จด•หมายเหตุ นคร เสรีรักษ์: การล่าแม่มดในสถานการณ์โควิด 19

บทความโดย นคร เสรีรักษ์
ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Privacy Thailand

 

-1

1. โลกวันนี้ทำให้แทบทุกแพลตฟอร์มของการดำรงชีวิตเข้ามาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ ด้วยความรวดเร็วของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในสังคมการเมืองที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองอย่างกว้างขวาง

2. การปะทะกันระหว่างความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันก็มาปรากฏบนโลกออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ทั้งการแลกเปลี่ยนหรือโต้แย้งกันอย่างสุภาพสันติและการโจมตีกล่าวหากันด้วยวาจาหรือถ้อยคำที่หยาบคาย การด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม เสียดสี นำมาซึ่งการสร้างความเกลียดชัง เยาะเย้ย ถากถาง ขณะเดียวกันกิจกรรมการล่าแม่มดก็ออกมามีบทบาทในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยเช่นกัน

3. ในสถานการณ์โรคระบาดจากโควิด 19 ที่กำลังเป็นวิกฤตของประเทศในปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้กำลังเคลื่อนไหวถ่ายทอดกันในสังคมมากมาย ทั้งข้อมูลสถิติการป่วยไข้และการรักษา คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ในข้อมูลจำนวนมหาศาลมีทั้งข้อมูลจริง ข้อมูลเท็จ ข้อมูลแท้ ข้อมูลปลอม ที่น่าเป็นห่วงคือการใช้วิธีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเครื่องมือในการล่าแม่มด

4. จากการที่มีผู้นำข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัยของแรงงานนอกระบบที่เดินทางกลับจากเกาหลีมาเผยแพร่ในลักษณะชักชวนคนในชุมชนให้รังเกียจ กีดกัน และขับไล่บรรดาแรงงานจากเกาหลี มาจนถึงล่าสุดคือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศและไม่เข้าสู่กระบวนการกักตัวตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีการเปิดเผยชื่อ ที่อยู่ หมายเลขหนังสือเดินทาง ข้อมูลแพร่กระจายกว้างขวางอย่างน่าเป็นห่วงทั้งทางเฟซบุ๊ก ไลน์ และทวิตเตอร์ ทั้งสองเรื่องมีการประณาม ประจาน และแสดงความรู้สึกเกลียดชังในลักษณะการ “ล่าแม่มด” อย่างชัดเจน 

5. มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการนำข้อมูลส่วนบุคคลของแรงงานที่กลับจากเกาหลีหรือผู้โดยสารสายการบินมาเปิดเผยในการล่าแม่มดน่าจะเป็นการผิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอันที่จริงแล้ว พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 เป็นกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายนี้พูดถึงหน้าที่และกระบวนการในการเก็บรวบรวม เปิดเผย และการใช้ประโยชน์ข้อมูลซึ่งเป็นการกระทำโดยผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูล

6. บทลงโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ในมาตรา 79 ที่กล่าวถึงกรณีการกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อกฎหมายตามมาตรา 27 คือเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือเปิดเผยข้อมูลต่างจากวัตถุประสงค์ที่แจ้งตอนเก็บข้อมูล แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย มีโทษจำคุกหกเดือนหรือปรับห้าแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ ในกรณีนี้จึงต้องไปดูว่าการเอาข้อมูลมาเผยแพร่เป็นการกระทำความผิดของผู้ควบคุมข้อมูลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลรายใดหรือไม่ และเข้าข่ายความรับผิดชอบตามมาตรานี้ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่อย่างไร และหากเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วเกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูล ก็จะมีความผิดทางแพ่ง ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 77 ด้วย

7. อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ ถึงแม้จะประกาศใช้ตั้งแต่ 27 พฤษภาคม 2562 แต่บังคับใช้เพียงหมวด 1 และหมวด 4 ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานธุรการเรื่องการตั้งสำนักงานและการตั้งกรรมการเท่านั้น ในส่วนที่พูดถึงการคุ้มครอง การเยียวยา หรือบทลงโทษกรณีทำความผิด ต้องรอบังคับใช้หลังวันที่ 27 พฤษภาคม 2563

8. จึงต้องมาดูว่าการกระทำการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะของขบวนการล่าแม่มดจะมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือเป็นความผิดที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้หรือไม่

         8.1 ในทางอาญา การกระทำของขบวนการดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญาว่าด้วยการ “หมิ่นประมาทบุคคลอื่น” ตามมาตรา 326 หรือ 328 ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ 

         8.2 ในทางแพ่ง หากเหยื่อของการล่าแม่มดเห็นว่าได้รับความเสียหายจากการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในลักษณะดูถูก เหยียดหยาม หยาบคาย ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง การกระทำของผู้ที่นำข้อมูลมาเปิดเผยก็อาจเป็นความผิดในข้อหา “ละเมิด” ตามมาตรา 420 หรือข้อหา “หมิ่นประมาท” ตามมาตรา 423 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเรียกร้องค่าเสียหายได้ หรือขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายตามมาตรา 447 ได้

9. นอกจากนี้ก็อาจไปดูการได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล หากขบวนการล่าแม่มดได้ข้อมูลมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยการลักขโมย การแฮคระบบ การโจรกรรมหรือจารกรรมข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ ระบบ ฐานข้อมูล ระบบหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ก็อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 

10. สุดท้าย หากข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลมาจากหน่วยงานของรัฐก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ที่ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องไปดูว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่เอามาเผยแพร่นั้นมาจากการเปิดเผยโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ขัดหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า

11. ความรวดเร็วของการแพร่กระจายข่าวสารโดยโซเชียลมีเดียพัฒนาการอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมืองในลักษณะที่นำมาซึ่งความเกลียดชัง และการปลุกเร้าให้นำไปสู่การกลั่นแกล้งและประหัตประหารกันในที่สุด การล่าแม่มดจึงนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรงต่อสังคมโดยรวม การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันและป้องปรามการล่าแม่มดจึงเป็นทางออกที่สำคัญ การอ้างสถานการณ์ความมั่นคงหรือวิกฤตโรคระบาดมาเป็นเหตุสร้างความชอบธรรมให้การล่าแม่มดก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเช่นกัน

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา