอบการพึ่งพากัน ต่างคนต่างอยู่ แต่วิกฤติการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น เรากลับได้เห็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันของชาวเยอรมัน เพื่อนบ้านของดิฉันถึงสามรายต่างเสนอตัวว่า หากเราต้องการอะไรจากซูเปอร์มาร์เก็ตก็ขอให้บอกเธอจะซื้อมาฝาก 

นอกจากนี้ในแต่ละมลรัฐจะมีเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ของมลรัฐเฮสเซ็น ชื่อ hessen-helfen.de (helfen แปลว่าช่วย) เพื่อเป็นเวทีให้คนในมลรัฐช่วยเหลือกันและกัน บางคนอาสาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ไปซื้อของที่จำเป็นให้ ฯลฯ บางคนขอความช่วยเหลือที่จำเป็นจากผู้อื่น การช่วยเหลือเผื่อแผ่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบ เช่น ร้านพิซซ่าใกล้บ้านของดิฉัน เสนอที่จะแจกฟรีพิซซ่าให้คนชรา นักดนตรีเล่นคอนเสิร์ตฟรีที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ตให้คนชมฟรี เป็นต้น

เมื่อนักท่องเที่ยวกลับมาจากเมือง Ischgl ของประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นเมืองที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยบางคนก็ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อจริง แต่ไม่ปรากฏว่า คนเยอรมันมีปฏิกิริยาต่อต้านการเดินทางกลับเข้าประเทศของผู้ติดเชื้อเหล่านี้เลย 

นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังต้องจัดหาเครื่องบินไปรับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกราวสองแสนคน ที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เพราะในประเทศนั้นได้ประกาศเคอร์ฟิวและไม่มีบริการขนส่งมวลชนต่างๆ ให้สามารถเดินทางไปยังสนามบินได้ เช่นเดียวกัน ไม่ปรากฏว่ามีเสียงตำหนิ หรือเสียงด่าทอจากคนเยอรมนีที่ต้องการเดินทางกลับมาตุภูมิเลย 

ดิฉันจะมีประสบการณ์ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงที่ทุกคนต้องวางระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร ครั้งหนึ่งดิฉันได้ออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน โดยได้สวมหน้ากากอนามัยไปด้วย แม้ก่อนหน้านี้จะไม่เคยประสบปัญหาใดๆ อย่างที่คนไทยหรือคนเอเชียที่ใส่หน้ากากอนามัยประสบและปรากฏเป็นข่าวในประเทศอื่นเลย วันนั้นมีเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ดูหน้าตาท่าทางแล้วคงเป็นคนเยอรมันเชื้อสายตุรกีที่เกิดและเติบโตในเยอรมนีมากกว่า เด็กหนุ่มคนหนึ่งในกลุ่มตะโกนเมื่อเดินลับมุมตึกไปไม่เห็นดิฉันแล้วว่า “โคโรน่า!”

ดิฉันอดยิ้มและนึกขำกับตัวเองในใจไม่ได้ เด็กหนุ่มคนนี้ก็เหมือนกับวัยรุ่นทุกเชื้อชาติ ที่อยู่ในวัยคึกคะนองและเห็นการเย้าแหย่คนแปลกหน้าเป็นเรื่องสนุกสนานในหมู่เพื่อนฝูง นึกได้อย่างนี้แล้วก็รู้สึกเบาใจ นอกจากคนเยอรมนีส่วนใหญ่ที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว พวกเขายังมีน้ำอดน้ำทน (Tolerance) ต่อความแตกต่างทางเชื้อชาติและพฤติกรรมของคนต่างชาติด้วย เพราะดิฉันโชคดีไม่เจอคนเยอรมันใจแคบสักเพียงคนเดียวที่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของดิฉันด้วยการด่าทอหรือไล่ดิฉันกลับประเทศเพียงเพราะการสวมหน้ากากอนามัย!      

 

3. การรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดกับการปกป้องสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย 

เยอรมนีมีกฎหมายรากฐาน (Grundrecht หรือ Basic Law) ในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธ์สาธารณรัฐตั้งแต่ปี 1949 ซึ่งเทียบได้กับรัฐธรรมนูญ Verfassung หรือ Constitution ในประเทศอื่น เวลานั้นสมาชิกสภาจากมลรัฐต่างๆ ที่เข้ามาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่า อาจเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขณะที่เยอรมนียังไม่มีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และระบอบประชาธิปไตยจะยั่งยืนและมั่นคงไม่ได้ หากปราศจากกฎหมายรากฐานที่มั่นคงสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายรากฐานฉบับนี้ฉบับเดียวก็ยังยืนยงและใช้งานได้เป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน 

ระยะแรกของการแพร่ระบาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มีความลักลั่นของการแก้ปัญหาของรัฐบาลกลางกับมลรัฐ เพราะในแต่ละรัฐก็มีความเข้มข้นของการใช้มาตรการที่แตกต่างกันออกไป ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดข้อโต้เถียงกันอย่างชัดเจน ในกรณีการใช้แอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งเตือนกรณีมีผู้ติดเชื้อและการสัญจรของผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีเงื่อนไขในการใช้ตั้งแต่ต้นว่า เป็นการใช้งานตามความสมัครใจเท่านั้น และมีระยะเวลาการใช้งานเฉพาะช่วงที่มีวิกฤติเท่านั้น ข้อมูลต่างๆ จะถูกลบทิ้งหลังช่วงเวลาจำเป็นที่ต้องใช้งาน    

มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกลางและมลรัฐจำเป็นต้องประกาศใช้มีหลายประการด้วยกันที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายรากฐานของเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นการห้ามจัดกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม การห้ามการเดินทางอย่างเสรีภายในประเทศ และเดินทางออกนอกประเทศ การห้ามการประกอบอาชีพ เนื่องจากพ่อแม่ต้องอยู่ดูแลลูกที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ร้านอาหารไม่สามารถประกอบกิจการขายอาหารได้ และต่อมารัฐบาลยังต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการต่างๆ มากยิ่งขึ้น ตามจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการสั่งห้ามไม่ให้มีผู้อยู่รวมกันในที่สาธารณะเกินสองคน ยิ่งเป็นการละเมิดการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นไปอีก  

ผลลัพธ์ของการประกาศใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและเส้นกราฟแบนราบลงตามลำดับ ซึ่งเท่ากับช่วยลดภาวะการทำงานที่ตึงเครียดและเร่งด่วนของบุคลากรทางการแพทย์ลงไปได้ เพราะไม่ต้องรักษาผู้ป่วยโคม่าจำนวนมากในเวลาเดียวกัน มีความพร้อมที่จะรับและรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  

ชาวเยอรมนีซึ่งคุ้นเคยกับการรักษาสิทธิและเสรีภาพของตัวเองตามระบอบประชาธิปไตยได้ยอมสละสิทธิและเสรีภาพในภาวะปกติ เพื่อที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ทางสังคมที่รัฐบาลกำหนดออกมา เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยชีวิตเพื่อนร่วมชาติที่ป่วยและอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มาตรการต่างๆ เหล่านี้จะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งจนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม ก่อนที่จะมีมาตรการผ่อนคลายความเข้มงวดลงตามลำดับ ไม่ใช่การยกเลิกมาตรการทั้งหมดเลย 

อย่างไรก็ตาม อาจต้องยอมรับความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งด้วยว่า เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน ที่รัฐบาลกลางไม่สามารถก้าวล้ำไปบังคับประชาชนให้ปฏิบัติตามได้ทุกมาตรการ อาทิ มาตรการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อติดตามผู้ติดเชื้อ และการใช้หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลกลางยังบอกประชาชนได้แค่ว่า การใช้หน้ากากอนามัยเป็นมาตรการเร่งด่วนที่รัฐ “แนะนำ” (dringende Empfehlung) ให้ประชาชนปฏิบัติกันเท่านั้น  

แม้การตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยจะใช้ระยะเวลานานกว่าในประเทศที่มีการรวมศูนย์อำนาจก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ประสิทธิภาพในการตัดสินใจน้อยลง ในทางตรงกันข้ามยังเกิดประสิทธิภาพในการจัดการและแก้ปัญหาได้อย่างถาวรมั่นคงกว่า ประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐได้มากกว่าในสังคมที่เป็นเผด็จการ  

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา