ล็อคดาวน์ใหญ่ที่สุดในโลกของอินเดีย ประกาศล่วงหน้าแค่ 4 ชั่วโมง แรงงานต้องเดินเท้ากลับบ้าน

อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน คือ ประมาณ 1,380,000,000 คนในปี 2020 นับถึงวันที่ 8 เมษายน 2563 การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศอินเดียยังถือว่าไม่สูงมากนัก หากเทียบสัดส่วนระหว่างประชากรทั้งหมดกับผู้ติดเชื้อ 4,643 คน และผู้เสียชีวิต 149 คน (สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย วันที่ 8 เมษายน 2563) 

แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมดี ก็ใช้มาตรการเข้มข้นอย่างการสั่ง “ล็อคดาวน์” ห้ามประชาชนออกจากบ้านเป็นเวลา 21 วัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อจนเป็นที่มาของภาพประชาชนชาวอินเดียที่เป็นแรงงานอพยพจากชนบท ต้องเดินเท้ากลับบ้านเพราะไม่มีงานทำและรถสาธารณะงดให้บริการ รวมทั้งปรากฏภาพตำรวจอินเดียใช้ไม้ไล่ตีคนที่สัญจรไปมาบนท้องถนนโดยไม่มีเหตุอันควร

14 เมษายน จะครบกำหนด 21 วันนับจากวันที่อินเดียเริ่มประกาศการล็อคดาวน์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก อัตราการแพร่ระบาดของไวรัสอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่รัฐต้องคำนึงถึงหากต้องการจะสั่งขยายระยะเวลา แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นด้วย

ประตูอินเดีย

 

ใช้มาตรการหยุดเชื้อที่พรมแดนก่อนไทย 2 สัปดาห์

2 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขอินเดียแถลงยืนยันว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย คนหนึ่งมีประวัติการเดินทางไปอิตาลี ส่วนอีกคนหนึ่งมีประวัติเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2563 ทางการอินเดียเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวชาวอิตาลี 15 คน ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด 19 โดยก่อนหน้าที่จะมีการยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 คนนี้ อินเดียมีผู้ยืนยันการติดเชื้อสะสมเพียงหกคน

หลังจากนั้นในวันที่ 11 มีนาคม ทางการอินเดียก็เริ่มออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มาจากการเดินทางข้ามพรมแดน โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของอินเดียซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงกิจการภายในเริ่มออกมาตรการจำกัดการเข้าเมือง ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563 โดยมีมาตรการสำคัญคือ สั่งให้ผู้ที่มีประวัติเดินทางเข้าประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น จีน เยอรมนี อิตาลี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 และหลังจากนั้น ต้องถูกกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน เมื่อเดินทางเข้าประเทศอินเดีย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม

จากนั้นในวันที่ 11 มีนาคม 2563 เริ่มมีการจำกัดการเข้าออกผ่านพรมแดนทางบกโดยเปิดด่านเฉพาะบางจุด ส่วนการจำกัดการเข้าออกทางอากาศเริ่มในวันที่ 17 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวของอินเดียประกาศห้ามผู้เดินทางจากประเทศอัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียเข้าประเทศ  ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม 2563 ทางการอินเดียจึงประกาศห้ามเที่ยวบินจากต่างประเทศทั้งหมดเข้าประเทศ ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม จนถึงวันที่ 29 มีนาคม และในวันที่ 26 มีนาคม ก็มีการขยายเวลาห้ามบินเข้าประเทศออกไปเป็นวันที่ 14 เมษายน 2563 การประกาศห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศยกเว้นเครื่องบินบรรทุกสินค้าเข้าประเทศของอินเดีย เกิดขึ้นก่อนมาตรการดังกล่าวถูกบังคับใช้ในไทยประมาณ 2 สัปดาห์

 

ตัวเลขระบาดน้อยแต่รับมือด้วยยาแรง

ทางการอินเดียยืนยันการค้นพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ครั้งแรกในวันที่ 30 มกราคม 2563 เป็นนักศึกษาจากรัฐเคราละทางตอนใต้ของอินเดียซึ่งไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นในจีนแล้วเดินทางกลับบ้าน จากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐเคราละประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉิน เมื่อมีการยืนยันผู้ติดเชื้อรวมสามคน แต่ภายในเวลาประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์หลังจากนั้นเมื่อไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ยกเลิกประกาศดังกล่าว

หลังจากนั้นไม่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2563 จึงมีการประกาศยืนยันผู้ติดเชื้ออีกครั้ง ซึ่งในเดือนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 10 มีนาคม มีการยืนยันผู้ติดเชื้อรวม 50 ราย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์มีผู้ติดเชื้อเพียงสามราย แต่เพียง 10 วันแรกของเดือนมีนาคมก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 47 คน

หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 15 มีนาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อที่ยืนยันได้รวม 114 กรณี แม้จะถือว่าไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับประชากรกว่า 1,300 ล้านคน แต่นายกรัฐมนตรีอินเดียก็ตัดสินใจใช้ยาแรงด้วยการสั่งล็อคดาวน์ ในเวลาต่อมา ในวันที่ 19 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโมดีขอความร่วมมือให้ประชาชนชาวอินเดียเก็บตัวอยู่ในบ้านในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 ระหว่างเวลา 7 โมงเช้าถึงเวลา 3 ทุ่ม โดยเรียกการห้ามออกนอกเคหสถานดังกล่าวว่า Janata Curfew

การประกาศเคอร์ฟิวดังกล่าวมีข้อยกเว้นให้กับบางสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นต่อสาธารณะ ได้แก่ ตำรวจ ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ สื่อมวลชน บริการรับส่งของหรืออาหาร รวมทั้งพนักงานดับเพลิง โมดียังร้องขอให้ประชาชนที่อยู่กับบ้านออกมายืนปรบมือและตีระฆังที่ระเบียง เพื่อให้กำลังใจบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในสาขาอาชีพดังกล่าวด้วย การบังคับใช้เคอร์ฟิวในวันที่ 22 มีนาคม 2563 โมดีระบุว่า เป็นการทดสอบมาตรการเข้มข้นที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต

การประกาศเคอร์ฟิวของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 มีนาคม 2563 เป็นการขอความร่วมมือที่ไม่ได้มีการ “สั่งห้าม” เดินทางอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลของหลายรัฐในอินเดียก็มีการใช้มาตรการอื่นๆ ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น ที่กรุงนิวเดลี รัฐบาลท้องถิ่นสั่งงดการบริการรถโดยสารสาธารณะ ขณะที่พรมแดนระหว่างนิวเดลีกับรัฐข้างเคียงก็ถูกปิด

จากนั้นในคืนวันอังคารที่ 24 มีนาคม นายกรัฐมนตรีโมดีประกาศ “ห้าม” ประชาชนออกจากบ้านเป็นเวลา 21 วัน โดยเริ่มมีผลบังคับในเวลา 00.00 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2563 ในส่วนของการขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองและระหว่างรัฐ การรถไฟของอินเดียซึ่งเป็นการขนส่งที่ประชาชนใช้บริการมากที่สุด ก็สั่งยกเลิกเที่ยวรถไฟหลายเที่ยวในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563 จากนั้นก็ออกประกาศในเวลาต่อมายกเลิกเที่ยวรถไฟทั้งหมด ยกเว้นขบวนรถขนส่งสินค้าตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 22 มีนาคม จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 31 มีนาคม 2563 

 

Lockdown 21 วัน กับมาตรการที่เข้มงวด   

เอกสารของกระทรวงกิจการภายใน ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 กำหนดแนวปฏิบัติภายใต้การล็อคดาวน์ โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น

สำนักงานหน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งหมดให้ปิดทำการ ยกเว้น กิจการด้านการป้องกันประเทศ ตำรวจ การคลัง และสาธารณูปโภค หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยและการไปรษณีย์

กระทรวงกิจการภายใน กรุงนิวเดลี

สำนักงานหน่วยงานรัฐบาลให้ปิดทำการ ยกเว้นตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงระดับรัฐ งานบรรเทาสาธารณภัย และเรือนจำ ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณูปโภค โดยหน่วยงานระดับเทศบาลให้มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานพื้นฐาน เช่น การรักษาความสะอาดหรือน้ำประปาที่ยังปฏิบัติงาน

เจ้าหน้าที่ทั้งสองส่วนงานให้จำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ในสำนักงานให้น้อยที่สุด เจ้าหน้าที่อื่นนอกจากที่ระบุให้ทำงานที่บ้านเท่านั้น

หน่วยงานด้านการพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนรวมถึงส่วนงานสนับสนุน เช่น หน่วยผลิตหรือขนส่ง (ยาและเวชภัณฑ์) ให้ดำเนินงานต่อไป การเดินทางของผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ทั้งหมดได้รับอนุญาต

หน่วยงานเอกชนและการค้าทั้งหมดให้ปิดทำการ ยกเว้นงานบริการที่จำเป็น เช่น ร้านค้าจำหน่ายอาหารหรือของบริโภคพื้นฐาน ซึ่งฝ่ายปกครองท้องถิ่นควรสนับสนุนให้ใช้วิธีส่งถึงบ้านเพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชน

งานด้านสื่อสารมวลชนทั้งสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคาร สถานีบริการน้ำมัน และงานบริการไฟฟ้าให้ดำเนินงานต่อไป งานบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ดำเนินงานที่สำนักงานเฉพาะส่วนที่จำเป็นและให้ใช้วิธีทำงานจากที่บ้านให้มากที่สุด

บริการด้านการขนส่งทั้งทางถนน การขนส่งระบบราง และทางอากาศทั้งหมดให้ปิดทำการ ยกเว้นการขนส่งสินค้าจำเป็นและพาหนะของหน่วยดับเพลิง ตำรวจ และรถฉุกเฉิน

สถานศึกษาและฝึกอบรมทั้งหมดให้ปิดทำการ ให้งดพิธีกรรมทางศาสนาทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น ในกรณีการจัดพิธีศพ ให้จำกัดผู้ร่วมพิธีไม่เกิน 20 คน

สถานบริการด้านการพักผ่อน การโรงแรม ให้ปิดทำการยกเว้นสถานบริการที่มีนักท่องเที่ยวตกค้างเพราะมาตรการนี้ หรือสถานที่ที่ให้บริการแก่บุคลากรด้านการแพทย์ รวมถึงสถานบริการที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวสังเกตอาการบุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 21 วัน หรือจนถึง 14 เมษายน 2563

ในส่วนของการควบคุมการนำเสนอข่าว กระทรวงข้อมูลข่าวสารและการกระจายเสียงออกประกาศในวันที่ 3 เมษายน โดยมีสาระสำคัญว่า ทางกระทรวงจะจัดตั้งหน่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Check Unit) ขึ้น หากมีการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งให้หน่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบเพื่อทางหน่วยจะได้หาข้อมูลที่จำเป็นและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ นอกจากนี้รัฐบาลระดับรัฐก็สามารถจัดตั้งหน่วยย่อยหรือคณะทำงานในระดับรัฐหรือเขตเพื่อตอบโต้ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ผิดพลาดในระดับท้องถิ่นได้อย่างทันท่วงที

 

การ “Lockdown” เป็นอำนาจตามกฎหมายอาณานิคมอังกฤษ

คูนาล ทานดอน (Kunal Tandon) นักกฎหมายชาวอินเดียให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของการล็อคดาวน์และการประกาศเคอร์ฟิวไว้ว่า การล็อคดาวน์ไม่ใช่คำตามกฎหมาย แต่เป็นถ้อยคำ และการล็อคดาวน์ก็ไม่ได้ให้อำนาจตำรวจจับกุมผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดโดยตรง แต่ตำรวจสามารถอ้างเหตุการจับกุมโดยใช้กฎหมายอื่น เช่น ข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน หรือข้อหากระทำการโดยละเลยหรือเพิกเฉยในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการระบาดหรือแพร่เชื้อโรคอันตราย หรือข้อหากระทำการโดยมุ่งร้ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการระบาดหรือแพร่เชื้อโรคอันตราย ตามมาตรา 118, 269 หรือ 270 ของประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย

ในส่วนของเคอร์ฟิว คูนาลระบุว่าเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองหรือฝ่ายบริหารตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 144 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งห้ามการกระทำบางอย่างเพื่อปกป้องอันตรายที่อาจเกิดต่อชีวิต สุขภาพ หรือความสงบสุขของสังคม และเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว

ทั้งนี้กฎหมายป้องกันโรคระบาดของอินเดียที่ใช้ในปัจจุบันเป็นกฎหมายที่ออกโดยอังกฤษในยุคอาณานิคมและเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาอย่างเร่งรีบและประกาศใช้ในปี 2494 หลังเกิดการระบาดของกาฬโรคที่นครมุมไบในปี 2493 เป็นกฎหมายที่สั้น มีเพียง 4 มาตรา โดยมาตรา 2 มีสาระสำคัญ คือ รัฐบาลสามารถดำเนินการตามสมควรในพื้นที่ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอันตราย หากรัฐบาลเห็นว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไม่เพียงพอ รัฐบาลอาจกำหนดมาตรการชั่วคราวออกบังคับกับประชาชนซึ่งรวมถึงการจำกัดการเดินทาง การล็อคดาวน์จึงน่าจะเป็นการประกาศโดยอิงอำนาจตามกฎหมายนี้ 

 

วิถีชีวิตและผลกระทบ

ทั้งการขอความร่วมมือประกาศเคอร์ฟิวในวันที่ 22 มีนาคม 2563 และการล็อคดาวน์ 21 วันที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประชนชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานอพยพจากชนบทที่เข้ามาทำงานในเขตเมืองที่ต้องตกงาน ขาดรายได้ และไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้

การประกาศล็อคดาวน์เกิดขึ้นในคืนวันที่ 24 มีนาคม และมีผลตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 มีนาคม โดยการแถลงต่อสาธารณะของนายกรัฐมนตรีโมดีเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนมาตรการล็อคดาวน์จะมีผลเพียงสี่ชั่วโมง ดร.ปริยังกา จันทรา (Priyanka Chandra) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลีเปิดเผยกับไอลอว์ว่า การประกาศเคอร์ฟิวของนายกรัฐมนตรีโมดีในวันที่ 22 มีนาคม 2563 เป็นการประกาศที่ไม่ได้มีผลบังคับตามกฎหมายแต่เป็นลักษณะของการขอความร่วมมือ เนื่องจากวันที่ 22 เป็นวันอาทิตย์ การสั่งให้คนอยู่ในบ้านเป็นเวลา 16 ชั่วโมงจึงไม่ใช่เรื่องที่กระทบกับชีวิตของคนมากจนเกินไป และประชาชนก็ยังยินดีให้ความร่วมมือเพราะเห็นว่าเป็นมาตรการชั่วคราว และเท่าที่เธอทราบก็ยังมีร้านค้า เช่น ร้านขายของสดหรือไซต์ก่อสร้างบางแห่งที่ยังทำงานตามปกติ อย่างไรก็ตามการประกาศล็อคดาวน์ที่ตามมาเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไป

ปริยังการะบุว่า การประกาศล็อคดาวน์ช่วงค่ำวันที่ 24 มีนาคม เป็นการประกาศแบบปัจจุบันทันด่วนเพราะมีผลบังคับใช้ในเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงต่อมา และดูเหมือนว่า การประกาศดังกล่าวมีการประสานงานล่วงหน้าที่ไม่ดีนักระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐ การประกาศแบบปัจจุบันทันด่วนก่อให้เกิดความโกลาหลระดับย่อยๆ ผู้คนพากันลงไปที่ร้านขายของที่ยังเปิดอยู่เพื่อซื้อหาของกินมากักตุนเท่าที่พอทำได้ จนของในร้านค้าบางแห่งถูกซื้อไปจนหมดร้าน เพราะคนหวาดกลัวในความไม่แน่นอน ขณะที่ภาครัฐก็ไม่ได้ชี้แจงเรื่องการเข้าถึงอาหารระหว่างการล็อคดาวน์ว่าเป็นอย่างไร

แม้ในเวลาต่อมาจะมีความชัดเจนขึ้นว่า ในแต่ละวันช่วงเช้าจะมีเวลาผ่อนผันประมาณ 2-3 ชั่วโมงให้ประชาชนออกมาซื้อของใช้จำเป็นใกล้ๆ บ้านได้ และการสั่งสินค้าจำเป็นและอาหารมาส่งที่บ้านจะเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เท่าที่เธอทราบก็มีพนักงานส่งของบางคนที่ถูกข่มขู่หรือกระทั่งถูกกระบองไล่ตีโดยตำรวจ

คำบอกเล่าของปริยังกาสอดคล้องกับรายงานของเว็บไซต์ NDTV เว็บไซต์สถานีข่าวช่องหนึ่งของอินเดียซึ่งระบุว่า มีพนักงานส่งอาหารถูกตำรวจใช้ไม้ตีระหว่างขี่รถไปส่งของ รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า กรณีการทำร้ายร่างกายคนส่งสินค้าหลังประกาศล็อคดาวน์กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมร้อน จนทางตำรวจในเขตนอยดาของกรุงนิวเดลีต้องทวีตข้อความสื่อสารกับประชาชนว่า ได้แจ้งให้ตำรวจเปิดทางให้พนักงานส่งสินค้าและอาหารที่จำเป็นใช้เส้นทางได้โดยสะดวกแล้ว

ปริยังกาแสดงความกังวลต่อไปว่า คนระดับล่างของสังคม คือ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ทางหนึ่งคนเหล่านั้นเป็นผู้ใช้แรงงานรายวัน เมื่อมีประกาศล็อคดาวน์พวกเขาก็ขาดเงินแล้ว จึงไม่มีทางเลือกนอกจากจะเดินทางกลับชนบท เมื่อมีคำสั่งให้ขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ คนเหล่านี้ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องเดินเท้ากลับบ้าน ซึ่งตามรายงานของสำนักข่าวบีบีซีไทยชาวอินเดียบางคนต้องเดินเท้ามากกว่า 200 กิโลเมตรเพื่อกลับบ้านเกิดในชนบท 

ทางรถไฟระหว่างเมืองคะยะกับเมืองพาราณสี

ปริยังกาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า หลังการล็อคดาวน์ผ่านไปประมาณหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลระดับรัฐอย่างรัฐบาลของเดลีก็ปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดหาอาหารและที่พักให้คนยากจนและแรงงานย้ายถิ่นที่ตกงานขาดรายได้ ดังที่มีรายงานว่า รัฐบาลระดับรัฐของนิวเดลีจัดเตรียมจุดแจกจ่ายอาหารกว่า 1,500 จุดทั่วเมืองเพื่อรองรับประชากรกว่า 650,000 คน ปริยังการะบุว่า นอกจากรัฐบาลระดับรัฐ องค์กรด้านศาสนาอย่างสุเหร่าหรือวัดซิกข์ก็มีการจัดตั้งจุดแจกจ่ายอาหารด้วยเช่นกัน รวมทั้งมีบางแห่งที่เปิดพื้นที่ให้แรงงานอพยพหรือคนไร้บ้านได้พักพิงชั่วคราวด้วย

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา